๘๔.การมองเห็นด้วยแบบแผนทางศิลปะ : สัดส่วนเพื่อสร้างความลงตัวของสิ่งที่เป็นคู่ขัดแย้งหรือตรงข้ามกัน


ในระบบสังคม รวมทั้งระบบต่างๆในธรรมชาตินั้น จะประกอบไปด้วยความเป็นเอกภาพของความแตกต่างหลากหลายและซับซ้อน การค้นพบของนักวิทยาศาสตร์พบว่าในรายละเอียดของหิมะที่ดูขาวโพลนดาดดื่นเหมือนกันทั่วไปหมดนั้น แท้จริงแล้วโครงสร้างระดับผลึกของหิมะแต่ละผลึกไม่เหมือนกันไปทั้งหมดเลย ต้นมะม่วงพันธุ์เดียวกัน แต่ละต้นก็มีรายละเอียดไม่เหมือนกันเลย      

ขณะเดียวกัน ในท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายกันนั้น สิ่งต่างๆก็มีความเชื่อมโยงและมีระบบเกาะเกี่ยวสร้างความเป็นองค์รวมของทั้งหมดร่วมกัน ดังนั้น ความแตกต่างหลากหลาย ความซับซ้อน กับความเชื่อมโยงและเกาะเกี่ยวกันเพื่อสร้างความลงตัวในความเป็นส่วนรวมด้วยกัน จึงเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของสิ่งที่เราเห็นอยู่รอบตัว ในทางศิลปะก็มีวิธีเข้าถึงและสื่อแสดงโครงสร้างเชิงระบบและการจัดวางตนเองเพื่ออยู่ร่วมกันของสิ่งต่างๆดังกล่าวโดยวิธีการทางศิลปะด้วยเช่นกัน อีกทั้งเชื่อว่าจะมีความน่าสนใจไม่น้อยไปกว่าวิธีอื่นๆ

ความแตกต่างหลากหลาย เป็นพื้นฐานของความงามอย่างหนึ่ง
ในระบบธรรมชาติและในวิธีการทางศิลปะ

หากเปรียบเข้ากับระบบชีวิตและระบบสังคมแล้ว ความแตกต่างหลากหลายและการมีความจำเพาะตนของสิ่งต่างๆ ก็เปรียบเสมือนความเป็นปัจเจกและความเป็นท้องถิ่นนั่นเอง ซึ่งถ้าหากขาดมิติความเชื่อมโยงและขาดการจัดการองค์ประกอบด้านความส่งเสริมและเกื้อหนุนกัน ให้เกิดมิติที่สามอย่างสมดุลและลงตัวแล้ว ความแตกต่างและการมีความจำเพาะตนดังกล่าว ก็จะแสดงตนได้เพียงความเป็นเอกเทศระดับปัจเจกและระดับท้องถิ่นเท่านั้น ไม่สามารถก่อเกิดมิติความเป็นซึ่งกันและกันหรือไม่สามารถสร้างมิติความเป็นส่วนรวมด้วยกันได้

วิธีที่จะสามารถบันทึก บอกเล่า และถ่ายทอดความเป็นจริงของสิ่งต่างๆในลักษณะนี้ได้อย่างลึกซึ้งที่สุดนั้น บางกรณีภาษาพูดและเขียนอย่างเดียวก็อาจจะมีข้อจำกัดหรือมิเช่นนั้นก็ไม่สามารถทำได้เลย ทำให้การสร้างความรู้และการแสดงความจริงที่จำเป็นมีข้อจำกัดไปด้วย ภาษาภาพถ่าย งานศิลปะ และการวาดภาพ จึงอาจจะเป็นคำตอบและสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ซึ่งในทางศิลปะนั้น วิธีหนึ่งของการจัดการกับความแตกต่างก็คือการใช้แนวคิดเกี่ยวกับสัดส่วนของแสง-เงา ขนาด สีสัน และการจัดวางให้เกิดความสมดุล-ลงตัว ซึ่งเราสามารถศึกษาเรื่องนี้ได้จากแนวคิดเรื่องสีคู่ตรงข้ามและคู่ความขัดแย้ง ขอให้ท่านลองพิจารณาศิลปะในภาพถ่ายต่อไปนี้

ขนาดของเรือเป็นกลุ่มก้อนของแสงเงาและสีสันที่เป็นชุดเดียวกัน คือ กลุ่มของสีเขียว ซึ่งเจิดจ้าและแตกต่างกระโดดออกจากภาพรวม ขณะเดียวกัน สีแดงของร่มก็เหมือนเป็นลูกขัดที่พอดี ช่วยเสริมกันให้เกิดเรื่องราวเคลื่อนไหวอยู่ในภาพ ร่วมกันบอกเล่าและสื่อแสดงธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่สวยงาม น่ารื่นรมย์  ในขณะที่ในความเป็นจริงแล้ว สีเขียวของเรือและสีแดงของร่มนั้นเป็นสีคู่ตรงข้ามและมีความโดดเด่น แรงพอที่จะสะดุดความสนใจหรือเป็นพระเอกนางเอกของเรื่องราวได้พอกัน เพราะสีคู่ตรงข้ามและความขัดกัน ได้เกิดจังหวะที่ลงตัวจากการจัดวางตนเองใหม่  [ ภาพ : สระบัว บ้านสวนศิลปะและเรียนรู้ชุมชน บ้านของผู้เขียนและครอบครัวที่บ้านห้วยส้ม ตำบลสันกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ]

กลุ่มสีแดงของชุดนาฏศิลป์ เก้าอี้ และเสื่อ กับกลุ่มสีเขียวและชุดนาฏศิลป์อีกกลุ่มหนึ่งที่ด้านขวา เป็นกลุ่มสีที่ตรงข้ามและขัดแย้งกัน ทว่า จากในภาพ เรากลับจะเห็นว่าองค์ประกอบทั้งหมดมีความเชื่อมโยงและส่งเสริมรายละเอียดของกันและกันให้งดงามและลงตัวได้อย่างพอดี  [ ภาพ : การแสดงศิลปะนาฏศิลป์ ของนักเรียนโรงเรียนชลบุรีราษฏร์อำรุง ในเวิร์คช็อปพัฒนาการสอนสำหรับครูและผู้สอนศิลปะที่ไม่ได้จบทางศิลปะ ของกลุ่มครูและสถานศึกษาในชลบุรีและกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก เมื่อปี ๒๕๔๙ ที่อ่างศิลา ชลบุรี ]

ภาษาภาพและการเห็นโลกของสรรพสิ่งในแนวคิดทางทัศนศิลป์

ความสามารถเห็นสีสันและแสงเงาต่างๆในธรรมชาตินั้น หากอธิบายด้วยวิธีการทางศิลปะ ก็จะอธิบายได้ว่า ความสามารถในการเห็นทั้งหมดของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตนั้น เกิดจากการผสมผสานกันของสีและน้ำหนักแสงเงาพื้นฐานจำนวนหนึ่งซึ่งเรียกว่าแม่สี และแสงเงาดำ-ขาว 

แม่สีพื้นฐานนั้นมีอยู่หลายระบบ แต่ที่รู้จักกันแพร่หลายสำหรับคนทั่วไปมากที่สุดคือแม่สีวัตถุธาตุในระบบสีของมันเซลล์ (Colorimetry, Munsell Color System) ของ ศาสตราจารย์อัลเบิร์ต เอช.มันเซลล์ (Professor Albert H. Munsell,1900s) ซึ่งประกอบไปด้วยแม่สี ๓ สี คือ สีแดง เหลือง และน้ำเงิน แม่สีทั้ง ๓ สีของแม่สีวัตถุธาตุนี้ เมื่อผสมในสัดส่วนที่เท่าๆกันแล้วก็จะได้สีดำ[๑] ซึ่งในทางศิลปะจะเรียกว่า ระดับคุณค่าของสี (Values) ที่จะทำให้เข้มขึ้นหรืออ่อนลงด้วยการเพิ่มน้ำหนักดำลงไป (Shading) หรือเพิ่มน้ำหนักสีขาวลงไป (Tint) ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวทั้งในแนวดิ่งและในแนวระนาบของสีต่างๆ เป็นระบบสีอันซับซ้อนและขยายออกไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น น้ำหนักดำและขาว จึงนับว่าเป็นวิถีทรรศนะต่อความจริงในขั้นพื้นฐานของสิ่งต่างๆ[๒] อีกมิติหนึ่งด้วยเช่นกัน [๓][๔]

แม่สีทั้ง ๓ สี บวกกับน้ำหนักอ่อนแก่ของแสงเงาดำ-ขาวนี้ จะสามารถผสมให้เกิดสีใหม่ๆอีกหลากหลายที่จิตรกรและผู้ซึ่งใช้ศิลปะทำงานในสาขาต่างๆ สามารถใช้บันทึกและถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ดังที่ต้องการได้ทั้งหมด   

แต่ในวงจรสี หรือในความเป็นจริงของธรรมชาติ จะมีสีคู่ตรงข้ามอยู่ด้วยกันไปด้วย เราเริ่มรู้จักตัวอย่างสีคู่ประกอบหรือความเป็นตรงกันข้ามที่แสดงด้วยสี เริ่มจากสีเขียวกับสีแดง ซึ่งเป็นโครงสีหลักในภาพเรือและร่มสีแดงในภาพตัวอย่างที่เรานำมาศึกษาภาพแรก

สีเขียวกับสีแดงเป็นสีคู่ตรงข้าม ซึ่งในทางศิลปะและงานทัศนศิลป์สาขาต่างๆนั้น จะยอมรับว่าวัตถุและองค์ประกอบในชิ้นงานที่มีสีแดงหรือสีเขียวนั้น จะแรง หรือมีพลังในการกุมเรื่องราวทั้งหมดของภาพได้พอกัน ดังนั้น หากปรากฏเท่าๆกันแบบ ๕๐ : ๕๐ ดังภาพบน ก็จะเกิดภาวะต่างแสดงความความจำเพาะตน เปรียบได้กับเกิดความเป็นปัจเจกหรือความเป็นท้องถิ่น แยกออกจากกันอย่างเอกเทศ เหมือนมีสองเรื่องราวในกรอบสถานการณ์เดียวกัน แต่ขาดการเสริมกันให้เกิดเรื่องราวในมิติที่สามและมิติเชิงลึกอื่นๆที่จะก่อเกิดสืบเนื่องตามมาจากการเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์กัน เมื่อมอมงทั้งสองสี เราจะเห็นว่าต่างอยู่บนระนาบเดียวกัน จะบอกว่าสีใดสีหนึ่งเป็นพื้นและสีใดสีหนึ่งเป็น Form และจุดเด่น ก็ไม่สามารถเกิดมิติเชิงลึกให้สามารถจำแนกในลักษณะนี้ได้

สีม่วงกับสีเหลือง เป็นสีคู่ประกอบกันในระดับพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับแม่สี หากปรากฏเท่าๆกันแบบ ๕๐ : ๕๐ ดังภาพบน ก็จะเกิดความจำเพาะตน แยกออกจากกันอย่างเอกเทศเหมือนมีสองเรื่องราวในกรอบสถานการณ์เดียวกัน แต่ขาดการเสริมกันให้เกิดเรื่องราวในมิติที่สามและมิติเชิงลึกอื่นๆที่จะก่อเกิดสืบเนื่องตามมาจากการเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์กัน

สีน้ำเงินกับสีส้มแดงหรือสีแสด เป็นสีคู่ประกอบกันในระดับพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับแม่สี หากปรากฏเท่าๆกันแบบ ๕๐ : ๕๐ ดังภาพบน ก็จะเกิดความจำเพาะตน แยกออกจากกันอย่างเอกเทศ เหมือนมีสองเรื่องราวในกรอบสถานการณ์เดียวกัน  

น้ำหนักดำกับขาว เป็นคู่ประกอบกันในระดับพื้นฐาน หากปรากฏเท่าๆกันแบบ ๕๐ : ๕๐ ดังภาพบน ก็จะเกิดความจำเพาะตน แยกออกจากกันอย่างเอกเทศ เหมือนมีสองเรื่องราวในกรอบสถานการณ์เดียวกัน แต่ขาดการเสริมกันให้เกิดเรื่องราวในมิติที่สามและมิติเชิงลึกอื่นๆที่จะก่อเกิดสืบเนื่องตามมาจากการเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์กัน จะกล่าวว่าสีขาวอยู่บนพื้นดำหรือสีดำอยู่บนพื้นขาว ก็ไม่สามารถเจาะจงได้ หรือไม่สามารถกล่าวถึงมิติดังกล่าวนี้ได้เพราะองค์ประกอบภาพไม่มีโครงสร้างสำหรับจัดวางตนเองในมิตินี้ ต่างแยกออกจากกันเป็นสองส่วนและสามารถแสดงเรื่องราวของตนเองได้โดยไม่มีความสะท้อนซึ่งกันและกันเลย หากแยกออกจากกันก็จะได้เรื่องราว ๒ เรื่องที่เป็นอิสระต่อกัน

แบบแผนความงามและความเป็นศิลปะ มิติมหัศจรรย์ที่ซ่อนอยู่ในสิ่งรอบตัวของเรา
จากการผสมผสานกฏ ๓ ส่วน เข้ากับหลักอัตราส่วน ๒๐ : ๘๐ ของ Form and Space 

หากเราสามารถจัดวางองค์ประกอบและแก้ปัญหาเชิงวิธีคิด เพื่อให้ความแตกต่าง ความเป็นสิ่งตรงข้าม ความขัดแย้งแตกต่าง ดังที่กล่าวถึงในข้างต้นเหล่านี้ กลายเป็นองค์ประกอบที่มีการดำรงอยู่เฉพาะตน บอกเล่าและสื่อแสดงสิ่งต่างๆในนามของตนเองได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน ก็สามารถร่วมกันบันทึกและถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆให้เห็นมิติความเป็นองค์รวม เกิดความสวยงามและลงตัว ดังภาพตัวอย่างในข้างต้นได้ ด้วยการนำเอากฏ ๓ ส่วนมาใช้ร่วมกับแนวคิดเกี่ยวกับสัดส่วน ๘๐ : ๒๐ เพื่อจัดความสมดุลและสร้างตำแหน่งความเป็นศูนย์รวมความสนใจ ให้สิ่งที่แตกต่างกัน กลายเป็นองค์ประกอบสร้างเรื่องราวร่วมกัน ดังอธิบายด้วยแผนภาพต่อไปนี้ 

เมื่อเราถ่ายภาพ เขียนรูป รวมทั้งมองและสัมผัสกับโลกรอบข้าง เราสามารถพัฒนาแผนที่และแบบแผนในการจินตนาการต่อสิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้นมาต่อเนื่องอีกหนึ่งขั้นจากการพัฒนาแผนที่กฏ ๓ ส่วนไว้จัดการระบบการคิดเพื่อเห็นแบบแผนศิลปะและการจัดวางตนเองของสรรพสิ่งในธรรมชาติด้วยลีลา ความสมดุล และความลงตัว อย่างมีศิลปะ ด้วยการเห็นสัดส่วนขนาดต่างๆบนพื้นที่การเห็นโลกของสรรพสิ่งซ้อนลงไปบนแผนที่กฏ ๓ ส่วน

การจัดวางสีคู่ประกอบ สีคู่ตรงข้าม และสิ่งที่มีน้ำหนักแสงเงาตลอดจนขนาดและทิศทางที่ขัดแย้งและโดดเด่นพอกัน หากไม่สามารถสร้างความเชื่อมโยงที่เสริมกัน ก็จะกลายเป็นหลายเรื่องราวหลุดออกจาก Theme หลักของภาพ วิธีทำให้สามารถคงเรื่องราวความแตกต่างหลากหลายไว้ได้ทั้งหมด แต่ขณะเดียวกัน ก็กลับเกิดเรื่องราวอย่างใหม่ที่สีที่ตรงข้ามกันสร้างขึ้นใหม่ร่วมกันก็คือ จัดวางตำแหน่งความสนใจด้วยสัดส่วน ๒๐ : ๘๐ ดังภาพ โดยให้สีใดๆและองค์ประกอบใดๆทำหน้าที่เป็นตัวเด่นกลายเป็น Form อีกสีก็จะกลายเป็นทำหน้าที่เป็นพื้น และต่างร่วมเป็น Theme สร้างเรื่องราวเป็นภาพเดียวกัน เราลองทดลองดูได้ดังภาพต่างๆต่อจากนี้

 

สีแดงเป็น Form และสีเขียวเป็นพื้น : จากภาพที่นำมาอยู่ด้วยกันและในสัดส่วนที่เท่าๆกันดังในข้างต้น สีแดงและสีเขียวต่างบอกเล่าตนเองอย่างจัดจ้าน หากเป็นการบันทึกและถ่ายทอดเรื่องราวก็เรียกได้ว่ามี ๒ คอนเซ็ปต์หรือหลายเรื่องราวที่แยกออกจากกันได้ ไม่มีเรื่องราวในมิติที่สาม แต่เมื่อนำมาจัดวางโดยผสมผสานกฏ ๓ ส่วนกับอัตราส่วน ๒๐ : ๘๐ ของพื้นและ Form ก็กลับเกิดชีวิตและความเคลื่อนไหวบางอย่างขึ้นมาซึ่งแต่เดิมไม่เคยมีมาก่อน

เราจะสังเกตได้ว่าสายตาของเราจะพุ่งไปที่สีแดงซึ่งมีขนาดเล็กลง ทว่ากลับมีความน่าสนใจ กลายเป็นจุดรวมความสนใจ ขณะเดียวกับ สีเขียวซึ่งก็แรงและโดดเด่น ก็กลับมีบทบาทในการเป็นพื้นหลัง ฉากหลัง และช่วยกันคุม Theme ทำให้สีแดงขนาดเล็กลงแต่กลับโดดเด่นขึ้น อีกทั้งทั้งหมดเป็นองค์ประกอบเดียวกันที่แยกออกจากกันไม่ได้ ต่างจากในภาพแรกๆซึ่งสีแต่ละคู่ต่างมีสัดส่วนที่เท่ากันเป็น ๕๐ : ๕๐ นั้น จะสามารถแยกออกจากกันเป็นคนละเรื่องราวได้ต่างหากของแต่ละสี

ที่สำคัญก็คือ เราจะสังเกตได้ว่าโดยที่องค์ประกอบทุกประการก็ยังคงมีเท่าเดิม ทว่า ด้วยการทำให้เกิดมิติความสัมพันธ์ในเชิงสัดส่วนและตำแหน่งตามกฏ ๓ ส่วน จาก ๒ สีที่แสดงเรื่องราวอันจำกัดเพียงมิติเดียวและระนาบเดียว ก็จะเห็นได้ว่าได้เกิดอีกมิติหนึ่งขึ้นมาคือ มิติเชิงลึก สีแดงและ Form ใดๆที่ถูกนำมาจัดวางในตำแหน่งดังกล่าว ก็จะกลายเป็นองค์ประกอบที่โดดออกมาอยู่หน้า ทำหน้าที่เป็น Form และกุม Theme ของภาพทั้งหมด ในขณะที่อีกสีก็เกิดบทบาทใหม่เป็นพื้นหลัง และกุมบรรยากาศของภาพทั้งหมดไว้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

 

สีแดงกลับเป็นพื้นและสีเขียวเป็น Form : จากภาพนี้ โดยที่ก็ยังใช้สีเขียวและแดงคู่เดิม แต่เราก็กลับจะเห็นว่าสายตาของเราเปลี่ยนพุ่งความสนใจไปยังสีเขียว ขณะเดียวกัน สีแดงสดซึ่งก็แรงและโดดเด่น ก็กลับมีบทบาทในการเป็นพื้นหลัง ฉากหลัง และช่วยกันคุม Theme ทำให้สีเขียวขนาดเล็กลงแต่กลับสะดุดความสนใจ สว่างและโดดเด่นขึ้น อีกทั้งทั้งหมดเป็นองค์ประกอบเดียวกันที่แยกจากกันไม่ได้เช่นกัน

เราจะสังเกตได้ว่า ความน่าสนใจ ความเป็น Theme หลัก และความหมายที่จะบอกว่าสิ่งใดคือพื้นหลังและสิ่งใดคือ Form นั้น แท้จริงแล้วไม่ได้อยู่ที่ความเป็นสีเขียวหรือสีแดง ทว่า อยู่ที่สัดส่วนและจังหวะของการจัดวาง หากลองเปลี่ยนเป็นสีคู่ประกอบอื่นๆเหมือนกับเปลี่ยนสีแดงและเขียวดังที่แสดงให้ดูนี้ ก็จะให้ผลเหมือนกัน โครงสร้างและแบบแผนดังกล่าวนี้จึงไม่ได้มีอยู่ในสิ่งที่เห็น แต่อยู่ในจินตนาการและการนำมาใช้ออกแบบการปฏิบัตินั่นเอง

สีแดงเป็น Form และสีเขียวเป็นพื้น : จากภาพนี้ แม้เปลี่ยนตำแหน่งจากมุมล่างขวา ไปอยู่มุมบนซ้ายของกฏ ๓ ส่วนแล้ว สายตาของเราจะพุ่งไปที่สีแดง ขณะเดียวกัน สีเขียวสดซึ่งก็แรงและโดดเด่น ก็กลับไปทำบทบาทในการเป็นพื้นหลังและช่วยกันคุม Theme ทำให้สีแดงขนาดเล็กลงแต่กลับสะดุดความสนใจและโดดเด่นขึ้น อีกทั้งทั้งหมดเป็นองค์ประกอบเดียวกันที่แยกออกจากกันไม่ได้

ความสมดุลและความลงตัวเป็นภาพเดียวกัน ในขณะที่แต่ละองค์ประกอบย่อยก็แสดงตนเองไปด้วยอย่างเป็นตัวของตัวเอง แสดงตนเองออกมาพร้อมกับร่วมกันสร้างเรื่องราวให้เกิดขึ้นอีกมิติหนึ่งที่แต่เดิมนั้นแต่ละสีไม่มีในลักษณะดังกล่าวนี้อยู่  เกิดจากการจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ให้มีโครงสร้างและระบบความสัมพันธ์กันในแบบแผนที่ผสมผสานกันของตำแหน่งความสนใจตามกฏ ๓ ส่วนและสัดส่วน ๒๐ : ๘๐ ของ Form และพื้นหลังนั่นเอง

การเรียนรู้และสร้างความเชื่อมโยงไปสู่การช่วยขยายพรมแดนความรู้ความเข้าใจ

เราสามารถเรียนรู้ที่จะนำเอาวิธีการทางศิลปะดังกล่าวนี้ผสมผสานเข้ากับการบันทึกถ่ายทอดเหตุการณ์และปรากฏการณ์ต่างๆ ตลอดจนกิจกรรมชีวิต การงาน รวมทั้งสังคมและสภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็จะยิ่งทำให้งานทางความรู้มีความสมบูรณ์มากขึ้นทั้งมิติความจริง ความดี และความงาม 

ตัวอย่างเช่น หากนำเอาเรื่องราวเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้และการทำงานในวิถีชุมชน มาถ่ายทอดเพื่อให้เข้าใจหลักคิดของการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างการจัดความสัมพันธ์กันขององค์ประกอบย่อยหรือการเปลี่ยนแปลงระดับกระบวนทัศน์ของบางสิ่ง ว่ามีความแตกต่างเป็นคนละภาวะจากสภาพเดิมอย่างไรโดยใช้ศิลปะบันทึกและถ่ายทอด เราก็สามารถตีโจทย์ให้สื่อสะท้อนออกมาเป็นแนวคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์กันในมิติสัดส่วนดังกล่าวนี้ได้เช่นกัน 

กล่าวคือ จากความเป็นสีแดงที่แต่เดิมเคยเป็นจุดสนใจ เมื่อเปลี่ยนเป็นพื้นหลัง แม้ยังคงความแรงของความเป็นสีแดงอยู่ แต่ก็กลับมีบทบาทที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากเป็นตัวชูโรงไปสู่การเป็นพื้นหลัง ซึ่งในทางปรากฏารณ์ทางสังคมนั้น ความเปลี่ยนแปลงในลักษณะดังกล่าว มีนัยต่อการเปลี่ยนแปลงระดับความสัมพันธ์เชิงอำนาจจากการถือเอาตนเองเป็นศูนย์กลางอำนาจไปสู่การถือเอาผู้เรียนและผลที่จะเกิดขึ้นร่วมกันเป็นศูนย์กลาง ซึ่งก็อาจใช้แสดงการเปลี่ยนบทบาทของการสอนและการบรรยายแบบถือเอาผู้สอนและเนื้อหาเป็นศูนย์กลาง จากความเป็นสีแดงที่เป็นจุดเด่น ก็กลายเป็นสีแดงที่สามารถเล่นบทเป็นพื้นหลัง สู่การเป็น FacFacilitator หรือ วิทยากรกระบวนการ ซึ่งมีบทบาทอยู่เบื้องหลังและส่งเสริมให้องค์ประกอบอื่นแสดงศักยภาพต่างๆออกมาด้วยตนเอง สร้างความงดงามของกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในแนวทางที่แตกต่างออกไปจากเดิม อย่างนี้เป็นต้น

การเข้าถึงทรรศนะและหลักการพื้นฐานที่สุดดังกล่าวนี้ ก็จะทำให้เราสามารถทำงานเชิงความคิดและพลิกแพลงการแสดงความจริงให้เหมาะสมไปตามบริบทได้ดีขึ้น โดยจะสามารถตระหนักถึงภาวะความจริงของสิ่งต่างๆได้มากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับไปด้วยว่า ความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งเดียวกันและมีธรรมชาติที่เป็นอย่างที่เป็น ที่โลกแห่งความความรู้และผู้คนที่แตกต่างสาขาประสบการณ์กัน ใช้วิธีการทางความรู้ที่ต่างกัน เหมือนเดินเข้าประตูและหน้าต่างคนละบาน สู่ห้องเดียวกัน เท่านั้น

ศิลปะ วิทยาศาสตร์ ภูมิปัญญาปฏิบัติจากวิถีชีวิตชุมชน รวมทั้งศาสตร์และความรู้แขนงต่างๆ ก็เปรียบเสมือนบานหน้าต่างและประตู ที่ผู้คนต่างก็สามารถเข้าออกได้หลายทางด้วยกันดังกล่าวนั้น ขณะเดียวกัน ความมีชีวิตจิตใจของมนุษย์ ก็เป็นพื้นฐานที่มนุษย์ล้วนมีด้วยกันทุกคน และสุขภาวะของการอยู่ร่วมกัน ก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการเหมือนกันทุกผู้ทุกนาม จึงเหมือนห้องเดียวกันและเป้าหมายที่มีความร่วมกันอยู่ภายใต้ความแตกต่างหลากหลาย ดังนี้เป็นต้น

เมื่อเห็นความเชื่อมโยงกันได้อย่างนี้ เราก็จะสามารถเดินอย่างไร้กรอบจำกัดมากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับ เติบโตงอกงามควบคู่ไปกับความสามารถขยายความกว้างขวางของการปฏิบัติและเรียนรู้ไปบนการดำเนินชีวิต ทำหน้าที่การงาน และการพัฒนาตนเองอยู่เสมอของเรา

วิธีนำไปใช้ในสถานการณ์จริงของการถ่ายภาพและเขียนรูป

เราสามารถใช้หลักเกณฑ์นี้สร้างสรรค์มุมมองทั้งสำหรับการถ่ายภาพ เขียนรูป และมองโลกรอบข้างเพื่อเห็นจังหวะและลีลาต่างๆในความเป็นศิลปะอยู่ในธรรมชาติ โดยประเมินและสังเคราะห์ให้เห็นแบบแผนของสีสันที่มีความเป็นสีตรงข้ามกัน แล้วเลือกให้สีที่โดดเด่นออกจากภาพรวม ให้มีขนาดประมาณ ๒๐ : ๘๐ พร้อมกับจัดวางให้อยู่ในตำแหน่งของจุดสนใจตามกฏ ๓ ส่วนตามความเหมาะสม ก็จะเกิดองค์ประกอบภาพที่มีความเป็นศิลปะพร้อมกับสิ่งที่ถูกจัดวางในตำแหน่งดังกล่าว ก็จะทำหน้าที่เป็น Theme เชื่อมโยงองค์ประกอบรอบข้างให้กลายเป็นเอกภาพ สร้างเรื่องราวต่างๆให้เชื่อมโยงเป็นชุดเหตุการณ์เดียวกัน

ปัจจุบันกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพ มักจะมีเส้นตารางอยู่ในช่องมองภาพ ตารางดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากหลักคิดเกี่ยวกับกฏ ๓ ส่วนและการสร้างอัตราส่วน ๘๐ : ๒๐ ของ Space และ  Form เพื่อใช้สายตามองและจัดวางองค์ประกอบภาพให้ได้ความเป็นศิลปะสำหรับบันทึกภาพในจังหวะต่างๆนั่นเอง

ลองกลับขึ้นไปพิจารณาภาพถ่ายสองภาพข้างบน เราก็จะสามารถเห็นแบบแผนดังกล่าวสอดแทรกเป็นระบบและโครงสร้างการจัดวางตนเองของสิ่งต่างๆอยู่ในปรากฏการณ์รอบตัวของเรา และเราก็จะสามารถบันทึกถ่ายทอดสิ่งที่เกิดจากมุมมองและการมองเห็นซึ่งก็จะสามารถสะท้อนความจำเพาะตนของเราเองด้วย ให้ออกมาเป็นภาพถ่ายและการเขียนภาพต่างๆออกมาได้

แผนที่และแบบแผนในการจินตนาการดังกล่าวนี้สามารถนำไปใช้กำกับการถ่ายภาพ บันทึกข้อมูลภาพ และวาดภาพต่างๆ เพื่อสร้างความรู้และจัดการความรู้ ซึ่งในหลายโอกาสภาษาพูดและภาษาเขียนจะไม่สามารถเข้าถึง.

..............................................................................................................................................................................

หมายเหตุและเชิงอรรถ :

[๑] ระบบ'แม่สีของแสง'จะเป็นอีกแบบหนึ่ง และเมื่อผสมกันแล้วก็จะได้สีขาวหรือไม่มีสี, ส่วน'แม่สีทางการพิมพ์'จะมี ๔ สีและต่างไปจาก'แม่สีวัตถุธาตุ'กับ'แม่สีของแสง' แต่เมื่อผสมกันแล้วก็จะได้สีดำเช่นกัน, ระบบ'สีในคอมพิวเตอร์'นั้นจะมีการเปล่งแสงเหมือนกับแม่สีของแสงมาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น จึงใช้แนวคิดทฤษฎีสีของแสงทำงานได้สอดคล้องกว่าการใช้ทฤษฎีแม่สีวัตถุธาตุอย่างที่คนทั่วไปรู้จัก, ผู้ที่มีความแตกฉานเรื่องแม่สีและศิลปะการจัดวางสีนั้น จะสามารถเป็นมืออาชีพที่ต้องใช้ศิลปะและความเชี่ยวชาญในขั้นสูง เช่น เป็น Ligthing Engineer, เป็น Screen Play Artist, เป็นผู้เชียวชาญในการคิดค้นสีและผสมสี เหล่านี้เป็นต้น, การค้นพบระบบสีมันเซลล์เกิดจากความพยายามวิจัยดินและการจำแนกดินด้วยหลักเกณฑ์ด้านสีของดิน จากนั้น จึงพัฒนาต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ, ในประเทศที่ก้าวหน้าหลายประเทศจะมีห้องปฏิบัติการวิจัยระบบสีและสร้างเป็นองค์ความรู้ที่สมบูรณ์เพื่อใช้ในงานศิลปะและการพัฒนาอุตสาหกรรมอีกหลายสาขา เช่น ระบบสีของประเทศญี่ปุ่น, ระบบสีของประเทศสวีเดน, ระบบสีของเยอรมัน, เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้น แม่สีวัตถุธาตุที่รู้จักแพร่หลายสำหรับคนทั่วไปในสังคมไทยนั้น จึงเป็นเพียงระบบสีแบบหนึ่ง ซึ่งในหลายประเทศก็อาจจะไม่คุ้นเคยและมีระบบสีอีกอย่างหนึ่งใช้ก็ได้
[๒] ในทางทฤษฎีการศึกษา, จิตวิทยาการศึกษา, ทฤษฎีการเรียนรู้และการเรียนการสอน ถือว่าสีต่างๆนั้นไม่ใช่สิ่งที่มีด้วยตนเองอยู่ในธรรมชาติ แต่เป็นวิธีคิดหรือเป็นสิ่งที่จะต้องสร้างเป็นมโนทัศน์และความหมายต่อสีต่างๆขึ้นมารองรับ ดังนั้น จึงก่อเกิด รู้จัก มีความหมายและมีบทบาทต่อชีวิตประจำวัน ตลอดจนมีบทบาทต่อการสร้างสังคมและวัฒนธรรมของสังคมต่างๆขึ้นมาได้ก็ด้วยการที่ต้องกำหนดรู้และเรียนรู้กระทั่งเกิดเป็นข้อตกลงร่วมกันขึ้นในบริบทหนึ่งๆของสังคม
[๓] งานศิลปะแบบเซนและงานศิลปะพู่กันจีนแนวหนึ่ง รวมทั้งการทำงานวาดเส้นและภาพถ่ายขาวดำแบบสีเดียว หรือ ภาพแบบ Monochrome มักจะบันทึกและบอกเล่าด้วยสีดำอย่างเดียว โดยให้ความสำคัญว่าเป็นการสร้างประสบการณ์ทางศิลปะเพื่อเป็นเงื่อนไขให้ผู้คนเข้าถึงประสบการณ์ทางจิตใจที่ลึกซึ้ง โดยสร้างความเป็นสีสันและความเป็นจริงขึ้นจากกระบวนการทางปัญญาซึ่งอยู่ภายในตนเอง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า แนวคิดของวิธีการทางศิลปะภาวนาดังกล่าวนี้ เชื่อว่าความเป็นสีสันต่างๆก็คือจิตใจของเรานั่นเอง ความเป็นจริงและโลกของสีสันไม่ใช่สิ่งที่อยู่ภายนอกตัวของมนุษย์ แต่เป็นสิ่งที่อยู่ในจิตใจของเรา ความจริงที่สุดของเราก็คือปัจจุบันขณะของจิตใจและสติในการตื่นรู้ของเรานั่นเอง ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องเขียนรูปและทำให้มีสีสันเบ็ดเสร็จ การเขียนให้มากสีกลับเป็นภาวะการปรุงแต่ง ในขณะที่การมุ่งเขียนด้วยสีดำ ก็จะถือว่าเป็นศิลปะของกระบวนการบรรลุธรรมด้วยวิถีแห่งปัญญา เป็นศิลปะของจิตใจ มักมีรูปแบบการเขียนเพื่ออยู่กับตนเองและสร้างงานศิลปะเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขแวดล้อมในการเข้าถึงธรรมด้วยกระบวนการภายในของตนเอง ของผู้ชม
[๔] แผนภาพแสดงระบบสีในทฤษฎีสีของมันเซลล์

   

                                                                                      

ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Google ที่ : http://en.wikipedia.org/wiki/Munsell_color_system

หมายเลขบันทึก: 442478เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2011 10:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)
  • มาซึมซับงานศิลป์ ....ภาษาสวย...ด้วยจังหวะและการจัดวาง องค์ประกอบ...ของครูขั้นเทพ
  • เป็นสิ่งที่ ✿อุ้มบุญ ✿ ต้องฝึกฝนต่อ...ไป....

คงต้องเรียนรู้องค์ประกอบศิลปะ

ขอบคุณค่ะที่นำมาถ่ายทอด ขออนุญาตเลียนคำพูดคุณอุ้มบุญ ข้างบนด้วยค่ะ

  • มาซึมซับงานศิลป์ ....ภาษาสวย...ด้วยจังหวะและการจัดวาง องค์ประกอบ...ของครูขั้นเทพ
  •  
  • เป็นสิ่งที่ ✿ครูกอไก่ ✿ ต้องฝึกฝนต่อ...ไป....
  • สวัสดีครับคุณอุ้มบุญครับ
    วันนี้กว่าจะเข้ามาดู มาแก้ไข ทักทายและตอบกันได้ ก็เล่นเอาเหงื่อตกเลยครับ ผมคิดว่าคอมพิวเตอร์ผมเสียอีกแล้วเสียอีก แต่ดูๆแล้วคนอื่นๆก็เจอใช่ไหมครับ
    ขอให้มีความสุขในการบ่มความคิดและติดดาบฝีมือออกไปใช้ทำงานอย่างสนุกยิ่งๆขึ้นนะครับ

    สวัสดีครับคุณครูกอไก่ครับ
    หากมีแนวในการมองอย่างนี้จนคุ้นเคย เหมือนกับเป็นแผนภาพในหัวหรือกรุ่นอยู่ในจินตนาการอยู่ตลอดเวลาได้แล้วละก็
    รับรองได้เลยครับว่าจะเป็นมือถ่ายภาพที่ส่องเลนส์ไปถ่ายภาพอะไรตรงไหนก็สวยแน่นอนครับ

    สวัสดีค่ะอาจารย์

    มาขอเรียนรู้ด้วยคนค่ะ

    สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ
    วันนี้มีหมู่มิตร บล๊อกเกอร์ และคนติดตามผลงานของคุณณัฐรดาในบล๊อกโอเคเนชั่นถามถึงคุณณัฐรดาแน่ะครับ

    • อิทธิพลของสีนั้นมีผลต่อการมองสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัวเรา และถ้าเรามีเรื่องราวของทฤษฎีสีเข้ามาเป็นตัวช่วยในการมองเห็น มันจะกลายเป็นศิลปะที่งดงามอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะเลยหล่ะค่ะ ..
    • ชอบค่ะบันทึกนี้ เลยมีของมาฝากค่ะ เป็นอาหารมื้อบ่ายควบเย็น จาก ครัวณัฐพัชร์ .. ตระเตรียมของในหัวว่าในตู้เย็นมีอะไร แล้วก็ลุยเลยค่ะ หน้าตาออกมาประมาณนี้ค่ะ มักกะโรนีผัดกับซ๊อสสปาเก็ตตี๊ ^^" อาจจะไม่อร่อยแต่มองให้เป็นศิลปะ คือ หน้าตาดีไว้ก่อนอ่ะค่ะ ^^"

                               

    • ไม่เลวครับไม่เลว ดูสีสัน องค์ประกอบ และกระบวนการที่ยังดูพิถีพิถันมากแล้ว ก็ประมาณได้ว่าอาร์ตติสต์ยังไม่ค่อยโซเท่าไหร่นะครับ ดูความประณีตบรรจงแล้ว กว่าจะเสร็จนี่สงสัยจะมีการชิมและทดสอบเป็นรายทางจนเส้นสปาเก๊ตตี้เหลืออยู่แค่สองสามเส้น พอเสร็จก็อิ่มพอดี...ลงตัว เอิ๊กกก ฮ่าา
    • หนังสือที่เกี่ยวกับอาหารเดี๋ยวนี้ เขาเรียกว่าเป็นงานศิลปะอีกสาขาหนึ่งแล้วนะครับ เมื่อตอนผมไปดูงานที่สิงคโปร์ สาขาที่เรียนเกี่ยวกับอาหารและการบริการเขาก็เรียกว่าเป็นศิลปะสาขาหนึ่งเหมือนกัน
    • หลังจากอาร์ตติสพึ่งพิงมาม่ามาหลายเพลา จึงขอนิ๊ดนึงกับความพิถีพิถันในมื้ออาหารเมื่ออยู่บ้านในวันนี้ค่ะ ต้องขอขอบพระคุณผู้มีอุปการะคุณอย่างสุดซึ้ง ..

    *ขอบคุณค่ะ..มาเรียนรู้สู่การปฏิบัติ..

    * พี่ใหญ่เก็บภาพดอกไม้หลากสีในสวนที่บ้านมาฝากค่ะ..ตอนจัดสวนคิดถึงความลงตัวเหมือนกัน ทั้งรูปทรงและสีสรร..ตามใจชอบ..

    เป็นความรู้ใหม่ อีกแล้ว ครับ

    ขอบพระคุณอาจารย์วิรัตน์ครับ

    สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ
    มันเยอะ หลายหลาก และออกดอกคึ่กคั่กขนาดนี้เชียวหรือครับ
    คนปลูกดอกไม้ต้นไม้ขึ้นงอกงามดีนี่เขาว่าเป็นคนมือเย็นดีนะครับเนี่ย

    สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ
    ติดดาบความคิดและเสริมกำลังให้คุณแสงแห่งความดีและมือถ่ายภาพ
    เพื่อทำงานบันทึกและถ่ายทอดความรู้ได้ด้วยตนเองให้หลากหลายมากยิ่งๆขึ้นไงครับ

    ตามมือที่ไปจูงมาค่ะ

    ตั้งใจอ่านอย่างแรง เพราะเป็นคนชอบศิลปะ

    แม้จะไม่รู้เรื่องศิลปะเลย

    อ่านแล้วทำให้รู้เลยว่าต้องเรียนรู้ การถ่ายภาพอีกมากๆ

    ขอบคุณมากๆนะคะ

     

    เอามาฝากเผื่อดูแล้วอยากมาเที่ยวกับครอบครัวเจ้า

    มาอีกครั้ง  อยากขออนุญาตเอาประโยคบางประโยคไปใช้บ้าง

    ไม่ว่ากันนะคะ

    สู่การเป็น FacFacilitator หรือ วิทยากรกระบวนการ ซึ่งมีบทบาทอยู่เบื้องหลังและส่งเสริมให้องค์ประกอบอื่นแสดงศักยภาพต่างๆออกมาด้วยตนเอง สร้างความงดงามของกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในแนวทางที่แตกต่างออกไปจากเดิม อย่างนี้เป็นต้น

    สวัสดีครับคุณมนัญญาครับ
    คิดว่าใครที่ไหนกัน เป็นทีมสุขภาพของสันทรายนี่เอง
    ผมคุ้นชื่อปางอุ๋งจัง แต่ดูสนสามใบแล้วอย่างกับไม่เคยเห็นเลย ดูเป็นธรรมชาติดีจังเลยนะครับ อันที่จริงการเป็นทีมจัดกระบวนการให้คนระดมความคิดและทำงานด้วยกันเป็นกลุ่ม-เป็นเครือข่ายนั้น ทีมสันทรายเก่งนะครับ มีคนทำงานเชื่อมโยงกันได้หลายระดับ ทีม อสม.ก็เข้มแข็ง

    • ต้องขอบคุณอาจารย์
    • ที่ทำให้ได้ศึกษาเรื่องสี
    • ชอบมากๆๆ
    • จะพยายามพัฒนาไปเรื่อยๆครับ
    • อาจารย์มีเนื้อหาชีวิตและเนื้อหาจากการทำงานที่เยอะและดีมากๆ
    • อีกทั้งแต่ละครั้งก็มีความสดและมีสิ่งดีๆเกิดขึ้นไปด้วยมากมาย วัตถุดิบที่อยู่ในงานเยอะ
    • เรื่องนี้จึงคงจะเป็นเรื่องหนึ่งที่เอาไปใช้ช่วยการทำงานของอาจารย์ได้มากเลยนะครับ
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท