ความหมายและที่มาของ คำว่า "พะเยา"


คำว่า “พะเยา” มีผู้คนร่วมให้ทัศนะถึง ๓ ทัศนะด้วยกันซึ่งจะขอเรียงลำดับจากทัศนะที่นักวิชาการให้น้ำหนักมากกว่าไล่ลงไปจนถึงทัศนะที่สอดแทรกเข้ามาทีหลังซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญ แต่แทรกเข้ามาให้เป็นข้อคิดเอาไว้ โดยทัศนะแรกให้น้ำหนักไปที่ลักษณะของการตั้งบ้านเรือนไปตามภูเขา (ภูกามยาว) ทัศนะที่สองให้น้ำหนักไปที่ลักษณะของภูเขา (ผายาว) ส่วนทัศนะสุดท้ายให้น้ำหนักไปที่ระยะทางและเวลา (ฟ้าย้าว) ซึ่งมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

 

ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา

 

                พะเยา เป็นจังหวัดที่แยกออกมาจากจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๒๐ เดิมเป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองและมีอารยธรรมเป็นของตนเองคู่กับอาณาจักรล้านนาและสุโขทัย ต่อมาถูกผนวกเข้ากับอาณาจักรล้านนา  แล้วตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพม่าอีก ๒๑๖ ปี [1]จนถูกทิ้งร้างในเวลาต่อมาอีก ๕๖ ปี และถูกลดฐานะเป็นเพียงอำเภอเล็กๆ อำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงรายแล้วถูกตั้งเป็นจังหวัดขึ้นใหม่อีกในปี พ.ศ.๒๕๒๐ 

                มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือติดกับจังหวัดเชียงราย ทิศใต้ติดกับจังหวัดแพร่ ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดน่าน ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดลำปาง มีพื้นที่ทั้งหมด ๗,๙๓๔.๑๑ ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ๗๔๐ กิโลเมตร

                ปัจจุบันจังหวัดพะเยา มีเขตการปกครอง ๙ อำเภอ ๖๖ ตำบล ๘๑๓ หมู่บ้าน (ข้อมูล ปี  ๒๕๔๘)

                คำว่า “พะเยา” มีผู้คนร่วมให้ทัศนะถึง ๓ ทัศนะด้วยกันซึ่งจะขอเรียงลำดับจากทัศนะที่นักวิชาการให้น้ำหนักมากกว่าไล่ลงไปจนถึงทัศนะที่สอดแทรกเข้ามาทีหลังซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญ แต่แทรกเข้ามาให้เป็นข้อคิดเอาไว้

     -โดยทัศนะแรกให้น้ำหนักไปที่ลักษณะของการตั้งบ้านเรือนไปตามภูเขา (ภูกามยาว)

     -ทัศนะที่สองให้น้ำหนักไปที่ลักษณะของภูเขา (ผายาว)

     -ส่วนทัศนะสุดท้ายให้น้ำหนักไปที่ระยะทางและเวลา (ฟ้าย้าว)

ซึ่งมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

     ๑. เป็นคำที่เพี้ยนมาจาก คำว่า ภูกามยาว คำว่า ภู ก็หมายถึงภูเขา คำว่า กาม เพี้ยนมาจากคำว่า คาม หมายความว่า บ้าน หรือ หมู่บ้าน คำว่า ยาว เป็นคุณลักษณะที่ขยายคำสองคำ เมื่อรวมกันแล้วหมายความว่า บ้านที่อยู่เรียงรายไปกับภูเขายาว ต่อมาเพี้ยนเป็นพะเยา

     ๒. เป็นคำที่เพี้ยนมาจาก คำว่า ผายาว คำว่า ผา ก็หมายถึงหน้าผา ส่วนคำว่า ยาว เป็นคุณลักษณะที่ขยายคำว่าผา เมื่อรวมกันแล้วมีความหมายว่า เมืองที่มีผายาว ต่อมาเพี้ยนเป็นพะเยา

     ๓. เป็นคำที่เพี้ยนมาจาก คำว่า ฟ้าย้าว คำว่า ฟ้า หมายถึงท้องฟ้า คำว่า ย้าว หมายถึงตะวันโพล้เพล้ มีเรื่องเล่าว่าเมืองพะเยาเป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างเมืองใหญ่ ๆ เช่น เชียงรายสู่ลำปาง เทิงสู่เชียงใหม่ เป็นต้น เมื่อเดินทางมาถึงเมืองพะเยาปรากฏว่าพระอาทิตย์กำลังจะตกดินพอดี จึงมีคนอุทานว่า มาถึงที่แห่งนี้ที่ไรฟ้ากำลังย้าวทุกที (ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่น) ต่อมาเพี้ยนเป็นพะเยา

     คำว่า พะเยา จะมาจากคำที่เอ่ยว่าอย่างไรก็ตาม ในทัศนะของผู้เขียนไม่ได้ลงลึกไปถึงที่มาความหมายเพราะเป็นการยากที่จะถกเถียงกันด้วยระยะเวลาที่จำกัดได้ แต่ที่นำทัศนะมาให้ศึกษาทั้งหมดโดยไม่ได้ชี้ชัดว่าทัศนะไหนถูกต้องนั้น ทั้งนี้ก็เพราะว่าผู้เขียนต้องการความหลากหลายในแง่มุมในการมองของแต่ละท่าน  ความถูกต้องที่ชัดเจนคงจะเอาไว้ในโอกาสหน้า  ส่วนในหนังสือเล่มนี้จะไม่กล่าวถึง

     โดยมีคำขวัญเมืองพะเยาว่า

 

กว๊านพะเยาแหล่งชีวิต 

ศักดิ์สิทธิ์พระเจ้าตนหลวง

บวงสรวงพ่อขุนงำเมือง

งามลือเลื่องดอยบุษราคัม

 

 



[1] พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร  ถิรธมฺโม). สังคมทางการเมืองการปกครองในอาณาจักรภูกามยาว (รัฐพะเยาในอดีต). พิมพ์ครั้งที่ ๒. (พะเยา : กอบคำการพิมพ์, ๒๕๕๐), หน้า  ๑๑๗.

หมายเลขบันทึก: 442794เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2011 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • นมัสการท่าน
  • ประวัติศาสตร์ยาวนานมากเลยนะครับ

กว๊านพะเยาแหล่งชีวิต 

ศักดิ์สิทธิ์พระเจ้าตนหลวง

บวงสรวงพ่อขุนงำเมือง

งามลือเลื่องดอยบุษราคัม

 

เจริญพรอาจารย์ขจิต จากการฝึกเขียนบล็อก วันที่ ๒๒ เมษา ๕๔ ที่ มจร.วังน้อย

(รวมเวลา ๑ เดือนครึ่ง) มานี้ทำให้อาตมา มีเรื่องเล่าเยอะมาก ต้องมาระบายที่ gotoknow นี้แหละ

กลัวว่า gotoknow จะไม่มีพื้นที่ว่างให้นะ...5

ขอบคุณครับได้ความรู้มากมาย แต่มีข้อสงสัยว่า คำว่าย้าวแปลว่าอะไรกันแน่ เช่น ฟ้าหย้าว พระอาทิตย์ขึ้นหรือตก

และ คำว่า ย้าว - หย้าว อย่างไหนถูกต้อง ขอบคุณครับ

พระอาจารย์ครับ ขอเรียนถามนิดหน่อย ทำไมไม่มีนามสกุล ณพะเยา ขอบคุณครับ

-สวัสดีเณรน้อย-น้ำกว้าน คำว่าฟ้าย้าว กับฟ้าหย้าว ก็เขียนได้ทั้งสองแบบ เช่น คำว่า หน้อยกับน้อย (ผ่านการบวชเป็นสามเณร) หรือ หนานกับนาน (ผ่านการบวชเป็นพระ) หรือ กว้านกับกว๊าน

-ส่วนประเด็นเรื่องพระอาทิตย์ใกล้ขึ้นหรือใกล้ตก ในความหมายนี้เป็นพระอาทิตย์ใกล้ตกครับ

ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมไม่มี ณ พะเยา ก็เนื่องจากเมืองพะเยา แม้จะเคยรุ่งเรือง แต่ก็เคยผ่านอะไรมามาก

กล่าวคือเคยเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรล้านนา ๒๐๐ กว่าปี

อยู่ภายใต้อิทธิพลของพม่าอีกกว่า ๒๐๐ ปี

เป็นเมืองร้างอีก ๕๖ ปี

อยู่ภายใต้สยามรัฐ และไทย จากจังหวัด ลดฐานะเป็นอำเภอ แล้วยกเป็นจังหวัด

ทำให้เชื้อสายเจ้าเมืองเดิมขาดตอน สูญหาย ไร้ซึ่งหลักฐาน

นามสกุลเจ้าพะเยา จะเป็นศรีติสาร กับศักดิ์สูง มั้งครับ (จำได้ลางๆ) ผมไม่แน่ใจว่าเป็นสายเจ้าเจ็ดตนที่เป็นต้นตระกูลจากลำปางแล้วไปปกครองเมืองใหญ่ๆอย่างเชียงใหม่ด้วยหรือเปล่านะครับ

แวะเอาลิงค์มาฝากครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านใดสนใจอ่านเชื้อสายเจ้าหลวงเมืองพะเยา

http://www.kruduangporn.com/

(ข้อมูลจากเว็บไซต์ของครูดวงพร (ครูของผมเองครับ ท่านสอนภาษาไทยให้ผมสมัยเรียนอยู่ พ.ค.) จะมีเมนูอยู่ทางซ้ายมือ กดเลือกแล้วบันทึกไว้อ่านได้เลยครับผม) ส่วนข้อสังเกตที่ว่า ทำไมจึงไม่มี ณ พะเยา ผมเห็นด้วยกับพระอาจารย์ครับที่ว่า เมืองพะเยาสมัยหลังนี้ไม่ใช่เมืองใหญ่ ยิ่งหากเทียบกับทางลำปาง ซึ่งเป็นต้นสกุลเจ้าหลวงทางภาคเหนือในยุคปลาย หรือทางเชียงใหม่เองก็เป็นคนในสกุลเจ้าเจ็ดตน เมื่อมีการพระราชทานนามสกุล เข้าใจว่าให้กับต้นตระกูลประจำเมืองใหญ่(หัวเมืองใหญ่)เท่านั้น (สังเกตว่า ณ เชียงราย ก็ไม่มีเช่นกันนะครับผม)

-ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะวงศ์ได้ขาดสูญไปเป็นเวลานานแล้ว

-ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการเมือง ที่ไปยุ่งกับกลุ่มเงี้ยวกู้ชาติ อันเป็นการลงโทษที่แพร่ พะเยา เชียงราย ไม่มี ณ

-ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะสถานภาพเมืองที่ล่วงโรย หลังจากรุ่งเรืองมาแล้ว

การศึกษาประวัติศาสตร์เมืองพะเยา เท่าที่ได้ศึกษามามีจุดอ่อน ๒ จุด คือ

๑) ปี พ.ศ.เริ่มตั้งเมืองพะเยา ปีใดกันแน่ ซึ่งมีอยู่ ๙ ทัศนะ พยายามกระตุ้นให้ผู้เกี่ยวข้องแล้วแต่ก็ยังเฉยอยู่

๒) ลำดับเชื่อพระวงศ์ของวงศ์ภูกามยาว จากพ่อขุนจอมธรรม ถึงขุนคำแดง/ขุนคำลือ ก็ขาดหายไปเลย เพราะตกอยู่ภายใต้อำนาจล้านนา และยังมีข้อสงสัยอยู่ ต้องช่วยกันหาและยังด่วนสรุปไม่ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท