ความสำเร็จในการเรียนของนักศึกษาชาวต่างประเทศที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง : วิธีการ ปัจจัยเสริม และวิธีการแก้ปัญหา(2)


บทที่ 2 : การดำเนินกิจกรรมเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ในการจัดกิจกรรมการจัดการความรู้ (KM) เรื่อง “ความสำเร็จในการเรียนของนักศึกษาชาวต่างประเทศที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง : วิธีการ ปัจจัยเสริม และวิธีการแก้ปัญหา” ของสาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสารทางธุรกิจในครั้งนี้ มีความคาดหวังประการสำคัญคือ องค์ความรู้ในการพัฒนาศักยภาพด้านการเรียนรู้ของนักศึกษา อันจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาคนอื่นๆได้ต่อไป สำหรับการจัดการความรู้นั้นได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการการจัดการความรู้จำนวน 5 ครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนมีนาคม 2554 ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ครั้งที่ 1 ประชุมการจัดการความรู้ วันที่ 5 มกราคม 2554

          ในการจัดประชุมคณะกรรมการการจัดการความรู้ในครั้งที่ 1 นี้ คณะกรรมการได้หารือถึงประเด็นที่สืบเนื่องต่อจากการจัดการความรู้ใน 2 ครั้งที่ผ่านมา คือ "ความรู้ ประสบการณ์ และความสำเร็จในการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างประเทศ" และ “การจัดเรียนการสอนนักศึกษาต่างชาติในหลักสูตรการบูรณาการเนื้อหาระหว่างสาขา : การบริหารจัดการ เทคนิควิธี และปัจจัยเสริม” โดยสรุปถึงลักษณะพิเศษของการจัดการความรู้ทั้ง 2 ครั้งดังกล่าวว่า เป็นการเน้นให้เห็นถึงกระบวนการต่างๆที่ส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอนและพัฒนานักศึกษาของสาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสารทางธุรกิจ แต่อย่างไรก็ดีแม้จะมีระบบและกลไกต่างๆที่จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้การจัดการเรียนการสอนประสบความสำเร็จ หากแต่นักศึกษาไม่สามารถปรับตัวให้กับระบบหรือกลไกดังกล่าวได้ ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาอยู่ดี

          ดังนั้นเพื่อให้กระบวนการจัดการความรู้ของสาขาวิชาครอบคลุมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับทั้งหมด ในปีนี้สาขาวิชาจึงควรมุ่งเน้นการจัดการความรู้จากนักศึกษาเป็นสำคัญ ทั้งนี้มีสาเหตุหลักอยู่ด้วยกัน 2 ประการ คือ

          1. ในปีการศึกษา 2553 นี้ สาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสารทางธุรกิจ จะมีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรเป็นรุ่นที่ 1 จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่สาขาวิชาจะได้รวบรวมองค์ความรู้ด้านต่างๆซึ่งอยู่ในตัวของนักศึกษาให้เป็นรูปธรรม

          2. จากการประเมินผลการเรียนของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสารทางธุรกิจทั้ง 4 ชั้นปีในภาคเรียนที่ผ่านมาพบว่า มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งได้รับผลการเรียน I หรือ F และนอกจากนี้บางส่วนยังต้องยกเลิกการเรียนในรายวิชาเนื่องจากมีปัญหาด้านการสื่อสารภาษาไทยเพื่อเรียนรู้ในรายวิชาอีกด้วย ในขณะที่นักศึกษาอีกจำนวนไม่น้อยกลับประสบความสำเร็จในการเรียนรายวิชาต่างๆ กับทั้งยังสามารถใช้ภาษาไทยในการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

จากประเด็นดังกล่าวทำให้คณะกรรมการเล็งเห็นถึงองค์ความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคลซึ่งหากสามารถนำมาบริหารจัดการให้เป็นรูปธรรมจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาคนอื่นๆที่ต้องการพัฒนาตนเองให้ประสบผลสำเร็จได้เช่นเดียวกันในที่สุด

ครั้งที่ 2 ประชุมการจัดการความรู้ วันที่ 12 มกราคม 2554

          ในการประชุมคณะกรรมการในการจัดประชุมคณะกรรมการการจัดการความรู้ในครั้งที่ 2 นี้ คณะกรรมการได้ร่วมกันเสนอองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษา จากการประชุมได้ข้อสรุปเป็นหัวข้อที่จะได้มีการจัดการความรู้จากนักศึกษาดังต่อไปนี้

          1. ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเรียนให้ประสบผลสำเร็จของนักศึกษาต่างชาติ

          2. ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยเสริมที่ช่วยให้นักศึกษาต่างชาติประสบความสำเร็จในการเรียน

          3. ความรู้เกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหาในการเรียนของนักศึกษาต่างชาติ

          4. ความรู้เกี่ยวกับวิธีการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยเพื่อการเรียนรู้ของนักศึกษาต่างชาติ

นอกจากนี้คณะกรรมการยังได้ร่วมกันหารือในประเด็นการคัดเลือกนักศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการเรียนโดยพิจารณาจากเกรดเฉลี่ยและลักษณะการเรียนรู้เฉพาะตัวเมื่ออยู่ในห้อง จากการประชุมคณะกรรมการได้รายชื่อนักศึกษาทั้งสิ้น 24 คน โดยแบ่งเป็นนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสารทางธุรกิจจำนวน 12 คน และนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย (ศศ.บ.) จำนวน 12 คน

ครั้งที่ 3 ประชุมการจัดการความรู้ วันที่ 19 มกราคม 2554

          ในการประชุมคณะกรรมการในการจัดประชุมคณะกรรมการการจัดการความรู้ในครั้งที่ 3 นี้ คณะกรรมการได้ร่วมกันวางแผนการจัดประชุมเสวนากับนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกตามประเด็นต่างๆจากการประชุมครั้งที่ 2 ตลอดจนร่วมกันเสนอถึงช่องทางต่างๆที่นักศึกษาจะสามารถเข้าถึงองค์ความรู้หลังจากที่ได้สังเคราะห์องค์ความรู้ต่างๆให้เป็นรูปธรรมเรียบร้อยแล้ว

 ครั้งที่ 4 ประชุมการจัดการความรู้ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554

          ในการประชุมคณะกรรมการในการจัดประชุมคณะกรรมการการจัดการความรู้ในครั้งที่ 4 นี้ คณะกรรมการได้ร่วมกันสังเคราะห์ข้อมูลจากการจัดประชุมเสวนากลุ่มย่อยของนักศึกษาแต่ละชั้นปี ตามประเด็นต่างๆที่ได้กำหนดไว้ในการประชุมครั้งที่ 2

ครั้งที่ 5 ประชุมการจัดการความรู้ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554

          ในการประชุมคณะกรรมการในการจัดประชุมคณะกรรมการการจัดการความรู้ในครั้งที่ 5 นี้ เป็นการประชุมสรุปองค์ความรู้ที่ได้จากการสังเคราะห์ข้อมูลจากการประชุมครั้งที่ 4 ซึ่งได้แสดงไว้แล้วในบทที่ 4

หมายเลขบันทึก: 440132เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2011 12:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 09:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท