แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

ปรมัตถธรรม "ธรรมอันประเสริฐ"


 


ปรมัตถธรรม "ธรรมอันประเสริฐ"

ถอดความจาก
ธรรมบรรยายหมวดกรรมฐาน
เรื่องที่ ๑ วิธีเพิกสมมุติบัญญัติ 
โดย

ท่านพระครูเกษมธรรมทัศน์
แห่งสำนักกรรมฐานวัดมเหยงค์

 

ปรมัตถ์ก็คือ สภาวะที่เป็นจริง ธรรมชาติที่มีอยู่จริงๆ เรียกว่า "ปรมัตถ์" หรือว่าความจริงโดยแท้ สภาพที่เป็นจริงโดยแท้นี้เป็นปรมัตถ์ ถ้าแปลโดยหลักวิชาการก็จะแปลว่า "ธรรมชาติ" ปรมัตถ์ก็คือ "ธรรมชาติอันประเสริฐ" คือไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใด และเป็นธรรมที่เป็นประธานใน "อรรถบัญญัติ" และ "นามบัญญัติ" ทั้งปวง อันนี้แปลโดยวิชาการที่ท่านแปลไว้ อาจจะฟังไม่รู้เรื่อง "ธรรมชาติอันประเสริฐ" "ธรรมอันประเสริฐ" ประเสริฐอย่างใด คือไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใด

อ้าว...คำว่า "ไม่มีการผิดแปลกผันแปร" หมายถึงมันเที่ยงอยู่อย่างนั้นหรือ ก็ไม่ใช่
รูปนาม ปรมัตถ์ ที่เป็นจิตเจตสิกรูป มีความเปลี่ยนแปลงเกิดดับไม่เที่ยง
แล้วทำไมมาแปลว่า "ธรรมอันประเสริฐ คือความไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใด"

คำว่า "ไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใด" หมายถึง คงลักษณะของมันอยู่ มันมีลักษณะอย่างไร มันก็คงลักษณะของมันอย่างนั้น และรูปต่างๆ นามต่างๆ มีลักษณะประจำตัวของมันอย่างใด มันจะคงลักษณะของมันอย่างนั้น ไม่มีการผิดเพี้ยนไปอย่างอื่น ไม่ว่าจะเกิดกี่ครั้งกี่คราว ไม่ว่าจะเกิดกับใครก็ตาม ชาตินี้ชาติไหนก็ตาม ปรมัตถธรรมก็จะคงลักษณะของมันอยู่อย่างนั้น มันมีลักษณะอย่างไรก็คงลักษณะของมันอยู่อย่างนั้น ไม่มีการผิดเพี้ยนไปอย่างอื่น ท่านจึงว่า "เป็นธรรมอันประเสริฐ"

ยกตัวอย่างเช่น

  • รูปไฟ หรือ เตโชธาตุ ธาตุไฟ จะมีลักษณะร้อน หรือร้อนน้อยก็คือเย็น ดังนั้นไฟก็คือ ความร้อน ไฟไม่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร เกิดกับใครที่ไหน ก็จะคงต้องลักษณะของมันอยู่คือความร้อน หรือ เย็น จะผิดเพี้ยนไปอย่างอื่นไม่ได้ ปรมัตถ์มันจะเป็นสภาพอย่างนั้น
  • ดิน หรือ ปฐวีธาตุ จะมีลักษณะแค่นแข็ง ถ้าแข็งน้อย ก็เรียกว่าอ่อน อ่อนก็คือยังแข็ง แข็งน้อย ดังนั้น "ดิน หรือ ปฐวีธาตุ" เกิดขึ้นกับใครที่ไหนเมื่อไหร่ ก็จะต้องคงลักษณะอย่างนี้อยู่ ลักษณะความเข้มแข็ง จะผิดเพี้ยนไปอย่างอื่นไม่ได้ ปรมัตถ์มันจะเป็นอย่างนั้น ท่านยังแปลว่า "ธรรมอันประเสริฐ" คือ ไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใด คือมันคงลักษณะของมันอยู่ ไม่เหมือนสมมุติ สมมุตินั้นผิดเพี้ยนไปตามเรื่องตามราวแล้วแต่จะสมมุติกันไป แต่ปรมัตถ์นี้คงที่ ลักษณะของมัน
  • ลม หรือว่า เตโชธาตุ ซึ่งมีลักษณะตึง เคร่งตึง เข้าไปที่อยู่ที่ใดที่นั้นจะรู้สึกจะตึง อัดเข้าไปในลูกฟุตบอล ลูกฟุตบอลก็ตึง สูดเข้าไปในหน้าอกในปอด หน้าอกก็ตึง ท้องตึง พอคลายลมออก ตึงน้อยลง ตึงน้อยลง ก็เรียกว่าหย่อน หย่อนก็คือตึงน้อย ดังนั้นลมจึงมีลักษณะเคร่งตึง จะเกิดขึ้นเมื่อไรกับใคร ที่ไหน ชาติไหนกับใครก็ตาม ลมก็จะแสดงลักษณะเคร่งตึง ไม่มีการผิดเพี้ยนไปอย่างอื่น

ปรมัตถ์เป็นสิ่งที่คงสภาพลักษณะของมันอยู่ มันจึงคงทนต่อการพิสูจน์ พิสูจน์เมื่อไหร่ก็พิสูจน์ได้เหมือนกัน จะเป็นสมัยพระพุทธเจ้า ก่อนสมัยพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน หรือสมัยปัจจุบันนี้ หรือจะไปสมัยหน้าต่อไป ปรมัตถธรรมยังคงสภาพของมันอย่างนี้อยู่ แล้วมันก็เป็นธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ เหล่านี้มันเป็นธรรมชาติ คำว่าธรรมชาติคือ ปฏิเสธความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวเรา เป็นตัวเขา

พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้นไม่ได้ไปสร้างอะไร ไม่ได้ไปสร้างธรรมชาติอะไรขึ้นมา ธรรมชาติเขามีเป็นอยู่อย่างนี้อยู่แล้ว เพียงพระพุทธเจ้าไปพิสูจน์ได้ ไปรู้ไปเห็นไปเข้าใจสภาพของธรรมชาติตามความเป็นจริง เมื่อรู้แจ้งตามความเป็นจริง ก็ละความเห็นผิดยึดมั่นถือมั่น ละความโลภ โกรธ หลง ก็พ้นทุกข์

พระองค์พ้นทุกข์แล้ว ก็นำมาสั่งสอน นำมาถ่ายทอด ผู้ฟังปฏิบัติตามแล้วได้ผลจริง พิสูจน์แล้วก็เป็นจริงตามนี้ ก็พากันพ้นทุกข์ตามพระพุทธเจ้าไป เรียกว่าเป็นสาวก เป็นสงฆ์สาวก ตกทอดมาถึงพวกเรา เราก็ต้องพยายามที่จะฟัง ศึกษาคำสอนพระพุทธเจ้า แล้วก็ลงมือพิสูจน์ปฏิบัติ พิสูจน์ธรรมชาติให้เห็นตามความเป็นจริง ไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมาเหมือนกันที่เราปฏิบัตินี้ ธรรมชาติเขาเป็นอย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้น เป็นเพียงเข้าไปรู้ ไปดู ให้เห็น ความเป็นจริงของธรรมชาติ 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 440116เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2011 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ธรรมชาติ คือ ความจริงแท้...

อนุโมทนา..ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท