การประชุมวิชาการสาธารณสุขเขต 18, 19 ครั้งที่ 1 ปี 2549 กับการจัดประชุมแนวใหม่


ผู้จัดควรมีเป้าหมายให้การประชุมวิชาการครั้งนี้เป็นตัวกระตุ้น และเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมเกื้อหนุนให้เกิดการ ลปรร. ข้ามระดับพื้นที่การทำงาน เน้นการ ลปรร. ในงานประจำ มีการจัดเวที ลปรร. กันเองหลากหลายรูปแบบ ที่เป็นเวทีไม่เป็นทางการหรือกึ่งทางการ เพื่อให้ผู้คนรู้สึกเป็นอิสระที่จะเล่าประสบการณ์ของตน

         การประชุมนี้จะจัดระหว่างวันที่ 19 - 20 ก.ย.49 ที่โรงแรมเจบี หาดใหญ่   ที่ผมชื่นชมก็เพราะเขาจัดภายใต้หัวเรื่องว่า "แลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่คุณภาพชีวิต"    โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเขต 18, 19 ในระดับเขต  จังหวัด  อำเภอ  และตำบล  จำนวน 400 คน

         การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ต่างระดับนี่เป็น KM ในตัวของมันเองอยู่แล้วนะครับและคนเหล่านี้ควร ลปรร. กันในการทำงานประจำวันด้วย   ไม่ใช่แค่ ลปรร. กันในงานประชุมวิชาการประจำปี

         ผมจึงมองว่า   ผู้จัดควรมีเป้าหมายให้การประชุมวิชาการครั้งนี้เป็นตัวกระตุ้น   และเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมเกื้อหนุนให้เกิดการ ลปรร. ข้ามระดับพื้นที่การทำงาน   เน้นการ ลปรร. ในงานประจำ   มีการจัดเวที ลปรร. กันเองหลากหลายรูปแบบ   ที่เป็นเวทีไม่เป็นทางการหรือกึ่งทางการ   เพื่อให้ผู้คนรู้สึกเป็นอิสระที่จะเล่าประสบการณ์ของตน

         หมายความว่าราชการสาธาณสุขต้องลดการบริหารงานแบบควบคุม - สั่งการลง (อย่าติดโรคจากรัฐบาลนี้)  และส่งเสริมให้ระดับผู้ปฏิบัติงานได้คิดริเริ่มสร้างสรรค์เองให้มาก ๆ   โดยมีเป้าหมายตามที่รัฐบาลกำหนดนั่นแหละ   เพราะนั่นคือประโยชน์ของบ้านเมืองของเรา

         คุณวิไลวรรณ  ชัยรัตนมโนกร  ผู้ประสานงานโครงการ แฟกซ์มาจาก สสจ. ปัตตานี   ว่าขอเชิญผมไปบรรยายนำเรื่อง "หนทางสู่การบูรณาการงานประจำกับการจัดการความรู้"  ซึ่งผมอยากไปมาก   เพราะเป็นหัวข้อที่ดีจริง ๆ

         แต่ผมมีความเห็นต่างออกไปว่าถ้าต้องการใช้เวลา 2 ชั่วโมงของการบรรยายหัวข้อนี้ให้เกิดประโยชน์ที่สุดต่อผู้เข้าร่วมประชุม 400 คน  ให้กลับไปใช้การจัดการความรู้พัฒนาคุณภาพงานประจำได้จริงควรคิดใหม่  ทำใหม่  ในเรื่องการใช้เวลา 2 ชั่วโมงนี้

         ผมคิดว่าไม่ควรใช้วิธีบรรยาย   เพราะถ้าบรรยายคนฟังก็จะพอใจที่ได้ฟัง   ได้ความรู้เชิงหลักการ   แต่พอกลับไปที่ทำงานก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น   ไม่เกิด action   มีแต่ talk only (NATO - No Action, Talk Only)

         จึงขอเสนอว่าควรใช้วิธีเล่าเรื่อง (Storytelling) โดยผู้ปฏิบัติจริง  ตัวจริงเสียงจริง  มาเล่าเรื่องราวความสำเร็จในการดำเนินการใช้การจัดการความรู้ในการเพิ่มคุณภาพของงานประจำ   หาคนที่เป็น "คุณกิจ" หรือ "คุณอำนวย" ทำ KM เนียนอยู่ในเนื้องานประจำจริง ๆ มาเล่า   จะสนุกมาก   เห็นความง่ายและความงามของการดำเนินการงานประจำกับการจัดการความรู้   เชิญมาสัก 3 - 4 คน

         ขอแนะนำให้ปรึกษา รศ. พญ. ปารมี  ทองสุกใส  หัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยา  คณะแพทยศาสตร์ มอ.  และคุณอนุชา  หนูนุ่น  นักวิชาการสาธารณสุขประจำ สสจ. พัทลุง   ว่าจะหาใครมาเล่าเรื่อง   หามาสัก 3 - 4 คนในลักษณะงาน  ระดับหน่วยงานและบริบทที่ต่างกัน   รับรองว่าจะสนุกมาก

         ผมเองในวันที่ 19 ก.ย. จะไปหาดใหญ่อยู่แล้ว   โดยได้รับเชิญจาก มอ.   ผมไม่แน่ใจว่าตอน 10.00 - 12.00 น. จะปลีกตัวมาร่วมได้หรือไม่   ถ้าไม่ได้ผมยินดีส่งผู้แทนไปร่วม (ถ้าผู้จัดเห็นชอบ)

         นำมาเล่าไว้เพื่อชี้ให้เห็นวิธีการจัดประชุมวิชาการแนวใหม่   ที่เป็นแนวให้คุณค่า Tacit Knowledge ในตัวผู้ปฏิบัติ   และเป็นแนวที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับปฏิบัติได้ดีกว่าวิธีจัดการประชุมแนวเดิม

วิจารณ์  พานิช
 18 ส.ค.49

หมายเลขบันทึก: 45145เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2006 08:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 10:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
     รับทราบแล้วครับ ทางคุณสุนทรี สคส. ได้แจ้งมาทาง E-mail แล้วด้วยครับ
     หากทางคุณสุนทรี สคส.ได้รับการประสานอย่างไรเพิ่มเติม กรุณาแจ้งทาง Gmail ด้วย จะเป็นพระคุณยิ่งครับ

ผมมีความคิดว่า

เลือก คุณกิจ จาก ทุกระดับ รพท  รพช  สสอ  สอ ช่วยกันเล่าเรื่อง 

รอบนี้  ขอคัด คุณกิจ ที่เล่าเรื่องเก่ง สนุก มาก่อน เพื่อให้บรรยากาศ เร้าใจ กระตุ้นการเรียนรู้

ง่ายที่สุด  มองจาก พื้นที่    ยอดคุณเอื้อ  ที่ยอมรับกันคือ    ผอ รพ ยอดเยี่ยม   แต่ เอาทีมคุณกิจ บางคน มาเล่าเรื่อง

เรื่องที่เล่า ก็ตรงกันประเด็น ปัญหาที่ติดขัดกันบ่อย จึงน่าฟัง   คือ    กำหนดหัวปลา ให้คนอยากฟัง อยากเรียนรู้  อยากพัฒนาจริง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท