มูลนิธิข้าวขวัญ


“ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน”

             จากที่ผมได้มีโอกาสนำพนักงานที่ผ่านโครงการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของปูนแก่งคอย ไปสัมมนาที่โรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญ ผ่านมาแล้วถึง 4 รุ่นๆละ 30 คน   อาจสงสัยว่าแล้วปูนซิเมนต์ ไปเรียนอะไรจากมูลนิธิข้าวขวัญ  .

            ...มูลนิธิข้าวขวัญเป็นองค์กรเล็กๆ มีบุคลากรเพียง 10 คนเท่านั้น นำโดยคุณเดชา  ศิริภัทร  ประธานมูลนิธิ คุณจันทนา   หงษา  ผู้จัดการมูลนิธิ และเจ้าหน้าที่ อีก 8  คน ถึงแม้จะมีบุคลากรเพียง 10 คนแต่ผลงานของมูลนิธิข้าวขวัญ  นั้นไม่ได้น้อยตามขนาดขององค์กรเลย  เจ้าหน้าที่ของข้าวขวัญทุกคนมีความมุ่งมั่นทุ่มเท ให้กับงานที่ทำอย่างเต็มที่เต็มความสามารถ จะเห็นได้จากทุกครั้งที่ผมได้นำพนักงานไปสัมมนา เจ้าหน้าที่ของข้าวขวัญทุกคน  ทุ่มเทให้กับการสัมมนาของเราอย่างมาก

              เริ่มจากวันแรก ทันทีที่เราเดินทางไปถึง ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีเยี่ยมด้วยอาหารว่าง  จากนั้นก็ต่อด้วยกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์  ซึ่งแต่ละกิจกรรมนั้นสื่อถึงพฤติกรรมการทำงานเป็นทีม  การเรียนรู้ ของพนักงานได้เป็นอย่างดี ต่อด้วยกิจกรรมค้นหาความคาดหวังของผู้เรียน และแนวคิดการจัดการความรู้ของโรงเรียนชาวนา จากคุณเดชา   ศิริภัทร  ในช่วงนี้เราได้รับความรู้ไม่เพียงแต่เรื่องของการจัดการความรู้เท่านั้นแต่ยังได้รับแนวคิดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตให้มีความสุข ตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง อีกด้วย เพียงแค่วันแรกกว่าที่เราจะได้นอน ก็ต้องผ่านกิจกรรม การค้นหาตัวตน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำให้เราได้ทราบถึงศักยภาพของเราเอง และการดึงเอาศักยภาพของตนเองออกมาใช้งานให้เกิดประโยชน์   วันแรกทุกคนนอนหลับภายใต้บรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ และเต็มอิ่มไปด้วยความรู้ที่ได้รับจากทีมงานของข้าวขวัญ

        วันที่สอง เจ้าหน้าที่ของข้าวขวัญได้นำพนักงานของเรา ออกไปเรียนรู้ตามพื้นที่ของโรงเรียนชาวนาโดยแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม ไปเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง  ตามหลักสูตรของโรงเรียนชาวนา คือ

1.    หลักสูตร การควบคุมแมลงในนาข้าวโดยชีววิธี

2.       หลักสูตรการปรับปรุงบำรุงดินโดยชีววิธี

3.       หลักสูตรการปรับปรุงพันธุ์ข้าว

           ช่วงเย็นเป็นกิจกรรมการถอดบทเรียน ที่ได้เรียนรู้จากนักเรียนชาวนา จากการถอดบทเรียนจะเห็นถึงกระบวนการการเรียนรู้ ของนักเรียนชาวนาที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานได้ทุกที่ทุกองค์กร

            วันที่สาม กิจกรรมเชื่อมโยงการจัดการความรู้จากโรงเรียนชาวนาสู่อุตสาหกรรมปูนซิเมนต์  โดยนำแนวทางการตั้งโจทย์ปัญหาเพื่อการเรียนรู้   การตั้งเป้าหมายเพื่อการเรียนรู้  การถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น การนำความรู้ที่มีอยู่ออกมาใช้ (ความรู้ฝังลึก) การปรับปรุงแนวทางการทำงาน  ที่สำคัญที่เราได้รับถ่ายทอดจากนักเรียนชาวนา แล้วสามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานร่วมกันได้อย่างดีนั้นคือ   การเปิดใจ ยอมรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน  ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของการทำงานเป็นทีม  ช่วงบ่าย ของวันสุดท้าย เราได้เรียนรู้ถึงการจัดการความรู้ตาม โมเดลปลาทู และกิจกรรมสรุปการเรียนรู้กับความคาดหวังที่ได้เขียนไว้ตั้งแต่วันแรก ซึ่งส่วนใหญ่บอกว่าได้รับความรู้มากกว่าที่คาดหวังไว้ ถึงช่วงสุดท้าย  กิจกรรมอำลา เป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้เรียนทุกคนจดจำมูลนิธิข้าวขวัญอย่างไม่มีวันลืม หลายคนถึงกับหลั่งน้ำตาออกมาอย่างไม่อาย ตลอดระยะเวลา สองคืนสามวัน เจ้าหน้าที่ของข้าวขวัญทุกคนทุ่มเทและให้ความสำคัญกับการสัมมนาของเราชาวปูนเป็นอย่างมาก  ทุกคืนหลังจากที่เสร็จกิจกรรมแล้ว  พี่จันทนา และน้องชมพู่ จะมานั่งทบทวนเนื้อหาของกิจกรรม (AAR) กับผมและ พี่น้อง  เป็นประจำทุกคืน กว่าจะได้พักผ่อนก็ปาเข้าไปเที่ยงคืนกว่า

             มูลนิธิข้าวขวัญ ถึงแม้จะเป็นองค์กรเล็กๆ แต่ก็มากด้วยความสามารถ ทุกครั้งก่อนที่คณะของเราจะกลับ คุณเดชา  ศิริภัทร  ประธานมูลนิธิ  มักจะกล่าวแบบถ่อมตนเสมอว่า ข้าวขวัญคือองค์กรเล็กๆ ไม่รู้ว่าจะให้ความรู้อะไรกับปูนซิเมนต์ที่เป็นองค์กรใหญ่ๆได้หรือเปล่า อยากจะถือโอกาสนี้บอกว่าความรู้ที่เราได้รับจากมูลนิธิข้าวขวัญ นั้นเป็นประโยชน์อย่างมาก   ทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว   และน้องชมพู่ เคยเปรียบมูลนิธิข้าวขวัญเป็นหนูและปูนซิเมนต์เป็นราชสีห์  ถึงวันนี้อยากบอกว่าหากข้าวขวัญเป็นหนูปูนซิเมนต์เป็นช้าง (ตามLogo)ในเรื่องของการจัดการความรู้แล้ว ช้างตัวนี้ก็คงมีหนูเป็นควาญช้าง นั่นแหละครับ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน     
คำสำคัญ (Tags): #ข้าวขวัญ
หมายเลขบันทึก: 44668เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2006 18:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ขอขอบพระคุณและชื่นชมพี่เรวัติ พี่น้อง และคุณอำนวยท่านอื่นๆ ที่ล้วนแต่เป็น บุคลากรผู้ทรงคุณภาพของปูน ที่มีความพยายามอย่างยิ่งยวด ในการใส่ใจที่จะผลักดันกิจกรรมต่างๆที่จะเอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร อย่างเต็มพลัง สิ่งที่พวกพี่ได้ริเริ่มมานี้ มันอาจก่อให้เกิดคำถามที่ตามมาอีกมากมายว่า การลงทุนที่ทุ่มไปกับการเรียนรู้แบบนี้ สุดท้ายองค์กรจะได้สิ่งใดกลับมา พวกเราเข้าใจดีว่า พวกพี่จะต้องเป็นหนังหน้าไฟ ที่คอยรับผลที่จะตามมาแบบเต็มๆ เรารับรู้ถึงความหวัง ความมุ่งมั่น ที่พี่ๆพยายามอย่างเหลือเกินในการที่จะเห็นการต่อยอดการจัดการความรู้ เกิดขึ้นกับบุคลากรของปูนในทุกรุ่นที่ผ่านมา พวกเราเองมีพลังใจเติมเต็มทุกๆครั้ง เมื่อได้รับเกียรติจากพวกพี่ๆทุกคน พลังใจที่พวกเราได้ มันซึมซับผ่านไปถึงนักเรียนชาวนาของพวกเราในทุกพื้นที่ ที่ได้สัมผัสมิตรภาพที่แสนดีที่พี่ๆทุกคนมีให้ แต่ละครั้งที่พวกพี่มาเยือน ไม่มีครั้งไหนเช่นกันที่พวกเราไม่ได้เรียนรู้กับพวกพี่ ๆ ลุงเด+พี่จิ๋ม เอาหนังสือ ร้อยคน ร้อยธรรม ร้อยปีพระพุทธทาส ประมาณเกือบพันหน้ามาให้เจ้าหน้าที่ทุกคน คนละเล่ม หนูเพิ่งได้เข้าใจว่า ธรรมะคือการปฏิบัติหน้าที่ ระหว่างกิจกรรมที่พวกเราร่วมกันอยู่นั้น พวกเราก็กำลังปฏิบัติธรรมไปในตัว นั่นคือ การฝึกที่จะเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่า รู้จักให้ รู้จักแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้กันด้วยความบริสุทธิ์ใจ ปลดปล่อยตัวเองจากความเป็น ตัวกู-ของกู ตอนนี้หนูรู้แล้ว ชัดเจนแล้ว ว่าเกิดมาทำไม แล้วหนูจะทำอะไรให้กับกัลยาณมิตรได้บ้าง ในที่สุด หนูก็ไม่ได้เป็นพุทธศาสนิกชนแค่ในใบทะเบียนบ้านเท่านั้น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท