วิจัยการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมของเยาวชน


การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม สร้างจิตสำนึก สิ่งแวดล้อม เยาวชน

ชื่อเรื่องงานวิจัย : การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมของเยาวชน

ชื่อผู้วิจัย : นางรุ่งทิพย์ กล้าหาญ  นายบรรชร  กล้าหาญ

ปีที่ทำการวิจัยเสร็จ : 2551

แหล่งทุนอุดหนุนการวิจัย : สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 บทคัดย่อ

            การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและผลการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อการสร้างจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมแก่เยาวชน    โดยประชากรและกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยคือ  นักศึกษาระดับชั้นปีที่ 3 โครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต สังกัดวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่  จำนวน   30 คน   การวิจัยได้ใช้วิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR  : Participatory   Action  Research) สำหรับเครื่องมือได้แก่  แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และแบบสอบถามเพื่อวัดประเมินผลระดับจิตสำนึก   มีการเก็บข้อมูลจากการสังเกตแบบมีส่วนร่วม   การสนทนากลุ่ม และการบันทึกปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น  รวมทั้งการรวบรวมจากแบบสอบถาม   และนำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐานประกอบด้วย  ค่าร้อยละ  ค่าเฉลี่ย  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  และ ค่า  t – test    

            ผลการวิจัยพบว่า  รูปแบบและวิธีการเรียนรู้เพื่อสร้างจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยรูปแบบของการเรียนรู้ใน  3  ลักษณะคือ   การเรียนรู้แบบเป็นทางการ    การเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการ และการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ซึ่งทั้งสามลักษณะจะต้องสอดประสานกัน  เพื่อให้ตอบสนองความต้องการ  สอดคล้องกับวิถีชีวิตและสภาพความเป็นจริงของสังคมวัฒนธรรม    โดยมีวิธีการเรียนรู้  3  ประการ คือ  การสร้างกระบวนทัศน์แบบไทย  ซึ่งเป็นวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการเรียนรู้เรื่องราวความเป็นจริงเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่น    การใช้มิติทางวัฒนธรรมเพื่อการเรียนรู้    ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการกระตุ้นให้เกิดการสนใจใคร่เรียนรู้  ถึงวิถีชีวิต  แบบแผนความคิด ความเชื่อ และการปฏิบัติในชุมชนท้องถิ่น   และการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการและซึมซับ  ที่เน้นการมีส่วนร่วมสูงสุดและการมีปฏิสัมพันธ์ในการเรียนรู้ร่วมกัน  สำหรับลักษณะการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมประกอบด้วย  การฝึกคิดวิเคราะห์มีวิจารณญาณ    การฝึกปฏิบัติและประยุกต์ใช้    การสร้างความรับผิดชอบและสำนึกต่อสังคมสิ่งแวดล้อม    การใช้กระบวนการกลุ่ม

            สำหรับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมประกอบด้วย กิจกรรมการศึกษาวิเคราะห์คุณค่าและสถานการณ์สิ่งแวดล้อมด้วยเทคนิค  PRA  การวิเคราะห์สายใยสรรพสิ่ง  ด้วยเทคนิค  Matricและ LCA   การวิเคราะห์สาเหตุและแนวทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยเทคนิค  Fish  bone  การศึกษาวิถีชุมชนในการจัดการสิ่งแวดล้อม   การร่วมประเพณีพิธีกรรมของชุมชน  การบันทึกกระจกส่องตนด้านสิ่งแวดล้อม   การจัดทำโครงการพัฒนาตนเองด้านสิ่งแวดล้อม  การจัดทำโครงการเพื่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อม   การสรุปบทเรียนและโล่ชีวิต  

            ผลการร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ปรากฏว่า   นักศึกษามีคะแนนเฉลี่ยความตระหนักต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในระดับมากที่สุด  สูงกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้    อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ  0.01        และนักศึกษายังมีการพัฒนาระดับขั้นของจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมสูงกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรม  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  0.01 โดยนักศึกษาส่วนใหญ่ได้มีการพัฒนาระดับจิตสำนึกเข้าสู่ระดับขั้นการจัดระบบคุณค่า  ถึงร้อยละ  53.3  และนักศึกษาทั้งหมดมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในระดับที่มากที่สุด  

            จึงสรุปได้ว่า  การจัดการกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมสามารถพัฒนาให้นักศึกษาเกิดจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 446438เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2011 21:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท