วิจัยกระบวนการเรียนรู้เพื่อป้องกันปัญหาโลกร้อนบนฐานคิดเศรษฐกิจพอเพียงพอเพียง


กระบวนการเรียนรู้ ป้องกันปัญหาโลกร้อน เศรษฐกิจพอเพียงพอเพียง

ชื่อเรื่องงานวิจัย : กระบวนการเรียนรู้เพื่อป้องกันปัญหาโลกร้อนบนฐานคิดเศรษฐกิจพอเพียงพอเพียง

ชื่อผู้วิจัย : นายบรรชร  กล้าหาญ

ปีที่ทำการวิจัยเสร็จ : 2551

แหล่งทุนอุดหนุนการวิจัย :  มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

 บทคัดย่อ

            การวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม   โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการจัดกระบวนการเรียนรู้และผลการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อป้องกันปัญหาโลกร้อนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง  มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ นักเรียนระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.3) และนักศึกษาระดับชั้นประกาศนัยบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.1) สังกัดวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่   จำนวน  36  คน  โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสังเกตพฤติกรรม การบันทึกพฤติกรรมประจำวันที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและบันทึกทำดีต่อสิ่งแวดล้อม   สัมภาษณ์แบบเจาะลึก  การจัดเวทีเสวนาสรุปบทเรียน  และการสนทนากลุ่ม

            ผลการวิจัยพบว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อป้องกันปัญหาโลกร้อน เน้นหลักคิดแบบอริยสัจสี่และการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สร้างกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย การมีส่วนร่วมคิดวิเคราะห์  ปฏิบัติ  และทบทวน  จนก่อเกิดเป็นความเข้าใจ การเห็นคุณค่า นำสู่จิตสาธารณะ   โดยมีรูปแบบการเรียนทั้งแบบเป็นทางการ   ไม่เป็นทางการและตามอัธยาศัย

            สำหรับขั้นตอนการเรียนรู้และสร้างเครือข่ายการป้องกันปัญหาโลกร้อนประกอบด้วย 

            ขั้นตอนที่  1 การคัดเลือกนักเรียนนักศึกษาแกนนำ ขั้นตอนที่  2  การเสริมสร้างความรู้และทักษะกลุ่มแกนนำอาสาด้วยกระบวนการอริยสัจ 4  มีกิจกรรมคือ การประชุมกลุ่มแกนนำอาสาเพื่อสร้างปฏิญาณ   วางแผนและพัฒนาการเรียนรู้ได้แก่  การร่วมเวทีเรียนรู้ภาคประชาชน  การร่วมพิธีกรรมชุมชน  การศึกษาดูงานและการอบรม    ขั้นตอนที่  3  การนำความรู้สู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย การพัฒนาพฤติกรรมระดับบุคคล  โดยกิจกรรมกระจกส่องตน เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาโลกร้อน  กิจกรรมลดโลกร้อนด้วยสองมือ โดยการทำความดีในชีวิตประจำวันเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาโลกร้อน และการพัฒนาพฤติกรรมสาธารณะ โดยรณรงค์ป้องกันแก้ไขปัญหาโลกร้อนในสถานศึกษา ผ่านกิจกรรมชวนพี่น้องทำดีและแบ่งปัน กิจกรรมแข่งขันทำสิ่งดี เช่น ประกวดเรียงความและขยะความดี    ขั้นตอนที่  4 การขับเคลื่อนสร้างกระแสสู่สังคม โดยกิจกรรมด้วยรักและหวงใย   กิจกรรมแป๋งขี้เหยื้อให้เป็นเงิน   กิจกรรมลดโลกร้อนสักนิดด้วยเศรษฐกิจพอเพียง และการเสนองานในเวทีสาธารณะร่วมกับกลุ่มเครือข่ายเฝ้าระวังสังคมเป็นสุข

           ผลการเรียนรู้เพื่อการป้องกันปัญหาโลกร้อนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงทำให้แกนนำอาสาเข้าใจตระหนักถึงปัญหา  สาเหตุ   ผลกระทบและแนวทางป้องกันแก้ไข   มีการปฏิบัติตนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโลกร้อน  โดยการปรับพฤติกรรมตนเองเพื่อเป็นต้นแบบที่ดี  การรณรงค์แก่กลุ่มเพื่อน   ครอบครัว   ชุมชน  และ สังคม  ซึ่งแกนนำอาสาหนึ่งคนสามารถสื่อสารต่อสร้างเครือข่ายได้ประมาณ  70  คน  รวมทั้งสิ้น  2,100  คน  และยังบำเพ็ญตนเองให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม  โดยการสร้างเครือข่ายและการทำความดีต่อสิ่งแวดล้อม  ผ่านกิจกรรมทำงานเพื่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันปัญหาโลกร้อนเช่น   การพัฒนาแหล่งน้ำ  การปลูกต้นไม้  ฯลฯ    นอกจากนั้นยังเป็นวิถีทางฝึกลักษณะของความเป็นผู้นำและกล้าแสดงออกในสิ่งที่เหมาะสม 

 

หมายเลขบันทึก: 446441เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2011 21:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท