ความสำเร็จในการเรียนของนักศึกษาชาวต่างประเทศที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง : วิธีการ ปัจจัยเสริม และวิธีการแก้ปัญหา(1)


“ต้องใส่ใจในการเรียน ฝึกอ่านออกเสียงภาษาไทยทุกวัน อ่านหนังสือไทยทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นหนังสืออะไรก็ตาม เมื่อมีเวลาว่างๆ อ่านข่าวหรือฟังข่าวทุกวัน หากไม่เข้าใจต้องรีบถาม เป็นคนช่างสังเกต เช่นสังเกตดูป้าย เพราะว่าบางคำเราไม่รู้ ต้องจดไว้ ฝึกเปิดพจนานุกรมเป็นประจำ และมีสมุดเล็กๆ ติดตัวตลอด เพราะว่าจะได้ใช้จดคำศัพท์ที่ไม่เข้าใจ”

บทที่ 1 : บทนำ

สาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสารทางธุรกิจ เป็นหน่วยงานหนึ่งของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ที่มีความมุ่งมั่นจะพัฒนาตนเองให้เป็นองค์กรแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการและวิชาชีพ ทั้งนี้ความตั้งใจดังกล่าวได้ถูกกำหนดไว้ให้เป็นเป้าประสงค์ของการดำเนินงานของสาขาวิชาในข้อที่ 3 อีกด้วย กล่าวคือ “พัฒนาสาขาวิชาให้เป็นองค์กรแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการบริหารจัดการที่ดี ให้บริการวิชาการและวิชาชีพด้วยองค์ความรู้ทางภาษาและวัฒนธรรม ตามความต้องการของสังคมทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ระดับชาติและนานาชาติ”  

ตลอดระยะเวลาของการจัดการศึกษาตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา สาขาวิชาได้รวบรวมองค์ความรู้และประสบการณ์ต่างๆของคณาจารย์ที่ต้องจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นพิเศษ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหมาะกับนักศึกษาของสาขาวิชาซึ่งเป็นนักศึกษาชาวต่างชาติเกือบทั้งหมด หรือองค์ความรู้อันเกิดจากการบริหารจัดการสาขาวิชาซึ่งมีลักษณะพิเศษเช่นเดียวกันคือ เป็นความร่วมมือระหว่างคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์กับคณะวิทยาการจัดการ ผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังได้กล่าวนั้นปรากฏออกมาเป็นผลงานวิชาการที่เป็นรูปธรรม คือ

1. รายงานการจัดการความรู้เรื่อง "ความรู้ ประสบการณ์ และความสำเร็จในการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างประเทศ"  การรวบรวมองค์ความรู้ดังกล่าวจัดขึ้นในปีการศึกษา 2551 โดยเกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคณาจารย์ผู้สอนในรายวิชาภาษาไทย 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสารทางธุรกิจและสาขาวิชาภาษาไทย (ศศ.บ.) ผลการจัดการความรู้ดังกล่าวช่วยให้คณาจารย์ได้นำความรู้และประสบการณ์ดังกล่าวไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนของตนเองให้ดียิ่งขึ้น กับทั้งยังสามารถนำรายงานฉบับนี้ไปใช้เป็นคู่มือสำหรับคณาจารย์รุ่นใหม่หรือผู้สนใจอื่นๆที่ต้องวางแผนการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยให้กับชาวต่างประเทศได้อีกด้วย

2. รายงานการจัดการความรู้เรื่อง “การจัดเรียนการสอนนักศึกษาต่างชาติในหลักสูตรการบูรณาการเนื้อหาระหว่างสาขา : การบริหารจัดการ เทคนิควิธี และปัจจัยเสริม”  การรวบรวมองค์ความรู้ครั้งนี้เกิดขึ้นในปีการศึกษา 2552 โดยมีคณาจารย์และผู้บริหารของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์กับคณะวิทยาการจัดการร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้รวมกันทั้งสิ้น 16 ท่าน ผลการจัดการความรู้ดังกล่าวช่วยให้สาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสารทางธุรกิจมีแนวในการพัฒนาสาขาวิชาที่มีประสิทธิภาพได้ต่อไป กับทั้งยังช่วยสะท้อนถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางต่อการจัดการเรียนการสอนให้กับชาวต่างชาติได้ด้วย

สำหรับในปีการศึกษา 2553 สาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสารทางธุรกิจได้มุ่งเป้าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปที่นักศึกษาเป็นสำคัญ ทั้งนี้เนื่องมาจากในปีการศึกษานี้ สาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสารทางธุรกิจ จะมีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรเป็นรุ่นที่ 1 จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่สาขาวิชาจะได้รวบรวมองค์ความรู้จากนักศึกษาในสาขาวิชาซึ่งเป็นนักศึกษาชาวต่างชาติเกือบทั้งหมด (ผลการสำรวจจำนวนนักศึกษาของสาขาวิชาทั้ง 4 ชั้นปีในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2553 พบว่า  สาขาวิชามีนักศึกษาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศรวม 77 คน แบ่งเป็นนักศึกษาชาวไทยจำนวน 8 คน และเป็นนักศึกษาชาวต่างประเทศ 69 คน)

กล่าวเฉพาะนักศึกษาชาวต่างชาติของสาขาวิชาพบว่า เป็นนักศึกษาจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนทั้งหมด แต่อย่างไรก็ดีจากการดำเนินงานของหลักสูตรพบว่า นักศึกษามีความหลายหลายเป็นอย่างมากโดยเฉพาะผลการเรียนซึ่งบางคนก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่บางคนกลับไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการจัดการเรียนการสอนแบบประเทศไทยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาที่เพิ่งเข้ามาเรียนในชั้นปีที่ 1 นั้นปรากฏว่ามีผลการเรียนเฉลี่ยในระดับปานกลางถึงระดับต่ำค่อนข้างมาก สาขาวิชาจึงเล็งเห็นความสำคัญของการจัดการความรู้ด้านการเรียนรู้ของนักศึกษาเป็นสำคัญ โดยเน้นการรวบรวมองค์ความรู้จากรุ่นพี่ในชั้นปีที่ 2 ชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 4 ซึ่งประสบความสำเร็จในการเรียนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น

นอกจากนี้ สาขาวิชายังได้รวบรวมการเรียนรู้ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย (ศศ.บ.) ซึ่งเป็นชาวต่างประเทศและประสบความสำเร็จในการเรียนไว้ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการรวบรวมวิธีการเรียนรู้ของนักศึกษาชาวต่างชาติรุ่นพี่ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไว้ให้รุ่นน้องซึ่งเป็นชาวต่างชาติเช่นเดียวกันได้นำไปปรับใช้ให้เหมาะกับตนเองที่สุด สำหรับการจัดการความรู้ครั้งนี้สาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสารทางธุรกิจได้รับความร่วมมือจากนักศึกษาทั้งสิ้น 24 คน ดังนี้

          1. นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสารทางธุรกิจจำนวน 3 ชั้นปี ประกอบด้วย

            1.1 Miss Duan Si Yuan                  นักศึกษาชั้นปีที่ 4     

            1.2 Mr. Chen Qi                          นักศึกษาชั้นปีที่ 4    

            1.3 Miss Bai Yan                         นักศึกษาชั้นปีที่ 4    

            1.4 Miss Wang Lan Pin                  นักศึกษาชั้นปีที่ 4     

            1.5 Miss Li Chang                        นักศึกษาชั้นปีที่ 3

            1.6 Miss Bao Li                           นักศึกษาชั้นปีที่ 3

            1.7 Miss Yang HengWei                 นักศึกษาชั้นปีที่ 3

            1.8 Mr. Li Qian                            นักศึกษาชั้นปีที่ 3

            1.9 Miss Zhu Yinchao                   นักศึกษาชั้นปีที่ 2

            1.10 Miss Zou Nan                      นักศึกษาชั้นปีที่ 2

            1.11 Miss Wang Fang                    นักศึกษาชั้นปีที่ 2

            1.12 Mr. Li Yunzhou                     นักศึกษาชั้นปีที่ 2

          2. นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย (ศศ.บ.) จำนวน 3 ชั้นปี ประกอบด้วย

            2.1 Miss Shao Meng Jie                นักศึกษาชั้นปีที่ 4     

            2.2 Mr. Dao Ke Jia                       นักศึกษาชั้นปีที่ 4       

            2.3 Miss Yi Wan Bian                    นักศึกษาชั้นปีที่ 4       

            2.4 Mr. Wang Zhi Xiang                นักศึกษาชั้นปีที่ 4       

            2.5 Miss Wang Dan                      นักศึกษาชั้นปีที่ 3

            2.6 Miss Pu Dan                           นักศึกษาชั้นปีที่ 3

            2.7 Miss Xie Yuling                        นักศึกษาชั้นปีที่ 3

            2.8 Miss Wu Yuan                         นักศึกษาชั้นปีที่ 3

            2.9 Miss Ren Bin Bin                      นักศึกษาชั้นปีที่ 2

            2.10 Miss Yang Xin                        นักศึกษาชั้นปีที่ 2

            2.11 Miss Wang Yi Xuan                นักศึกษาชั้นปีที่ ๒

            2.12 Miss Tang Jingfang                นักศึกษาชั้นปีที่ ๒

            สำหรับการดำเนินกิจกรรมเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักศึกษาดังกล่าว คณะกรรมการการจัดการความรู้ ได้ดำเนินการในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2553 ในช่วงเวลาระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 โดยประเด็นสำคัญที่นักศึกษาทั้ง 24 คน ได้มาร่วมกันเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นมี 4 ประเด็นหลักดังนี้

          1. วิธีการเรียนให้ประสบผลสำเร็จของนักศึกษาต่างชาติ

          2. ปัจจัยเสริมที่ช่วยให้นักศึกษาต่างชาติประสบความสำเร็จในการเรียน

          3. วิธีการแก้ปัญหาในการเรียนของนักศึกษาต่างชาติ

          4. วิธีการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยเพื่อการเรียนรู้ของนักศึกษาต่างชาติ

หลังจากนั้นคณะกรรมการการจัดความรู้ก็ได้ร่วมกันสังเคราะห์ประเด็นต่างๆ โดยการจัดทำเป็นรายงานเรื่อง“ความสำเร็จในการเรียนของนักศึกษาชาวต่างประเทศที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง : วิธีการ ปัจจัยเสริม และวิธีการแก้ปัญหา” ซึ่งมีรายละเอียดดังจะได้กล่าวถึงในบทต่อไป

 

 

หมายเลขบันทึก: 440131เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2011 12:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท