การสอนของ อ.นงนิตย์


การสอนวิชาเคมี, การสอนที่ดี

คำชมจากหลานสาว 

ถึงการสอน ผศ.ดร.นงนิตย์ มรกต

ต้นเดือนมกราคม 2554 ที่ผ่านมา ผมเดินทางกลับไปร่วมงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้คุณย่าสุข ไชยงาม คุณย่าแท้ๆ ของผมเอง ในงานทำบุญของชาวไทยอีสาน ญาติพี่น้องที่แยกย้ายไปทำงานจากทั่วทุกมุมของประเทศไทย บางคนไปถึงต่างประเทศ จะเดินทางกลับมารวมกัน นับเป็นความแยบคายของวัฒนธรรมไทยที่ช่วยเสริมสร้างปลูกฝังความรัก ความเคารพ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การมีสัมมาคารวะ ความกตัญญู ความสามัคคี และคุณลักษณะที่ดีอื่นๆ ที่ไม่อาจบรรยายได้ครบถ้วนให้กับอนุชนคนรุ่งหลัง หากลูกหลานคนใดที่ไม่ได้มาร่วมงานบุญนานๆ จะไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้ ดังเช่นกรณีของผมที่จะนำมาเล่าต่อไปนี้

ในงานบุญนี้ผมเพิ่งจะทราบว่าหลานสาวแท้ๆ คนหนึ่งของผม กำลังเรียนชั้นปี 3 อยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ซึ่งผมทำงานมาแล้วตั้งหลายปี นี่แหละครับคือสิ่งที่ผมควรรู้แต่ไม่รู้ หลังจากคุยกันสักพัก เราได้ตกลงกันว่าจะเดินทางกลับมามหาวิทยาลัยพร้อมกัน

ระหว่าง ทางการเดินทางกลับ ผมพยายามสอบถามเธอเกี่ยวกับชีวิตการเป็นนิสิต คณะวิทย์ฯ มมส. ถามถึงผลการเรียน ถามเรื่องแผนชีวิตในอนาคตว่า จะเลือกทำ Seiner Project หัวเรื่องอะไร กับอาจารย์ท่านใด เรียนจบแล้วอยากจะไปทำงานที่ไหน เป็นต้น เมื่อใกล้ถึงมหาวิทยาลัย ผมได้ถามเธอเป็นคำสุดท้ายว่า ชอบการสอนของอาจารย์ท่านใดมากที่สุด คนแรกที่เธอกล่าวชมคือ อาจารย์นงนิตย์ มรกต ที่ผมรู้จักนี่เองครับ “อาจารย์นงนิตย์ สอนดีมาก ได้อะไรเยอะมาก สิ่งที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อนก็เข้าใจ หลายๆ อย่าง ที่เรียนกับอาจารย์ท่านอื่น ก็เข้าใจจากห้องเรียนของอาจารย์นี่แหละ....”

วันนี้ (1 พฤษภาคม 2554) ในงานอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาหนังสือของสำนักวิชาศึกษาทั่วไป ผมได้มีโอกาสได้เล่าเรื่องข้างต้นให้ ผศ.ดร. นงนิตย์ รองผู้อำนวยการสำนักฯ ฟัง ท่านได้เล่าถึงวิธีการและหลักการสอนของท่านให้ฟัง ผมจำและจับประเด็นสำคัญๆ ได้ดังนี้ครับ (ไม่ได้เรียงลำดับตามความสำคัญนะครับ)

   1) ต้องปรับพื้นฐานของผู้เรียนให้เพียงพอต่อการเรียนรู้ในองค์ความรู้นั้นๆ     2) สอน ในส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญๆ ของหัวเรื่องนั้นๆ ที่พิจารณาแล้วว่ามีประโยชน์กับนิสิตกลุ่มนั้นๆ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป    3) ต้องดูแลเอาใจใส่ผู้เรียนเป็นรายบุคคล ท่านใช้วิธีการเดินดูแลทั่วห้อง ไม่ได้สอนอยู่เฉพาะหน้าชั้นเรียน      4) เน้นความพึงพอใจของผู้เรียน ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่ต้องอยู่ภายใต้ความเหมาะสม ถูกกาลเทสะ     5) สอนอย่างมีความสุข  

ขอเขียนขยายความเพื่อให้เห็นรายละเอียดต่างๆ จากการสนทนากับท่านในครั้งนี้ ดังนี้ 

ข้อที่ 1) อาจารย์ขยายความให้ผมเข้าใจถึงความจำเป็นว่า “หากไม่ปรับพื้นฐานของนิสิตก่อน นิสิตที่ไม่มีพื้นฐาน จะไม่ได้อะไรจากการสอนของเราเลย คือ ความเข้าใจเป็น 0% จะได้ก็แต่นักเรียนเก่งๆ (ส่วนมากนิสิตที่รับเข้ามามีพื้นฐานไม่เพียงพอ) แต่ถ้าปรับพื้นฐานให้เพียงพอก่อนแล้ว นิสิตกลุ่มดังกล่าวนี้อาจมีผลสัมฤทธิ์อย่างน้อยถึง 30% หรือ 40% นิสิตที่เก่งอยู่แล้วก็ได้ทบทวนพื้นฐานให้ดีขึ้น ผลสัมฤทธิ์ของนิสิตกลุ่มนี้ย่อมดีกว่าไม่มีการปรับพื้น

ข้อที่ 2) อาจารย์ยกตัวอย่างถึงความแตกต่างของวัตถุประสงค์หรือความต้องการของนิสิต กลุ่มสาขาวิชาเคมีกับชีววิทยาว่า การสอนกลุ่มวิชาเคมีจำเป็นต้องเน้นรายละเอียดทุกอย่าง ยกตัวอย่างการสอนเรื่องเครื่องมือวิเคราะห์ธาตุด้วยรังสียูวี นิสิตต้องเข้าใจทั้งส่วนประกอบ หลักการทำงานของแต่ละส่วนประกอบ ทฤษฎีทัศนศาสตร์ของแสง หลักการทำงานของเครื่องมือ รวมทั้งวิธีการวัดและวิธีวิเคราะห์สเปกตรัมด้วย แต่สำหรับนิสิตสาขาวิชาชีววิทยานั้น ไม่จำเป็นจะต้องสอนทุกรายละเอียดเหมือนนิสิตเคมี เนื่องจากนิสิตไม่ได้ต้องการเรียนรู้เพื่อที่จะไปพัฒนา ออกแบบ หรือซ่อมเครื่องมือ เพียงแต่ต้องการนำเครื่องมือดังกล่าวนี้ไปใช้งานในสาขาของตน ดังนั้น การสอนองค์ประกอบของเครื่องมือ หลักการทำงาน วิธีการวัด วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล และเมื่อเจอปัญหาในกรณีต่างๆ ควรต้องทำอย่างไร ส่งซ่อมที่ไหน จึงเหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการ วิธีการสอนเฉพาะหัวใจหรือส่วนสำคัญนี้จะช่วยลดระยะเวลาในการเรียนการสอน จึงมีเวลาเพียงพอที่จะใช้ในการปรับพื้นฐานของนิสิตก่อนตามข้อที่ 1)

ข้อที่ 3) อาจารย์ให้ความสำคัญกับการดูแลและเอาใจใส่นักเรียนถึงขั้นวิเคราะห์ผู้เรียน เป็นรายบุคคล โดยใช้วิธีการเดินดูทั่วห้องเรียน ให้ความสนใจกับนิสิตทุกคน ไม่ยืนสอนอยู่เฉพาะหน้าห้อง และใช้จิตวิทยาในการสอน

ข้อที่ 4) ท่านขยายความว่า ในห้องเรียนของท่านนั้นไม่ได้บังคับว่านิสิตทุกคนจะต้องแต่งกายให้ถูก ระเบียบทุกประการ วันไหนที่มีการนัดเรียนชดเชยหรือเพิ่มเติม นิสิตไม่จำเป็นจะต้องแต่งชุดนิสิต อย่างไรก็ตาม ครั้งหนึ่งที่มีการเรียนในวันเสาร์ ก็ยังมีนิสิตแต่งชุดนิสิตมาเรียน (ท่านพูดด้วยรอยยิ้ม) แต่มีคนหนึ่งใส่กางเกงขาสั้นมาเรียน ท่านจึงบอกว่า “นี่ลูก...การแต่งกายของเราจะต้องดูกาละและเทศะ เหมาะสมทั้งกาลเวลาและสถานที่ ว่าควรแต่งกายอย่างไร การใส่กางเกงขาสั้นนั้นไม่เหมาะสมกับการมาเรียนหนังสือในสถานที่ราชการ นะ...”

ข้อที่ 5) ในหัวข้อนี้ท่านบอกว่า “...ถึงแม้ว่าวันใดที่มีเรื่องวุ่นวาย เรื่องปวดหัว มีเรื่องให้ต้องเครียด แต่พอได้มาสอนในชั้นเรียนแล้ว อาการเหล่านั้นจะหายไปโดยสิ้นเชิง...” ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าท่านสอนอย่างมีความสุขจริงๆ ครับ

เมื่อ ผู้สอนๆ อย่างมีความสุข ผู้เรียนก็เรียนอย่างมีความสุข คงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในห้องเรียนของท่านสูงมาก และนิสิตมีเจตคติที่ดีต่อวิชาที่ท่านสอนดังเป็นผลให้หลานสาวของผมชื่นชม อาจารย์ยิ่งนัก

คำสำคัญ (Tags): #การสอนที่ดี
หมายเลขบันทึก: 450462เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2011 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2012 21:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เพิ่งแวะมาอ่านครับ เขียนได้ดีมาก ๆ ครับ อย่าลืมเขียนบันทึกบ่อย ๆ นะครับ

มีโอกาสได้เรียนวิชาเคมีสำหรับครูวิทย์ กับท่านอาจารย์นงนิตย์แล้วรู้สึกว่าการสอนของอาจารย์ให้ความกระจ่างในเนื้อหาบางเรื่องที่ยังสับสนอยู่ ทำให้สามารถไปสอนนักเรียนที่โรงเรียนได้อย่างสบายใจ

ดิฉันเป็นครูที่สอนฟิสิกส์แต่มีโอกาสได้เรียนรายวิชาเคมีสำหรับครูวิทยาศาสตร์ กับท่าน อาจารย์นงนิตย์ มรกต เห็นด้วยกับอาจารย์ฤทธิไกร สำหรับคำชื่นชมการสอน เพราะการปรับพื้นฐานอย่างค่อยเป็นค่อยไปในเวลาอันจำกัดตามความแตกต่างของแต่ละบุคคล (เข้าใจสภาพผู้เรียน) และยังคำนึงถึงจุดประสงค์การเรียนการสอนในแต่ละกลุ่มผู้เรียนทำให้ผู้เรียนเรียนอย่างมีความสุข มีเจตคติในเชิงบวกต่อการเรียน ทำให้ผู้เรียนรู้สึกไม่น่าเบื่อ ทั้งที่ผู้เรียนผ่านการเรียนในรายวิชานี้มาบางคนนานถึง 30 กว่าปีท่านยังสามารถปรับพื้นจนสามารถเรียนร่วมกับคนที่พึ่งเรียนจบใหม่ ๆ ได้เหมือนกัน (มีใครทำได้บ้าง) ขอบอกว่าเยี่ยมจริง ๆ อยากให้มีครูที่เป็นครูมาก ๆ ในฐานะเพื่อนร่วมอาชีพขอยกย่องครู

ดิฉันมีโอกาสได้เรียนรายวิชาเคมี กับท่าน อาจารย์นงนิตย์ มรกต ท่านมีเทคนิคการสอนที่ดีมากค่ะ สั้นๆแต่เข้าใจ อธิบายเรื่องยากๆด้วยคำพูดง่ายๆ ทำไห้เข้าใจเนื้อหาวิชามากขึ้น

ดิฉันได้มีโอกาสเรียนวิชาเคมีกับท่านอาจารย์ นงนิตย์ มรกต ซึ่งวิชานี้มันเป็นไม้เบื่อไม้เมากับดิฉันตั้งแตเรียนมัธยมปลายจนตอนนี้ดิฉันกำลังเรียนปริญญาโทอยู่ ในชั่วโมงแรกที่ได้เรียนกับท่าน มันทำให้ดิฉันเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับวิชาเคมีอย่างสิ้นเชิง จากที่ไม่อยากเรียน กลับทำให้ดิฉันอยากมาเรียนกับท่านทุกชั่วโมง ถ้ามีครูอย่างท่านอาจารย์นงนิตย์หลายๆท่าน วิชาเคมีก็เป็นเรื่องง่ายที่เรียนอย่างเข้าใจได้

ตอนนี้หนูกำลังเรียนวิชา เคมี สำหรับครูวิทย์ปี 55 อยู่ค่ะ สิ่งที่อยากพูดคือ "ประทับใจท่านมากค่ะ สำหรับความรู้สึกเด็กปีหนึ่งที่่ได้อยู่ในห้วงปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเอง จากพ่อจากแม่มา จากที่เคยเรียนในโรงเรียนมีครูมาคอยจ้ำจี้จ้ำไช ก็มาเป็นนั่งเรียนในห้องเรียนรวมใหญ่ๆ ที่มองเห็นอาจารย์เพียงหริบหรี่ ความรู้สึกว้าเหว่ ปรับตัวยังไม่ได้ ยังหาที่เพิ่งทางใจไม่ได้ แต่ ณ วันหนึ่งได้เรียนวิชาหลักเคมี กับ อาจารย์นงนิตย์ มรกต ความรู้สึกที่หว้าเหว่ คิดถึงบ้านมันบรรเทาลงมาก ท่านเป็นกันเอง เอาใจใส่นิสิตเท่ากันทุกคนทั้งคนที่ได้และคนที่ตามเพื่อนไม่ทัน ท่านจะเดินไปหาถึงที่ จนนิสิตเข้าใจพร้องต้องกันแล้วท่านจึงเริ่มสอนต่อ (และสิ่งที่ประทับใจมากกว่านี้คือ ท่านเป็นอาจารย์คนแรกที่แทนตัวเองว่าครู ตอนแรกท่านก็สอนไป แล้วพูดแทนตัวเองด้วยคำว่าครู ขณะนั้นฉันหยุดอึ้งนิดๆ เพราะในมหาลัยจะมีน้อยมากที่จะมีคนเรียกตัวเองว่าครู ในความคิดของดิฉัน(ในความคิดส่วนตัวน่ะค่ะ) คำว่าครูมันใกล้ชิดกัน เป็นกันเอง อบอุ่น เหมือนที่ครูกับนักเรียนในโรงเรียน แต่คำว่าอาจารย์สำหรับดิฉันก็คือ ท่านที่มีบุญคุณผู้ให้วิชาสำหรับเราคนหนึ่งแต่ดูเหมือนจะห่างไกลกัน มากกว่าคำว่าครู พอได้ยินคำว่าครูจากท่านในใจมันอบอุ่นขึ้นมาทันที ความรู้สึกของเด็กปีหนึ่งที่ว้าเหว่สับสนกลับมีสติ มากขึ้น ตั้งใจที่จะใช้ชีวิตในมหาลัยมหาสารคามแห่งนี้ ได้มากขึ้น มันเป็นความรู้สึกที่ประทับใจ ปลื้ม ยังไงบอกไม่ถูกค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท