450 วันสำคัญของชีวิตนักการทูต การยื่นพระราชสาส์นตราตราตั้งต่อประมุขของประเทศ


หน้าที่อันมีเกียรติ

 

 

 

ช่วงเวลาที่สำคัญๆ ในชีวิตการทำงานของนักการทูต มีหลายโอกาสและหลายเรื่องที่น่าสนใจและกล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นครั้งแรกที่ได้ออกไปประจำการในต่างประเทศ จนถึงสุดท้ายที่สูงสุดการที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูต การได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อรับพระราชสาส์นตราตั้งและกราบบังคมทูลลาไปรับตำแหน่งในประเทศนั้นๆ ล้วนถือเป็นมงคลสูงสุดในชีวิตของนักการทูตไทย

เมื่อเอกอัครราชทูตเดินทางไปรับตำแหน่งในต่างประเทศแล้ว จะยังถือว่าเป็นเอกอัครราชทูตแต่งตั้งจนกว่าจะได้ยื่นพระราชสาส์นตราตั้งต่อประมุขของประเทศนั้นจึงจะถือว่าบุคคลผู้นั้นเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม 

พิธีการยื่นพระราชสาส์นตราตั้งของเอกอัครราชทูตต่อประมุขของประเทศคือประธานาธิบดีอินเดีย นางประติภา เทวีสิงห์ ปาติล (Pratibha Patil) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 13 ของสาธารณรัฐอินเดีย (Republic of India) เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 นับเป็นชาวรัฐมหาราษฎร์ (Maharashtra) คนแรกและสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ของอินเดียที่ได้รับตำแหน่งสูงสุดนี้

จึงขอนำพิธียื่นพระราชสาส์นตราตั้งของเอกอัครราชทูตต่างประเทศ มาเล่าสู่กันเป็นความรู้แก่ประชาชนตามนโยบายการทูตเพื่อประชาชนซึ่งผมเห็นว่าเป็นประโยชน์ ดังนี้

เมื่อกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย กำหนดวันที่จะให้ให้เอกอัครราชทูตแต่งตั้งของประเทศต่างๆ เข้ายื่นพระราชสาส์นตราตั้งต่อประธานาธิบดีอินเดีย แล้ว เมื่อถึงวันนัดหมายในเวลาที่กำหนด เจ้าหน้าที่กรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศอินเดีย จะนำรถยนต์เมอร์เซเดสเบนซ์ 1 คันติดตรารัฐบาลอินเดีย (หัวสิงห์สัญลักษณ์พระเจ้าอโศก) พร้อมด้วยรถยนต์ตำรวจนำ 1 คัน และรถยนต์ตำรวจปิดขบวน 1 คัน มายังทำเนียบเอกอัครราชทูตและนำเอกอัครราชทูตนั่งรถยนต์ที่ฝ่ายอินเดียจัดให้ (นั่งคนเดียวเบาะหลังฝั่งขวาหลังคนขับ) โดยรถนี้จะไม่ติดธงอะไรทั้งสิ้น นอกจากเอกอัครราชทูตที่จะยื่นสาส์นแล้ว ก็อนุญาตให้มีผู้ติดตามไปร่วมพิธีได้ สำหรับอินเดียได้กำหนดให้มีผู้ติดตามดังนี้ ร่วมยื่นสาส์น 2 คน และมีคณะผู้สังเกตการณ์อีก 4 คน   ผมโชคดีได้อยู่ในกลุ่มผู้ร่วมพิธียื่นสาส์น ซึ่งคณะผู้เข้าร่วมพิธีและผู้สังเกตการณ์จะนั่งรถยนต์ของสถานเอกอัครราชทูต เดินทางไปพร้อมกันเป็นขบวนไปยังทำเนียบประธานาธิบดี ราษฎร์ปติภาวัน (Rashtrapati Bhavan) 

การจัดให้คณะทูตต่างประเทศยื่นสาส์นนั้น ฝ่ายอินเดียมีธรรมเนียมปฎิบัติที่จะจัดให้เอกอัครราชทูต เข้ายื่นอักษรสาสน์ตราตั้งคราวละประมาณ 3-6 ประเทศขึ้นอยู่กับโอกาส

เมื่อถึงทำเนียบราษฎร์ปติภาวัน อธิบดีกรมพิธีการทูต พร้อมด้วยรองอธิบดีกรมพิธีการทูต และนายทหารคนสนิทประจำประธานาธิบดีอินเดีย (Military ADC to the President) รอต้อนรับจากนั้นได้นำขึ้นไปยังห้องโถงรับรองชั้นบนของทำเนียบเพื่อรอเวลาประกอบพิธียื่นพระราชสาส์นตราตั้ง   

ประวัติทำเนียบประธานาธิบดี

ทำเนียบราษฎร์ปดีภาวันแห่งนี้มีประวัติที่น่าสนใจเพราะเป็นทำเนียบของผู้นำประเทศที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก สร้างขึ้นเมื่อปี 1912 สร้างเสร็จเมื่อปี 1929 ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 17 ปี ใช้เงินไปทั้งสิ้น 877 136 ปอนด์ (หรือเท่ากับ 12.8 ล้านรูปี ในสมัยนั้น) เพื่อเป็นที่พักของอุปราชของอังกฤษ สถาปนิกผู้ออกแบบได้แก่เซอร์เอ็ดวิน แลนด์เซีย ลุตเย็น Edwin Landseer Lutyens ทำเนียบมีพื้นที่ 2 แสนตารางฟุต ใช้อิฐ 700 ล้านก้อน และ ก้อนหิน 3 ล้านก้อน ตัวอาคารประกอบชั้น 4 ชั้น มีห้องพักต่างๆ 355 ห้อง มีสวนล้อมรอบ ห้องสำคัญในทำเนียบได้แก่ห้อง Durbar  ห้อง Ashoka ตกแต่งด้วยหินอ่อนเป็นหลัก ศิลปะผสมระหว่างตะวันตกกับศิลปะพื้นเมืองของอินเดีย

 

ก่อนถึงเวลาประกอบพิธีเล็กน้อย เจ้าหน้าที่ได้เชิญผู้สังเกตการณ์ทั้งหมด เข้าไปนั่งในห้องอโศก (Ashoka Hall) ซึ่งเป็นห้องประกอบพิธียื่นพระราชสาส์นตราตั้ง  

ในขณะที่ยืนรอข้างนอก ผมมองเห็นห้องอโศกผ่านม่านแล้วก็ต้องตื่นตะลึงกับความอลังการและความวิจิตรตระการตาของห้องนี้ ก็ขอ บอกเล่าประวัติกันสักนิดว่าห้องอโศกนี้ เป็นห้องรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่ กว้าง 20 เมตร ยาว 32 เมตร ประดับตกแต่งจนมีความสวยงามด้วยโคมไฟคริสตัลและพรมสีแดง วัตถุประสงค์เดิมเพื่อเป็นห้องบอลรูม พื้นสร้างเป็นพื้นไม้ มีฟลอร์อยู่ตรงกลาง เวลาเดินเข้าไปจึงจะรู้สึกถึงความสั่นไหวของพื้นไม้นิดหน่อย ข้างบนด้านขวาเป็นระเบียงมีวงดุริยางค์ที่ใช้สำหรับบรรเลงเพลงมาร์ชและมีห้องด้านหน้า 3 ห้อง ห้องอโศกนี้นอกจากจะมีภาพวาดประดับฝาผนังแล้ว ยังมีสิ่งพิเศษที่ไม่เหมือนห้องอื่นๆ นั่นคือมีภาพวาดบนเพดานด้วยสไตล์เปอร์เซีย ภาพตรงกลางเป็นภาพขนาดใหญ่ บอกเรื่องราวการล่าสัตว์ของกษัตริย์เปอร์เซีย เนื่องจากเป็นภาพวาดที่วาดบนหนังสัตว์จึงทำให้ภาพมีโทนสีที่เข้ม ภาพวาดบนเพดานนี้จัดสร้างโดยเลดี้ Willingdon ภรรยาอุปราชอังกฤษ The Marquess of Willingdon อุปราชคนที่ 32 ของอังกฤษประจำอินเดียระหว่างช่วงปี 1931-1936

 เมื่อได้เวลาที่กำหนด ฯพณฯ นาง Pratibha Patil ประธานาธิบดีอินเดียในชุดแต่งกายประจำชาติได้เข้ามาในห้องอโศกนั่งในที่นั่งประธานาธิบดี พร้อมกับเสียงแตรเป่าประโคม หลังจากนั้น พิธียื่นอักษรสาส์น/พระราชสาส์น จึงได้เริ่มขึ้น โดยเอกอัครราชทูตต่างประเทศ เข้ายื่นตามลำดับที่กำหนดไว้ โดยจะยืนเข้าแถวเรียงสอง 3 คน เดินตามนายทหารคนสนิทประธานาธิบดีอินเดีย จากประตูห้องโถงเดินเข้าไปในห้องอโศก ไปยังหน้าที่นั่งของประธานาธิบดีโดยเอกอัครราชทูตจะหยุดตรงพรมสีแดงเบื้องหน้าของที่นั่งประธานาธิบดี

เมื่อเอกอัครราชทูตมายืนต่อหน้าประธานาธิบดีอินเดียแล้ว เจ้าหน้าที่ได้กล่าวแนะนำเอกอัครราชทูต  เอกอัครราชทูตก็จะกล่าวคำยื่นสาส์นและยื่นพระราชสาส์นตราตั้งต่อประธานาธิบดี  โดยจะมีพระราชสาสน์ถอนเอกอัครราชทูตคนก่อนหน้านี้และพระราชสาส์นตราตั้งเอกอัครราชทูตคนใหม่

ประธานาธิบดีอินเดียรับพระราชสาส์นดังกล่าว และสนทนากับเอกอัครราชทูตตามสมควร หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่นำเอกอัครราชทูตและคณะตั้งแถวเรียงหน้ากระดานไปยังจุดที่มีสื่อมวลชนรออยู่เพื่อถ่ายภาพร่วมกับประธานาธิบดี

จากนั้นเอกอัครราชทูตอำลาประธานาธิบดี และเจ้าหน้าที่นำเอกอัครราชทูตและคณะเดินออกจากห้องอโศกเป็นอันจบสิ้นพิธียื่นสาส์นของเอกอัครราชทูตและคณะ อย่างไรก็ดีสำหรับเอกอัครราชทูตมีโอกาสพบประธานาธิบดีเป็นการเฉพาะในอีกห้องหนึ่ง ทั้งนี้ ใช้เวลาในการยื่นพระราชสาสน์ตราตั้งฯ ประมาณ 5-10 นาที

หลังจากยื่นพระราชสาส์นตราตั้งแล้ว ฝ่ายอินเดียได้จัดเลี้ยงน้ำชาและอาหารว่างสำหรับเอกอัครราชทูตและคณะทุกคนเป็นอันเสร็จพิธี 

เมื่อได้เวลาอันควร เอกอัครราชทูตและคณะเดินทางออกจากราษฎร์ปติภาวัน กลับทำเนียบเอกอัครราชทูตฯ ของตน ณ ตอนนี้รถที่ทางการอินเดียจัดให้เอกอัครราชทูตนั่งได้ติดธงของอินเดียและธงประเทศของเอกอัครราชทูตโดยในรถเอกอัครราชทูตจะนั่งเบาะหลังด้านซ้ายซึ่งถือเป็นที่นั่งตามตำแหน่ง

นี่คือเหตุการณ์ที่สำคัญและน่าตื่นเต้นของการไปรับตำแหน่งของเอกอัครราชทูตต่างประเทศในอินเดีย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ารู้และเป็นความรู้ ว่าในสังคมระหว่างประเทศนั้น แต่ละประเทศมีอธิปไตยมีเกียรติและศักดิ์ศรีที่ทุกประเทศจะต้องถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียมพิธีการทูตสากล ถ้าจะว่ากันไปแล้ว ความน่าตื่นเต้นนี้คงไม่เฉพาะของประเทศใดประเทศหนึ่งแต่ของเอกอัครราชทูตทุกประเทศที่จะต้องจดจำไว้ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตได้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนองค์ประมุขของประเทศในต่างแดนได้อย่างสมเกียรติ

……………………..

 

หมายเลขบันทึก: 433838เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2011 18:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

 มาให้กำลังใจนักการทูตทุกท่าน

เมื่อถึงวันสำคัญวันนั้นค่ะ

ตันติราพันธ์

เป็นการ KM งานการทูต ที่อยากให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ

ขอบใจนะที่แวะมาทักทายกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท