ความสำเร็จในการเรียนของนักศึกษาชาวต่างประเทศที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง : วิธีการ ปัจจัยเสริม และวิธีการแก้ปัญหา


"...คำศัพท์เป็นส่วนที่สำคัญสำหรับผู้เรียนภาษา บทความยาวขนาดไหนก็ต้องอาศัยคำศัพท์แต่ละคำเชื่อมต่อกันมา สะสมคำศัพท์และให้ความสำคัญกับคำศัพท์เป็นการเริ่มต้นที่ดีที่สุด มองกระบวนการการเรียนภาษาไทยเป็นวงกลม อาจจะสามารถลดความวุ่นวายของผู้เรียนที่เพิ่งเรียนภาษาไทย หวังว่าประสบการณ์ของฉันจะมีส่วนช่วยต่อผู้เรียนภาษาไทยที่กำลังมีปัญหาในตอนนี้”

บทที่ 4 : กุญแจสู่ความสำเร็จ

          จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามประเด็นที่ใช้ในการเสวนาทั้ง 4 หัวข้อ คือ วิธีการเรียนให้ประสบผลสำเร็จของนักศึกษาต่างชาติ, ปัจจัยเสริมที่ช่วยให้นักศึกษาต่างชาติประสบความสำเร็จในการเรียน, วิธีการแก้ปัญหาในการเรียนของนักศึกษาต่างชาติ และวิธีการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยเพื่อการเรียนรู้ของนักศึกษาต่างชาติ คณะกรรมการการจัดการความรู้ได้ร่วมกันสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ได้ดังต่อไปนี้

1. ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเรียนให้ประสบผลสำเร็จของนักศึกษาต่างชาติ

          ในการประชุมของคณะกรรมการจัดการความรู้ในประเด็นที่หนึ่งคือ วิธีการเรียนให้ประสบผลสำเร็จของนักศึกษาต่างชาติ พบว่า นักศึกษาที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีวิธีการของตนเองที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนรู้ภาษาไทยของตัวนักศึกษาในระดับที่สูงขึ้นเป็นอย่างมาก จากการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้สามารถสังเคราะห์ถึงลักษณะของนักศึกษาที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้ดังนี้

          1.1 นักศึกษาช่างคิด-ช่างวางแผน

          ลักษณะของความช่างคิด ช่างวางแผนนี้ ปรากฏให้เห็นจากการเสวนาของนักศึกษาเกือบทุกคน โดยลักษณะการคิดและการวางแผนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นจากรูปแบบการเรียนรู้ที่นักศึกษาเลือกใช้ให้เหมาะกับตัวเอง บางคนวางแผนการเรียนในแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อที่ตัวเองจะได้มีกำลังใจในการเรียนเพราะเห็นผลเร็ว เช่น ก่อนเรียนในวันพรุ่งนี้ต้องอ่านหนังสือล่วงหน้า เมื่อไม่เข้าใจก็เตรียมคำถามไว้ ระหว่างที่เรียนในห้องต้องตั้งใจฟัง สอบถามข้อสงสัยต่างๆจากอาจารย์ เมื่อกลับมาแล้วก็ทบทวนความรู้ที่ได้เพิ่มมาใหม่ หลังจากนั้นทดสอบตนเองว่าเรียนไปแล้วในวันนี้ได้ความรู้อะไรบ้าง หรือทดสอบตัวเองจากการทำการบ้านว่าสามารถนำความรู้ที่ได้เรียนนั้นมาใช้ได้จริงหรือไม่ เสร็จแล้วเปรียบเทียบกันว่าก่อนเรียนมีความรู้แค่ไหน และเมื่อเรียนตามที่ได้วางแผนแล้วตนเองมีการพัฒนาไปได้มากน้อยเพียงใด

          บางคนวางแผนในลักษณะองค์รวมคือ ออกแบบการเรียนรู้ของตนเองที่สามารถส่งผลกระทบต่อทักษะการสื่อสารในด้านต่างๆของตนเอง นักศึกษาที่เน้นการคิดและการวางแผนในลักษณะนี้จะต้องมีความอดทนและขยัน ไม่ย่อท้อต่อการเรียนรู้ นอกจากนี้จะต้องมองภาษาอย่างเป็นมิตร เน้นการมองถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นหากตนเองสามารถทำตามแผนการที่วางไว้ได้

          1.2 ยืนหยัดต่อการพัฒนาตนเอง

          แม้จะมีการวางแผนการในการเรียนไว้ดีอย่างไร หากไม่สามารถยืนหยัดต่อการฝึกฝนตนเองอย่างที่ตั้งใจไว้ ก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ ดังที่นักศึกษาเกือบทุกคนยืนยันและแนะนำว่า ต้องมีความขยัน อดทน และหมั่นทำให้เป็นนิสัย เช่น ต้องท่องคำศัพท์ให้ได้วันละ 5 คำ ทุกวัน ต้องทำตามตารางที่ได้แบ่งไว้ในแต่ละวันว่าจะต้องฝึกอ่าน ฝึกเขียน ฝึกพูด และฟังอย่างไรบ้าง และสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สามารถยืนหยัดต่อการพัฒนาตนเองนี้ได้ก็คือ ต้องมีความมั่นใจและให้กำลังใจตัวเองอยู่เสมอ

          1.3 ความรู้พื้นฐานทางภาษาไทยคือสิ่งสำคัญ

          ในการเรียนในประเทศไทยนั้น ภาษาไทยคือภาษาหลักที่นักศึกษาต้องใช้ในการสื่อสารทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการฟัง การพูด การอ่าน หรือการเขียน ดังนั้นหากความรู้พื้นฐานทางภาษาไทยไม่ดีก็จะทำให้นักศึกษาไม่สามารถสื่อสารกับใครได้ เมื่อนานเข้าก็จะทำให้นักศึกษาหมดกำลังใจที่จะเรียนต่อไป ด้วยเหตุนี้นักศึกษาที่เข้าร่วมเสวนาหลายคนจึงให้ความสำคัญของการมีพื้นฐานในการสื่อสารภาษาไทยเป็นอย่างมาก เช่น จะต้องจดจำพยัญชนะ สระ ตลอดจนวิธีการประสมอักษร และการเรียงคำในไวยากรณ์ไทยให้ได้ก่อน แล้วจึงค่อยๆพัฒนาการเรียนรู้ด้านอื่นๆต่อไปให้ดีขึ้น

          1.4 สมุดจดคำศัพท์และพจนานุกรมคือบันไดสู่การเรียนรู้

          ในการเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ พบว่าวิธีการหนึ่งที่ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษาให้ประสบความสำเร็จคือ การจดคำศัพท์และการหาความหมายจากพจนานุกรม ทั้งนี้นักศึกษาได้ให้ทัศนะไปในทางเดียวกันว่า การจดจำคำศัพท์หรือการเข้าใจความหมายของคำ คือจุดเริ่มสำคัญที่ทำให้สามารถเรียนภาษาไทยได้ดีขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารทางใดล้วนต้องมีคำศัพท์เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น หลายคนจึงต้องพกสมุดเล่มเล็กๆไว้ติดตัวเพื่อที่จะได้จดคำหรือข้อความที่ตนไม่เข้าใจไว้ หลังจากนั้นก็จะกลับมาหาความหมายจากพจนานุกรมไทย-จีน หรือไม่ก็จดจากการสอบถามเพื่อนชาวไทยหรืออาจารย์ที่สอนในรายวิชานั้นๆ

          สำหรับการเปิดพจนานุกรมด้วยตนเองไม่ว่าจะเป็นการใช้พจนานุกรมอีเล็กทรอนิกส์หรือพจนานุกรมที่จัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม นักศึกษาได้ให้ข้อคิดเห็นในลักษณะเดียวกันว่า มีส่วนช่วยให้ตนเองจดจำความหมายของคำศัพท์ได้ดียิ่งขึ้น

          1.5 คนไทยและสังคมไทยช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารทุกด้าน

          จากการสังเคราะห์ข้อมูลพบว่า วิธีการที่มีส่วนช่วยให้นักศึกษาซึ่งเข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ประสบความสำเร็จในการเรียนก็คือ คือ การเข้าไปพบปะพูดคุยกับเพื่อนคนไทย การสอบถามหรือขอคำแนะนำต่างๆจากอาจารย์ การเข้าร่วมกิจกรรมหรือการเข้าสังคม ฯลฯ วิธีการต่างๆเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยให้นักศึกษาสามารถพัฒนาทักษะการสื่อสารได้ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะทักษะด้านการ“พูด”จะพัฒนาไปได้มาก ทั้งนี้เพราะนอกจากได้ทดลองใช้แล้วยังช่วยให้ทราบถึงการใช้คำในลักษณะต่างๆอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังได้เรียนรู้ความคิดและทัศนคติต่อเรื่องต่างๆของคนไทยไปในขณะเดียวกัน นักศึกษาหลายคนจึงเน้นย้ำว่า “อย่าอาย” หากต้องการเรียนรู้ เมื่อมีปัญหาให้ถามเพื่อนคนไทย หรืออาจารย์ผู้สอนทันที เพราะลักษณะหนึ่งของคนไทยคือ การชอบช่วยเหลือ ทำให้นอกจากนักศึกษาชาวต่างประเทศจะได้รับคำอธิบายถึงเรื่องที่ถามแล้ว เพื่อนคนไทยหรืออาจารย์คนไทยจะคอยช่วยสอนวิธีการออกเสียงให้ถูกต้อง ตลอดจนช่วยแก้ไขปัญหาการเรียงประโยคให้ดีขึ้นด้วย ดังคำของนักศึกษาคนหนึ่งที่ว่า “เรียนที่ประเทศไทย ทุกที่ก็คือห้องเรียน” นั่นเอง

2. ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยเสริมที่ช่วยให้นักศึกษาต่างชาติประสบความสำเร็จในการเรียน

          ในการประชุมของคณะกรรมการจัดการความรู้ในประเด็นที่สองคือ ปัจจัยเสริมที่ช่วยให้นักศึกษาต่างชาติประสบความสำเร็จในการเรียน พบว่า นักศึกษาที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีแนวคิดต่อปัจจัยเสริมที่ทำให้ตนเองประสบความสำเร็จในลักษณะที่หลากหลายแต่บางอย่างก็มีลักษณะที่คล้ายกัน จากการประชุมเพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้ในประเด็นดังกล่าว สามารถสรุปได้ดังนี้

          2.1 ความกดดันจากการแข่งขัน และการหางานในประเทศจีน

          จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกิจกรรมเสวนาพบว่า นักศึกษาหลายคนใช้แรงกดดันจากการแข่งขันของสังคมเข้ามาช่วยให้เกิดความตั้งใจในการเรียนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้นักศึกษาชาวจีนล้วนทราบเป็นอย่างดีว่าประเทศของตนเองนั้นในปีหนึ่งๆมีบัณฑิตที่จบในระดับปริญญาตรีเช่นเดียวกับตนจำนวนมากเพียงใด ดังนั้นหากต้องเข้าสู่สนามของการแข่งขันหรือในการทำงานจริง นักศึกษาก็ต้องมีความรู้และประสบการณ์มากพอที่จะไปแข่งขันด้วย ดังนั้นในระหว่างที่เรียนอยู่นี้จะต้องมีเป้าหมายและพยายามทำให้เป้าหมายนั้นสำเร็จให้ได้

          2.2 เตือนตัวเองอย่าให้เสียเวลา-เสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์

          นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ให้ทัศนะถึงปัจจัยเสริมสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยเป็นแรงผลักดันให้ขยันเรียน หรือต้องให้สอบผ่านและให้มีผลการเรียนที่ดีขึ้น คือ ภาระค่าใช้จ่ายต่างๆที่ครอบครัวต้องจัดหามาให้ระหว่างที่ตนมาศึกษาที่ประเทศไทย หลายคนใช้วิธีเตือนตัวเองให้นึกถึงพ่อแม่ที่ต้องทำงานส่งเสียค่าเทอมมาให้ นอกจากนี้ก็ต้องพยายามเรียนให้ผ่านในรายวิชาต่างๆให้ได้ เพราะเห็นตัวอย่างจากรุ่นพี่หรือเพื่อนบางคนที่ต้องยกเลิกการเรียนในรายวิชาต่างๆเนื่องจากไม่สามารถทำคะแนนผ่านตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ ทำให้ต้องลงทะเบียนเรียนใหม่ เสียทั้งเงินเสียทั้งเวลา และในกรณีที่แม้นักศึกษาจะมีผลการเรียนดีกว่าคนอื่นหรือสามารถใช้ภาษาไทยได้ดีกว่าเพื่อนชาวต่างชาติคนอื่น ก็ต้องเตือนตนเองว่าห้ามประมาทเพราะยังมีคนอื่นๆที่เก่งกว่าโดยเฉพาะคนที่เป็นเจ้าของภาษา ดังนั้นแล้วการเตือนตนเองให้มุ่งมั่นตั้งใจเรียนรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่นักศึกษากลุ่มนี้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

          2.3 เพื่อน อาจารย์ สื่อ และการเข้าสังคมคือปัจจัยเสริมสู่ความสำเร็จ

          เมื่อได้เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยเพื่อนและอาจารย์เป็นบุคคลสำคัญที่คอยช่วยเหลือและสนับสนุนส่งเสริมให้สามารถประสบความสำเร็จในการเรียนได้ ดังที่นักศึกษาได้ให้ความเห็นในทางเดียวกันว่า การที่มีเพื่อนคนไทยช่วยให้ตนเองสามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้ดีมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ก็คือคำแนะนำและการกระตุ้นเตือนจากอาจารย์ที่สอนในรายวิชาต่างๆช่วยให้สามารถสอบผ่านในรายวิชาต่างๆได้เช่นกัน อย่างไรก็ดีนักศึกษาก็ต้องหาวิธีการอื่นๆมาช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองด้วย เช่น การใช้สื่อหรือเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาช่วยสนับสนุนการพัฒนาทักษะภาษาไทยของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ก็คือต้องรู้จักทำกิจกรรม ไปเที่ยว หรือการเข้าสังคมก็เป็นปัจจัยเสริมที่ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ได้อีกทางหนึ่งด้วย

 

3. ความรู้เกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหาในการเรียนของนักศึกษาต่างชาติ

          สำหรับการประชุมของคณะกรรมการจัดการความรู้ในประเด็นที่สามคือ วิธีการแก้ปัญหาในการเรียนของนักศึกษาต่างชาตินั้น พบว่า นักศึกษามีวิธีการแก้ปัญหาในลักษณะคล้ายๆกันหลายประการซึ่งสามารถสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ได้ดังนี้

          3.1 เข้าใจปัญหาแล้วแก้ที่ตัวเองเป็นอันดับแรก

          นักศึกษาทุกคนมีความเห็นเช่นเดียวกันว่า การมาอยู่และเรียนในต่างประเทศอย่างไรก็ต้องมีปัญหาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการเรียนนั้นนับเป็นปัญหาสำคัญเพราะนอกจากจะทำให้เกิดความรู้สึกท้อหรือคอยบั่นทอนกำลังใจแล้วยังส่งผลต่อการพัฒนาการเรียนรู้อื่นๆอีกด้วย อย่างไรก็ดีนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมการจัดเสวนาได้ให้แนวทางที่น่าสนใจว่า วิธีการที่ใช้ในการแก้ปัญหาคือ ตัวนักศึกษาเองจะต้องเป็นผู้ที่แก้ปัญหานั้นก่อน โดยขั้นแรกต้องทำความเข้าใจตนเองและให้แน่ใจว่าปัญหาเกิดจากอะไร สามารถแก้ปัญหาได้อย่างไรบ้าง เช่น นักศึกษาหลายคนพบว่าตัวเองไม่สามารถอ่านหรือฟังภาษาไทยได้ เมื่อวิเคราะห์สาเหตุแล้วพบว่าเกิดจากการที่ไม่รู้ความหมายหรือมีคลังคำเพียงเล็กน้อย ก็แก้ปัญหาโดยเริ่มท่องจำคำศัพท์ด้วยตนเอง หมั่นท่องวันละ 5–20 คำ หรือบางคนจะใช้สมุดและปากกาไว้คอยจดคำที่ตนเองไม่เข้าใจแล้วค่อยเปิดหาความหมายจากพจนานุกรมด้วยตนเอง นอกจากนี้แล้วก็จะพยายามพัฒนาแก้ปัญหาการสื่อสารด้วยตนเองก่อนเช่น ดูละครไทย ฟังเพลงไทย การเรียนรู้สังคมด้วยการไปเที่ยว เป็นต้น

          3.2 เพื่อนชาวไทยมิตรใหม่ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ

          จากการจัดเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นวิธีการแก้ปัญหาในการเรียนนี้ นักศึกษาทุกคนให้ความสำคัญกับการมีเพื่อนชาวไทยเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากเพื่อนชาวไทยสามารถช่วยแก้ปัญหาในการสื่อสารได้ในทุกๆด้าน หลายคนจะคอยสอบถามและขอร้องให้เพื่อนชาวไทยช่วยอธิบายประเด็นปัญหาต่างๆที่ตนได้พบ สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากการที่นักศึกษาชาวไทยมีน้ำใจและคอยเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนชาวต่างประเทศ ทำให้นักศึกษาต่างชาติไม่ค่อยเขินอายที่จะต้องสอบถาม เช่น หากต้องการฝึกพูดให้ชัดเจน ไม่เข้าใจความหมายของคำ ฟังไม่เข้าใจ อ่านออกเสียงไม่ได้หรือไม่ถูกต้อง ก็สามารถสอบถามหรือขอร้องให้เพื่อนชาวไทยช่วยแก้ไขให้ได้ทันที นอกจากนี้นักศึกษาต่างชาติยังไม่ต้องกังวลหรือรู้สึกไม่ดีหากต้องขอรับความช่วยเหลือจากเพื่อนชาวไทย ดังเห็นได้จากมีนักศึกษาจำนวนหนึ่งให้ความเห็นในลักษณะเดียวกันว่า แม้ปัญหาเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันเช่นการเจ็บป่วย เพื่อนชาวไทยก็สามารถให้ความช่วยเหลือได้ เป็นต้น

          3.2 อย่ากลัวที่จะถามอาจารย์

          สำหรับวิธีการแก้ปัญหาอีกวิธีการหนึ่งซึ่งนักศึกษาเลือกใช้แก้ปัญหาเท่าๆกับการแก้ปัญหาด้วยตนเอง หรือการสอบถามจากเพื่อนชาวไทยดังได้กล่าวแล้วข้างต้นก็คือ การสอบถามจากอาจารย์ จากการจัดเสวนานักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกทั้งหมดให้ความเห็นว่า ต้องกล้าที่จะสอบถามอาจารย์ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งได้กล่าวถึงลักษณะพิเศษของอาจารย์ที่สอนในรายวิชาต่างๆของหลักสูตรว่า อาจารย์มีความพร้อมและความอดทนที่จะอธิบายหรือตอบข้อซักถามของนักศึกษา นอกจากนี้ยังพร้อมจะหาวิธีการใหม่ๆมาช่วยจัดการเรียนการสอนในห้องให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักศึกษาอีกด้วย ดังนั้นหากมีปัญหาหรือมีข้อสงสัยใดๆนักศึกษาจะต้องมีความกล้าที่จะถามอาจารย์

 

 4. ความรู้เกี่ยวกับวิธีการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยเพื่อการเรียนรู้ของนักศึกษาต่างชาติ

          ในการจัดการความรู้ในประเด็นที่สุดท้ายคือ วิธีการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยเพื่อการเรียนรู้ของนักศึกษาต่างชาติ คณะกรรมการจัดการความรู้ได้ร่วมกันสังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการต่างๆที่นักศึกษานำมาใช้พัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยใน 4 ด้านคือ ทักษะการพูด ทักษะการฟัง ทักษะการอ่าน และทักษะการเขียน ซึ่งสรุปได้ดังนี้

          4.1 ต้องสื่อสารกับเจ้าของภาษา

          จากการจัดเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงวิธีการพัฒนาทักษะด้านภาษาไทยของนักศึกษานั้น พบว่าทุกคนมีวิธีการเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ต้องสื่อสารกับเจ้าของภาษา ทั้งนี้อาจจะเป็นเพื่อนชาวไทยหรืออาจารย์ผู้สอน แต่ไม่ว่าจะสื่อสารกับใครสิ่งสำคัญก็คือ ต้องขอคำแนะนำจากเจ้าของภาษาด้วยว่าตนเองใช้ภาษาไทยในการสื่อสารได้ถูกต้องหรือไม่อย่างไร หากไม่ถูกต้องจะแก้ไขอย่างไรจึงจะถูกต้อง เช่น หากพูดผิดก็ขอให้สอนพูดให้ถูกต้อง หากอ่านผิดก็ขอให้เขาช่วยแก้ไข หรือหากฟังผิดก็ขอให้เขาช่วยอธิบาย และสุดท้ายหากเขียนประโยคเพื่อการสื่อสารกับเขาแล้วผิดก็ขอให้เขาช่วยแนะนำการใช้คำปรือประโยคที่ถูกต้องให้ด้วย เป็นต้น

          4.2 ฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ

          สำหรับการพัฒนาทักษะทางภาษาไทยในด้านต่างๆนั้น สิ่งสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการได้สื่อสารกับเจ้าของภาษาก็คือ ต้องหมั่นฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอ ดังเห็นได้จากทัศนะต่างๆจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักศึกษา พบว่า นักศึกษาให้ความสำคัญกับการฝึกฝนตนเองให้แต่ละวันเป็นอย่างมาก เช่น ด้านการพูด-การฟัง จะต้องได้พูดคุยกับคนไทยทุกวัน หรืออาจเพิ่มการฟังวิทยุหรือสื่ออื่นๆทุกวันเช่นกัน นอกจากนี้บางคนก็จะท่องคำศัพท์ใหม่ๆเพิ่มทุกวันและที่สำคัญคือต้องหัดสร้างประโยคจากคำที่ท่องจำนั้นให้ได้ด้วย เป็นต้น

          4.3 หมั่นสังเกตและปรับปรุง

          ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งหลังจากที่ต้องหมั่นฝึกฝนตนเองก็คือ ต้องหมั่นสังเกต กล่าวคือ เมื่อนักศึกษาได้มีการสื่อสารกับคนไทยก็จะต้องหมั่นสังเกตการณ์ใช้คำ รูปแบบไวยากรณ์ ในระหว่างที่ได้สื่อสารกับคนไทยด้วย หรือบางคนที่ใช้วิธีการดูละคร ก็ต้องคอยสังเกตว่าตัวละครไทยที่กำลังพูดกันนั้นใช้คำหรือประโยคในการสื่อสารอย่างไร นอกจากนี้เมื่อสังเกตถึงลักษณะการใช้ที่ถูกต้องแล้วก็ต้องมาปรับปรุงการสื่อสารของตนเองให้ถูกต้องเช่นเดียวกันด้วย อย่างไรก็ดีมีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะการเขียนด้วยการอ่านหนังสือเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะหากสามารถจดจำการเรียงคำเข้าประโยคจากหนังสือได้ ต่อไปเมื่อตนเองต้องเขียนประโยคก็จะสามารถเขียนได้ถูกต้องเช่นกัน

          4.4 หาสื่อหรือเทคโนโลยีที่ตนสนใจมาช่วยฝึกฝน

          ในการพัฒนาทักษะการพูด การฟัง การอ่าน และการเขียนนั้น นอกจากนักศึกษาจะใช้วิธีการสื่อสารกับเจ้าของภาษาแล้วยังพบว่า มีนักศึกษาอีกจำนวนไม่น้อยที่ใช้วิธีการหาสื่อต่างๆที่ตนชื่นชอบมาใช้เป็นการฝึกฝนและพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยของตนเอง เช่น ฟังเพลง ดูหนัง ดูละคร อ่านหนังสือพิมพ์ อ่านนิทาน อ่านข่าวหรือข้อมูลต่างผ่านเว็บไซต์ นอกจากนี้ก็มีบางคนที่ใช้วิธีการเล่นโปรแกรม msn กับเพื่อนชาวไทยซึ่งช่วยให้สามารถพัฒนาทักษะการเขียนได้อีกทางหนึ่งด้วย

          4.5 สร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้

          อย่างไรก็ดี พบว่ามีนักศึกษาจำนวนหนึ่งใช้วิธีพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยของตนเองโดยการสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น มาเรียนด้วยเพราะความรักในการเรียน บางคนใช้วิธีแข่งขันกันเรียนกับเพื่อนๆในห้องซึ่งช่วยให้ตื่นตัวและกระตุ้นตัวเองตลอดเวลา ในขณะที่บางคนก็ใช้วิธีการออกไปเที่ยวหรือทำกิจกรรมกับคนข้างนอกเพื่อให้ตนเองได้พัฒนาทักษะต่างๆจากสถานการณ์จริงอีกด้วย

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 440138เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2011 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

เยี่ยมมากครับ รออ่านอีกนะครับ ปกติสอนแต่ภาษาอังกฤษ

ขอบคุณทุกท่านที่แวะเข้ามาอ่านบล็อกนี้ครับผม สำหรับการจัดการความรู้นี้เกิดขึ้นจากประเด็นปัญหาการยกเลิกรายวิชาของนักศึกษาชาวต่างชาติของเราน่ะครับ เพราะแม้ว่าสาขาวิชาจะได้มีการจัดทำคู่มือการจัดการเรียนการสอนให้กับคณาจารย์ที่รับผิดชอบสอนในรายวิชาที่มีนักศึกษาเรียนด้วยแล้วก็ตาม(คู่มือที่ว่านั้นก็เกิดจากการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ครั้งที่ 1 และ 2 ของสาขานั่นล่ะครับ) แต่ถึงอย่างนั้นก็พบว่ามีนักศึกษาของเราบางคนไม่สามารถปรับตัวเข้ากับวิธีการเรียนที่เราจัดให้ได้ จึงร่วมกันคิดเพื่อหาแนวทางกันหลายวิธี หลายประเด็น จนท้ายที่สุดก็ชี้เป้ามาที่นักศึกษาของเราเองว่าอะไรเป็นปัจจัย หรือเป็นเคล็ดลับในการเรียนของพวกเขาซึ่งทำให้สามารถเรียนในรายวิชาต่างๆทั้งที่ใช้ภาษาไทยในการสื่อสารแทบทั้งหมดได้โดยไม่มีปัญหา อาจารย์หลายท่านเห็นไปในทางเดียวกันว่า บางทีหากเราใช้วิธี"เพื่อนบอกเพื่อน พี่บอกน้อง" น่าจะทำให้นักศึกษาของเรามีกำลังใจที่จะพัฒนาตัวเองได้ต่อไป สำคัญที่สุดก็คือ เป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติอย่างเขาได้ทำสำเร็จมาแล้วนั่นเอง และหากเพื่อนๆทางวิชาการท่านใดมีข้อเสนอแนะดีๆ ก็อย่าลืมเอามาแบ่งปันกันด้วยนะครับ

ด้วยความยินดียิ่ง

ลืมบอกอาจารย์ มาบอกว่า 23-24 พค ไปช่วยคุณหมอนนทลี อบรมพี่ๆอยู่ที่ ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปางครับ อยากเจอๆๆๆ

  • ตามมาดูครูสอนภาษาอังกฤษคุยกับครูสอนภาษาไทยครับ
  • ได้ความรู้จากประสบการณ์ที่อาจารย์สรุปดีมากครับ
  • ผมก็โตมากับ สมุดจดคำศัพท์ ตั้งแต่เล็กครับ

ยินดีที่ได้แบ่งปันครับ อาจเพราะด้วยความเป็นห่วงลูกศิษย์นั่นแหละครับ เลยทำให้การจัดการความรู้นี้เกิดขึ้น ตอนนี้ยังไม่ครบกระบวนการรอแค่ให้เด็กๆกลับไทยแล้วลองนำวิธีการพวกนี้ไปใช้ ก็จะสรุปผลได้แล้วล่ะครับว่าเขาได้อะไรมากน้อยแค่ไหน

ปล. พอท่านอาจารย์หมอทักเรื่องสาขาวิชา ผมก็เลยลองนึกๆดูเรื่องวิชาที่สอน ก็พบว่าแม้จะต่างกันในเนื้อหาแต่บริบทของท่านอ.ขจิตและผมเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ผู้เรียนไม่ใช่เจ้าของภาษา ครับผม ดังนั้นก็คงมีอีกหลายอย่างเลยครับที่ผมจะไปขอปันความรู้จากท่านผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษ หุๆๆ

สวัสดีค่ะ อาจารย์คนเก่ง

มาอ่านเอาเทคนิค เช่นอย่างเก่งภาษาต้องคุยกับเจ้าของภาษา หมั่นทบทวนความรู้ซึ่งใช้ได้กับทุกวิชา...

 

แวะมารับความรู้  วิธีการ การเรียนภาษาจากอาจารย์ค่ะ

เรียนท่านอาจารย์หนานวัฒน์ แห่ง มรฏ ลำปาง แวะมาคารวะ ครับ

  • "การประกันคุณการศึกษา" ที่จริง คือ กระบวนการบริหารจัดการ เพื่อพัฒนาคุณภาพ และ มาตรฐานการศึกษา อันจะนำไปสู่การ "สร้างศิษย์ หรือ คนรุ่นใหม่ ให้ไปรับใช้สังคม ให้มีจิตวิญญาณ ของความเป็นวิชาชีพ" มากขึ้น
  • เคล็ดวิชาของการประกันคุณภาพ คือ Reflection หรือ สะท้อนเพื่อการพัฒนา
  • หากดำเนินการ ประเมิน หรือ ไวต่อการกระทำพอเพียง เราจะไม่ต้องมาโหมกระทำเมื่อจะมีมหกรรมการตรวจ จากผู้อื่น
  • เพียงแต่ว่าจะต้อง ทำให้กระบวนการประเมินเพื่อพัฒนาแทรกเข้าเป็นงานประจำ
  • จะทำให้เราสามารถ "เรียนรู้ จากกิจกรรม สร้างลูกศิษย์ ว่าได้มีการปรับ/ปรุง ไม่ให้ ถดถอยตลอดเวลา"
  • กิจกรรม ที่นำเครื่องมือ KM มาใช้โดยใช้ AAR+ALR+Passion Plan หากมีการรวบรวม หลักฐานเชิงประจักษ์ หรือ Evidence Base
  • โดยบันทึก เฉกเช่นใน Gotoknow หรือ ที่ใดที่ไม่สูญสลาย สามารถ ดึงกลับมา วิเคราะห์ เพื่อนำมาเรียนรู้ ก่อนดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป ไม่ให้ "ผลสัมฤทธิ์ถดถอย" นี่แหละครับ "หัวใจ ของการประกันคุณภาพการศึกษา ระดับอุดมศึกษา"
  • ไม่ได้ทำเพราะ "ต้องทำ หรือ ใครมาบังคับให้ทำ"
  • เป็นกิจกรรม ที่ "มืออาชีพ ทุกท่าน ที่เป็น ครูเพื่อศิษย์" ต้องดำเนินการ "ทุกขณะจิตของความเป็น ครู"
  • สกอ หรือ กก ชุดใดใด ก็ตาม "สร้างระบบ และ กลไก" เพื่อคนส่วนใหญ่ มีหนทางดำเนินงาน ไปอย่าง "ชัวร์ ไม่มั่วนิ่ม"
  • อย่างเช่นกรณี ที่เราเห็นที่สถาบันแห่งหนึ่ง ใกล้ๆบ้าน JJ ครับ ม..ท.. อะไรนี่แหละ ครับ

สวัสดีครับอาจารย์ หนานวัฒน์

อ่านบันทึก อาจารย์วัฒน์ แล้ว ท่านอาจารย์ jj มาให้ความเห็นต่อ ทำให้เข้าใจ การพัฒนาคุณภาพ

นับเป็นอีกหนึ่ง KM ที่ผมได้เห็นถึงข้อดีของการทำงานด้านประกันคุณภาพน่ะครับ เพราะเราเอามาใช้ได้จริงๆ ประเด็นสำคัญคือ การขับเคลื่อนให้งานประกันสำเร็จนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนน่ะครับ ... บ่อยครั้งที่ทำให้เราท้อใจ แต่จะให้มองเรื่องที่ทำให้มีแต่ความทุกข์ใจก็บ่อนทอนตัวเราเองเสียเปล่า G2K จึงเป็นอีกทางออกหนึ่งที่ทำให้ผมได้กำลังใจที่จะพัฒนางานประกันคุณภาพให้ดียิ่งๆขึ้นต่อไป และที่สำคัญคือ ต้องทำใจให้เป็นครับ ดังคำพระท่านว่า "ตถาตา... มันเป็นเช่นนั้นเอง"

มานั่งตาปริบๆทำใจให้เป็นด้วยนะคะ"ตถาตา... มันเป็นเช่นนั้นเอง"

มาขอนั่งทำตาปริบๆด้วยคนครับ วันนี้มีแต่เรื่องให้ทำใจ... เห้อ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท