พนักงานราชการ


การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

                           ข้าราชการหรือพนักงานราชการ หลายคนยังสับสนกับตำแหน่งตัวเอง ว่าเป็นอย่างไร มาจากไหน และจะอยู่อย่างไรในอนาคต ได้พยามอธิบายหลายเวทีและหลายครั้ง อาจเข้าใจดีขึ้นสำหรับผู้ที่ยังไม่ชัดกับตำแหน่งนี้ อยากจะอธิบายบเพิ่มเติมว่า พนักงานราชการ คือ  บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างโดยได้รับค่าตอบแทนจากงบประมาณของส่วนราชการเพื่อเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติงานให้กับส่วนราชการนั้น

                        สาระสำคัญของระบบพนักงานราชการ

                        1. หลักการในการบริหารบุคคลในระบบพนักงานราชการ คือ เพื่อปรับปรุงกระบวนการจ้างงานภาครัฐในส่วนของลูกจ้างของส่วนราชการให้มีความหลากหลาย และเหมาะสมในการใช้กำลังคนภาครัฐ และเป็นผลให้การปฏิบัติราชการมีความคล่องตัว เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลสอดคล้องตามแนวทางบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่

                        2. พนักงานราชการ  มี 2 ประเภท  และจำแนกตำแหน่งตามลักษณะงานและผลผลิตของงาน  เป็น 6 กลุ่ม  ดังนี้

                            2.1 พนักงานราชการทั่วไป  ปฏิบัติงานในลักษณะเป็นงานประจำทั่วไปของส่วนราชการ  พนักงานราชการประเภทนี้ มี 5 กลุ่ม คือ

                                  (1) กลุ่มงานบริการ   มีลักษณะงานเป็นงานปฏิบัติระดับต้น  ไม่ซับซ้อนมีขั้นตอนชัดเจน ไม่ใช้ทักษะเฉพาะ (วุฒิ ม. 3, ม.ศ. 3, ม. 6, ปวช., ปวท., ปวส.) เช่น ตำแหน่งพี่เลี้ยงเด็กพนักงานช่วยการพยาบาล  พนักงานเขียนโฉนด  ฯลฯ

                                 (2) กลุ่มงานเทคนิค  มีลักษณะงานที่ต้องใช้ความรู้ความชำนาญทางเทคนิคซึ่งต้องผ่านการศึกษาในระบบหรืองานที่ปฏิบัติโดยใช้ทักษะเฉพาะบุคคล (วุฒิ ปวช. ปวท. ปวส. หรือมีประสบการณ์ในงานที่ปฏิบัติไม่น้อยกว่า 5 ปี) เช่น ช่างเครื่องเรือ ช่างกษาปณ์ ช่างปราณีตศิลป์ ฯลฯ

                                (3) กลุ่มงานบริหารทั่วไป  มีลักษณะงานเช่นเดียวกับที่ข้าราชการปฏิบัติแต่มีความจำเป็นเร่งด่วนและมีระยะเวลาการปฏิบัติงานที่แน่นอน หรือ ไม่ใช่งานลักษณะเช่นเดียวกับที่ข้าราชการปฏิบัติ แต่จำเป็นต้องใช้วุฒิปริญญา (วุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี ที่เหมาะสมกับลักษณะงานที่ปฏิบัติ) เช่น เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน  นิติกร  บุคลากร  ฯลฯ

                                (4) กลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะ  มีลักษณะงานที่ไม่อาจมอบให้ผู้มีคุณวุฒิอย่างอื่นปฏิบัติแทนได้  และ  มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน  หรือ  เป็นงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ เป็นงานที่ขาดแคลน (วุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี, ปริญญาตรี+ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ)  เช่น  แพทย์  วิศวกร  สถาปนิก  เภสัชกร  นักเทคนิคการแพทย์  นักฟิสิกส์รังสี  นักวิชาการ-คอมพิวเตอร์

                                (5) กลุ่มเชี่ยวชาญเฉพาะ  มีลักษณะงานที่ต้องใช้ความรู้  ประสบการณ์หลักวิชา  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  หรือ  เป็นการพัฒนาระบบ/มาตรฐานที่ใช้ความรู้และประสบการณ์เชี่ยวชาญเฉพาะ (วุฒิปริญญาตรี+ประสบการณ์ 6 ปี , ปริญญาโท+ประสบการณ์ 4 ปี , ปริญญาเอก+ประสบการณ์ 2 ปี) เช่น  นักบิน  นักวิจัย  ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ)

                           2.2 พนักงานราชการพิเศษ  ปฏิบัติงานในลักษณะที่ต้องใช้ความรู้หรือความเชี่ยวชาญสูงมากเป็นพิเศษ เพื่อปฏิบัติงานในเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นเฉพาะเรื่องของส่วนราชการหรือมีความจำเป็นต้องใช้บุคคลในลักษณะดังกล่าว  พนักงานราชการประเภทนี้ มี 1 กลุ่ม คือ

                                (6) กลุ่มงานเชี่ยวชาญพิเศษ  มีลักษณะงานที่ใช้ความรู้   ความสามารถประสบการณ์   และเชี่ยวชาญพิเศษระดับสูงเป็นที่ยอมรับ  หรือ  งาน/โครงการที่ไม่อาจหาผู้ปฏิบัติที่เหมาะสมในหน่วยงานได้  หรือ งานที่มีลักษณะไม่เป็นงานประจำ (ส่วนราชการสามารถกำหนดวุฒิการศึกษา ประสบการณ์ ตามระดับของความเชี่ยวชาญพิเศษ) เช่น ที่ปรึกษา  ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร-โครงการ  ฯลฯ

                        ทั้งนี้ การกำหนดลักษณะงานและคุณสมบัติเฉพาะเป็นไปตาม ประกาศของคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ  ซึ่งจะประกาศตามมา  และส่วนราชการสามารถกำหนดชื่อตำแหน่งได้เองตามความเหมาะสมของงาน

                        3. การกำหนดบัญชีค่าตอบแทน  จะกำหนดโดยแยกบัญชีตามลักษณะงานเป็น6 บัญชี   และมีการเลื่อนขั้นค่าตอบแทนปีละ 1 ครั้ง  คือ  1 ตุลาคม ของทุกปี  นอกจากนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มลักษณะงาน   (รายละเอียดบัญชีค่าตอบแทนและสิทธิ-ประโยชน์อื่น ๆ  เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการฯ)

                         4. ส่วนราชการจะต้องจัดทำ กรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ เป็นระยะเวลา4 ปี สำหรับกรอบรอบแรกจะต้องให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน (สำหรับส่วนราชการที่มีจำนวนลูกจ้างประจำ ไม่เกิน 5,000 คน) โดยจำนวนตำแหน่งขึ้นอยู่กับกรอบภารกิจและงบประมาณของส่วนราชการ(ลูกจ้างประจำ+ลูกจ้างชั่วคราว เท่าที่จำเป็น) กรณีกรอบอัตรากำลังยังไม่แล้วเสร็จ  แต่มีความจำเป็นและมีงบประมาณแล้ว  ให้จ้างได้ตามกรอบลูกจ้างประจำไปพลางก่อน  โดย กรอบพนักงานราชการ  =  กรอบลูกจ้างประจำ – จำนวนลูกจ้างประจำในลักษณะงานจ้างเหมา

                        ทั้งนี้ ลูกจ้างประจำปัจจุบันจะเข้าสู่ระบบใหม่ได้โดยความสมัครใจ และส่วนราชการจะต้องกำหนดให้มีการสรรหาและเลือกสรร  ตามแนวทางที่จะกำหนดในประกาศคณะกรรมการฯต่อไป

                        5. การจ้างพนักงานราชการ  เป็นระบบสัญญาจ้าง  ซึ่งไม่เกินคราวละ 4 ปี   หรือตามโครงการและต่อสัญญาได้ตามความเหมาะสม  การสิ้นสุดสัญญาจะมีได้ด้วยเหตุ : ครบกำหนด,ขาดคุณสมบัติ, ตาย, ไม่ผ่านการประเมินฯ, ถูกไล่ออกเพราะกระทำผิดวินัยร้ายแรง, หรือเหตุอื่น ๆเช่น ลาออก  บอกเลิกสัญญา  ฯลฯ

                        6. ในระหว่างสัญญาจ้าง  ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงาน  ปีละ 2 ครั้ง(1 ตุลาคม – 31 มีนาคม และ 1 เมษายน – 30 กันยายน) สำหรับพนักงานราชการทั่วไป ส่วนพนักงานราชการพิเศษ  ให้กระทำกรณีประเมินผลสำเร็จของงานตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง

                        7. พนักงานราชการต้องรักษาวินัย หากฝ่าฝืนข้อห้ามหรือไม่ปฏิบัติตามถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัย  ต้องได้รับโทษทางวินัย

                        8. ให้มี คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) ซึ่งประกอบด้วยรองนายกฯเป็นประธาน  เลขาธิการ ก.พ. เป็นรองประธาน มีกรรมการ 10 คน (จากหน่วยงานกลางบริหารคน  เงินแผน  แรงงาน  กลาโหม ฯลฯ)  และผู้ทรงคุณวุฒิ 4 สาขา  (บริหารงานบุคคล   กฎหมาย   เศรษฐศาสตร์และแรงงานสัมพันธ์) โดยฝ่ายเลขานุการเป็นผู้แทนจาก ก.พ. สงป. และกรมบัญชีกลาง

                        คณะกรรมการฯ  มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดแผนงานและแนวทางปฏิบัติ   รวมทั้งเสนอแนะส่วนราชการในการบริหารพนักงานราชการในเรื่องต่าง ๆ เช่น การสรรหาและเลือกสรร กำหนดกลุ่มงานและลักษณะงาน ให้ความเห็นชอบกรอบอัตรากำลัง กำหนดอัตราค่าตอบแทน และมาตรฐานการประเมินผลการปฏิบัติงาน ฯลฯ

คำสำคัญ (Tags): #พนักงานราชการ
หมายเลขบันทึก: 438571เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2011 20:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

อ่านบันทึกของท่าน ทำให้รู้จักพนักงานราชการมากขึ้นค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

ขอบคุณครับท่านจะปฎิบัติหน้าที่เพื่อเกียรติและศักดิ์ศรีของคำว่าพนักงานราชการ

อยากเรียนถามท่านผู้รู้ค่ะ

1. กรณีพนักงานราชการที่ต้องโอนไปท้องถิ่น ( อปท.) ตามระเบียบ พนง. 47 แม้ไม่อยากโอน จะมีสิทธิ์สอบไหมค่ะ

เพราะโรงเรียนที่ทำสัญญาจ้างด้วยนั้นโอนเข้า อปท. ค่ะ เพิ่งโอนไปเมื่อเดือน พ.ค 54

ได้โปรดตอบด้วยค่ะ

ขอบคุณอย่างสูง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท