โลกกว้างคือห้องสมุด การท่องเที่ยวคือการอ่านหนังสือ : ตอนท่องเที่ยวอ่าวพังงา ตอนที่ 1


     เมื่อวันหยุดยาวที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านหนังสือ (ไปเที่ยวแหล่ะค่ะ) บนโลกใบนี้อีกเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือเกี่ยวกับจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงา อ่านแล้วสนุกมากค่ะ

     เลยอยากจะชวนท่านที่สนใจไปอ่านหนังสือ เรื่อง "ท่องเที่ยวอ่าวพังงา หรรษาหน้าร้อนกันนะคะ"

ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักกับอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงากันก่อนนะคะ

อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 400 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนผืนใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์คงสภาพธรรมชาติดั้งเดิมอยู่มาก นับตั้งแต่เขตอำเภอเมืองพังงา เลียบตามชายฝั่งจนถึงเขตอำเภอตะกั่วทุ่ง และบริเวณพื้นน้ำในทะเลอันดามัน ซึ่งมีพื้นที่ 80 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ นอกจากนี้ยังประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ประมาณ 42 เกาะ เช่น เกาะเขาเต่า เกาะพระอาตเฒ่า เกาะโบยน้อย เกาะโบยใหญ่ เกาะรายาหริ่ง เกาะพนัก เกาะห้อง เกาะปันหยี เขาพิงกัน เป็นต้น

ข้อมูลเพิ่มเติม :-
ตามลักษณะโครงสร้างและธรณีสัณฐานของดินแดนภาคใต้ฝั่งตะวันตก เป็นบริเวณที่อยู่ใกล้กับแนวทิวเขาแกรนิตที่เรียกว่า ทิวเขาตะนาวศรี และทิวเขาภูเก็ต ที่ทอดยาวไปจนถึงจังหวัดพังงา - ภูเก็ต เป็นทิวเขาที่เกิดในยุคครีตาเชียสกับยุคเทอร์เซียรีตอนต้น อายุประมาณ 36-136 ล้านปีมาแล้ว ภูมิสันฐานและภูมิประเทศทั่วไปของบริเวณนี้ ยังเป็นผลมาจากลักษณะโครงสร้างที่เรียกว่า รอยเลื่อน มีชื่อทางธรณีวิทยาว่า "รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย" และ "รอยเลื่อนพังงา" นอกจากนั้นยังมีภูเขาหินตะกอน หินแปร แทรกสลับอยู่เป็นแนว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูเขาหินปูนลูกโดด จากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติดังกล่าวทำให้เกิดเป็นช่อง โพรง หรือถ้ำมากมาย ส่วนภูเขาหินดินดานบางแห่งสลายตัวกลายเป็นหย่อมเนินเขาขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง การยุบตัวของแผ่นดินทางด้านตะวันตกทำให้เกิดเป็นชายฝั่งขรุขระเว้าๆ แหว่งๆ เกิดเป็นอ่าวและเกาะซึ่งเป็นภูเขาหินปูนลูกโดดกระจายอยู่ตามฝั่งมากมาย โดยเฉพาะในเขตจังหวัดพังงา กระบี่ ตรัง และสตูล 

เนื่องจากภาคใต้ฝั่งตะวันตกเป็นฝั่งทะเลเปิด จึงได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เต็มที่ใน ระหว่างเดือนพฤษภาคม - กันยายน ทะเลมีคลื่นลมจัด ฝั่งทะเลช่วงใดที่ไม่มีเกาะกำบังจึงกลายเป็นฝั่งซึ่งมีชายหาดชันและน้ำลึก ในระยะใกล้ฝั่ง ส่วนฝั่งทะเลช่วงที่มีเกาะกำบังลมด้านนอก หรือฝั่งตอนที่เป็นอ่าวเว้าไม่รับลมมรสุมเต็มที่ จะมีลักษณะเป็นบริเวณที่พื้นดินอ่อนเป็นโคลนเลน มีป่าชายเลนขึ้นหนาแน่นตามขอบฝั่งและเลยลึกเข้าไปในฝั่งที่น้ำเค็มเข้าไปถึง ลักษณะเช่นนี้จะเห็นได้ชัดบริเวณ อ่าวพังงา จังหวัดพังงานี้เอง 

จากลักษณะเกาะแก่งและธรรมชาติที่สมบูรณ์ สวยงาม และมีชื่อเสียง จังหวัดพังงาจึงได้เสนอพื้นที่บริเวณถ้ำลอด เกาะปันหยี และเขาพิงกัน ให้กรมป่าไม้ดำเนินการจัดตั้งเป็นวนอุทยานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2517 เป็นต้นมา โดยใช้ชื่อว่า วนอุทยานศรีพังงา และต่อมากรมป่าไม้ได้ดำเนินการสำรวจบริเวณอ่าวพังงาเพิ่มเติมและดำเนินการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยกำหนดเป็นพระราชกฤษฎีกา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 64 เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2524 ภายใต้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 400 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนผืนใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์คงสภาพธรรมชาติดั้งเดิมอยู่มาก นับตั้งแต่เขตอำเภอเมืองพังงา เลียบตามชายฝั่งจนถึงเขตอำเภอตะกั่วทุ่ง และบริเวณพื้นน้ำในทะเลอันดามัน ซึ่งมีพื้นที่ 80 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ นอกจากนี้ยังประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ประมาณ 42 เกาะ เช่น เกาะเขาเต่า เกาะพระอาตเฒ่า เกาะโบยน้อย เกาะโบยใหญ่ เกาะรายาหริ่ง เกาะพนัก เกาะห้อง เกาะปันหยี เขาพิงกัน เป็นต้น 

บริเวณเขาเต่าในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ได้มีการค้นพบหลักฐานก่อนประวัติศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2530 โดยพบหลักฐานการเข้ามาอยู่อาศัย รวมถึงการฝังศพของผู้คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จากการศึกษาของนักธรณีวิทยา โดยนำเอาฟอสซิลของหอยบริเวณถ้ำและเพิงผาตามเกาะและหินโผล่ในอ่าวพังงา พบว่าในระหว่างยุคไพลสโตซีนกับไฮโลซีน คือ เมื่อประมาณ 11,000 ปี ที่ผ่านมาระดับน้ำทะเลลดต่ำลงมากในช่วงยุคน้ำแข็ง ภูเขาหินที่เป็นเกาะแก่งดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จึงอยู่บนที่ดอน ไม่มีสภาพเป็นเกาะดังที่เป็นอยู่ ต่อมาในช่วง 7,500-8,500 ปีมาแล้ว ระดับน้ำทะเลค่อยๆ ขยับสูงขึ้นจนสูงสุด คือ สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางในปัจจุบันถึง 4.5 เมตร และต่อมาในช่วง 4,000-5,000 ปีมาแล้ว ระดับน้ำทะเลขึ้นๆ ลงๆ ( มีทั้งขึ้นสูงและลดต่ำกว่าปัจจุบัน ) ในช่วงระหว่าง 2,700-3,700 ปีมาแล้วนั้น ระดับน้ำทะเลค่อนข้างจะคงตัว แต่ยังสูงกว่าปัจจุบันระหว่าง 1.5-2.5 เมตร และตั้งแต่ 1,500 ปีเป็นต้นมา ระดับน้ำทะเลสูงสุดกว่าปัจจุบัน 1.5 เมตร เช่นกัน ดังนั้นระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ช่วงนี้เริ่มใกล้เคียง จนกระทั่งมีสภาพคล้ายคลึงกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเรื่อยมาตามลำดับ 

การค้นพบในครั้งนั้นให้ผลสืบเนื่องอันสำคัญต่อความรู้ความเข้าใจ ถึงการดำรงชีวิตของกลุ่มชนก่อนประวัติศาสตร์ที่ทิ้งร่องรอยไว้ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาและบริเวณใกล้เคียง กล่าวคือ มนุษย์ซึ่งเคยอาศัยในเขตจังหวัดกระบี่และพังงา เมื่อประมาณ 10,000 ปีมาแล้ว อาจสัญจรไปมาและเข้าอยู่อาศัยตามเพิงผา และถ้ำได้โดยสะดวก โดยมิต้องอาศัยแพหรือเรือ แต่เวลาผ่านไปในช่วงระดับน้ำทะเลขึ้นสูง กลุ่มชนที่สืบเชื้อสายต่อมาคงถอยร่นเข้ามาอาศัยอยู่บนพื้นที่ดอนภายใน และอาจมีกลุ่มชนที่รู้จักการทำแพ เรือ สัญจรไปในห้วงน้ำในอ่าวพังงาบ้าง แต่แหล่งเหล่านี้อาจไม่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยถาวร ถ้ำและเพิงผา บางแห่งริมอ่าวพังงาที่ปัจจุบันตั้งบนที่ดอนในบางช่วงของอดีตอาจมีลักษณะคล้ายเกาะ คือ มีน้ำล้อมรอบ ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม หรือมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานใหม่ จนกระทั่งเป็นชุมชนที่มีความสามารถทางทะเล ซึ่งประจักษ์พยานของการตั้งถิ่นฐานและการเข้ามาอยู่อาศัยของกลุ่มชนก่อนประวัติศาสตร์ในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ปรากฏจากแหล่งโบราณคดี สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นงานสร้างสรรค์ ของคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ เขาเขียน เกาะปันหยี เขาระย้า ถ้ำนาค และเกาะพระอาตเฒ่า 

โบราณวัตถุที่พบที่เขาพังมีเครื่องกะเทาะหินหลายชิ้น นอกจากนั้นพบเศษภาชนะดินเผาแบบเรียบ ลายเชือกทาบ หินลับ แกนหิน และสะเก็ด ที่มีร่อยรอยการกะเทาะ แต่ไม่มีลักษณะเป็นเครื่องมือที่ชัดเจนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ที่ เกาะพระอาตเฒ่า ยังมีการค้นพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ แบบเรียบ แบบลายเชือกทาบ ชิ้นส่วนขวานหินขัด เครื่องมือสะเก็ดหิน กระดูกปลามีรอยขัดฝน 

ภาพเขียนหินบนผนังในอ่าวพังงา ส่วนใหญ่เป็นภาพลายเส้น มีการระบายสีบ้าง มีทั้งวาดเส้นด้วยสี เขียนด้วยสีอย่างแท้จริง และเขียนด้วยการหยดสี สะบัดสี มักเขียนด้วยสีแดงและสีดำ มีสีอื่นๆ บ้างแต่เป็นส่วนน้อย รูปลักษณ์ที่เขียนมีทั้งลักษณะที่เป็นรูปร่างของคนและสัตว์ เช่น ภาพคนแบกปลา ปลา กุ้ง ค่าง นก ช้าง และรูปลักษณ์ของสิ่งไม่มีชีวิต เช่น ลายเส้นคล้ายยันต์หรือตัวอักษร ลูกศร เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เรือ เป็นต้น

ข้อมูลจาก : http://www.hamanan.com/tour/phangnga/utayanaowphangnga.html )

หมายเลขบันทึก: 436900เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2011 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 19:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท