การสอนวรรณคดีด้วยการสอนแบบแลกเปลี่ยนบทบาท (reciprocal teaching)


การศึกษาและเรียนรู้วรรณคดีต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนตอบสนอง

   มาร่วมสร้างประชาคมการสอนภาษาไทยให้มีหลักการ มีทฤษฎีและมีชีวิต

เฉลิมลาภ  ทองอาจ

 

               การสอนแบบแลกเปลี่ยนบทบาท  (reciprocal  teaching)  เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีการเรียนรู้การสร้างความรู้  ที่นักเรียนเป็น  “ศูนย์กลาง”  ควบคุมกระบวนการเรียนรู้การอ่าน     เพื่อสร้างความเข้าใจและความหมายจากการอ่านด้วยตนเอง  Palincsar  และ  Brown (๑๙๘๔)  ได้พัฒนาวิธีการจัดการเรียนรู้นี้ขึ้นและให้ความหมายว่า  “การสนทนาระหว่างครูและนักเรียน  อันมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยกันสร้างความหมายจากบทอ่าน”  (Howard, ๒๐๐๔: online) โดยลักษณะ           การจัดการเรียนรู้ที่สำคัญ คือ  นักเรียนเข้ากลุ่มเพื่อสนทนาเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน  โดยครูจะเป็นผู้สาธิตวิธีสร้างความเข้าใจ       บทอ่านและสนับสนุนให้นักเรียนใช้วิธีดังกล่าวสอนสมาชิกในกลุ่ม  กระทั่งสมาชิกทุกคนสามารถใช้วิธีดังกล่าวได้ด้วย         ตนเองในที่สุด

 

                จากความหมายข้างต้น  การแลกเปลี่ยนบทบาทในที่นี้  มุ่งเน้นไปที่การให้นักเรียนเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้สอนและ  นำกระบวนการอ่านของตนเองและเพื่อนสมาชิกในกลุ่ม  โดยสมาชิกมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน  คือ  การสร้างความเข้าใจและความหมายเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน  นักการศึกษาทั้ง  ๒  คนได้วิจัยพบว่าวิธีการจัดการเรียนรู้นี้สามารถพัฒนาระดับความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจให้สูงขึ้นได้  (Palincsar และ  Brown, ๑๙๘๙  อ้างถึงใน  Sternberg  และ  Williams, ๒๐๐๒: ๔๕๔)  นอกจากนี้  นักเรียนยังได้เรียนรู้  “กลวิธี”  การอ่านเพื่อสร้างความเข้าใจ  และได้ศึกษาว่าแต่ละวิธีนั้นควรใช้อย่างไรและเมื่อใด  รวมทั้งเกิดทักษะการบังคับตนเอง  (self-regulated)  จนสามารถใช้วิธีการอ่านเหล่านี้ในชีวิตประจำวันได้ในที่สุด   (Doolittle, Nichols และ Young, ๒๐๐๖: online)

 

                วิธีการจัดการเรียนรู้การสอนแบบแลกเปลี่ยนบทบาทนี้  มีลักษณะพื้นฐานที่สำคัญ  ๒  ประการ  (Alverman และ Phelps, ๑๙๙๘  อ้างถึงใน  Greece Central School District, ๒๐๐๔: online)  ดังนี้      

                 

                                ๑.  เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนฝึกปฏิบัติการสร้างความเข้าใจและความหมายจากการอ่านจากโดยใช้วิธีการ  ๔  วิธี  คือ  การตั้งคำถาม  (question generating)  การสรุปย่อ  (summarizing)  การสร้างความกระจ่าง  (clarifying)  และการทำนาย  (predicting)

 

                                ๒.  เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ในลักษณะการฝึกหัดทางสติปัญญา  (cognitive apprenticeship)  ประเภทหนึ่ง  ซึ่งให้นักเรียนศึกษาบทบาทของครูในชั้นเรียนก่อน  แล้วปรับบทบาทตนเองให้เป็น  “ครู”     ที่จะสอนและสนับสนุนเพื่อนในกลุ่มให้สามารถสร้างความรู้และความหมายจากบทอ่านได้ด้วยตนเอง  โดยใช้วิธีการทั้ง  ๔  วิธีเป็นประเด็นหลักในการสนนทนาและอภิปราย 

 

                สารัตถะสำคัญของวิธีการจัดการเรียนรู้การสอนแบบแลกเปลี่ยนบทบาท  คือการใช้  “วิธี”       การสร้างความเข้าใจและความหมายจากบทอ่านทั้ง  ๔  วิธี  ซึ่งครูจะต้องเริ่มจากการสาธิตและพยายามสนับสนุนให้นักเรียนค่อยๆ ใช้วิธีการดังกล่าวได้ด้วยตนเองในที่สุด   แม้ว่าระยะแรก  นักเรียนอาจยังไม่คุ้นเคยกับการอ่านที่ต้องใช้วิธีการศึกษามากกกว่าเพียงการอ่านเนื้อหาปกติ  แต่เมื่อนักเรียนเข้ากลุ่มสนทนาแบบแลกเปลี่ยนบทบาท  นักเรียนจะสามารถใช้ข้อมูลของตนเองแลกเปลี่ยนเรียนรู้   กล่าวคือ     ใช้คำถามและความคิดเห็นของเพื่อนเป็นฐานการอภิปรายเพื่อพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับบทอ่าน  ซึ่งผลที่ตามมา  คือ  นักเรียนได้พัฒนาทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ  เข้าใจกระบวนการเรียนรู้และการใช้เหตุผล  (Borich, ๒๐๐๔: ๒๒๕)

 

                วิธีการสร้างความเข้าใจและความหมายจากบทอ่านมี  ๔  วิธี  ได้แก่  การตั้งคำถาม  (question generating)   การสรุปย่อ  (summarizing)  การสร้างความกระจ่าง  (clarifying)  และการทำนาย  (predicting)   แนวคิดและการนำไปปฏิบัติของ       แต่ละวิธี   Palincsar (๑๙๘๖)  อ้างถึงใน  North Central Regional Educational Laboratory (๒๐๐๔: online); Snowball and Diane (๒๐๐๕: online)  และ  State of Victoria  Australia, Department of Education and Early Childhood Development  (๒๐๐๘: online)  ได้เสนอไว้สรุปได้ดังนี้ 

 

                                ๑. การตั้งคำถาม  (question generating): การตั้งคำถามเป็นวิธีที่ทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจบทอ่าน  โดยนักเรียนจะต้องค้นหาหรือพิจารณาข้อมูลสำคัญ  ซึ่งได้แก่  ใจความสำคัญ  รวมทั้งข้อมูลที่น่าสนใจต่างๆ  จากบทอ่าน  ให้เพียงพอที่จะสร้างข้อคำถามได้   แล้วนักเรียนพยายามสร้างคำถามโดยใช้คำแสดงคำถามระดับสูง  เช่น  “เพราะเหตุใด…”            “.....อย่างไร”   จากนั้นนักเรียนตรวจสอบว่าสามารถตอบคำถามที่ตนเองสร้างขึ้นได้หรือไม่   ระยะแรกครูควรให้คำแนะนำและช่วยเหลือนักเรียน  (scaffolding)  ในการตั้งคำถาม  ซึ่งมีลักษณะยืดหยุ่นได้หลายระดับ  กล่าวคือ  อาจเป็นคำถามที่มุ่งเน้น   การถามข้อมูลสำคัญ  ข้อมูลรายละเอียด  หรืออาจเป็นคำถามที่มุ่งเน้นการอ้างอิงหรือประยุกต์ใช้ข้อมูลใหม่จากบทอ่าน       เป็นต้น

 

                                กิจกรรมการเรียนรู้ตามวิธีตั้งคำถาม  คือ  ครูให้นักเรียนตั้งคำถามพัฒนาการคิดก่อนและหลังการอ่านบทอ่าน  เพื่อใช้ทบทวนและกระตุ้นให้นักเรียนและเพื่อนใช้ความคิดและความเข้าใจ  คำถามดังกล่าวมีลักษณะเป็นคำถามระดับความรู้ความจำ  ความเข้าใจ  วิเคราะห์และประเมินค่า  เช่น  “ข้อความที่อ่านหมายความว่าอย่างไร”  “ผู้เขียนต้องการเสนอแนวคิดใด”   “เพราะเหตุใดตัวละครสำคัญจึงมีจุดจบเช่นนั้น”  “นักเรียนคิดอย่างไรเกี่ยวกับเหตุการณ์หรือตัวละครในเรื่อง” และ “นักเรียนรู้สึกอย่างไรกับพฤติกรรมของตัวละครในเรื่อง”   เป็นต้น

 

                                ๒.   การสรุปย่อ  (summarizing):  การสรุปย่อเป็นวิธีการที่จะสนับสนุนให้นักเรียนสามารถหลอมรวมข้อมูลสำคัญต่างๆ  ในบทอ่านให้มีเอกภาพ   นักเรียนสามารถสรุปบทอ่านได้ทั้งในระดับประโยค   ระดับย่อหน้าไปกระทั่งถึงระดับเนื้อความทั้งหมด  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชำนาญของนักเรียน  เบื้องต้นนักเรียนอาจสรุปย่อได้เพียงระดับประโยคและย่อหน้า  จากนั้นจะค่อยๆ  พัฒนาเป็นการสรุปย่อบทอ่านทั้งบท

 

                                กิจกรรมการเรียนรู้ตามวิธีสรุปย่อ  ได้แก่  ๑)  นักเรียนค้นหาถ้อยคำหรือข้อความสำคัญในบทอ่านเพื่อใช้สรุปย่อ  ๒)  นักเรียนสรุปย่อใจความสำคัญในแต่ละย่อหน้า โดยการพิจารณาจากประโยคในความสำคัญในแต่ละย่อหน้า    หรือ  ๓)  นักเรียนสรุปย่อใจความสำคัญของหัวข้อย่อยต่างๆ  จากนั้นนักเรียนตั้งคำถามเกี่ยวกับการสรุปย่อเพื่อถามเพื่อนนักเรียนในกลุ่ม  เช่น  “ใจความสำคัญของย่อหน้าที่อ่านคืออะไร”  “เรื่องที่อ่านมีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร” และ “ข้อมูลที่สำคัญที่สุดของเรื่องคืออะไร”  เป็นต้น  แต่ละกิจกรรมเหล่านี้ นักเรียนควรนำเทคนิค  “Graphic  organizer” หรือแผนภาพแสดง           การจัดลำดับความคิดมาใช้สรุปย่อข้อมูลจากบทอ่าน   ตัวอย่างแผนภาพที่ควรนำมาใช้สรุปย่อ  เช่น  แผนผังมโนทัศน์  (concept  map)  แผนผังโซ่ลำดับ  (chain diagrams)  แผนผัง  5  คำถาม  (five w's diagrams- who, when, where, what, and why)  แผนผังความคิดสำคัญและความคิดสนับสนุน  (main idea/supporting ideas)    เป็นต้น 

 

                                ๓.   การสร้างความกระจ่าง  (clarifying) :  การสร้างความกระจ่างเป็นวิธีการที่สำคัญและมีประสิทธิภาพยิ่ง  ในการช่วยพัฒนาความเข้าใจในการอ่านของนักเรียนที่มีปัญหาด้านการอ่าน  เนื่องจากนักเรียนเหล่านี้มักไม่เข้าใจความหมายของคำหรือข้อความที่ปรากฏในบทอ่าน   หลักการปฏิบัติของวิธีนี้  คือ นักเรียนตั้งคำถามถามตนเองและเพื่อนเกี่ยวกับความหมายของศัพท์ สำนวนโวหารและแนวความคิดบางประการจากเรื่อง  เมื่อได้ฟังคำถาม  เพื่อนนักเรียนในกลุ่มจะไตร่ตรองสาเหตุต่างๆ  ที่ทำให้ตนเองไม่เข้าใจบทอ่าน  เช่น  บทอ่านมีคำศัพท์ใหม่  มีสำนวนโวหาร  สัญลักษณ์  แนวคิดหรือปรัชญาที่เข้าใจยาก  เป็นต้น   จากนั้นนักเรียนจะเกิดความตระหนักเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้ตนเองไม่เข้าใจ แล้วคิดหาวิธีแก้ไขและพัฒนาทักษะการอ่านของตนเอง   เช่น  การอ่านทบทวน  การซักถามและค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม  เป็นต้น  ผลจากการปฏิบัติวิธีนี้จะทำให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะการตรวจสอบตนเอง  (self-monitor) อีกประการหนึ่งด้วย

 

                                กิจกรรมการเรียนรู้ตามวิธีสร้างความกระจ่าง  ได้แก่  ๑)  นักเรียนพิจารณาและระบุคำศัพท์ที่ตนเองไม่เข้าใจความหมาย  ๒) นักเรียนพิจารณาโครงสร้างของบทอ่าน   ๓)  นักเรียนตีความและระบุมโนทัศน์หรือแนวความคิดที่ซับซ้อน  ๔) นักเรียนช่วยกันพิจารณาโครงสร้างไวยากรณ์ของ     บทอ่าน  แล้วนักเรียนตั้งคำถามเกี่ยวกับการสร้างความกระจ่างเพื่อถามเพื่อนนักเรียนในกลุ่ม  เช่น          “คำหรือข้อความนี้หมายความว่าอย่างไร”   “คำหรือข้อความนี้สามารถกล่าวใหม่ได้อย่างไร”  “ประโยคนี้มีความหมายที่แท้จริงว่าอย่างไร” และ “บทสนทนาของตัวละครแสดงความคิดของผู้เขียนอย่างไร”  เป็นต้น  จากนั้นนักเรียนช่วยกันค้นหาความหมายคำศัพท์  ประโยคหรือข้อความจากการพิจารณาบริบท  เปิดพจนานุกรมหรือหนังสืออ้างอิงต่างๆ  อ่านซ้ำ  สอบถาม  หรือสนทนทาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ   ครูและเพื่อน  เป็นต้น

 

                                ๔.   การทำนาย  (predicting):  การทำนายเป็นวิธีการที่นักเรียนคาดเดาหรือตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงในเนื้อหาช่วงต่อไป  กิจกรรมดังกล่าวนี้  นักเรียนจะต้องพิจารณาและทบทวนพื้นฐานความรู้และประสบการณ์ของตนเอง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อหรือชื่อเรื่อง  ครูควรเน้นให้นักเรียนพิจารณาโครงสร้างของบทอ่าน  (text structure)  ได้แก่  หัวข้อหลัก  หัวข้อรอง  ตลอดจนบริบทของเนื้อหา  เพื่อให้นักเรียนเข้าใจความสัมพันธ์ของเนื้อหาส่วนต่างๆ  อันจะนำไปสู่การทำนายที่สมเหตุสมผล   หลักการปฏิบัติของวิธีนี้  คือ นักเรียนจะต้องตั้งคำถามเพื่อนในกลุ่มเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเป็นลำดับต่อไป  โดยให้เวลาเพื่อนในกลุ่มทบทวนประสบการณ์หรือความรู้เดิมเพื่อเชื่อมโยงกับประสบการณ์ใหม่ที่ปรากฏในบทอ่าน     

 

                                กิจกรรมการเรียนรู้ตามวิธีทำนาย  คือ  นักเรียนพิจารณาโครงสร้างของบทอ่านว่าส่วนใดเป็นหัวข้อหลักหรือเหตุการณ์หลัก   และส่วนใดเป็นหัวข้อรองหรือเหตุการณ์รอง  แล้วพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างหัวข้อเรื่องหรือเหตุการณ์เหล่านั้น  เพื่อตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเป็นลำดับต่อไป แล้วนักเรียนตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำนายเพื่อถามเพื่อนนักเรียนในกลุ่ม  เช่น  “จากชื่อเรื่องและหัวข้อเรื่อง  เหตุการณ์ใดน่าจะเกิดขึ้นเป็นลำดับต่อไป”   และ  “ผลที่เกิดจากการกระทำของตัวละครในเหตุการณ์นี้คืออะไร  และการทำนายดังกล่าวใช้ข้อมูลใดจากเรื่อง”  เป็นต้น  นักเรียนตรวจสอบสมมติฐานด้วยการอ่านเนื้อความช่วงต่อไป จากนั้นจึงสนทนาเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้สมมติฐานที่ตั้งไว้ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง   

 

           ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ตามกระบวนการจัดการเรียนรู้ของวิธีการสอนแบบแลกเปลี่ยนบทบาท

 

                นักการศึกษาและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้  กล่าวถึงขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ของวิธีจัดการเรียนรู้การสอนแบบแลกเปลี่ยนบทบาทไว้สอดคล้องกันว่า  ประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ  ๔  ขั้นตอน  (Wright, ๒๐๐๑: online; Sternberg และ Williams, ๒๐๐๒: ๔๕๔; Greece Central School District, ๒๐๐๔: online; Duffy (๒๐๐๒), Duke และ Pearson (๒๐๐๒) และ Williams (๒๐๐๒) อ้างถึงใน  University of Central Florida , Florida online reading professional development project, ๒๐๐๕: online; Doolittle, Nichols และ Young, ๒๐๐๖: online; Slavin, ๒๐๐๖: ๒๕๒-๒๕๓)  กิจกรรมการเรียนรู้แต่ละขั้นตอนมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

 

                                ขั้นตอนที่  ๑:  ครูอธิบายวิธีสร้างความเข้าใจและความหมายจากการอ่านโดยตรง  (direct explanation of the strategy)  ขั้นตอนนี้  ครูต้องอธิบายและแสดงการใช้วิธีสร้างความเข้าใจและความหมายจากการอ่านว่านักเรียนควรใช้เมื่อใดและใช้อย่างไร  รวมทั้งเน้นย้ำให้นักเรียนเห็นความสำคัญว่าวิธีตั้งคำถาม  วิธีสรุปย่อ  วิธีสร้างความกระจ่างและวิธีทำนายนั้น  เป็นวิธีที่นักอ่านที่ดีใช้เพื่อให้เข้าใจบทอ่านต่างๆ ดียิ่งขึ้น 

 

                                แนวทางปฏิบัติ

                                ครูให้นักเรียนเข้ากลุ่ม  กลุ่มละประมาณ  ๔-๕  คน  แล้วครูอธิบายวิธีสร้างความเข้าใจและความหมายจากบทอ่านทั้ง  ๔  วิธี  ซึ่งประกอบด้วยการตั้งคำถาม  การสรุปย่อ  การสร้างความกระจ่างและการทำนาย   โดยกล่าวว่า  นักอ่าน   ที่ดีย่อมพัฒนาการอ่านเพื่อสร้างความเข้าใจของตนเองโดยใช้วิธีที่สำคัญ  ๔ วิธี  ได้แก่  การตั้งคำถามเกี่ยวกับใจความสำคัญและรายละเอียดต่างๆ  ของเนื้อหาตอนที่อ่าน  การสรุปย่อใจความสำคัญ  การพิจารณาถ้อยคำ  สำนวน ประโยคหรือข้อความที่ไม่เข้าใจเพื่อสร้างความกระจ่าง  และการทำนายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเป็นลำดับต่อไป  จากการพิจารณาข้อมูลที่ปรากฏ             เมื่อนักเรียนเข้าใจแล้ว  ครูให้ใบงานกิจกรรมการเรียนรู้  ซึ่งมีลักษณะเป็นตารางให้นักเรียนเขียนข้อมูลจากการอ่านตามวิธีสร้างความเข้าใจทั้ง   ๔  วิธี   ครูสามารถพัฒนาใบงานกิจกรรมการเรียนรู้ตามตัวอย่างใบงานกิจกรรมการเรียนรู้ของ  Wright  (๒๐๐๑: online)  ซึ่งแสดงในแผนภาพที่  ๑  แล้วครูอธิบายว่าขณะอ่านให้นักเรียนตั้งคำถามเกี่ยวกับเนื้อเรื่อง   สรุปย่อใจความสำคัญ  พิจารณาถ้อยคำ สำนวนและประโยคที่ไม่เข้าใจและทำนายเหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นในลำดับต่อไป  จากนั้นให้นักเรียนเขียนลงในใบงานกิจกรรมการเรียนรู้ที่มอบให้เพื่อใช้อภิปรายภายในกลุ่มต่อไป  

แผนภาพที่  ๑  ใบงานกิจกรรมการเรียนรู้ตามวิธีจัดการเรียนรู้การสอนแบบแลกเปลี่ยนบทบาท  (พัฒนาจาก  Lysynchuk, Pressley  และ  Vye, ๑๙๙๐  อ้างถึงใน  Wright, ๒๐๐๑: online) 

 

 

  กลุ่ม.....................................................                                          ชื่อ-สกุล.............................................       

  บทอ่านเรื่อง .......................................ช่วงที่ ..........                      วันที่ ..................................................

  ๑. การทำนาย: ให้นักเรียนใช้ข้อมูลจากชื่อเรื่องหรือหัวข้อเรื่องของบทอ่านแล้วทำนายว่าบทอ่านที่จะได้อ่านต่อไปนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกี่ยวกับอะไร

              ........................................................................................................................................

              .......................................................................................................................................

   ๒.  การสรุปย่อ:    ให้นักเรียนเขียนสรุปใจความสำคัญของแต่ละย่อหน้า (เขียนต่อด้านหลังได้)

 

       ใจความสำคัญที่ ๑: ..............................................

       ใจความสำคัญที่ ๒: .............................................

       ใจความสำคัญที่ ๓: ..............................................

๓.  การตั้งคำถาม: ให้นักเรียนตั้งคำถามเกี่ยวกับใจความสำคัญ  โดยใช้คำแสดงคำถาม เช่น     ใคร  ที่ใด  เมื่อใด  เหตุใด

      คำถามที่  ๑: ..................................................

      คำถามที่  ๒: .................................................

      คำถามที่  ๓: .................................................

   ๔. การสร้างความกระจ่าง: ให้นักเรียนเขียนคำ  ประโยคหรือข้อความที่ไม่เข้าใจความหมาย

………………………………………………………………………………………………………………

๕.  วิธีการแก้ปัญหา : ให้นักเรียนเขียนวิธีการแก้ปัญหาในข้อ ๔ และระบุผลว่าสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

..........................................................................................................................................................

 

 

 

 

                                ขั้นตอนที่  ๒:   ครูสาธิตการใช้วิธีสร้างความเข้าใจและความหมายจากการอ่านโดยใช้การคิดออกเสียง  (models the strategy through the use of think-alouds)  ขั้นตอนนี้  ครูให้นักเรียนพิจารณาบทอ่านที่เป็นตัวอย่าง  แล้วครูกล่าวออกเสียงเกี่ยวกับกระบวนการของวิธีสร้างความเข้าใจที่ตนเองกำลังใช้  เพื่อเป็นตัวอย่างให้นักเรียนเห็นว่าครูมีวิธีการตั้งคำถาม  สรุปย่อ  สร้างความกระจ่างและทำนายข้อมูลจากบทอ่านนั้นอย่างไร  นักเรียนจดบันทึกวิธีการต่างๆ  ขณะที่ครูสาธิต  จากนั้นครูเริ่มให้นักเรียนใช้วิธีสร้างความเข้าใจทั้ง  ๔ วิธี กับบทอ่านช่วงต่อไป  โดยใช้วิธีการคิดออกเสียง  ซึ่งเป็นวิธีการ       ที่มีการวิจัยพบว่าสามารถพัฒนาความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจได้

 

                                 แนวทางปฏิบัติ

                                ครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่มอ่านเนื้อหาวรรณกรรมช่วงแรก  แล้วครูสาธิตการใช้วิธีสร้างความเข้าใจและความหมายจากการอ่านแต่ละวิธี  โดยการอธิบายออกเสียงเกี่ยวกับกระบวนการคิดที่เกิดขึ้นขณะที่ครูกำลังจะใช้วิธีนั้น  เพื่อให้นักเรียนพิจารณาเป็นตัวอย่างว่า  ครูมีวิธีการตั้งคำถาม  สรุปย่อ  สร้างความกระจ่างและทำนายโดยใช้ข้อมูลจากเนื้อหาช่วงแรกนี้อย่างไร  นักเรียนแสดงความคิดเห็นเพื่อตอบคำถามและพิจารณาข้อมูล  จากนั้นครูสรุปตัวอย่างคำถามและข้อมูลจากวิธีสร้างความเข้าใจแต่ละวิธี 

 

                                ขั้นตอนที่  ๓:  ครูและนักเรียนร่วมมือกันใช้วิธีสร้างความเข้าใจและความหมายจาก  การอ่าน (teacher and students should collaboratively use the strategies)  ขั้นตอนนี้  ครูสนทนานำอภิปรายเพื่อสร้างบรรยากาศการร่วมมือกันระหว่างครูและนักเรียน  กล่าวคือ  ครูและนักเรียนผลัดกันใช้วิธีสร้างความเข้าใจฯ  แต่ละวิธี   นอกจากนี้  ครูต้องสนับสนุนให้นักเรียนอธิบายกระบวนการทางสติปัญญาที่ตนเองกำลังใช้สร้างความเข้าใจ  กิจกรรมการร่วมมือกันใช้วิธีสร้างความเข้าใจนี้   มีผลการวิจัยพบว่าจะสามารถพัฒนาความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจได้  

 

                                แนวทางปฏิบัติ

                                ครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่มอ่านเนื้อหาวรรณกรรมช่วงที่  ๒  แล้วครูให้แต่ละกลุ่มเลือกผู้นำกลุ่มเพื่อเปลี่ยนบทบาทมาเป็นครูสอนเพื่อน  แล้วใช้วิธีสร้างความเข้าใจและความหมายจากการอ่านทั้ง  ๔ วิธี   โดยครูเข้าร่วมกิจกรรมกับนักเรียนแต่ละกลุ่ม  เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนนักเรียนที่เป็นผู้นำให้สามารถนำสนทนาเพื่อตั้งคำถาม  สรุปใจความสำคัญ  ทำนายเหตุการณ์หรือแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม  การสนับสนุนดังกล่าว  ครูสามารถกระทำได้ด้วยการอธิบายการยกตัวอย่าง  การแสดงความคิดเห็นและการชี้แนะกลวิธีการตั้งคำถาม  การสรุปย่อ  รวมถึงชี้แนะแนวทางการค้นคว้าหรือธิบายความหมายของคำศัพท์ สำนวนและประโยคที่นักเรียนไม่เข้าใจ  เป็นต้น 

 

                                ขั้นตอนที่  ๔.  ครูฝึกหัดให้นักเรียนใช้วิธีสร้างความเข้าใจและความหมายจากการอ่านโดยอิสระ (guided practice with students moving toward independent use of the strategies)  ขั้นตอนนี้  ครูสนับสนุนและช่วยเหลือนักเรียนด้วยการให้คำอธิบายหรือสาธิตตัวอย่างเพิ่มเติม  (scaffolding)  จนกระทั่งนักเรียนจะเป็นผู้สามารถควบคุมและใช้วิธีสร้างความเข้าใจได้ด้วยตนเองในที่สุด  รวมทั้งจะต้องสามารถประยุกต์ใช้วิธีสร้างความเข้าใจกับบทอ่านที่มีรูปแบบหรือเนื้อหาแตกต่างไปจากที่เคยอ่านได้อีกด้วย

 

                                แนวทางปฏิบัติ 

                                หลังจากนักเรียนสนทนาแสดงความคิดเห็นตามประเด็นวิธีการสร้างความเข้าใจและความหมายจากการอ่านแต่ละวิธีแล้ว  ครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่มอ่านเนื้อหาช่วงต่อไป  ครูสนับสนุนให้ผู้นำกลุ่มนำการสนทนาด้วยตนเอง  โดยเริ่มจากการนำการสนทนากลุ่มเพื่อตรวจสอบสมมติฐานที่ทำนายไว้ในขั้นที่  ๓  แล้วสมาชิกภายในกลุ่มสนทนาว่า  สมมติฐาน         การทำนายที่ตั้งไว้ถูกหรือไม่ถูกต้องเพราะเหตุใด  จากนั้นผู้นำอาจแลกเปลี่ยนบทบาทให้สมาชิกคนอื่นๆ  เป็นผู้นำกิจกรรมบ้าง  ด้วยการตั้งคำถามจากเนื้อหาและถามสมาชิกภายในกลุ่ม  เมื่อสนทนาและตอบคำถามแล้ว  สมาชิกที่เหลือทำหน้าที่เป็นผู้นำสนทนาเพื่อสรุปย่อเนื้อหาและทำนายเนื้อหาวรรณกรรมในช่วงต่อไปตามลำดับ  กิจกรรมการเรียนรู้ในขั้นตอนนี้  ครูควรเปิดโอกาสให้นักเรียนสนทนาแสดงความคิดเห็นโดยอิสระ  และใช้การสนทนาร่วมกับนักเรียนแต่ละกลุ่มเพื่อดูแลมิให้การสนทนาออกนอกประเด็น  อย่างไรก็ตาม  ครูควรพิจารณาด้วยว่าควรเข้าร่วมสนทนากับนักเรียนแต่ละกลุ่มในช่วงเวลาใดจึงจะเหมาะสม  ทั้งนี้ครูควรสนับสนุนให้นักเรียนได้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้และสร้างความหมายจากการอ่านของตนเองอย่างอิสระ  และจำกัดบทบาทในการชี้นำให้น้อยลงเรื่อยๆ  กระทั่งเปลี่ยนบทบาทมาเป็น  “ผู้สังเกตการณ์”  ในที่สุด 

 

                แม้ปริมาณการจัดกิจกรรมการเรียนรู้การอ่านวรรณกรรมปัจจุบันในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยจะลดลง  แต่ครูภาษาไทยสามารถส่งเสริมให้นักเรียนศึกษาและเรียนรู้วรรณกรรมปัจจุบันได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น  เมื่อครูประยุกต์ใช้ทฤษฎีการเรียนรู้การสร้างความรู้ผ่านวิธีการจัดการเรียนรู้การสอนแบบแลกเปลี่ยนบทบาท  ซึ่งเป็นวิธีสอนที่ให้ความสำคัญกับการใช้ประสบการณ์และความรู้เดิมของนักเรียนสร้างความเข้าใจและความหมายจากตัวบทวรรณกรรม  วิธีการสร้างความเข้าใจและความหมายจากบทอ่านทั้ง  ๔  วิธี  ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ครูภาษาไทยสามารถนำไป  “ไข”  เพื่อเปิดประตูประสบการณ์  เกี่ยวกับโลกและชีวิตของนักเรียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น 

หมายเลขบันทึก: 436695เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2011 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

มาให้กำลังใจ   และมาเรียนรู้เพิ่มเติมค่ะ

ขอบพระคุณ อาจารย์อัมพร ครับ

ได้ทราบว่าอาจารย์มีผลงานประพันธ์สำหรับสอนเด็กจำนวนมาก ถือว่าวงการภาษาไทยมีเพชรน้ำงามที่ทรงคุณค่า ครูน้อยๆ อย่างผมก็คารวะแด่ความมุ่งมั่นและความสามารถของอาจารย์ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวงการการสอนภาษาไทยสืบต่อไปครับ

ครูภาษาต่างประเทศ

ขอขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ ค่ะทำให้ไ้ด้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกมากเลยเป็นอานิสงจริงๆ ดิฉันกำลังศึกษาและได้นำกระบวนการนี้มาทดลองใช้กับการสอนอ่านภาษาอังกฤษของนร.ชั้นป. 6 ด้วยมีปัญหาเหมือนกัน รบกวนอาจารย์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเกณฑ์การวัดประเมินผลการอ่านโดยใช้กระบวนการนี้ด้วยนะคะ จะได้วัดผลนักเรียนได้ตรงและถูกต้องจริงๆ.... ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณสำหรับความรู้ๆดีครับ

เป็นประโยชน์กับการจัดการเรียนการสอนในยุคนี้มากที่เดียว เพราะ นศ เห็นชื่อวิชากับอาจารย์ผู้สอนก็ไม่สนใจเปิดรับความรู้บอกแต่ว่ายาก

เป็นประโยชน์กับการจัดการเรียนการสอนในยุคนี้มากที่เดียว เพราะ นศ เห็นชื่อวิชากับอาจารย์ผู้สอนก็ไม่สนใจเปิดรับความรู้บอกแต่ว่ายาก

ขอขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆ หนุจะนำไปต่อยอดวิทยานิพนธ์ของหนู

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท