หมู่บ้านทอผ้าไหม...รายได้สัปดาห์ละล้าน


หมู่บ้านทอผ้าไหม...รายได้สัปดาห์ละล้าน

วิโรจน์ แก้วเรือง

(ตอนที่ 1)

ยุคทองของผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกลับมาอีกครั้ง

      ยุคเส้นไหมราคาแพงดั่งทองคำจากราคากิโลกรัมละ ๑,๒๐๐ บาท ในปี ๒๕๕๑ เพิ่มเป็น ๒,๐๐๐ บาทในปี ๒๕๕๔ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะกำลังผลิตประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนลดลงราว ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ด้วยปัจจัยที่ว่าปัจจุบันจีนมีความรุ่งเรืองในภาคอุตสาหกรรม ทำให้ประชาชนชาวจีนรุ่นใหม่มีทางเลือกมากขึ้นในการประกอบอาชีพในเมืองมากกว่าการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมดั่งบรรพบุรุษ เส้นไหมในอุตสาหกรรมสิ่งทอจึงขาดแคลน ผู้นำเข้าเส้นไหมของไทยไม่กล้าสั่งสินค้าเก็บไว้เป็นสต๊อกล่วงหน้า เนื่องจากราคาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

       โชคดีที่ประเทศไทยยังมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ผลิตเส้นไหมเหลืออยู่ ไม่ได้สูญหายไปหมด มิฉะนั้นเราต้องพึ่งพาเส้นไหมจากต่างประเทศทั้งหมด ก็จะประสบปัญหาไม่มีเส้นไหมเป็นของตนเอง อาจทำให้อุตสาหกรรมทอผ้าไหมของไทยหยุดชะงักได้ ปัจจุบันแม้ว่าราคาเส้นไหมของไทยจะมีราคาใกล้เคียง หรือแพงกว่าการนำเข้าเล็กน้อย ผู้ทอผ้าไหมก็น่าจะยอมรับได้ ถ้าเราผลิตเองไม่ได้เลย โอกาสที่ต่างชาติจะขึ้นราคาเส้นไหมไปอีกตามใจชอบก็สามารถเป็นไปได้ ดังนั้นการเกษตรใดก็ตามที่เรามีอยู่ แม้มูลค่าจะไม่มาก แต่รัฐบาลควรห่วงใย รักษาไว้เป็นมรดกของชาติ และไว้เป็นข้อต่อรองกับประเทศผู้ผลิตอื่นๆ พร้อมทั้งสร้างความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

     ปรากฏการณ์เช่นนี้ถ้าไม่มีเรื่องยางพาราราคากิโลกรัมละ ๑๘๐ บาท ณ เดือนที่มีวันแห่งความรัก และวันแห่งการกตัญญู (วันวาเลนไทน์ และวันมาฆบูชา)อยู่ในเดือนเดียวกัน คือกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๔  และมีแนวโน้มว่าจะขยับไปถึง ๒๐๐ บาทต่อกิโลกรัม การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในภาคอีสานคงบูมอีกครั้ง สร้างงานให้เกษตรกรภาคอีสานและภาคอื่นๆ อีกมาก อย่างไรก็ตาม นับเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเกษตรกรที่มีอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อขายรังไหมหรือขายเส้นไหมจะได้ราคาที่สูงขึ้น จะได้ยืนหยัดยึดเป็นอาชีพทางวัฒนธรรมที่เลี้ยงครอบครัวได้ สอดคล้องกับโครงการของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ ซึ่งกำลังบูรณาการสร้างงานหม่อนไหม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในโครงการไทยเข้ม

แข็ง                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                             

การพัฒนาอุตสาหกรรมไหมกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์

        นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ผ่านมาการประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พบว่าไทยมีจุดอ่อนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาคนและเทคโนโลยี ในขณะที่จุดเด่นอยู่ที่ภาคการเกษตรที่มีศักยภาพสูง จึงจัดให้มีโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๕ ภาคการเกษตรได้รับงบประมาณดำเนินการคิดเป็น

สัดส่วนประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณทั้งสิ้น ๑.๔ ล้านล้านบาท โดยหวังอย่างยิ่งที่จะให้มีความแข็งแกร่ง สามารถแข่งขันได้อย่างมั่นคง และเพื่อให้สังคมไทยมีความก้าวหน้า สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ณ โรงแรมวีวัน นครราชสีมา กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการกลุ่มผู้ผลิตและภาคีเพื่อสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาการผลิตเส้นไหม โดยมีนายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธาน พร้อมด้วยนางสายพิรุณ น้อยศิริ พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ องค์การเอกชน สถาบันการศึกษา และกลุ่มผู้ผลิตไหมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ จำนวน ๔๐๐ คน ระดมความคิดเพื่อนำงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ๒๕๕๕ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๓ ดำเนินการต่อเนื่องในปี ๒๕๕๔ จำนวน ๖ โครงการ ๔๓ กิจกรรมย่อย เป็นเงินรวม ๑๓๗,๔๖๐,๐๐๐ บาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการและกิจกรรมไม่น้อยกว่า ๔๐ กิจกรรม  เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มเป้าหมายคือผู้ผลิต และผู้ประกอบการไหมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งห่วงโซ่กระบวนการผลิตไหมให้มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพสามารถก้าวสู่ตลาดในระดับสากลได้

 

เปิดประตูอีสานสู่สากล

นางสายพิรุณ กล่าวเสริมว่า “โดยวิสัยทัศน์กลุ่มจังหวัด คือ ประตูอีสานสู่สากล (Northeast  Gateway  to  Global Communities) เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของการพัฒนาจังหวัดสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมผ้าไหมของภาค ให้เป็นแหล่งผลิตไหมไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่รู้จักกันในนาม ไหมไทย (Thai Silk) และต้องการให้การผลิตผ้าไหมมีความหลากหลาย มีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างกัน ทั้งการผลิตเส้นไหมและการทอผ้าไหม รวมไปถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังคงเอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมกับเทคโนโลยีในการขนส่งผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสู่ตลาดโลก”

กระบวนการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ไหม เริ่มจาก

๑. ต้นน้ำ เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม พัฒนาการปลูกหม่อนการเลี้ยงไหม พัฒนาคุณภาพหม่อน พัฒนาคุณภาพเส้นไหมให้ได้มาตรฐาน

๒. กลางน้ำ กลุ่มผู้ผลิตหรือผู้ทอผ้าไหม พัฒนาการฟอกการย้อม การทอ การออกแบบลวดลาย การแปรรูป  

๓. ปลายน้ำ กลุ่มผู้จำหน่ายไหม การส่งเสริมการตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยพัฒนาทีมงานการตลาดและการประชาสัมพันธ์

พัฒนาเครือข่ายผ้าไหม

โดยมีเป้าหมายคือ เพิ่มมูลค่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไหมในปี ๒๕๕๖ จำนวน ๓,๓๙๕  ล้านบาท ด้วยการพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมผ้าไหมปักธงชัยให้เป็นต้นแบบธุรกิจในการพัฒนาเครือข่ายผ้าไหม และเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน( ASEAN Silk Sourcing Hub) ยกระดับเครือข่ายไหมสู่สากล เพื่อความเป็นศูนย์กลางมรดกทางวัฒนธรรมของภูมิภาคอาเซียน

มรดกทางวัฒนธรรม

      ด้านนายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ หรือที่เรียกกันว่ากลุ่มจังหวัด “นครชัยบุรินทร์”ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ มียุทธศาสตร์ “การพัฒนาคุณภาพและผลิตภัณฑ์ผ้าไหม” เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของกลุ่มจังหวัด ซึ่งประชาชนในพื้นที่ทั้ง ๔ จังหวัด มีอาชีพดั้งเดิมในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือนสืบทอดกันมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรม และได้สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกาย ที่จำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและตลาดสากล โดยในปัจจุบันมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับไหม ซึ่งตั้งแต่ต้นน้ำถึงกลางน้ำมีมากกว่า ๓๒,๑๒๙ กลุ่ม และผู้ประกอบการธุรกิจในส่วนของปลายน้ำอีกจำนวน ๖๔๖ ราย

การผลิตไหม ๔ จังหวัด เป็นแหล่งผลิตผ้าไหมที่มีชื่อเสียง อาทิ ผ้าไหมบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ  ผ้าไหมนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ผ้าไหมยกทองท่าสว่าง จังหวัดสุรินทร์ และผ้าไหมปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งรายได้ในการจำหน่ายผ้าไหมมูลค่ารวมในปี ๒๕๕๓ จำนวน ๔,๖๙๗ ล้านบาท แต่ในปัจจุบันเรามีคู่แข่งขันที่สำคัญในเอเชีย ทั้งประเทศจีน อินเดีย เวียดนาม ลาว และอินโดนีเซีย จึงทำให้ “นครชัยบุรินทร์” ต้องพัฒนายุทธศาสตร์การผลิตผลิตภัณฑ์ไหม เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างศักยภาพการแข่งขันให้ทุกห่วงโซ่การผลิตมีการปรับปรุงให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก

 ยกระดับสู่อาเซียน

      ในปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ คณะอนุกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (กนจ.) ผลักดันให้กลุ่มจังหวัด “นครชัยบุรินทร์” พัฒนากระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดให้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพและผลิตภัณฑ์ไหมให้ก้าวสู่สากล เพื่อให้สอดรับและเชื่อมโยงกับกรอบแนวคิดของรัฐบาลในการยกระดับผ้าทอมือและหัตถกรรมไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน (Asean Design and Crafts Sourcing Hub) และได้รับการจัดสรรงบประมาณการสนับสนุนกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ในการพัฒนาจุดแข็ง การเรียนรู้ การสร้างสรรค์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้ก้าวสู่การแข่งขันในบริบทของเวทีนานาชาติอย่างเข้มแข็งต่อไป

       โดยศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไหมปักธงชัย ต้องได้รับการพัฒนาเป็นย่านค้าผ้าไหมที่มีดีไซน์ระดับภูมิภาค (ASEAN  Silk Sourcing Hub) มีทีมนักการตลาดที่เข้มแข็ง การพัฒนาคุณภาพการผลิต การออกแบบที่ตอบโจทย์ลูกค้า หมู่บ้านท่องเที่ยวเส้นทางสายไหม ซึ่งจะมีงาน “มรดกไหมแห่งอาเซียน (ASEAN Silk Heritage)” รองรับ  ดังนั้นจึงต้องสร้างความเข้มแข็ง ความร่วมมือร่วมใจของผู้ผลิตและผู้ประกอบการของเครือข่ายไหมนครชัยบุรินทร์

***โปรดติดตามตอนที่ 2***

 

หมายเลขบันทึก: 441682เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2011 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท