การเรียนรู้อิงถิ่นฐาน : ๓. ปลายทางเพื่อพัฒนาการเรียนรู้อิงถิ่นฐานและตัวชี้วัดกระบวนการเชิงยุทธศาสตร์


ทางโรงเรียนหนองบัว ที่ได้รับเลือกสรรให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน กับเครือข่ายโรงเรียนในฝันในจังหวัดนครสวรรค์ มีวิสัยทัศน์และเป้าหมายในอนาคตสำคัญในอันที่จะพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น รวมทั้งร่วมมือกันพัฒนาโรงเรียนสมาชิกต่างๆให้สามารถจัดตั้งและดำเนินการศูนย์การเรียนรู้ในด้านที่โรงเรียนและชุมชนมีทรัพยากรและทุนศักยภาพทางด้านนั้นอยู่ ซึ่งจะทำให้การศึกษามีพลังต่อการสร้างคนและสร้างศักยภาพแก่ชุมชนเพียงพอต่อการพึ่งตนเองในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาไปสู่กระบวนทัศน์ของการพัฒนาใหม่ๆดังที่พึงประสงค์ เช่น สุขภาวะชุมชนในแนวเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาการเรียนรู้อย่างบูรณาการ การพัฒนาวิทยาลัยท้องถิ่น เป็นอาทิ

การที่จะสามารถพัฒนาระบบและกลไกดำเนินการเพื่อบรรลุจุดหมายดังกล่าวในอนาคตได้ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรท้องถิ่น ศูนย์การเรียนรู้ แหล่งคิดริเริ่มกิจกรรมการเรียนรู้ในแนวทางใหม่ๆ ตลอดจนเครือข่ายการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน เหล่านี้ จะต้องอาศัยความพร้อมในการสร้างและเตรียมปัจจัยพื้นฐาน รวมทั้งต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ให้กับตนเองอย่างเพียงพอ

ที่สำคัญคือ การสร้างความรู้ท้องถิ่น การพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ในพื้นที่ให้หลากหลายทั้งในชุมชนและสื่อออนไลน์ การทำสื่อเอกสาร การเตรียมทรัพยากรความรู้ การเข้าถึงและรวบรวมความรู้เกี่ยวกับบุคคลแหล่งภูมิปัญญา การเรียนรู้ผ่านปฏิบัติการต่างๆเพื้อสร้างทักษะเครือข่ายครูวิชาการ ซึ่งกระบวนการต่างๆเหล่านี้ จะมีบทบาทอันสำคัญในการระดมสรรพกำลังของชุมชนสู่การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน รวมทั้งจะเป็นกระบวนการที่เคลื่อนไหววิถีชีวิตชุมชนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ด้วยการเรียนรู้และเห็นความเชื่อมโยงของการเป็นทุนหนุนเสริมกันอย่างต่อเนื่อง กระทั่งนำไปสู่ความสามารถในการจัดการตนเองของเครือข่ายได้ดังที่ต้องการในลักษณะดังกล่าว ในเวทีอบรมเชิงปฏิบัติการที่ริเริ่มขึ้นเพื่อยกระดับประสบการณ์ในพื้นที่ที่มีอยู่ร่วมกันในระดับหนึ่งแล้ว จึงมุ่งให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เริ่มเก็บบันทึกข้อมูลด้วยวิธีการต่างๆซึ่งทุกคนได้ปฏิบัติอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน อันได้แก่ การถ่ายภาพ การบันทึก การนั่งสนทนา และการเปิดบันทึกในเว็บบล๊อกเพื่อบันทึกข้อมูลบนสื่อออนไลน์

การทำสิ่งพื้นฐานดังกล่าวนี้ได้ด้วยตนเอง จะมีผลให้เครือข่ายเวทีคนหนองบัว เครือข่ายครูและเครือข่ายโรงเรียนหลายแห่งของจังหวัดนครสววรรค์ มีเครือข่ายเว็บบล๊อกและจำนวนหัวข้อบันทึกเพิ่มขึ้นมาโดยครอบคลุมโรงเรียนและชุมชนอันหลากหลายในวงกว้างมากขึ้น

ขณะเดียวกันก็จะก่อเกิดการสั่งสมทรัพยากรและปัจจัยพื้นฐานที่สามารถเห็นได้ทันทีว่าเครือข่ายจะร่วมมือกันพัฒนาการเรียนรู้แบบอิงถิ่นฐานในนครสวรรค์ได้กว้างขวางและหลากหลายมากยิ่งๆขึ้น เพิ่มพูนไปตามลำดับความสามารถในการช่วยกันเขียนและทำสื่อออนไลน์ของเครือข่าย.

หมายเลขบันทึก: 451582เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2011 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คุณครูภัทรานิษฐ์  อิ่มศิล
เล่าให้ฟังว่าได้ติดตามอ่านเวทีคนหนองบัว แล้วสนใจเรื่องท้องถิ่นหนองบัว ทั้งๆที่พื้นเพของคุณครูไม่ใช่คนหนองบัว เป็นคนเมืองเหนือ จังหวัดแพร่(คนเมืองแป้ แต่มาอยู่หนองบัว)

อ่านไปแล้วยังไม่พบบันทึกเกี่ยวกับขนมท้องถิ่นหนองบัวชนิดหนึ่งนั่นคือขนมข้าวโปง เรื่องขนมข้าวโปงนี้ ถ้าจำไม่ผิดเคยมีคนเขียนแนะนำเข้ามาครั้งหนึ่ง อยู่ในบันทึกเรื่องแรกของหนองบัวหรืออะไรนี่แหละ หรือไม่ก็อยู่ในหัวข้อทุนสังคมวัฒนธรรมอำเภอหนองบัว

เห็นคุณครูบอกว่าอยากทำเรื่องนี้ ก็เลยรีบเชียร์และสนับสนุนให้ทำ

ในวันที่สองตอนเช้าก่อนมาประชุมที่โรงเรียนหนองบัว น้องมารับที่วัดใหญ่:วัดหนองกลับ ให้ไปฉันเช้าที่บ้าน มื้อนี้ได้ฉันขนมข้าวโปงด้วย

คุณครูรักหนองบัวขนาดไหน ยืนยันได้จากประชุมเสร็จ ก็ตั้งชมรมคนรักหนองบัวทันทีเลย และเปิดรับสมัครสมาชิกด้วย
เชื่อแล้วว่ารักหนองบัว

หวังว่าคงจะได้อ่านเรื่องขนมข้าวโปงหนองบัว จากโรงเรียนวังบ่อวิทยา นะคุณครู

Ico64

นาง ภัทรานิษฐ์ อิ่มศิล
คศ.2
โรงเรียนวังบ่อวิทยา
http://www.gotoknow.org/blog/krupay/450941

                      

ในเช้าวันที่สองมีคุณครูท่านหนึ่งดูเหมือนจะเป็นอาจารย์ชาติชาย สมานมิตร จากโรงเรียนอนุบาลท่าตะโก หิ้วขนมข้าวโปงกับข้าวเหนียวสังขยามาให้ผมและคณะด้วยครับ กลับไปแล้วก็นำออกมาทาน อร่อยมากเลยครับ

คุณครูสุภาพสตรีทั้งสองท่านนี้ก็จำได้ครับ ทั้งสองท่านมาจากโรงเรียนวังบ่อวิทยา มีพี่ขุนเป็นผู้อำนวยการ ระหว่างที่นั่งแนะนำให้ทั้งสองท่านอยู่ ทางพี่ขุนก็โทรมาชวน หลังเลิกอบรมแล้วอยากให้แวะไปเที่ยวโรงเรียน อบอุ่นและได้บรรยากาศคึกคักดีครับ

กิจกรรมสร้างเครือข่ายนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากครูเครือข่าย โดยการริเริ่มของ ดร.อ.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

ดิฉันหวังใจอย่างยิ่งว่า เราจะผลักดันให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เครือข่ายสู่ครู นักเรียนให้จงได้ (แม้จะอืดสักหน่อย...) การเรียนรู้ในชุมชนควบคู่ไปกับความทันสมัยของเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ครูหรือบุคลากรต้องปรับตัวให้รู้เท่าทัน

เช้าวันศุกร์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ณ ร.ร.หนองบัว ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงที่ท่านพระอธิการโชคชัยเดินทางมาเก็บข้อมูลวิจัยการเรียนรู้เครือข่ายเว็บบล็อก

สวัสดีครับคุณครูต้นเทียน

  • เรื่องดีๆนี่ แค่ได้รับรู้ ก็ทำให้มีความสุขและเกิดความปีติในใจไปด้วยเลยละครับ
  • อันที่จริง กิจกรรมการสร้างเครือข่าย กระทั่งมีพัฒนาการหลายอย่างเกิดขึ้นอย่างสืบเนื่องตามมานั้น ผมได้ทราบจากคุณครูสมัคร รอดเขียน คุณครูวิกานดา บุญเอก และหลายๆท่าน ว่าคนทำงานเบื้องหลัง รวมทั้งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่จะทำต่อไปอีกในระยะยาวสืบต่อมาหลังจากที่พวกเราไปช่วยกันจัดเวิร์คช็อปให้กับโรงเรียนหนองบัวและสมาชิกจากโรงเรียนเครือข่ายนั้น คนหนึ่งก็คือคุณครูต้นเทียนนี่เอง
  • เลยขอเป็นกำลังใจ และขอขอบคุณที่นำเอาข่าวคราวความเคลื่อนไหวดีๆมาบอกกล่าวกันนะครับ
  • ผมเองก็ดีใจ ที่การเดินเข้าร่วมมือกันทำสิ่งต่างๆของเราทุกคนนั้น ก่อให้เกิดผลดีหลายอย่างตามมา ทั้งต่อโรงเรียน ชุมชนชาวบ้าน และเด็กๆลูกหลานของคนหนองบัว รวมทั้งได้ร่วมกันสื่อสารเผยแพร่ ให้เกิดความเคลื่อนไหวในการพัฒนาการศึกษาของส่วนรวม ดีใจและภูมิใจด้วยครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท