หมู่บ้านทอผ้าไหม...รายได้สัปดาห์ละล้าน


หมู่บ้านทอผ้าไหม...รายได้สัปดาห์ละล้าน

วิโรจน์ แก้วเรือง

(ตอนที่ 2)

การท่องเที่ยวเส้นทางสายไหม กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์

        การท่องเที่ยวเป็นการเปิดหูเปิดตา เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ “ไหมไทย” หรือ “Thai Silk” ซึ่งมีเรื่องราวมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในภาคอีสานตอนใต้ ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งกรมช่างไหม เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๔๔๖ ดำเนินการด้านหม่อนไหมสรุปได้ดังนี้

       พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้ตั้งสาขากองช่างไหมขึ้นในจังหวัดนครราชสีมา และในปลายปีได้เปิดโรงเรียนช่างไหมขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อสั่งสอนอบรมการทำสวนหม่อน เลี้ยงไหมและสาวไหมตามแบบวิธีอย่างใหม่แก่กุลบุตร กุลธิดา

       พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้ตั้งสาขากองช่างไหมขึ้นในจังหวัดบุรีรัมย์  อีกแห่งหนึ่งมีหน้าที่ดำเนินการอุดหนุนการทำไหมอย่างเดียวกันกับกองจังหวัดนครราชสีมา

       พ.ศ. ๒๔๕๐ ได้ทำการทดลองส่งเจ้าพนักงานออกไปสอนการทำสวนหม่อน เลี้ยงไหมและสาวไหมตามแบบวิธีอย่างใหม่แก่ราษฎรในอำเภอพุทไธสง เพื่อดูว่าถ้ามีทางสำเร็จได้ก็จะขยายการนี้ไปยังอำเภออื่นๆ ผลของการทดลองปรากฏว่าสำเร็จ

      พ.ศ. ๒๔๕๑ ก. ได้ตั้งสาขาสอนการทำไหมแก่ราษฎรอย่างที่ได้ทดลองทำในอำเภอพุทไธสง ขึ้นอีก ๓ อำเภอ คือ

     ๑.   อำเภอสุวรรณภูมิ

     ๒.   อำเภอรัตนบุรี

     ๓.  อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย

รวมเป็น ๔ อำเภอทั้งพุทไธสง

ข. เริ่มแจกพันธุ์ไหมให้แก่ราษฎร ในอำเภอที่ตั้งการสอนการสาวไหม

ค. กองช่างไหมจังหวัดนครราชสีมา เริ่มฝึกหัดการทอผ้าด้วยเครื่องมืออย่างใหม่แก่กุลบุตร กุลธิดา

    พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้ตั้งสาขาสอนการทำไหมแก่ราษฎรอีก ๔ อำเภอ คือ

    ๑.   อำเภอเมืองร้อยเอ็ด

    ๒.   อำเภอเมืองศรีสะเกษ

    ๓.   อำเภอเมืองชัยภูมิ

    ๔.   อำเภอจัตุรัส

     พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้ตั้งสาขาการทำไหมแก่ราษฎรอีก ๑ อำเภอ คืออำเภอเมืองอุบลราชธานี

    พ.ศ. ๒๔๕๕ รัฐบาลได้เลิกกองช่างไหม และดำเนินการอุดหนุนการทำไหมและสาขาเสียทุกๆ แห่ง

    จากนั้นมาการส่งเสริมการทำไหมก็หยุดชะงักมาจนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้จัดตั้งสถานีส่งเสริมการเลี้ยงไหมขึ้นที่ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อที่จะทำการค้นคว้าทดลองการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมต่อไป แต่การดำเนินการในครั้งกระนั้นยังดำเนินการไม่ได้เต็มที่ เพราะยังไม่ได้รับงบประมาณโดยเฉพาะ อาศัยเจียดจากเงินการจรของกองพันธุ์พืช กรมกสิกรรม

     พ.ศ.๒๔๘๖ ได้ตั้งสถานีส่งเสริมการเลี้ยงไหมพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ (ปัจจุบันคือ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ บุรีรัมย์)

    พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้ตั้งสถานีส่งเสริมการเลี้ยงไหมร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด (ปัจจุบันคือ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ร้อยเอ็ด)

   พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้ตั้งสถานีส่งเสริมการเลี้ยงไหมอุบลราชธานี  จังหวัดอุบลราชธานี (โดยเลิกกิจการที่สถานีปากช่อง มาอยู่ที่อุบลราชธานี : ปัจจุบันคือ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี)

   พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้จัดตั้งสถานีค้นคว้าและทดลองเรื่องไหมที่นครราชสีมา (ปัจจุบันคือ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา)

   งานไหมเดิมสังกัดอยู่ในกองพันธุ์พืช กรมกสิกรรม ตั้งแต่ปี  ๒๔๘๑ เป็นต้นมาปี ๒๔๙๖ ได้ตั้งเป็นแผนกส่งเสริมการเลี้ยงไหม สังกัดกองส่งเสริมและเผยแพร่ มีเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆ ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๐ ทางการเห็นว่าการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ยังมีงานที่จะต้องทดลองค้นคว้าอีกหลายอย่าง เพื่อที่จะได้ตัวเลขที่แน่นอนสำหรับส่งเสริมให้แก่กสิกรต่อไป จึงได้โอนมาสังกัดกองการค้นคว้าและทดลอง จนกระทั่งปัจจุบันเป็นกรมหม่อนไหม เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๒

     การท่องเที่ยวเส้นทางสายไหม กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ หนึ่งในกิจกรรมโครงการไทยเข้มแข็ง โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ จัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อเส้นทางสายไหม กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ อันได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เพื่อสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวสายไหมที่เป็นทางเลือกใหม่ และต่อยอดแหล่งท่องเที่ยวเดิมทางประวัติศาสตร์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการตลาดของ หมู่บ้านผ้าไหมโดยใช้การท่องเที่ยวในการพัฒนา และได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการจากรัฐบาล ภายใต้โครงการ ไทยเข้มแข็ง ที่จะมุ่งเน้นพัฒนาชุมชนด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกิจกรรมในโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว เส้นทางสายไหมกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ประกอบไปด้วย การจัดทำเส้นทางสายไหม (Thai Silk Route Package) การจัดทำสื่อเคลื่อนไหว (Walk Through Animation) บอกเล่าเรื่องราวของเส้นทางสายไหม รวมถึงการพัฒนาจุดท่องเที่ยว (Artificial Highlight Tourist Spot) และการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของหมู่บ้านตามเส้นทางสายไหมผ่านทางช่องทางต่างๆ และการจัดกิจกรรมผู้แทนจำหน่ายไหมไทย (Thai Silk Dealers) ในต่างประเทศ

อิ่มใจ สายไหมยังเป็นสายใยแห่งชีวิต

    จากการได้มีโอกาสร่วมดำเนินการในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งกลุ่มเครือข่ายไหม นครชัยบุรินทร์  ได้เดินทางไปหาข้อมูลการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทอผ้าไหม ในจังหวัดสุรินทร์ถิ่นช้าง ที่มีความเป็นเลิศในการทำผ้าไหมยกดอกนับ ๑,๐๐๐ ตะกอ ที่จำเป็นต้องใช้คนทอและคนยกตะกอครั้งละ     ๔ คนพร้อมกัน ซึ่งทำเป็นล่ำเป็นสันที่บ้านท่าสว่าง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ หรือที่รู้จักกันในนามหมู่บ้านทอผ้าไหมเอเปค โดยมีอาจารย์วีระธรรม ตระกูลเงินไทย เป็นผู้ถ่ายทอดศิลปะระดับครูสู่ลูกบ้าน และยุวชนรุ่นหลังอย่างตั้งใจและต่อเนื่อง แต่วันนี้ นายอาทร แสงโสมวงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ ได้นำคณะของเราเดินทางไปดูหมู่บ้านประทุน ตำบลแตล อำเภอศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นกลุ่มทอผ้าโสร่งลายตารางทั้งหมู่บ้าน สร้างรายได้เข้าหมู่บ้านสัปดาห์ละ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นอย่างน้อย ซึ่งก่อนหน้านั้นก็ได้ยินได้ฟังเรื่องนี้มาบ้างแล้ว แต่ยังไม่เชื่อ เมื่อมาดูแล้วจึงรู้ว่ากลุ่มทอผ้าโสร่งลายตารางกลุ่มนี้มีการใช้เส้นไหมสำหรับทอผ้าไหมวันละ ๕๐ กิโลกรัม มีโรงฟอกย้อมของกลุ่ม  มีการจ้างผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ควบ ตีเกลียวเส้นไหม ทำให้มีรายได้ไม่ต่ำกว่า ๒๕๐ บาทต่อคนต่อวัน เมื่อนำไปทอจะขายได้ ๗๐๐ บาท ซึ่งเป็นราคาที่หน้ากี่ทอผ้า โดยมีผู้มาซื้อด้วยเงินสดถึงหมู่บ้าน จนไม่มีสินค้าเหลือตกค้าง ทำให้มีเงินหมุนเวียนตลอด ลองคิดตัวเลขเล่นๆ นะครับว่าหมู่บ้านนี้ขายผ้าไหมได้สัปดาห์ละ ๑ ล้านบาทได้อย่างไร

   ๑.   มีการใช้เส้นไหม ๕๐ กิโลกรัม x ๗ วัน เท่ากับ ๓๕๐ กิโลกรัม

   ๒.  ทอผ้าโสร่งได้ ๓๕๐  กิโลกรัม x ๕ ผืน เท่ากับ ๑,๗๕๐ ผืน

   ๓.  จำหน่ายได้ ๑,๗๕๐ ผืน x ๗๐๐ บาท เท่ากับ ๑,๒๒๕,๐๐๐ บาท

ทำไมกลุ่มทอผ้าบ้านประทุน จึงขายผ้าได้ตลอดปี ?

    การสร้างความเชี่ยวชาญให้ผู้ทอผ้าไหมในหมู่บ้านนี้โดยไม่ต้องทำผ้าหลากหลายชนิด ซึ่งจะยุ่งยากเรื่องการทำตลาด เมื่อทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นเวลานานๆ ประสบการณ์จะทำให้พัฒนาฝีมือและประหยัดเวลา เป็นการลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เท่าที่เราได้พูดคุยกับคุณประกอบ จำปาทอง ประธานกลุ่ม และสมาชิกกลุ่มอีก ๒-๓ ราย ทุกบ้านล้วนสามารถมีรายได้จากการทอผ้าไหมเพียงพอในการส่งลูกหลานเรียนระดับปริญญาตรี ถึงปริญญาเอกทุกบ้าน ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้ คุณอาทร  แสงโสมวงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ ที่ได้ร่วมกับศูนย์หม่อนไหมเฉลิม  พระเกียรติฯ สุรินทร์ และหน่วยงานต่างๆในจังหวัด พัฒนากลุ่มจนมีความเข้มแข็งและคงเป็นแบบอย่างที่ดี ต่อกลุ่มอื่นๆ ที่จะเข้าร่วมโครงการไทยเข้มแข็งในอนาคต

    การที่สินค้าของกลุ่มนี้จำหน่ายได้ทั้งหมดอย่างต่อเนื่องเนื่องจากผ้าไหมเป็น“สินค้าวัฒนธรรม” ที่จำเป็นต้องใช้ในพิธีแต่งงาน เป็นของรับไหว้ญาติผู้ใหญ่ที่เป็นชายจะให้โสร่ง ฝ่ายญาติผู้ใหญ่ที่เป็นหญิงจะให้ผ้าไหมมัดหมี่ คู่แต่งงาน ๑ คู่ จะใช้ผ้าไหมอย่างน้อย ๔๐ ผืน ปีหนึ่งๆ ทั้งจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดใกล้เคียงก็มาใช้บริการผ้าไหมของกลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่ เพราะได้ราคาขายส่ง

อีกหลายประการที่หมู่บ้านนี้มีดีจะอวด  คือ

      ๑.   เป็นหมู่บ้านนักประดิษฐ์ จะเห็นได้จากการประดิษฐ์เครื่องควบ เครื่องตีเกลียวเส้นไหม ที่ทำงานได้รวดเร็วกว่าเครื่องเดิมถึง ๕ เท่า คุณลุงเฮียน บุญยง เล่าให้เราฟังว่าคิดประดิษฐ์มาหลายปีแล้ว พร้อมทำจำหน่ายราคา ๒,๘๐๐ บาท ราคาย่อมเยาเสียด้วย นำไปใช้เพียงเดือนเดียวก็คุ้มทุนแล้ว

     ๒.  หมู่บ้านพัฒนาตัวอย่าง เป็นหมู่บ้านที่เคยได้รับรางวัลหมู่บ้านพัฒนาดีเด่นระดับประเทศมาแล้ว ดังจะเห็นได้จากการจัดระเบียบที่อยู่อาศัย มีคำขวัญไว้เตือนสติให้มุ่งมั่นทำความดีและรู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม

    ๓.  เป็นหมู่บ้านที่จะพัฒนาการทำไหมให้ครบวงจร ตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อผลิตเส้นไหมไว้ใช้ในหมู่บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงจากการขึ้นราคาของเส้นไหมอย่างไม่หยุดยั้ง แม้จะไม่สามารถตอบสนองความต้องการการใช้เส้นไหมได้ทั้งหมดก็ตาม อีกทั้งการจัดตั้งร้านค้าของกลุ่มในเมืองสุรินทร์ เพื่อเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรง ตัดการผ่านพ่อค้าคนกลาง

     เมื่อเราทราบว่าอีกหมู่บ้านมีการทอผ้าไหมมัดหมี่ของรับไหว้ฝ่ายหญิง คุณอาทรก็ไม่ขัดศรัทธาพาไปที่บ้านพันษี  ตำบลจารพัต อำเภอศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ แม้เราไม่ได้นัดหมายไว้ล่วงหน้า แต่เมื่อติดต่อไป กลุ่มทอผ้าไหมบ้านพันษี ก็ออกมาต้อนรับ ทำงานไปคุยกันไปอย่างออกรสชาติ ชาวบ้านที่นี่ใช้ภาษาไทยผสมภาษาเขมรและลาว แต่เรื่องน้ำใจไม่ต้องห่วง ถามอะไรเต็มใจให้ข้อมูล มือก็มัดหมี่ แม้จะใกล้ค่ำแล้วเขาก็ยังจับกลุ่มนั่งทำงานด้วยกัน กินข้าวกินปลาแล้วก็นั่งทอผ้ากันต่อจนละครจบจึงเข้านอน ที่นี่ก็เช่นกันส่งลูกๆเข้าไปเรียนในเมือง ลูกหลานที่เรียนอยู่ในหมู่บ้าน เลิกเรียนแล้วก็มาช่วย มาเรียนรู้การมัดหมี่ไหมจากพ่อแม่

     จากสองหมู่บ้านที่พบเห็น เป็นที่ประจักษ์ว่าอาชีพการทำไหม ยังคงอยู่ได้ถ้ามีตลาดและให้ผลตอบแทนเพียงพอต่อการยังชีพ เขาก็จะไม่อพยพไปอยู่ในเมือง ภาครัฐบาลก็ควรสร้างแรงจูงใจในการประกอบอาชีพนี้ให้ทัดเทียมกับอาชีพการเกษตรอื่นๆ เป็นการส่งเสริมสนับสนุนการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต สร้างกลุ่มเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพียงเท่านี้เกษตรกรและผู้ประกอบการในกลุ่มเครือข่ายไหม จังหวัดนครชัยบุรินทร์ ก็กินดีอยู่ดีมีแฮงเข้มแข็งเหมือนชื่อ “โครงการไทยเข้มแข็ง” ของรัฐบาลแล้วล่ะครับ

หมายเลขบันทึก: 441686เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2011 21:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อยากทราบต้นทุนการผลิตหม่อนผลสด ประมาณกี่บาทต่อไร่

ผลผลิตที่ได้ เราจะนำไปขายที่ไหนถ้าไม่แปรรูป ปลูกนานเท่าใดถึงให้ผล ผลผลิตประมาณเท่าใด ปีที่เท่าไรถึงจะคุ้มทุน

พิชัยพัฒ(อำไพผ้าหมยกดอกลำพูน)

ผมสนใจอยากได้ข้อมูลเครื่องตีเกลียวเส้นไหมที่คุณลุงเฮียน บุญยง ท่านประดิษฐ์ไว้ อยากจะสั่งซื้อได้ที่ไหนครับขอรายละเอียดด้วยครับ หรือติดต่อผมที่081-8266873

เรียน คุณสุนี

ต้นทุนการผลิตหม่อนผลสด

1.ต้นทุนการปลูกหม่อนผลสด ประมาณ 10,000 บาท/ไร่ (ค่าไถ+ค่าปุ๋ยคอก+ค่าต้นปักชำ) แต่ปีต่อๆไปจะลดค่าใช้จ่ายลงเหลือน้อยกว่า 5,000 บาท

2. ปลูก 1 ปี เริ่มเก็บผลได้ แต่จะให้ผลมากประมาณ 1,000 กิโลกรัม/ไร่ หลังปลูกแล้ว 3 ปี แต่จำเป็นต้องให้น้ำในช่วงออกดอกติดผล ซึ่งปกติจะออกในฤดูแล้ง

3. ผลสดต้องแปรรูปจำหน่าย เพราะผลสดเก็บไว้ได้ไม่นาน ผู้ผลิตรายใหญ่เขาปลูกหม่อนไว้ใช้เอง มีบางรายจะซื้อห้องเย็นไว้เก็บหม่อนจำหน่ายทั้งปี กิโลกรัมละ 50-100 บาท

4. การเก็บผลผลิต ปีละ 1,000 กิโลกรัมๆ ละ 50 บาทเฉพาะในปีที่ 3 ได้ 5,000 บาท หักค่าใช้จ่าย 3 ปี (10,000+5,000+5,000+ค่าเก็บเกี่ยวกิโลกรัมละ 8 บาท = 8,000 บาท รวมค่าใช้จ่าย 28,000 บาท) ดังนั้นจะเห็นว่าการปลูกจะคุ้มทุนตั้งแต่ปีที่ 3

ขอบคุณครับ

เรียน คุณพิชัยพัฒ

ขอบคุณที่สนใจบทความของเรา ถ้าต้องการเครื่องตีเกลียวเส้นไหมของลุงเฮียน กรุณาติดต่อคุณอาทร แสงโสมวงศ์

ร้านเรือนไหมใบหม่อน จ.สุรินทร์ โทร. 081 8791360 ซึ่งจะช่วยประสานลุงเฮียนให้ เนื่องจากจะผ่านเข้าไปในหมู่บ้านบ่อยๆ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท