ด้วยเหตุฉะนี้... "ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้"...จึงก่อเกิด


คุณค่าใดของบันทึกใน Blog "Pridetoknow" นี้ ขออุทิศแด่ "คุณแม่สุวรรณ แพงคำ" แม่ผู้ไม่เคยได้รับการเชิดชูจากทางการให้เป็น "แม่ดีเด่น" แต่แม่เป็น "ยอดคุณแม่" ในใจของลูก

         ตอนอายุประมาณ 4 ขวบ คุณพ่อซึ่งเป็นครูใหญ่ได้จากเราไป ทิ้งให้คุณแม่ซึ่งเป็นครูน้อยเป็นหม้ายในวัยเพียง32 ปี เลี้ยงดูลูก 5 คนตามลำพัง (ลูกอายุ 20 วัน, 2 ขวบ, 4 ขวบ, 6 ขวบ และ 13 ขวบตามลำดับ) แม่ต้องพาน้องชายคนเล็กไปโรงเรียนด้วย โดยผูกอู่ผ้าขะม้ากับเสาโต๊ะและเสาห้องเรียน สอนไปด้วยไกวเปลไปด้วย น้องชายคนที่สองต้องไปอาศัยเจ้าอาวาสวัดช่วยเลี้ยงดู เราเองต้องไปนั่งเรียนกับพี่สาวที่เข้าเรียนป.1 ที่โรงเรียนในหมู่บ้าน เพราะไม่มีคนดูแล ส่วนพี่สาวคนโตไปเรียนชั้นมัธยมในเมือง  จำได้ว่า ตื่นเช้ามาแม่ต้องออกจากบ้านเข้าป่าขุดหน่อไม้หรือหาอะไรสักอย่างกลับไปทำอาหารให้ลูกๆ กิน ก่อนเดินทางไปโรงเรียนซึ่งอยู่ที่อีกหมู่บ้านหนึ่ง วันหยุดเสาร์-อาทิตย์แม่มักจะเข้าป่าแต่เช้ามืดเพื่อไปเก็บเห็ดมาทำเป็นอาหาร และเราเอง (ซึ่งน่าจะกำลังเรียนป.3-ป.4) ก็เป็นตัวปัญหาที่ขอตามแม่ไปทุกครั้ง แต่แม่ก็ไม่เคยอนุญาต เพราะถ้ามีเด็กไปด้วยจะทำให้เกะกะ เป็นภาระต้องพะวงคอยดูแลทำให้เก็บเห็ดไม่ทันคนอื่นๆ แต่เราสิ ดื้อจริงๆ ห้ามก็ไม่ฟัง พอคล้อยหลังแม่ก็จะย่องตามไปทุกครั้ง สุดท้าย แม่ต้องใช้วิธีเอาเชือกปอมัดมือไขว้หลังแล้วผูกตัวเรากับเสาใต้ถุนเรือน แต่เราก็ไม่ยอมแพ้ ร้องไห้ดิ้นรน จนสุดท้ายหลุดบ่วงพันธนาการออกมาได้หลังจากที่แม่ออกไปแล้วหลายชั่วโมง ก็วิ่งตามเข้าไปควานหาแม่ในป่า เมื่อไม่พบก็ไม่ยอมกลับบ้านจนบ่ายคล้อยข้าวเที่ยงก็ไม่ได้กิน แม่ต้องกลับเข้าไปในป่าอีกรอบหนึ่งเพื่อตามหาเรา ซึ่งกว่าจะตามพบก็ตะวันตกดินพอดี กลับมาถึงบ้านแล้วด้วยความโกรธและน้อยใจก็ไม่ยอมขึ้นบ้าน แผลงฤทธิ์ต่อโดยไปซ่อนตัวอยู่ในโพรงไม้ แม่และพี่สาวคนโตที่กลับจากในเมืองไปเยี่ยมบ้านต้องจุดไต้ตามหาเราแต่ก็ตามไม่เจอ เพราะไม่คิดว่าเราจะอุตริไปอยู่ในโพรงไม้ เราเห็นท่าไม่ดี คิดว่าวันนี้อดข้าวเย็นอีกแน่ ข้าวเที่ยงก็ไม่ได้กิน จะออกมาง่ายๆก็เสียเชิง ได้โอกาสก็ตอนที่แม่บ่นว่า ไม่ใช่งูเงี้ยวกัดมันตายแล้วหรือ ผสมกับที่รู้สึกกลัวจริงๆ ด้วย เลยร้องกรี๊ดออกมา จนทุกคนเห็นที่ซ่อน แล้วแม่ก็กระชากตัวเราออกมาจากโพรงไม้...จำภาพได้แค่นี้...เหตุการณ์ที่กล่าวมา พี่คนโตนำมาล้อเลียนเราด้วยความขบขันจนเดี๋ยวนี้ 

         แม่มีรูปร่างหน้าตาอย่างที่เห็นในภาพข้างล่าง แม่เป็นคนที่มีสมองดีมาก สอบชุดครู พ.กศ. (5 ชุด) ได้ในการสอบเพียงครั้งเดียว และยังสอบชุดครู พ.ม. (4 ชุด) ได้ในการสอบเพียงครั้งเดียวอีกเช่นกัน แต่ท่านก็ได้จากพวกเราไปตั้งแต่ปี 2527 หลังเกษียณอายุราชการเพียง 5 เดือน ผู้ที่เศร้าเสียใจที่สุดก็คือเราเอง ซึ่งยังมีอะไรติดค้างในใจอยู่มาก เพราะเรารักแม่มากที่สุด (เป็นลูกคนเดียวที่ตามแม่ไปทุกแห่งหนเวลาที่อยู่ด้วยกัน เช่น หาบของไปแลกข้าวเปลือกในหมู่บ้านใกล้-ไกล กับแม่ เราไม่มีที่นาเป็นมรดก เพราะพ่อเป็นลูกคนเดียวที่รับราชการ จึงไม่ยอมแบ่งมรดกที่นาจากปู๋-ย่า และแม้ตา-ยายจะมีที่นามาก แต่แม่ก็ไม่รับมรดกเช่นกัน ยกให้น้องสาวคนหนึ่งที่เป็นครู และน้องสาวอีกคนที่ค้าขายและอยู่กับยาย) แต่มีเวลาอยู่ใกล้ชิดแม่น้อยที่สุด เนื่องจากใช้เวลาเรียนมากกว่าพี่-น้องคนอื่นๆ และจบแล้วก็ทำงานต่างจังหวัดไกลบ้าน (คือที่จ.สุรินทร์) ตั้งใจจะรับแม่ไปอยู่ด้วยหลังจากท่านเกษียณอายุราชการ แต่ก็ไม่มีโอกาสเพราะท่านมาด่วนจากไปเสียก่อน บันทึกใน Blog "Pridetoknow" นี้ จึงเขียนขึ้นมาเพื่อเป็นการระลึกถึง และเทิดพระคุณแม่ "คุณแม่สุวรรณ แพงคำ" แม่ผู้ไม่เคยได้รับการเชิดชูจากทางการให้เป็น "แม่ดีเด่น" แต่แม่เป็นยอดคุณแม่ในใจของลูกๆ ทุกคน เป็นต้นแบบในการเป็นครูผู้มี "จิตวิญญาณของความเป็นครู" เต็มเปี่ยม และครูผู้เสียสละและทุ่มเทในการปฏิบิติงาน ให้กับลูกทั้ง 4 คนที่เป็นข้าราชการครู (อีกคนเป็นพระภิกษุ) แม่ซึ่งเป็นคุณครูที่ผู้ปกครองและนักเรียนโรงเรียนบ้านสะแนนให้ความเคารพรัก และแม่เป็นเพื่อนบ้านที่ชาวบ้านขุมเงิน รัก และยกย่องชื่นชม

                

                   คุณครูสุวรรณ แพงคำ และนักเรียนโรงเรียนบ้านสะแนน ต.เขื่องคำ อ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี

         ที่บ้านแม่จะปลูกผักสวนครัว ปลูกมะม่วง มะละกอ มันเทศ แม้แต่งาแม่ยังปลูกเลย พอหน้าหนาวแม่ก็ก่อไฟให้ลูกๆ ผิง และขุดมันเทศหัวโตๆ มาเผากับขี้เถ้ากองไฟให้ลูกๆ กิน และแม่ยังปลูกต้นจำปา (ลีลาวดี) ไว้รอบแนวรั้วเพื่อไว้เก็บดอกบูชาพระซึ่งก็ได้ใช้บูชาพระกันทั้งคุ้ม (ชุมชนใกล้บ้าน) เราเองไม่เข้าใจเลยว่าญาติและชาวคุ้มที่พอหมดหน้านาก็จะมีเวลาว่างมากแต่ทำไมจึงนั่งๆ นอนๆ กันไม่ยอมปลูกอะไร ต้องมาขอทั้งผัก ผลไม้ และดอกไม้ที่บ้านเราแทบทุกหลังคาเรือน ทำให้เรารู้สึกออกจะเคืองๆ เพราะคนเหนื่อยก็คือเราเองที่ต้องรดน้ำทุกวัน  จากประสบการณ์ในวัยเด็กที่คลุกคลีอยู่กับป่าและต้นไม้นานาชนิด ทำให้เราซึมซับความรักในธรรมชาติและชอบปลูก-ดูแลต้นไม้ ซึ่งเป็นกิจกรรมในยามว่างที่ทำให้เรามีความสุขที่สุุด และนำมาซึ่งการก่อเกิดของ "ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้" ส่วนพี่สาวทั้งสองของเราต่างก็ใช้ชีวิตแบบสบายๆ ในเมือง (ทั้งคู่เป็นข้าราชการบำนาญ อดีตอาจารย์ 3 ระดับ 8 ในโรงเรียนระดับประถมศึกษา พี่คนโตอยู่ที่ยโสธร คนติดกับเราอยู่ที่อุบลฯ แต่ก็เคยสอนอยู่ที่หมู่บ้านและอยู่กับแม่) เวลาไปเยี่ยมเยือนกันที่อุบลฯ หรือที่ยโสธร พี่ทั้งสองก็จะชวนกันเข้าร้านเครื่องประดับแทบทุกครั้ง (ไปซื้อบ้าง สั่งทำบ้าง แลกเปลี่ยนบ้าง) ทุกครั้งจะมีเราเป็นคนขับรถบริการด้วยความเต็มใจที่ได้บริการพี่ๆ (เพราะทั้งสองคนขับรถไม่เป็น) เบื่อก็ตรงที่เราต้องนั่งรอหง่าวเพราะไม่ชอบใช้เครื่องประดับ และ "มีมือไว้สำหรับปลูกต้นไม้และถากถางพรวนดินไม่ได้เอาไว้สวมแหวน"

           พี่ทั้งคู่เป็นคนรักสวยรักงามตามหุ่นที่บอบบางกว่าและผิวขาวกว่า ส่วนเราเองมีหุ่นประเภทหลักฐานมั่นคง และมีผิวที่เข้มกว่าพี่ๆ ไว้ทนแดดทนลม  เวลาเห็นเราผิวเกรียมผมเผ้าสระเอง ไม่มีทรงพี่ๆ ก็รับไม่ได้ไล่ให้ไปเสริมสวยทำผมทำเล็บที่ร้าน ซึ่งก็ไม่ได้ผลเพราะเราขี้เกียจไปเสียเวลา และเห็นว่ามันไม่คุ้มที่ทำไปแล้วประเดี๋ยวก็กลับไปทำสวนเหงื่อไหลไคลย้อยผมเผ้าเปียกโชก จึงได้แต่ขออภัยบอกว่าอย่าสนใจเราเลย วิถีชีวิตมันต่างกัน (ในชีวิตนี้เราเคยเข้าร้านเสริมสวยเพื่อทำเล็บอยู่ครั้งเดียว ส่วนทำผมก็มีบ้าง แต่ผมเริ่มหงอกมากตอนจวนเต็ม 59 จึงได้ไปพึ่งร้านเสริมสวยมา 2 ครั้ง  ใครๆ ก็ว่าผมเราหงอกช้า ไม่รู้ว่าการกินผักมากๆ ตามแบบแม่มาตั้งแต่เด็กๆ จะมีส่วนหรือเปล่า เพราะจากที่รู้ๆ มาการหงอกของผมเกิดจากกรรมพันธุ์ และลักษณะการดำเนินชีวิต วันที่ 18 เม.ย. 54 กาละแมร์ ผู้จัดรายการผู้หญิงถึงผู้หญิงสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 กล่าวว่า คนอายุ 30 ปลายๆ 40 ต้นๆ ผมหงอกเป็นเรื่องธรรมดา เรางงมากว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือ) แต่ถึงจะต่างกันอย่างไรเราพี่น้องสามคนก็รักกันมากเพราะสู้ชีวิตมาด้วยกัน เป็นเวลา 55 ปีนับตั้งแต่พ่อจากไป และ 27 ปี นับจากที่แม่จากไปจนถึงปัจจุบัน ภาพที่เห็นข้างล่างเป็นภาพพี่คนโต คนติดกันและเราเองตามลำดับ ถ่ายในสวนมะม่วงฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้ของเรา ในวันที่ 25 เมษายน 2551 ในโอกาสที่เราชวนญาติๆ ไปกินปลาและเก็บมะม่วงที่ฟาร์ม (ปีนั้นมะม่วงโชคอนันต์และมะม่วงแก้วดกมาก) เสื้อที่พี่คนโตและเราใส่เป็นเสื้อที่เราซื้อ 3 ตัวไว้ให้พี่น้อง 3 คนใส่ในวันสงกรานต์ แต่พี่คนที่ติดกันกับเรา (เราไม่ได้เรียกว่าพี่ แม้อายุจะห่างกัน 2 ปีแต่เรียนต่างกันปีเดียว และปฏิบัติต่อกันเหมือนเป็นเพื่อนกันมากกว่า) ไม่ได้ใส่มาในวันนั้น เพราะเธอว่ามันทำให้เธอแก่ขึ้น เธอชอบแต่งตัว "Style กระชากวัย"

                  

        อยากให้เห็นภาพตัวอย่างภูมิทัศน์บางส่วนของฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้ บ้านไอดิน-กลิ่นไม้ และส่วนหนึ่งของพันธุ์ไม้ที่เราเสาะหามาและปลูก-ดูแลด้วยตนเอง (ในยามว่าง) ในไฟล์อัลบั้ม (idinklin ที่เราถ่ายด้วยตนเองทุกภาพ) และโปรดติดตามบันทึกตอนต่อๆ ไป ที่จะแนะนำให้รู้ที่ตั้งและประวัติของฟาร์ม กิจกรรมของฟาร์มตามคำขวัญ "เพิ่มมรายได้ให้ชุมชน อุทิศตนเพื่อประชา เสริมปัญญาแหล่งเรียนรู้ เชิดชูความเป็นไทย ธำรงไว้สิ่งแวดล้อม" และพันธุ์ไม้ต่างๆ ในฟาร์ม ทั้งต้นไม้-ดอกไม้ประจำจังหวัด ไม้หายาก ไม้แปลก กล้วยไม้ป่าพันธุ์ต่างๆ และพันธุ์ไม้ทุกประเภท ที่เราเสาะหาและปลูกสะสมมาตั้งแต่ปี 2548  

       ขอขอบพระคุณทุกท่านที่กรุณาเข้ามาอ่านบันทึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่ให้กำลังใจหรือแสดงความเห็น ได้แก่ "อาจารย์พรชัย ภาพันธ์" ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา (ชุมชนบ้านคำแดง) จ. ยโสธร (ท่านแรกที่ให้ความเห็นในกิจกรรมการเขียน Blog เป็นครั้งแรกของเรา) "อ.นุ" (ผศ. วัชรชัย วิริยะสุทธิวงศ์) จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตองครักษ์ จ.นครนายก "อาจารย์ปณิธิ ภูศรีเทศ" จากโรงเรียนบ้านกร่างวิทยาคม จ.พิษณุโลก "Pa-Daeng" พยาบาลวิชาชีพ จากศูนย์พัฒนาความคิดและจิตใจ จ.หนองคาย ครูอ้อย แซ่เฮ (คุณครูสิริพร กุ่ยกระโทก) ครูชำนาญการพิเศษ ที่ปฏิบัติการสอนในกลุ่มสาระภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนพระยาประเสริฐสุนทราศรัยฯ ในกทม. และมีผลงานทางวิชาการที่มีคุณค่าด้านการสอนภาษาอังกฤษมากมาย อาจารย์ ดอกเตอร์ขจิต ฝอยทอง จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตุกำแพงแสน จ.นครปฐม อ.ประถม บุญทน จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลฯ (ช่วยราชการที่มรภ.ศรีสะเกษ) ครูหยุย (คุณวัลลภ ตังคณานุรักษ์) กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กและอดีตสมาชิกวุฒิสภา (อ่านจากประวัติ น่าจะเป็นชาวสุรินทร์?)  และ Sunyaso ครูชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติการสอนในกลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ ระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนยโสธรพิทยาสรรค์ จ.ยโสธร ตลอดจนท่านอื่นๆ ที่จะเข้ามาอ่านบันทึกในภายหลัง ขอบพระคุณค่ะ       

หมายเลขบันทึก: 433840เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2011 18:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2013 23:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

ชีวิตอาจารย์เป็นแบบอย่างคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี เคยเป็นลูกศิษย์อาจารย์ตอนเรียนปริญญาตรีเอกการบริหารโรงเรียน ที่วิทยาลัยครูอุบล ฯ ช่วงปี ๒๕๒๙ - ๒๕๓๑ ครับ อาจารย์สอนดีมากครับ

ตลอดชีวิตที่ผ่านมา...พี่เป็นคนจริงจังกับงาน จนบางครั้ง น้องรู้สึกว่า..มันเกินไป  เพราะทุกสิ่งอย่างมันมีเหตุผล มีบริบทที่หลากหลายที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพ คุณลักษณะของงาน  แต่ก็ภูมิใจที่เป็นน้องของพี่ ใครที่เป็นศิษย์ คงซึมซับคุณลักษณะแม่พิมพ์ผู้ใฝ่เรียนรู้ มุ่งมั่นในการทำงาน เสียสละและทุ่มเทเวลาพัฒนาคุณภาพลูกศิษย์จากพี่ไปบ้าง สิ่งนั้นก็จะไปผลิดอกออกผลในตัวเยาวชนของชาติทั่วทั้งแดนไทย 

     ขอขอบคุณอาจารย์พรชัย ภาพันธ์ ผู้อำนวยการ (คุณภาพ) โรงเรียนไทยรัฐวิทยา (ชุมชนบ้านคำแดง) อ. เมือง จ. ยโสธร ที่ให้ความเห็นเข้ามาเป็นท่านแรก รู้สึกปิติที่รู้ว่าท่านเคยเรียนด้วยในช่วงปี 2529-2531 และมีเจคติที่ดีต่อประสบการณ์ในการเรียน (ไม่ทราบว่าท่านเรียนด้วยในปีไหน เพราะถ้าเป็นปีต้นๆ อาจารย์คงยังอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ เพราะเพิ่งสูญเสียคุณแม่ที่รักมากแต่ได้อยู่ด้วยกันแค่เรียนประถม 4 ตั้งใจจะรับท่านไปอยู่ด้วยหลังท่านเกษียณ แต่ท่านด่วนจากไปอย่างกระทันหัน แล้วยังสูญเสียพ่อของลูกไปในเวลาห่างกันเพียง 90 วัน โดยที่อาจารย์มีภาระเลี้ยงลูกอายุ 5 ปี และ 3 ปีเศษ รวมทั้งครอบครัวของน้องชายคนติดกันที่เดินทางมาแต่ตัวจากภาคใต้ พร้อมกับเมีย 1 ลูก 2 อายุ 2 ปี และแรกเกิด ที่มาอยู้ด้วยต้องรับภาระการกินอยู่ทุกอย่าง) และขอแสดงความชื่นชมในความก้าวหน้าในวิชาชีพทางการบริหารการศึกษาของอาจารย์พรชัย...ชื่นชมที่อาจารย์เป็นทั้งผู้บริหารและนักวิชาการในขณะเดียวกัน และจะเข้าไปอ่านบทความที่อาจารย์เขียนในโอกาสต่อไป     

       ขอขอบคุณ อ.นุ (ผศ.วัชรชัย วิริยะสุทธิวงศ์) จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (วิทยาเขตองครักษ์) ที่ให้กำลังใจเป็นท่านแรก ขอออกตัวว่าพี่เอง (ขออนุญาตใช้คำแทนตัวว่าพี่) เป็นอาจารย์อาวุโส (อายุ 59 ปี) ที่ชอบ IT แต่ขาดพื้นฐานความรู้ ทุกอย่างเริ่มต้นจากการเรียนรู้ด้วยตนเองแบบลองผิดลองถูก อย่างเช่น Blog ก็แทบจะไม่รู้ว่ามันคืออะไร คิดเพียงว่ามันน่าจะเป็นช่องทางที่ตอบสนองความต้องการของตนเองที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการทำงาน และความรู้ความคิดในเรื่องที่มีความสนใจร่วมกันกับสมาชิกอื่นๆ วันที่ 1 เม.ย. 54 ไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ก็ไปถามหาหนังสือแนะนำเรื่อง "Blog" จากบ๊ทที่ขายหนังสือ IT แต่ก็ไม่มี วันที่ 2 เมษายน 2554 ก็เลยลองพิมพ์คำค้น "Blog" ขึ้นมา แล้วก็สืบค้นหาข้อมูลไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายตัดสินใจสมัครสมาชิก gotoknow.org เสร็จแล้วก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ เลยปิดเครื่องเพื่อตั้งหลัก พอเปิดเครื่องใหม่ลองคลิกดูตรงคำว่า Blog พบว่ามีคำว่าสร้าง Blog ก็เลยคลิกและดำเนินการตามข้อความที่กำหนดให้ทำโดยไม่ได้อ่านเรื่องการสร้างบล็อกมาก่อน ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปศึกษาก็พบว่ามีอะไรที่ต้องเข้าไปแก้ไขให้ถูกต้อง เลยขอความกรุณาอ.นุ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์สูงในด้าน IT ช่วยให้คำแนะนำพี่ด้วย ขอบคุณล่วงหน้าในคำแนะนำที่จะมีในโอกาสต่อๆ ไปนะคะ

  • มายินดีต้อนรับอาจารย์แม่ 555
  • อาจาย์เอารูปขึ้นได้ไหมครับ
  • ทำแบบนี้นะครับ

ย่อรูปภาพ

http://gotoknow.org/blog/katti/255954

ตกแต่งบล็อก                   

http://gotoknow.org/blog/katti/199894

ย่อรูปแต่งรูปพี่ดาวคนสวยใจดี

เข้าระบบก่อนนะครับ

  • ไปที่เมนูของ ของอาจารย์
  • ไปที่ไฟล์อัลบั้ม
  • กดนำไฟล์ขึ้น
  • browse หาภาพจากเครื่อง
  • กดบันทึก
  • ไปที่บันทึก
  • กดแก้ไขบันทึก
  • ข้างล่างมีเขียนว่า
  • แทรกรูปภาพ
  • กดที่แทรกภาพ
  • จะเห็นภาพปรากฏ
  • กดที่ภาพ
  • ภาพจะไปอยู่ที่บันทึก
  • กดบันทึกเก็บ
  • เดี๋ยวจะตามมาดูนะครับ

"'old teachers never die: they simply fade away'

แต่ต้องตั้งชื่อไฟล์เป็นภาษาอังกฤษและย่อรูปภาพก่อนนะครับ ให้เหลือประมาณ 500x400 pix

ผมชอบปลูกต้นไม้เลยเอามาฝากอาจาย์ด้วย

หน่อไม้ไม่ต้องหาแล้ว มาปลุกที่บ้านเลย

  • อาจารย์ครับ
  • ภาพอาจารย์ใหญ่มาก
  • ต้องย่อแบบที่เอา link ไปฝากก่อนครับ
  • Large_idinklin30 

ขอขอบคุณ อาจารย์ (ลูก) ขจิต ฝอยทอง จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ที่ให้กำลังใจและกรุณาเสียสละเวลาให้คำแนะนำเกียวกับการนำไฟล์ขึ้นและการย่อภาพ กรณีแรกอาจารย์แม่ก็ไม่เคยทำมาหรอก แต่ใช้วิธีลองผิดลองถูกบังเอิญมันทำได้สำเร็จ แต่เรื่องการย่อภาพจะพยายามลองทำดู (ไม่เคยมีพื้นฐานมาเลย ) มะเขือเทศ ถั่วพู (พิมพ์ถูกต้อง ร้านอาหารส่วนใหญ่จะเขียนผิดเป็น ถั่วพลู) พริก ไผ่ ปลูกเองหรือเปล่าคะ ที่ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้ ของอาจารย์แม่ก็ปลูกอะไรๆ ไว้มากเหมือนกัน บันทึกเรื่องที่สองอาจารย์แม่จะเสนอสาระสำคัญของฟาร์มตามคำขวัญฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้ คือ "เสริมรายได้ให้ชุมชน อุทิศตนเพื่อประชา เสริมปัญญาแหล่งเรียนรู้ เชิดชูความเป็นไทย ธำรงไว้สิ่งแวดล้อม" อนึ่งอ่าน Profile ของอาจารย์ลูกแล้ว เห็นว่า มี background ด้านการศึกษาคล้ายกัน แต่อาจารย์แม่เรียนต่อปริญญาโทด้านการแนะแนว (ตามคำสั่งของผู้บริหาร แต่ก็ต้องลาออกเพราะทำใจกับการถูกหักหลังไม่ได้) ปัจจุบันแม้ไม่ได้สอนภาษาอังกฤษ แต่เรียนรู้ภาษาอังกฤษทาง IT อยู่ตลอด รวมทั้งทำวิจัยปฏิบัติการเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ของนักศึกษาระดับปริญญาตรีในรายวิชาพฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน ซึ่งเป็นวิชาศึกษาทั่วไป (บังคับเลือก) สำหรับนักศึกษาทุกสาขาวิชามาตั้งแต่ปี 2545 มาจนถึงปัจจุบัน และเป็นอาจารย์นิเทศก์นักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตปี 5 สาขาวิชาภาษาอังกฤษ ที่ออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพ อนึ่งอาจารย์แม่เคยได้รับทุนจากวช. ทำวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมโดยใช้โโรงเรียนเป็นฐานเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาปฐมวัยในท้องถิ่นสู้เป้าหมายให้เด็กเป็นคน เก่ง ดี มีสุข" ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการภายใต้ "โครงการบ้าน-โรงเรียนร่วมใจ" และสอนด้วยกระบวนการวิจัยชั้นเรียนเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ของผู้เรียน ในทุกรายวิชา เราคงได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด และประสบการณ์กันในประเด็นต่างๆ ดังกล่าว ในโอกาสต่อๆ ไป แล้วอย่าลืมช่วยให้คำแนะนำด้าน IT อาจารย์แม่ต่อๆ ไปด้วยนะคะ ตอนนี้อาจารย์แม่ไปอยู่ที่ฟาร์ม ใช้ Internet ผ่าน Aircard บ่อยที่สุดที่เข้าเน็ทไม่ได้ และบ่อยมากที่กำลังใช้เน็ทอยู่ ก็มีปัญหา No Service ทำให้สิ่งที่ทำมาหายไปหมด มีคำแนะนำไหมคะ

Sunyaso ที่เข้ามาแสดงความเห็นไม่ใช่ "ผู้ไม่แสดงตน" แต่เป็น "น้องสุน" น้องชายคนสุดท้องของเราที่เรารักและเวทนาที่สุด เพราะน้องเพิ่งลืมตาดูโลกได้ 20 วันคุณพ่อก็จากเราไป ภาพที่พี่จำได้ไม่รู้ลืม คือวันหนึ่งแม่ไปทำบุญที่วัดและบอกให้เรา (ซึ่งน่าจะกำลังเรียนชั้นป. 4) ดูแลน้อง (ซึ่งยังไม่เข้าเรียน) อยู่ที่บ้าน น้องชายคนติดกันกับเราก็คงจะอยู่ที่วัด พี่สาวคนติดกันไปเรียนชั้นม.ศ. 1 ที่คำเขื่อนแก้ว ส่วนพี่คนโตเรียนมัธยมปลายที่อุบลฯ วันนั้นเป็นวันที่แดดร้อนเปรี้ยง เมื่อไม่มีผู้ใหญ่ควบคุม วิญญาณนักสำรวจก็เข้าสิง เราคว้าเสียมพร้อมด้วยตะกร้า 1 ใบและไม้สำหรับแหย่รูปู-กบ ออกไปที่ชายทุ่งหวังจะขุดหาปูหากบกลับไปให้แม่ทำกับข้าวโดยพาน้องสุนไปด้วย เมื่อถึงชายทุ่งใกล้บ้านก็เริ่มสำรวจหารูปู-กบตามคันนา (จากประสบการณ์เดิมเวลาไปกับแม่ จะเห็นแม่ขุดได้ปูและกบอยู่ในรูเดียวกัน) พอเจอรูก็ใช้ไม้แหย่ ถ้าความรู้สึกจากการสัมผัส (Sensation) บอกว่ามีวัตถุหยุ่นๆ อยู่ที่ปลายไม้ ก็คาดคะเน (Predict) ด้วยความตื่นเต้นดีใจว่า ต้องเป็น "กบ" แน่ๆ แม้รูจะลึกสุดความยาวของแขนก็มีกำลังใจที่จะขุด เพราะจินตนาการ (Imagine) ว่า มีกบตัวอ้วนรออยู่ที่ก้นรู แต่ผลปรากฏว่า หยุ่นที่ 1 เป็นคางคก หยุ่นที่ 2 เป็นงู แล้วก็ไม่เจอหยุ่นใดๆ อีก ด้วยความมุ่งมั่นมี่จะได้กบกลับบ้านสักตัว ทำให้เราเดินสำรวจไกลออกไปเรื่อยๆ จนถึงถนนหลวงระหว่างยโสธรกับคำเขื่อนแก้ว ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตรจากหมู่บ้าน (ท่ามกลางแดดร้อนเปรี้ยงโดยไม่ได้สวมหมวกกันแดดทั้งพี่ทั้งน้อง ทุ่งนาก็แทบจะไม่มีไม้ใหญ่ให้ร่มเงา น้ำก็ไม่มีดื่ม) สุดท้ายน้องก็เป็นลมแดด ยังโชคดีอยู่บ้างที่มองเห็นย่าเลี้ยงวัวอยู่อีกฟากหนึ่งของถนน ไม่ไกลนัก จึงรีบอุ้มน้องไปหาย่าและขอน้ำดื่มจากย่ากรอกปากน้อง จนน้องรู้สึกตัวดีขึ้น เรากับน้องพักอยู่ที่เถียงนา (โรงนา) จนบ่ายคล้อยจึงกลับบ้านพร้อมกับย่า โดยที่ในตะกร้ามีปูขาขาดแห้งกรังอยู่ตัวเดียว เมื่อถึงบ้านเราก็ถูกแม่ดุและตีตามคาด ซึ่งทำให้เรารู้สึกดีขึ้นเพราะความรู้สึกผิดลดหลังจากได้รับโทษ คิดๆ ไปก็ใจหาย ถ้าน้องเป็นอะไรไปในตอนนั้นเราจะเป็นยังไงน้า

    น้องสุน พี่สาวทั้งสอง และลูกทั้งสองของเราบ่นเสมอว่าเราทุ่มเทกับงาน และเสียสละทุ่มเทเวลา กำลังกาย สติปัญญาและทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อพัฒนาคุณภาพลูกศิษย์ และให้บริการทางวิชาการแก่ครูประจำการมากเกินไป จนทำให้ตนเองเสียหาย และก็ไม่เห็นจะได้ดิบได้ดีอะไรขึ้นมา ทั้งที่ตำแหน่งบริหารก็เคยทำมาหลายตำแหน่ง  (เขาหมายถึง ความดีความชอบ โดยเห็นว่าเราทำงานมา 30 เศษ แต่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือน 2 ขั้นเพียง 2 ครั้ง) แต่ความดีความชอบไม่ใช่เครื่องล่อ (Incentive) ที่จูงใจ (Motivate) ให้เราทำงาน การได้ช่วยให้คนบรรลุเป้าหมายต่างหากที่ทำให้เรามีความสุข ตัวอย่างเช่น คำพูดด้วยความจริงใจของนักศึกษาระดับปริญญาโทคนหนึ่งที่เราเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ซึ่งได้พูดในขณะสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ว่า "ถ้าไม่ได้รับการดูแลให้คำปรึกษาอย่างทุ่มเท เสียสละเวลาและให้กำลังใจจาก ผศ.วิไล ผมก็คงไม่จบแน่นอน" พอมีเวลาที่เราจะหันไปจัดการเรื่องเรียนของตัวเอง กลับได้รับคำตอบว่า "ติดต่อช้าเกินไป ไม่สามารถจัดการให้ได้" ซึ่งพี่ๆ และน้องคงนึกอยากสมน้ำหน้านักเสียสละผู้ยิ่งใหญ่ แม้จะเสียใจอย่างที่สุดแต่เราก็ไม่โทษใคร นอกจากตนเองที่จัดการสิ่งต่างๆ ไม่ลงตัว 

แวะมาให้กำลังใจนะครับอาจารย์ เดินสู่ชีวิตที่มีความดีงามเพื่อคนรุ่นใหม่ต่อไปครับ
หากมีโอกาสจะแวะไปหาอาจารย์นะครับ 

      ขอบคุณค่ะ น้องประถม ตอนที่น้องยังทำงานที่ มรภ. อุบลฯ พี่มีโอกาสได้สัมผัสแนวคิดของน้อง ยังรู้สึกชื่นชมว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดก้าวหน้า และยังนึกภาพอนาคตที่เห็นน้องเป็นคณบดีคณะวิทยาศาสตร์อีกด้วย จะไปเยี่ยมฟาร์เมื่อไหร่โทรแจ้งด้วยนะคะ คืนนี้พี่จะเขียนบันทึกใน Blog "Plantoknow" เรื่อง "ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้" ลองติดตามดูนะคะ และที่น้องให้กำลังใจในไฟล์ภาพดอกบัวอเมริกัน ก็ขอขอบคุณมากค่ะ 

      ขอขอบพระคุณครูหยุย (คุณวัลลภ ตังคณานุรักษ์) กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ที่ให้ความสนใจเข้ามาอ่านบล็อคของดิฉัน ข้อความ "อ่านแล้วรู้สึกดีครับ" ของครูหยุย "สร้างความรู้สึกดี" ให้กับดิฉันได้มากจริงๆ เพิ่งทราบว่าครูหยุยเคยเรียนที่สุรินทร์ จริงๆ แล้วคุ้นเคยกับครูหยุย (ฝ่ายเดียว) มานานแล้วและอย่างต่อเนื่อง โดยติดตามฟังคำสัมภาษณ์ของครูหยุยทางสื่อโทรทัศน์เป็นประจำ รวมทั้งบันทึกรายการที่ครูหยุยให้สัมภาษณ์เป็น DVD เพื่อนำไปเป็นสื่อจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนสำหรับนักศึกษาคณะครุศาสตร์ด้วย แปลกไหมคะช่วงเวลาจากประมาณ 10.30-12.20  วันนี้ ดิฉันได้เขียนบันทึกใน Block "Howtoknow" โดยได้แรงบันดาลใจจากข่าวเด็กวัยรุ่นที่ จ.ร้อยเอ็ดฆ่าตัวตาย และในบันทึกดังกล่าวได้เปิดประเด็นขอให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามาแสดงความเห็น เพื่อดิฉันจะได้นำข้อคิดจากทุกท่านไปวิเคราะห์-สังเคราะห์สรุปเป็นแนวทางสำหรับทุกฝ่ายที่มีบทบาทด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ได้นำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการหาทางป้องกันปัญหาในลักษณะดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นอีก และในขณะที่เขียน ดิฉันก็นึกถึงหน้าครูหยุยไปด้วย แต่เสร็จแล้วไม่ทราบว่าดิฉันไปทำอีท่าไหน (ตามประสาคนที่ทักษะ IT ไม่ให้แต่ใจรัก) สิ่งที่พิมพ์มาหายไปหมด เลยตั้งใจจะกลับมาบันทึกใหม่ในคืนนี้ ช่วงบ่ายดิฉันได้ไปทานข้าวกลางวันและไปที่คณะเพื่อตามเรื่องการอบรมครูเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะชีวิตและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้กับผู้เรียน  พอกลับมาเปิดดูศูนย์รวมข้อมูลในเว็บ พบข้อมูลครูหยุยเข้ามาแสดงความเห็นในบันทึก รู้สึกตื่นเต้นดีใจมากที่ได้รับการติดต่อสื่อสารจากครูหยุยโดยตรง (Direct Communication)  และรู้สึกประหลาดใจที่ตอนที่ดิฉันนึกถึงหน้าครูหยุย น่าจะอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ครูหยุยอ่านบันทึกของดิฉัน

   ยังไงก็ขอความกรุณาครูหยุยเข้ามาอ่านบันทึก Block "Howtoknow" และกรุณาให้ความเห็นในประเด็นที่เปิดไว้ด้วยนะคะ เพราะครูหยุยเป็นเป้าหมายที่เป็นตัวแทนขององค์กรเอกชนที่ทำงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ที่ดิฉันคาดหวังไว้ว่าจะได้แนวคิดที่มีคุณค่าแน่ๆ บันทึกดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการประมาณ 22.00 น. คืนนี้ เพราะช่วง 18.00-21.00 น. ดิฉันมีนัดกับญาติค่ะ 

 

  • อาจารย์แม่ครับ
  • ผักเป็นของที่ไร่พนมทวนครับ
  • http://gotoknow.org/blog/yahoo/308673
  • ผมปลูกเองครับ แต่ให้แม่ดูแล
  • 555
  • เอาผักที่ไร่ ไอดิน กลิ่นไม้มาดูบ้างนะครับ

 

อ่านเรื่องราวของอาจารย์แล้วคิดถึงพ่อ คิดถึงแม่ (ท่านทั้งสองไปสวรรค์แล้ว) ภูมิใจในต้นแบบคนอีสาน และที่สำคัญ อาจารย์เป็นคนบ้านเดียวกัน (ยโสธร) บ้านหนูอยู่คำเขื่อนแก้ว ไปเป็นครูทึี่โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอมหาชนะชัย อาจารย์เป็นคนสู้ชีวิต

เคยรู้จักพี่ชายคนหนึ่งสอนวิชาสังคมศึกษาอยู่ที่โรงเรียน นามสกุลเดียวกับคุณแม่ของอาจารย์ ( หนูไม่แน่ใจว่าเป็น "น้องสุน"ของอาจารย์หรือไม่ - พี่สุนทร แพงคำ ท่านย้ายไปอยู่ยโสธรพิทยาสรรค์) เนื่องจากไปเรียนหนังสือไกลบ้านจึงไม่ได้เป็นลูกศิษย์อาจารย์ แต่เห็นอาจารย์เป็นที่ปรึกษานักศึกษาปริญญาโท ถ้าหนูจำไม่ผิดรู้สึกอาจารย์เคยเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์สังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา ของพี่สาวหนู คู่กับอาจารย์ ดร.อารีย์ ส่วนหนูจบสาขาวิชาบริหารการศึกษา จึงไม่คุ้นเคยกับอาจารย์ ด้วยความเป็นคนเก่ง จิตใจงดงาม และความตั้งใจจริง คำนำหน้า "ดร." คงไม่ไกลเกินเอื้อม หนูมีกำลังใจ และมีความสุขมากที่ได้อ่านเรื่องราวของอาจารย์ ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์-คนดี คนเก่ง คะ

  • ขอบคุณนะคะ ครูพิศ ที่มาแวะเยี่ยม พี่สาวหนูที่เป็นมหาบัณฑิตสาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา ที่อาจารย์เคยเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และเธอก็ได้รับการประเมินการสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์ในระดับดีเยี่ยม (เพราะความสามารถของเธอเอง อาจารย์มีส่วนช่วยนิดหน่อย) ก็ต้องเทพินทร์ คนนี้แน่นอน เป็นภาพตอนที่เธอไปเยี่ยมฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2550 ฝากคิดถึงเธอด้วยนะคะ ว่างๆ ชวนเธอไปเที่ยวฟาร์มซีคะ ไปเก็บแก้วมังกร ตอนนี้ฟาร์มเปลี่ยนจากเดิมมากต้นไม้โตแล้ว ไม่แห้งแล้งเหมือนตอนที่เห็นในภาพ

                                     

  • ประมาณปี 2548-49 คุณเทพินทร์เคยแนะนำให้รู้จักนักศึกษาที่กำลังเรียนปริญญาโทสาขาบริหารการศึกษาที่มมส. ที่ใต้ถุนตึกคณะครุศาสตร์ มรภ.อบ.จำรูปร่างหน้าตาได้ว่า เป็นคนตัวสูง ผิวขาว คนนั้นคือหนูรึเปล่าคะ ถ้าใช่ให้ชี้ตัวก็ชี้ถูกแลยแหละเพราะจำหน้าได้ติดตา
  • อ.สุนทร แพงคำ ก็คือลูกชายคนสุดท้องของแม่สุวรรณ แพงคำ ที่พ่อจากไปตอนเขาอายุ 20 วัน และเป็นน้องที่พี่เคยพาไปเป็นลมเป็นแล้งเพราะเปลวแดดและกระหายน้ำ คิดขึ้นมาทีไรก็น้ำตาซึม สงสารน้องและคิดถึงแม่ ต้องดูดอกบานเย็นจากต้นพันธุ์ของแม่ที่นำไปปลูกทุกหนทุกแห่งที่ย้ายไป เพื่อให้รู้สึกว่ามีแม่อยู่ใกล้ๆ
  • ขอบคุณนะคะที่ให้กำลังใจ เรื่องคำนำหน้าดร.นั้นหมดโอกาสแล้วล่ะค่ะสำหรับพี่ พี่น่ะเหมาะที่จะเรียนเพื่อรู้มากกว่าที่จะเรียนเพื่อใหได้ใบรับรองความสามารถ ประธานสาขาที่พี่เรียนที่เมืองไทยท่านก็ดี๊ดีกับพี่ ท่านปลอบใจว่า คุณวิไลน่ะเก่งวิจัยอยู่แล้ว ไม่ต้องมีใบอะไรมารองรับหรอก ใช้ความสามารถที่มีทำวิจัยไปเถอะ...
  • ดีใจที่ได้รู้จักคนบ้านเดียวกัน ขอให้น้องมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และทำงานอย่างมีความสุขนะคะ                  

 

ดูภาพ"ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้" ของอาจารย์แล้ว หนูชื่นชมอาจารย์มากๆ เลย คะ สำหรับคนที่ "มีมือไว้สำหรับปลูกต้นไม้และถากถางพรวนดิน ไม่ได้เอาไว้สวมแหวน" สำหรับหนู มือนี้ของอาจารย์ได้สร้างคุณค่าสู่สังคมสุดคณานับ หนูชอบรูปแบบงานเขียน (ที่ไม่ใช่วิชาการ)ของอาจารย์จังเลย ก็ย้ำคำพูดเดิมว่า อ่านแล้วมีความสุข หนูอ่าน เรื่อง ด้วยเหตุฉะนี้... "ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้"...จึงก่อเกิด อ่านครั้งแรกในฐานะผู้ผ่านมา แต่อ่านต่อๆ มาเพราะเป็นผู้ติดตาม ด้วยอยากรู้เรื่องราวต่อไป พี่เทพินทร์ฟังเรื่องที่อาจารย์เขียนถึงด้วยเสียงหัวเราะ (ระยะหลังลดน้อยลง) โดยเฉพาะเมื่ออาจารย์พูดถึง คนตัวสูง ผิวขาว คนนั้น พี่เทพินทร์ต่างหากละคะ ที่รีบชวนหนูไปเที่ยวฟาร์ม หนูจะพยายามไปให้ได้ในเวลาที่ลงตัวค่ะ

ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์คนเก่ง จิตใจงาม มีสุขภาพแข็งแรง...ตลอดไป ภูมิใจอีกครั้งที่ได้รู้จักคนไทยที่รัก (รักษ์)

ภาษาไทย วันหลังจะเขียนกลอนมาฝากค่ะ

(ในโอกาสต่อๆ ไป จะ up รูปขึ้นคะ)

  • ดีใจค่ะ ที่ได้ร่องรอย "คุณเทพินทร์" นึกว่าหายเข้ากลีบเมฆไปแล้ว ฝากถามหน่อยนะคะ ว่า เธอยังจำจตุพักตร์ พากเพียร (หนุ่มหุ่นตราชั่งวิ่งหลบ) ได้ไหม (คนที่จบสาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษาภาคปกติ ที่ผศ.วิไลเป็นกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ที่เป็นคนเดียวในม.ราชภัฏทั่วประเทศ และคนเดียวในสถาบันอุดมศึกษาภาคอีสาน ที่ได้รับทุนวิจัยที่ทำเป็นวิทยานิพนธ์ จากสสวท.ในการขอครั้งเดียวกัน และได้รับการประเมินการสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์ในระดับดีเยี่ยม เคยแนะนำให้รู้จักกัน และทั้งคู่เคยเจอกันมากกว่าหนึ่งครั้งที่สาขาวิจัยฯ ในช่วงที่ต่างก็กำลังทำวิทยานิพนธ์และไปพบอาจารย์) เขากลับไปให้อาจารย์เห็นหน้าปีละ 2 ครั้งในช่วงปีใหม่และในช่วงสงกรานต์ ปีใหม่ที่ผ่านมาได้ให้เก็บมะยมที่บ้านเรือนขวัญไปฝากครูที่โรงเรียนในอ.น้ำเกลี้ยง จ.สรีสะเกษ 1 ตะกร้า (แถมตะกร้าให้ด้วย)
  • แปลกนะคะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เพิ่งมารู้จักก็ตอนที่ได้ทำหน้าที่เป็นกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ (ต่างสาขาด้วย) นี่แหละ แต่ช่วงเวลาสั้นๆ นั้นก็ทำให้เกิดมิตรภาพที่ผูกพัน เห็นจะเป็นด้วยเธอเป็นคนมีสเน่ห์ที่ทำให้คนอยู้ใกล้มีความสุขสำราญใจ เห็นไหมคะในภาพ ทุกคนยิ้มโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อ.บุษบา (อดีตหัวหน้าหมวดภาษาต่างประเทศ รร.ยโสธรพิทยาคม) หัวเราะด้วยความขบขัน ใครอยู่ใกล้คุณเทพินทร์ก็จะได้ยินเสียงเธอเจื้อยแจ้วเจรจาพาขบขันอยู่ตลอดเวลา บอกเธอด้วยนะคะว่า ผศ.วิไลคิดถึงสุ้มเสียงเจรจานั้นค่ะ
  • ขอบคุณมากนะคะสำหรับความรู้สึกชื่นชมที่ "ครูพิศ" มีให้ รู้สึกเขินอายในคำยกย่องเพราะไม่แน่ใจว่ามันจะมากเกินความเป็นจริงของตนเองไปหรือเปล่า แต่ก็สัมผัสได้ว่า "ครูพิศ" กล่าวออกมาด้วยความจริงใจค่ะ
  • จะรอภาพและกลอนของ "ครูพิศ" นะคะ เป็นคนที่ชอบอ่านบทร้อยกรองค่ะ แต่ช่วงนี้ไม่ค่อยได้อ่าน อยากให้มาพร้อมกันทั้งกลอนและภาพค่ะ พูดถึงกลอนแล้วก็ขำที่เพื่อนวิชาเอกภาษาไทย (ที่ได้รับคัดเลือกประเภทเรียนดีในวิชาเอกภาษาไทยจากวิทยาลัยครูมหาสารคาม ให้เรียนต่อที่วศ.มหาสารคาม) ได้ให้เราที่เรียนวิชาเอกภาษาอังกฤษแต่งโคลงกระทู้ให้ (เรียนวิชาภาษาไทยเป็นวิชาบังคับด้วยกันในปีการศึกษา 2514 : โอ้โห! 40 ปีมาแล้วหรือนี่ แล้วเราจะไม่มีตำแหน่งเป็นสว.ได้อย่างไร) จำได้ว่าเป็นโคลงกระทู้จากคำพังเพยว่า "น้ำลด ตอผุด" และ "กินปูน ร้อนท้อง" จำได้จริงๆ นะคะ ไม่ได้มั่วแม้จะผ่านมา 40 ปีแล้ว ถามเธอว่า "ไม่ถนัดเขียนบทร้อยกรองแล้วเรียนวิชาเอกภาษาไทยได้ไง เพื่อน" เธอบอกว่า "ฉันไม่ได้ตั้งใจวะ (เธอพูดสไตล์นี้จริงๆ) เพื่อนสนิทมันดึงแขนให้ไปสมัครด้วยโว้ย" ตกลงก็เลยต้องแต่งให้เพื่อน 1 สำนวน และแต่งให้ตัวเอง 1 สำนวน เพราะอาจารย์ให้เลือกแต่งคนละ 1 สำนวน (ขอกระซิบว่า เพื่อนที่กล่าวถึง เคยเป็นหัวหน้าภาควิชาหลักสูตรและการสอน และรองคณบดีคณะครุศาสตร์ มรภ.สุรินทร์...หวังว่าความลับนี้คงไม่กระทบความเชื่อมั่นนะเพื่อน เพราะวีรกรรมลักษณะนี้ใครๆ ก็ผ่านกันมาทั้งนั้น และก็บังเอิญเหลือเกินที่เรามีโอกาสเข้าไปเป็นตัวละครในฉากต่างๆ ของวีรกรรมลักษณะนี้บ่อยมากทั้งในช่วงที่เรียนอนุปริญญาและปริญญาตรี)
ขออนุญาตทดสอบโพสต์ครับ

ยินดีที่ได้รู้จักอาจารย์ค่ะ อ่านแล้วรู้สึกมีกำลังใจขึ้นเยอะเลยค่ะ

  • ยินดีที่เช่นกันค่ะ ที่ได้รู้จัก "คุณธัญเรจ Ico48" เคยมีเพื่อนร่วมงานชาวสงขลาที่รักใคร่ชอบพอกันมากค่ะ
  • มีความสุขที่คุณธัญเรจบอกว่า "อ่านแล้วรู้สึกมีกำลังใจขึ้นเยอะเลยค่ะ" 
  • กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญมากในการดำเนินชีวิต อย่างที่พูดกันว่า "เสียอะไรก็เสียได้ แต่อย่าเสียกำลังใจ"
  • ขอให้เปี่ยมล้นด้วยกำลังใจในการทำงานและการดำเนิชีวิตตลอดไปนะคะ 

ขอบคุณ "คุณ Tum Laksana RodtrakulIco24" ค่ะ ที่แวะมาให้กำลังใจ 

  • จุดสุดยอด ครับ " เพิ่มรายได้ให้ชุมชน อุทิศตนเพื่อประชา เสริมปัญญาแหล่งเรียนรู้ เชิดชูความเป็นไทย ธำรงไว้สิ่งแวดล้อม"

สวัสดีค่ะอาจารย์แม่ ไอดิน-กลิ่นไม้

เนื่องในสัปดาห์วันแม่ ขอตั้งจิต ตั้งใจ ย้อนวันวัยไปเมื่อครั้งสอบเข้าเรียนชั้นมัธยมค่ะ

ซึ่งอาจารย์แม่ ได้ช่วยจุดประกายสำนึก ให้ระลึก ฝึกวินัย ในตนเองขึ้นมาใหม่ อย่างค่อยเป็นค่อยไป

ค่่อยๆแกะรอย ตามบันทึกต้นแบบบทเรียนชีวิตจริงของอาจารย์แม่ ในวันนี้ค่ะ

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท