ของฝาก "คำเมือง" (เก็บตกจากเวทีถอดบทเรียน)


การกระตุ้นจากภายนอกของภาคส่วนต่างๆ จึงเป็นกระบวนการที่น่าสนใจ แต่จะกระตุ้นอย่างไรโดยไม่ให้ท้องถิ่นตกสู่สภาวะของการถูกครอบงำ หรือแม้แต่ "ชินชา" กับการเป็น “ผู้รับ” แบบไม่ต้อง “ดิ้นรน”

ในวันที่ชีวิตได้นั่งพักอย่างสงบ  มันช่วยให้ชีวิตได้ยินเสียงจากข้างในของตัวเองอย่างมากเลย    ทีเดียว 

ผมพยายามเรียกสติเพื่อที่จะมีสมาธิในการสะสางเรื่องหลายเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
ทั้งโดยบังเอิญ และตั้งใจ 
 

 

ผมพลิกเข้าดูแฟ้มบันทึกเก่าๆ ที่ค้างไว้ในคอมพิวเตอร์  พบข้อความชุดหนึ่งสงบนิ่งอยู่ตรงนั้น  สิ่งนั่นก็คือ
คำกลอนเวอร์ชั่น “คำเมือง” นั่นเอง
 

 

 

ครั้งนั้น (ปลายปี ๒๕๕๓)  ผมเดินทางไปช่วยคุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูรถอดบทเรียนที่โรงพยาบาลอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่  ซึ่งผมได้รับมอบหมายให้ดูแลกลุ่มประชาคม ที่หลักๆ ประกอบไปด้วย
ผู้นำชุมชน  ทั้งในระบบและนอกระบบ (ที่จัดตั้งกันขึ้นเอง)
 

 

ด้วยความที่ผมเป็นคนชนบท หรือออกแนวท้องถิ่นๆ  จึงช่วยให้ผมปรับตัวและปรับสภาพเข้าสู่กระบวนการ
ได้อย่างรวดเร็ว  ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องภาษาถิ่นอยู่บ้าง แต่นั่นก็เป็น “สีสัน”  และเป็น “ความท้าทาย”
ของการจัดกระบวนการเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง
 

 

สิ่งสำคัญที่ผมค้นพบ ก็คือ “พลังของคนรากหญ้า” นั่นสำคัญมาก

 

อันที่จริงผมก็พอรู้และตระหนักมาแล้วล่ะว่าคนกลุ่มนี้สำคัญยิ่งกับการพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง  หากแต่ครั้งนี้ ผมหมายถึง  ผมมารับรู้ รับฟังและสัมผัสแตะต้องด้วยตนเองนั่นเอง

 

 

 

 

 

เวทีเล็กๆ ในวันนั้น  ผมมองเห็นภาพอันเป็นเรื่องราวการพัฒนาท้องถิ่นถูกฉายซ้ำอีกหนเหมือนๆ กัน
ในหลายๆ ที่ที่ผมเคยไปมา  นั่นก็คือ ช่องว่างที่ภาครัฐไม่สามารถสร้างเครือข่ายให้เกิดขึ้นได้อย่างเข้มแข็ง และไม่สามารถให้ “เครดิต” กับคนในชุมชนในการที่จะปกป้องและดูแลตัวเองอย่างที่ควรจะเป็น  คนทำงานในระดับท้องถิ่นหลายส่วนถูกละเลย  ไม่ได้รับการดูแลอย่าง “จริงจัง”  เห็นได้ชัดจากภาพของการ
“สั่งงาน อยากได้งาน แต่ไม่ติดตามกระบวนการจากต้นจนจบ”  ทั้งที่ระยะการขับเคลื่อนนั้น  กลุ่มคนเหล่านี้ “แบกรับ” หลายเรื่องอย่างหนักหน่วง  และไม่รู้จะอาศัยศาสตร์ใดบ้างมาผสมผสานสู่การ “ข้ามให้พ้น”

 

เช่นเดียวกันนั้น  ในอีกมุมหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่าคนในท้องถิ่นก็หลงลืมเรื่องการ “ยืนหยัด”
ด้วยตนเองไปเหมือนกัน  ด้วยเหตุนี้การกระตุ้นจากภายนอกของภาคส่วนต่างๆ จึงเป็นกระบวนการที่น่าสนใจ  แต่จะกระตุ้นอย่างไรโดยไม่ให้ท้องถิ่นจมดิ่งสู่สภาวะของการถูกครอบงำ หรือแม้แต่ "ชินชา" กับการเป็น
“ผู้รับ”
แบบไม่ต้อง “ดิ้นรน  ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งใหญ่

 

หากแต่ในเวทีวันนั้นยังช่วยให้ผมชื่นฉ่ำใจอยู่บ้าง  เพราะ “ช่องว่าง” ที่ว่านั้น ในโซนพื้นที่ดังกล่าว ได้ก่อรูปก่อร่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นอย่างน่ายกย่อง  โดยมีสำนักงานสาธารณสุขและโรงพยาบาลกำลังเชื่อมโยงเครือข่ายอย่างจริงจัง จริงใจ 

 

ครับ, นั่นคือมุมเล็กๆ มุมหนึ่งที่ผมได้ไปสัมผัสและแตะต้องมาด้วยตนเอง

 

นั่นน่าจะเป็นเวทีแรกๆ กระมังที่ผมได้มีโอกาสสัญจรออกข้างนอกเพื่อเป็นวิทยากรร่วมกระบวนการกับทีมงาน  ซึ่งโอกาสเช่นนั้น  ก็เปิดโลกใบใหม่ให้กับผมไปโดยปริยาย

 

 

 

 

ครับ-ย้อนกลับมาถึงเรื่องราวข้อความที่ผมกลับมาพลิกเจอแบบสดๆ ร้อนๆ กันดีกว่า

 

ครั้งนั้น เมื่อเวทีปิดตัวลง ทั้งผมและผู้ร่วมวงสนทนายังคงติดลมสรวลเสเฮฮากันไม่หยุดหย่อน  เป็นการพูดคุยกันแบบออกรสออกชาติ คล้ายคนบ้านเดียวกันมาพบปะกันก็ไม่ปาน

 

ก่อนล่ำลาในวันนั้น  “พ่อหลวง” (ผู้ใหญ่บ้าน)  ได้เขียนคำกลอนอันเป็นภาษาถิ่นเหนือ (คำเมือง)  มอบไว้ให้กับผม  ท่านบอกว่าเป็น "ของฝาก"  สำหรับมิตรภาพที่ผมมีให้  พร้อมๆ กับทิ้งคำถามเล็กๆ ไว้อย่างสุภาพว่า “ที่บ้านอาจารย์ มีบรรยากาศแบบนี้บ้างมั๊ย ?

 

ผมใช้เวลาไม่นานนักกับการอ่านคำประพันธ์อันแสนงามเหล่านั้น  ถึงแม้จะตีความไม่ทะลุในทุกถ้อยคำ  แต่ก็พอมองเห็นแจ่มชัดพอสมควรว่าเรื่องราวที่สะท้อนนั้น คืออะไร...และเป็นไปอย่างไรบ้าง !

 

และนี่คือข้อความอันเป็น "ของฝาก" ที่เป็นคำประพันธ์ในเวอร์ชั่น “คำเมือง”  ที่ผมได้รับมา นะครับ (เสียดายก็แต่ ผมหาต้นฉบับลายมือที่ว่านั้นยังไม่เจอ...แต่ยืนยันว่าไม่หาย !)

 

 

...

 

มาฮื้อเจ้าภาพหันหน้า     

มาถ่ากิ๋นเหล้า
มาเฝ้าไฮโล                    

มาโชว์เสื้อผ้า
มาถ่าเอาบุญ                  

มาอุดหนุนเจ้าภาพ
มากิ๋นลาบใกล้แจ้ง                   

มาแกล้งเปลี่ยนเกิบ
มาจ่วยเสริฟอาหาร         

มาผลาญเจ้าภาพ
มากราบงานศพ              

มาหลบๆ ล่อๆ
มาผ่อเมียเจ้าบ้าน           

มาตามประเพณี
มาจีบแม่ครัว                  

มาหนัวกิ๋นเหล้า
มาเฝ้าเอาแก๋ง                

มาแพงแม่หม้าย
มาส้ายบ่าส้ายแฮง           

มานั่งสะแกงส่ายขา

 

...

 

 

แน่นอนครับ นั่นคือ ภาพชีวิต หรือ วิถีชีวิต ของผู้คนที่ฉายให้เห็นกลิ่นอายวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นอย่างแจ่มชัด  ซึ่งบ้านผม ก็มี "นาฏการณ์" เช่นนี้เหมือนกัน

 

ท่านละครับ  มีประสบการณ์พบเห็นภาพชีวิต หรือสีสันชีวิตเช่นนี้หรือเปล่า ?

 

 

...

 

หมายเหตุ
ภาพกิจกรรมสูญหายไปกับเวลา
ภาพในบันทึกเป็นภาพถ่ายล่าสุดที่ทีมงาน ม.ราชภัฏเชียงใหม่พาสัญจรผ่านไปลำพูน
จึงได้ถือโอกาสได้บันทึกภาพหล่านั้นอีกครั้ง

 

 

หมายเลขบันทึก: 440122เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2011 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

น่าสงสารข้อมูลที่หายไปตามกาลเวลานะครับ ;)...

เดินทางถึงเชียงใหม่ด้วยปลอดภัย พร้อมเก็บตกชีวิตสองข้างทางด้วยนะครับ

เราอาจจะได้พบกัน ณ เวทีการเรียนรู้ เลย มิได้ไปรับครับ ;)...

สวัสดีครับ อ.วัสฯ Wasawat Deemarn

ห้วงนี้ผมวิกฤตเรื่องเวลามาก
ที่นี่มีอะไรให้ขับเคลื่อนใหญ่มาก และใหญ่จริงๆ...
แต่ยังไง ก็จะปลีกตัวไปแบบ "ขัดใจ" (ที่นี่) อย่างแน่นอน 55

สำคัญตอนนี้ ผมกำลังนั่งเขียนบันทึกโรงเรียนแห่งความสุข "Coach Carter"
หลังจากตั้งหลักมานาน...และนานจริงๆ...

...รักษาสุขภาพกาย-ใจ นะครับ

 

อ่านของฝากคำเมืองแล้วเห็นภาพ เจออาจารย์was ฝากทักทายด้วยครับ

อยากเจอ แต่ไม่เคยได้เจอเลย เฮ้อ...

  • อ่านบทกลอนแล้ว รู้สึกว่า การจะลงมือทำอะไรสักอย่าง สังคมบ้านเรายังขาดความเอาจริงเอาจังอยู่มาก ที่ตัวเองเห็นบ่อยและรู้สึก หลายเรื่องก็ทำไปอย่างนั้น สักแต่ว่าได้ทำแล้ว มิหนำซ้ำเอาไปคุยโม้แล้ว มักสนกันแต่รูปแบบ พิธีกรรม แต่เนื้อหาจริงๆ หรือสาระแก่นสาร กลับมิได้เอาใจใส่ แค่ใช้เป็นคำโฆษณา หรือคำอ้างให้ดูเท่ๆ ดูเป็นวิชาการ หลายเหตุกาณ์จึงไม่ไปไหนสักที วนเวียน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงเวลาก็บ่นกันขรมไปทั้งเมืองทีหนึ่ง แล้วก็จางหายไปกับสายลม-สายน้ำ แล้วก็เริ่มกันใหม่ เรียกชื่อใหม่ เป็นปฏิวัติบ้าง ปฏิรูปบ้าง ต่างสรรหากันมาเรียก ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองฟากไหนนะครับ ไม่เคยตระหนักในการสร้างความเข้มแข็งหรือความยั่งยืนให้กับชุมชนเลย คิดเพียงทำอย่างไรจะได้คะแนนเสียง จะได้กลับมากุมอำนาจรัฐอีก อนาคตประชาชน ประเทศชาติ จะเป็นอย่างไรช่าง ประชานิยมเป็นตัวอย่างซึ่งชัดเจนมาก 
  • ชอบภาพต้นไม้ใหญ่และบรรยากาศบนถนนสายลำพูน-เชียงใหม่ที่อาจารย์ถ่ายมานี้จังเลยครับ 
  • ขอบคุณบันทึกดีๆที่ทำให้ได้คิดต่อ และขอบคุณอ.แผ่นดินที่แวะไปเยี่ยมเยือนครับ

สวัสดีค่ะคุณแผ่นดิน

มาเรียนรู้ ยังอู้ กำเมือง บ่จ้าง

ส่งกำลังใจกับภารกิจการงานนะคะ

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ
ไว้ผมเจอ อ.วัสจะบอกให้นะครับ
แต่ก็อย่างว่า-
"เพิ่นลึกลับน่าดู"....

  • สวัสดีค่ะ
  • อ่านและพอแปลความหมายได้ค่ะ
  • ถ้าแถวบ้านเกิดลำดวน ที่อู่ทอง จะมีภาษาไทยทรงดำที่น่าฟังมาก
  • ตอนนี้กลับไปโรงเรียนเก่า ครูเล่าว่าเด็กรุ่นใหม่ ไม่นิยมพูดภาษาพื้นถิ่นเดิม "ลาวโซ่ง"
  • อาจจะเป็นเพราะพ่อแม่ไม่ใช้ภาษาลาวกับลูกๆ หรือลูกอายเพื่อน....
  • ครูกำลังพยายามรณรงค์ให้เด็กพื้นถิ่นไทยทรงดำใช้ภาษาเพื่อสืบทอดไม่ให้สูญหายค่ะ

สวัสดีครับ อ.ธนิตย์ สุวรรณเจริญ

  • คำกลอนพื้นถิ่น (คำเมือง) ข้างต้น สะท้อนภาพชีวิตในวิถีวัฒนธรรมของผู้คนชัดเจนเหลือทน ภาพเช่่นนั้นพบเจอกันในทุกสังคมแล้วด้วยก็เป็นได้ แถวบ้านผมก็พบเจอในทำนองนี้ ยิ่งมีระบบ "แจกซอง" เรียนเชิญ ยิ่งเห็นภาพการแวะมา -ผ่านไป
  • กลุ่มคนที่ดูปักหลักปักตัวอยู่กับงาน ดูเหมือนจะเป็นคนในวัย "สว" แล้วทั้งนั้น โดยเฉพาะภาพของการมานั่งเย็บหมาก จีบพลู ทำพานบายศรี รวมถึงแม่ครัวต่างๆ ที่มากำกับด้านอาหาร ห่อข้าวต้มมัด ผู้คนเหล่านี้เกือบร้อยทั้งร้อยมักพกพาหัวใจมาร่วมเป็นเจ้าภาพขนานแท้
  • ผมพบเจอชัดเจนล่าสุดก็คือ คนมาร่วมงานทุกวันนี้นั่งกันไม่นานนัก โดยเฉพาะแขกต่างบ้านจะนั่งไม่นาน ส่วนใหญ่มาให้กำลังใจ ไม่นิยมนั่งทาน นั่งดื่มกันเท่าไหร่ ซึ่งเจ้าภาพจึงจำต้องจัดแต่งข้าวปลาอาหาร เครื่องดื่มรองรับให้ถือและหิ้วกลับไปบ้าน
  • ...
  • สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องราวไม่รู้จบของชีวิตในวิถีวัฒนธรรมของผู้คนที่ผมเชื่อว่ากลายเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราวนั้นๆ เทศกาลนั้นๆ ไปแล้ว ประหนึ่งกิจวัตรที่ขาดไม่ได้นั่นเอง
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณปู Poo

เว้าเหนือบ่ถ่อง..(อู้กำเมืองบ่จ้าง)

เป็นกำลังใจให้เช่นกันนะครับ ทั้งการงาน ชีวิต
หรือแม้แต่การอู้กำเมือง...

สวัสดีครับ อ.ลำดวน

ชุมชนที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามตั้งรกรากอยู่นี้
ก็มีชาวญ้อผู้ไทอาศัยอยู่มาก ซึ่งเป็นคนมาจากฝั่งเมืองลาว
มหาวิทยาลัยฯ ก็ไม่ดูดาย ขยับเข้าช่วยและเป็นส่วนหนึ่งในการวิจัย หรือขับเคลื่อนให้ชุมชนเกิดกระบวนการเรียนรู้ตัวเอง, รักและหวงแหนที่จะสืบทอดมรดกวัฒนธรรมตนเอง  โดยปัจจุบันเข้มแข็งอย่างน่าชื่นชม

แต่ก่อน  ผมเห็นชาวบ้านมาจัดรายการวิทยุที่มหาวิทยาลัยฯ โดยใช้ภาษา "ญ้อ" ของตัวเองนั่นแหละเป็นภาษาของการสื่อสารในวิทยุ และนั่นก็คือกระบวนการหนึ่งที่ช่วยย้ำให้เห็นความเป็นรากเหง้าตัวเองได้อย่างทระนง

ขอบคุณครับ

 

555+++

ใช่ค่ะ ใช่ จริงๆ ด้วยค่ะ  เคยเห็นแบบนั้นแทบทุกงาน จริงๆ ค่ะ

เรียนท่านอาจารย์Ico48

  • มองเห็นภาพเลยค่ะอาจารย์ อ่านแล้วไม่ต่างจากบ้านเราเลยนะคะ โดยเฉพาะ "มาแกล้งเปลี่ยนเกิบ" ค่ะ ทุกงานจะมีแบบนี้
  • สุขสันต์วันหยุดนะคะ
  • สวัสดีค่ะอ.แผ่นดิน
  • คุณลุงเปิ้นเก่งเนาะเข้าใจเปรียบเปรย
  • ทำให้แสบนิด คันหน่อย
  • แต่ทำไมต้องอยากมาเปลี่ยนเกิบ (ปี้น้องจาวยองแน่ๆ)
  • ไปร่วมงานบุญที่วัดและมีคนมากๆ
  • ถึงเวลากลับรองเท้ามักจะหาย /สับกันเกือบทุกครั้ง
  • มาเฝ้าเอาแก๋ง ตรงกันเกือบทุกงานค่ะ
  • หากมีกับข้าวเหลือๆมักจะตักใส่ถุงกลับบ้านกัน
  • บางงานเจ้าภาพยังไม่ได้ทาน (ยุ่งกับพิธีการ/รับแขกส่งแขก)
  • พอจะมานั่งทาน เอ๊า
  • ...กับข้าวหมดแล้ว........
  • ยังไม่เคยพบอ.WAS เช่นกันค่ะ

สวัสดีครับ

ตามมาอ่านด้วยคำว่า "คำเมือง" แล้วก็ได้สะท้อนใจกับภาพ "คนเมือง" เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นผมกลับประหวัดไปถึงเหตุที่เขาเอามาเขียน คงไม่ใช่เพียงสะท้อนปรากฏการณ์ในสังคมในท้องถิ่นให้พวกเราได้รู้หรอกครับ แต่คงอยากย้อนถามไปถึงส่วนกลางที่มักเข้าไปหยิบจับข้อมูลในท้องถิ่น เสร็จแล้วก็เงียบหายไป ปล่อยให้ท้องถิ่น"เจ็บและชินไปเอง"

สวัสดีค่ะค่ะอาจารย์ Ico48

จากคำประพันธ์ในเวอร์ชั่น “คำเมือง” ... เป็นภาพวิถีชีวิตที่เห็นจนชินตาค่ะ

วัฒนธรรมเช่นนี้ คงไม่ใช่เฉพาะทางเหนือ เป็นทั้งประเทศเสียแล้วค่ะ

สุขสันต์วันหยุดนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท