อิงจันทร์ บ้านกลอนไฉไล
ครู รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น น้ำตาล จันทวงศ์

ทำไมต้องให้ “สิทธิพิเศษ” กับคนจน : โดยเกียรติศักดิ์ "หนานเกียรติ" ม่วงมิตร


    ผมถึงกับอึ้ง พูดไม่ออกบอกไม่ถูก เมื่อได้อ่านความเห็นหนึ่งต่อบทความของ ทวน จันทรุพันธุ์ เรื่อง “30 บาทรักษาทุกโรค : หมอไม่ชอบแต่คนจนชอบ” ในเวปไซต์ประชาไท และความเห็นที่เกี่ยวเนื่องกับคนจนในบทความเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำของประชาชนไทยในการได้รับสิทธิในการดูแลสุขภาพ” ของแพทย์ระดับแกนนำสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลชุมชนท่านหนึ่ง ในเวปไซด์ thaitrl.org

    ความเห็นของทั้งสอง อยู่ต่างกรรมต่างวาระ แต่ต่างก็มีทัศนะต่อคนจนที่ไม่ต่างกัน กล่าวคือ ทุกคนคือคน คนจนคือคน และทำไมคนจนต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการดูแลจากรัฐภายใต้กฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

    ท่านแรกตั้งข้อสังเกตุว่า “ความจน” เป็น “สิทธิพิเศษ” เป็นข้ออ้างให้คนอื่นทำงานเสียภาษีเพื่อมาปรนเปรอคนจนกระนั้นหรือ ? และได้ทิ้งท้ายว่าความไม่จนของท่านนั้นมาจากการทำงานหนัก !

    ท่านที่สองซึ่งเป็นแพทย์ มีน้ำเสียงทำนองว่าประชาชนระดับล่างของประเทศ 47 ล้านคนได้รับสิทธิพิเศษในการดูแลรักษาสุขภาพตามกฏหมายหลักประกันสุขภาพ ในขณะที่ข้าราชการซึ่งมีรายได้น้อยกว่าเอกชนจึงเป็นเหตุให้เสียประโยชน์ที่จะได้รับการดูแลรักษาเมื่อเจ็บป่วย และคนที่เสียประโยชน์ในสิทธิการดูแลรักษาสุขภาพจากรัฐที่สุดคือกลุ่มลูกจ้างเอกชนที่อยู่ภายใต้กฏหมายประกันสังคม

    หากเราแยกพิจารณาเพียงสิทธิที่ประชาชน 47 ล้านคน ซี่งได้รับจากกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ก็อาจเข้าใจได้ว่าคนกลุ่มนี้ได้รับ “สิทธิพิเศษ” จากรัฐ ตามที่ท่านทั้งสองข้างต้นกล่าว

    แต่เราก็ไม่ควรลืมไปว่าคน 47 ล้านที่ว่านั้น เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และเป็นคนจน ซึ่งล้วนแต่ไม่มีใครอยากจะจนเพื่อจะมารับสิทธิพิเศษหลังจากการเจ็บไข้ได้ป่วย!

    ทำไมจึงมีคนจน มีคนไม่จน มีคนมั่งมีและคนร่ำรวย ?
    เจ้าของความเห็นท่านแรก บอกว่าที่เขาไม่จนเพราะเขาทำงานหนัก ซึ่งแม้มิใช่คำตอบตรง ๆ ก็พออนุมานได้ว่าที่คนจนนั้นเพราะขี้เกียจ ไม่ขยัน ทำงานไม่หนักพอ

    มันก็อาจจะใช่ที่ว่าความขยันและการทำงานหนักเป็นที่มาของความไม่จนกระทั่งความมั่งคั่งร่ำรวย  ดังเช่นเรื่องราวของชาวจีนที่หอบเสื่อผืนหมอนใบเข้ามาสร้างเนื้อสร้างตัวกระทั่งมั่งคั่งร่ำรวยเป็นเศรษฐีและอภิมหาเศรษฐี

    แต่ในขณะเดียว ก็ใช่ว่าชาวบ้านไร่ชาวนาในชนบทส่วนใหญ่ที่ไม่ขยันและไม่ตรากตรำ แท้ที่จริงแล้วคนเหล่านี้ทำงานทั้งปีแทบไม่มีวันหยุดพักผ่อน หลังยังคงสู้ฟ้า หน้ายังคงสู้ดิน แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขามั่งมีมั่งคั่งขึ้น กลับกลายเป็นว่ายิ่งจนลงไปเรื่อย ๆ สูญเสียทรัพย์สินทั้งที่ดินไร่นาวัวควาย กระทั่งลูกหลาน และมีจำนวนไม่น้อยที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว จนมีคำพูดทีเล่นทีจริงว่า ชาวนาชาวไร่ยิ่งทำมากขยันมากก็จะยิ่งจนลงและเป็นหนี้มากขึ้น

    การไม่ทำงานหนักและไม่ขยัน จึงเป็นความเข้าใจที่อาจจะผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงว่ามันคือสาเหตุแห่งความยากจน! โดยไม่ฉุกคิดและใส่ใจใยดีแม้แต่น้อยว่าความอยู่ดีมีสุขสบายกระทั่งความมั่งคั่งร่ำรวยทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ล้วนถูกดูดซับและขูดรีดเอาออกมาจากคนอื่น

    ใช่หรือไม่ว่าทรัพยากรที่ถูกนำมาปรนเปรอคนบนยอดปิรามิดนั้น ทำให้มีคนไม่น้อยย่ำแย่ ลำบากและยากจนลง และยิ่งคนเพียงหยิบมือบนยอดปิระมิดนั้นกอบโดยจนมั่งคั่งขึ้นมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้ผู้คนจำนวนมากในฐานปิระมิดประสบกับความยากลำบากและแร้นแค้นเรื่อยลงไปเท่านั้น

    เกษตรกรชาวไร่ชาวนาถูกชักจูงครอบงำให้ทำการผลิตเชิงพาณิชย์ เพื่อให้มีข้าวปลาอาหารพืชผักผลไม้หล่อเลี้ยงประชากรในราคาถูก และการส่งออกเพื่อเป็นรายได้ให้ประเทศ ผลที่ได้รับปรากฏว่ายิ่งทำยิ่งจน บางรายหมดเนื้อหมดตัว สูญเสียที่ดินทำกิน เป็นหนี้เป็นสิน ฯลฯ

    ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยในหลายพื้นที่ต้องละทิ้งและสูญเสียพื้นที่ทำมาหากินจากพื้นที่และแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์ เพื่อการสร้างเขื่อนผลิตพลังงานไฟฟ้าหล่อเลี้ยงเมืองและอุตสาหกรรม นอกจากนั้นยังถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นในการยังชีพ ยิ่งทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ลง

    ชาวไร่ชาวนาและลูกหลานที่ผิดพลาดและล้มเหลวในกระบวนการผลิต รวมทั้งลูกหลานที่ได้รับการศึกษาในระบบเพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ ต้องผันตัวเองเข้าไปเป็นแรงงานราคาถูกในโรงงาน ในสถานประกอบการ ในสถานบริการ ฯลฯ คุณภาพชีวิตมิได้ดีขึ้นกลับแย่ลงไปทุกขณะ

    ลูกหลานของพวกเขา ถูกผลักให้เข้าสู่ระบบการศึกษาที่เหยียดหยามรากเหง้าตนเอง เข้าถึงเพียงการศึกษาที่สร้างให้ออกมาเป็นเพียงแรงงานในสายพานการผลิต ฯลฯ

    “คนจน” และ “ความจน” จึงมีเหตุมาจากการถูกกระทำมิใช่เกิดจากการไม่ทำงานหนัก

    แท้ที่จริงนั้น บรรดาคนยากคนจนทั้งหลายล้วนคือผู้ที่แบกภาระความเจริญเติบโตและการดำรงอยู่ในนามของนโยบายการพัฒนาประเทศ ซึ่งแน่นอนมันช่วยทำให้คนจำนวนหนึ่งคงอยู่และสืบทอดสถานภาพทางชนชั้นของตนเองไว้ได้อย่างเหนียวแน่นมั่นคง

    ไม่เพียงคนฐานล่างของประเทศที่ถูกทำให้จนเท่านั้น พวกเขายังถูกเบียดให้ห่างจากโอกาสในการไต่เต้าทางสังคมด้วย มีลูกหลานชาวบ้านชาวช่องระดับล่างสักกี่คนเชียวที่สามารถปีนบันไดไต่เต้าขึ้นไปได้

    ลูกหลานชาวบ้านเรียนในโรงเรียนในหมู่บ้านอย่างตามมีตามได้ ไม่ต้องหาคุณภาพการศึกษา ขณะที่ลูกหลานคนชั้นกลาง/คนเมือง มีโอกาสเรียนในโรงเรียนชั้นนำ มีครูที่ดี สื่อการเรียนที่ดี มีปัจจัยแวดล้อมเอื้ออำนวยทุกประการ  โอกาสการแข่งขันเพื่อเข้าไปมีที่นั่งในสถานศึกษาที่ดีที่มีจำกัดจึงเป็นของพวกเขาเสียเป็นส่วนใหญ่ ที่นั่งแทบไม่ตกไปถึงลูกหลานชาวบ้านลูกหลานตาสียายสา ดังที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวนิชย์ กล่าวในปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2553 ว่า การวิเคราะห์การกระจายผลประโยชน์ (benefit incident) จากการใช้จ่ายในด้านการศึกษาของรัฐ โดยวิโรจน์ ณ ระนอง และสุเมธ องกิตติกุล (2553) พบว่า ประชาชนกลุ่มที่มีรายได้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีรายได้สูงสุดร้อยละ 20 ได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายด้านการศึกษาของรัฐในสัดส่วนร้อยละ 29.1 ในขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำที่สุดร้อยละ 20 ได้รับประโยชน์ในสัดส่วนร้อยละ 12 

    ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการศึกษา มีอาชีพการงานมั่นคง ส่วนใหญ่มักจะเป็นลูกคนชั้นกลางขึ้นไป มิใช่ลูกหลานชาวไร่ชาวนาในชนบท จริงอยู่อาจจะมีอยู่บ้างแต่ก็มีน้อยเข้าขั้นหายาก ลูกหลานชาวไร่ชาวนาที่มีโอกาสได้ร่ำได้เรียน บ้างก็จบอนุปริญญา บ้างจบปริญญา ปริญญาโทก็มี ถามคนเหล่านั้นไปถึงความคาดหวังของพ่อแม่หรือไม่ คำตอบคือส่วนใหญ่ไปไม่ถึง บางคนยังปั่นสามล้อขายไอศกรีม บางคนเป็นยาม เป็นลูกจ้างเอกชน เป็นลูกจ้างหน่วยงานราชการ เป็นครูอัตราจ้าง ฯลฯ

    ซึ่งในปาฐกถาคราวเดียวกัน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความเหลื่อมล้ำทางสังคม ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้ที่มีรายได้น้อย มีโอกาสในการไต่เต้าทางสังคม ผ่านระบบการศึกษาระดับสูงไม่มากนัก ดังข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า หัวหน้าครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 20 มีอัตราการศึกษาในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรีขึ้นไป) เพียงร้อยละ 1.52 ในขณะที่กลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงที่สุดร้อยละ 20 มีอัตราการศึกษาในระดับดังกล่าวร้อยละ 16.2

    ย้อนกลับไปที่ความเห็นต่อสิทธิพิเศษของคนจนข้างต้น

    กฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” นั้น เกิดขึ้นมาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนคนระดับล่างให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ง่ายและทั่วถึงขึ้น ไม่ควรตายด้วยเพียงเหตุเพียงเพราะไม่มีเงินรักษา และไม่ต้องถึงกับล้มละลายหมดเนื้อหมดตัวไปกับการรักษา

    อาจจะกล่าวหาได้ว่านี่เป็นนโยบายประชานิยมที่มุ่งหาเสียงกับคนยากคนจน การเมืองก็คงจะได้ประโยชน์ในแง่ได้รับความนิยม แต่ผลที่เกิดขึ้นจริงปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันสามารถช่วยเหลือคนจนได้จริง และคนจนเขาก็พึงพอใจ และก็ยอมรับได้เช่นกันว่า นี่คือ “สิทธิพิเศษ” ของคนจนจริง ๆ

    แล้วทำไมล่ะ ทำไมรัฐจึงจะจัดสวัสดิการหรือสิทธิพิเศษให้กับคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้ การตอบแทนการเสียสละของพวกเขาด้วยการใช้งบประมาณแผ่นดินอันเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณก้อนมหึมาให้เขาได้บรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนจากโรคภัย จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

คัดลอกบทความจาก http://prachatai.com/journal/2010/11/31761

ภาพประกอบจาก   http://www.oknation.net/blog/narapong-sak/2011/07/22/entry-2

หมายเลขบันทึก: 454069เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2011 20:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 18:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ที่ศรัธทาหนานเกียรติมากคือเรื่องการเป็นกระบอกเสียงให้พี่น้องชาวบ้าน

หายากจริงๆคนที่จริงใจกับชาวบ้าน

เสียดายคนดีจังเลยค่ะคุณครู

เชื่อว่า หลายคนรักและศรัทธา "หนานเกียรติ" เช่นคุณครู

เห็นภาพ "พ่อ-ลูก" แล้วเศร้าจังเลย

คุณครูสบายดีนะคะ

ครับ......น้องครูอิง...ทำให้คิดถึงอีกแล้ว ยิ่งหวางนี้ดึกๆมักเข้าไปอ่านบันทึกหนานเกีรติแบตามรอยยิ่งนึก....

อ้อบันทึกแรกที่หนาน เขียนถึงผม ค้นไปพบแล้ว(คนดลใจ วอญ่า เฒ่าผู้ยิ่งใหญ่ )หลังจากวันพบกันครั้งแรกผมก็มอบหัวใจให้ชายหนุ่มนามเกียรติศักดิ์ ม่วงมิตร ตลอดมา

นมัสการพระคุณเจ้า

Ico48
  • ชาวบ้านจะเป็นอย่างไรบ้างนะ เมื่อเขาขาดกระบอกเสียงคนสำคัญ
  • ขอบพระคุณเจ้าค่ะ

สวัสดีค่ะน้อง

Ico48
  • งานเขียนของน้องหนานเกียรติ ที่ไม่ได้อยู่ในโก มีอีกเยอะค่ะ
  • กระจายอยู่ตามเว็บอื่น ๆ  อยากนำมารวบรวมไว้ในบล็อกนี้
  • ขอบคุณมากค่ะ
  • สวัสดีครับพี่อิง
  • พี่หนานเกียรติเป็นผู้ที่สะท้อนปัญหาของคนจนได้โดนใจจริงๆ ครับ เพราะการมองสาเหตุปัญหาเพียงแง่มุมใดมุมหนึ่ง อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องไปเสียทั้งหมด
  • ทำไมชาวไร่ชาวนาไม่รวยสักที นั่นเพราะปัญหาเรื่องของการตลาด การขายผลผลิตราคาถูก ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา ในยามที่มีผลผลิตออกมาจำหน่าย ขยันแทบตายก็ไม่รวย ชาวนาจนตั้งแต่รุ่นปู่ถึงรุ่นหลาน คนรวยตัวจริงคือพ่อค้าคนกลาง ผู้รับซื้อข้าวหรือโรงสี เป็นอย่างนี้มานานแสนนาน และตอนนี้คนที่กำลังอ่วมอีกคนคือ ผู้บริโภคเพราะอะไรก็พากันขึ้นราคาแพงไปหมด แย่ทั้งคนผลิตและคนซื้อครับ
  • ทรัพยากรเมืองไทยมีมากมาย ที่นายทุนเขามองเห็นและพยายามกอบโกยไม่ว่าป่าไม้ และต่อไปน่าจะเป็นน้ำมัน ที่ยุ่งๆ กันนั้นเพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์มหาศาลครับ
  • ชุมชนจะอยู่ได้ต้องเรียนรู้ที่จะปกป้องชุมชน รู้จักรวมกลุ่มกันคัดค้านกลุ่มผลประโยชน์ที่จะหาผลประโยชน์ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชนครับ และถ้ารู้จักการใช้ช่องทางสื่อในการร้องเรียน แจ้งให้คนในสังคมรับรู้ ช่วยเป็นหูเป็นตาบ้างก็จะยิ่งดีครับ

 

ที่ชาวบ้านลำบากยากจนคนไม่รู้         จึงต้องอยู่ตามยถากรรมช้ำเหลือหลาย

สิทธิ์คนจนแค่บางทีมีนโยบาย            เขาโยนให้เป็นครั้งคราว่าเขาดี

แค่เศษเนื้อข้างเขียงเพียงโยนทิ้ง        เราก็วิ่งแซ่ซ้องกันน้องพี่

เผด็จการปลิ้นปลอกหลอกว่าดี           เป็นอย่างนี้ยาวนานการเมืองไทย

สิทธิ์คนจนเหมือนคนมีมิแตกต่าง        สิทธิ์ทุกอย่างเราไม่รู้อยู่เหลวใหล

ประชาธิปไตยสิทธิ์เรามีมิเข้าใจ          สู้จนตายอีกหลายคนมืดมนจริง

แม้"หนานเกียรติ"ทุ่มเทใจจนตายดับ  ไม่อาจปรับเปลี่ยนสังคมโสมมยิ่ง

เปลี่ยนการเมืองให้ได้ให้เป็นจริง         ได้ทุกสิ่งสมปรารถนาประชาไทย

เปลี่ยนระบอบให้ได้ไม่นานหรอก         ความช้ำชอกทุกชนชั้นพลันห่างหาย

ข้าราชการท่านอยู่ดีมีกำลังใจ             พวกเกาะแข้งเป็นใหญ่จะไม่มี

ได้ผู้แทนประชาชนคนเราแท้              มิใช่แค่ทาสนายทุนหุ้นส่วนผี

ขายตำแหน่งประหารข้าราชการดี        ระบอบมีที่ผ่านมาประหารไทย

ทั้งเหลื่อมล้ำข่มเหงเบ่งอำนาจ             ทั้งฉ้อราษฎร์บังหลวงล้วงกินไส้

นักกินเมืองเรืองอำนาจชาติบรรลัย       กลุ่มอำนาจใช่ไหมได้รุ่งเรือง 

สวัสดีค่ะท่านพี่

Ico48
  • ครูอิงไม่มีวาสนาได้รับเกียรติได้เจอตัวเป็น ๆ น้องหนานเกียรติ
  • แต่ แค่เห็นบันทึก "เฌวา"  ในหลาย ๆ บันทึก  เท่านี้น้องหนานเกียรติก็เข้ามานั่งอยู่ในใจแล้วหล่ะค่ะ
  • ปกติไม่ค่อยจะปลี้มใครง่าย ๆ ค่ะ
  • จัดอันดับให้น้องหนานเกียรติเป็น "ฮีโร่ในใจ" อีกคนนึงค่ะ เป็นอันดับสามต่อจากคุณพ่อ และ คุณวิโรจน์ พูลสุข 5555555555+ 

สวัสดีค่ะน้องชำนาญ

Ico48
  • สงสารชาวบ้าน แห่งดอยมูเซอนะคะ
  • ขาดผู้นำ ขาดกระบอกเสียงที่สำคัญอย่างน้องหนานเกียรติ
  • ตอนนี้เค้าก็กำลังต่อสู้ ต่อสู้เพื่อถิ่นเกิด
  • ถิ่นเกิดของเขา ที่คนเมืองพยายามเข้าไปเปลี่ยนแปลง ให้เป็นไปตามวิสัยคนเมือง
  • และแน่นอน ในการเปลี่ยนแปลงนี้ เหตุผลบังหน้าคือการพัฒนา
  • แต่ที่แท้แล้วมันคงมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน
  • ขอบคุณน้องชำนาญนะคะ ที่ช่วยเติมเต็มบันทึก
  • มีความสุขเสมอ ๆ นะคะ

กลับมาอ่านและฟังเพลงอีกรอบ เพลงที่ชอบเหมือนกันอีกเพลงคือ คนนอกคอก

ขอเพลงคนนอกคอกครับ

ขอบพระคุณค่ะ

Ico48
  • ไม่ชอบคำนี้เลย "คนดีไม่มีวันตาย" สะเทือนใจ

สวัสดีครับ อาจารย์อิงจันทร์ บ้านกลอนไฉไล

ความจริงผมอยากแต่งเป็นบทกลอนสรรเสริญบทความนี้ กับเขาบ้าง.. แต่คืนนี้ดึกแล้วอารมณ์คงจะไม่นำพา จึงขอแปะโป้งไว้ก่อนนะครับ  ไว้สะดวกวันไหนจะกลับมาใหม่...ครับ ยังไงก็จะติดตามบันทึกของอาจารย์ ไปเรื่อยๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท