Nong Bua Pictorial : ๔.ภาพอดีตหนองบัวเมื่อ ๒๐ ปีก่อน


                        

ระหว่างยืนเฝ้าและนำชมนิทรรศการของวันแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ หลวงปู่ฤาษีนารายณ์ ประจำปี ๒๕๕๔ ของชุมชนหนองบัว เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๔ ที่ข้างศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ เกาะลอย ผมก็ได้ต้อนรับผู้ชมสุภาพบุรุษท่านหนึ่งที่ไหลมาตามกลุ่มชาวบ้านที่เข้ามาชมนิทรรศการและคุยเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับหนองบัวด้วยกัน หลังจากคุยกันและชวนกันดูเรื่องราวต่างๆแล้ว ก็ได้ทราบว่าพี่เขาคือ นายธวัช อังศุธรรม อดีตผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ สาขาหนองบัว อีกทั้งต่อมาอีก ๑ วันหลังจากนั้นก็ทราบจากแม่และน้องสาวของผมอีกว่าท่านเป็นพี่เขยของอาจารย์สุนันท์ จันทร์ดิษฐ์เพื่อนร่วมห้องเรียนของผมที่โรงเรียนหนองบัวและเป็นภรรยาของอาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ ที่ร่วมกันจัดนิทรรศการในครั้งนี้กับทุกท่านของเวทีคนหนองบัว

พี่เขาชอบเรื่องราวต่างๆในนิทรรศการและถูกใจมากที่พวกเราริเริ่มกิจกรรมอย่างนี้กันขึ้น พอดูจนหมดและได้คุยกัน ท่านก็บอกว่าขอให้รอสักครู่อย่าเพิ่งไปไหน ท่านจะขอมีส่วนร่วมด้วยโดยจะเดินกลับบ้านไปเอาข้อมูลหนังสือและภาพถ่ายเกี่ยวกับหนองบัวมามอบให้ผม เมื่อผมรอสักครึ่งชั่วโมงท่านก็กลับมาพร้อมกับหนังสือเล่มเล็กๆ ๓ เล่มและอัลบั้มรูปถ่ายชุดที่นำมาบันทึกรวบรวมและเผยแพร่ไว้นี้ ๑ อัลบั้ม พร้อมกับบอกว่ารูปถ่ายนั้นจะขอต้นฉบับคืน ขอให้ผมถ่ายก็อปปี้เอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ตามที่ต้องการ ผมจึงขอนำมาเผยแพร่ดังเจตนารมณ์ของผู้ที่นำมามอบให้ รวมทั้งจะเก็บเอาไว้ใช้เป็นข้อมูลของหนองบัวกันต่อไป ขอใช้ชื่อภาพชุดนี้ว่า ภาพอดีตหนองบัวเมื่อ ๒๐ ปีก่อน

                         

                        

ในอดีตนั้น สภาพโดยทั่วไปของอำเภอหนองบัวยังคงเป็นชุมชนในชนบท ถนนหนทางส่วนใหญ่ยังคงเป็นดินโคลน เมื่อหน้าฝนและหน้าน้ำหลากก็จะเละ น้ำเจิ่งนอง ทางขาดเป็นระยะๆ การเดินทางสัญจรไปมาเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ในช่วงเวลาดังกล่าว คนส่วนใหญ่มักเดินทางด้วยเท้า เกวียน จักรยาน รถโดยสารระหว่างตำบลและหมู่บ้านจะวิ่งวันหนึ่งไม่กี่เที่ยว ชาวบ้านจะเดินทางไกลออกจากชุมชนหมู่บ้านโดยรอบเข้าสู่ตัวอำเภอเมื่อจำเป็นต้องซื้อของ ไปโรงพยาบาล ไปติดต่อราชการ ไปขายของ ร้านขายส่งสินค้าขั้นต้นจะอยู่ที่ตลาดอำเภอชุมแสง และตะพานหินของจังหวัดพิจิตร รองเท้าฟองน้ำของชาวบ้านจะสวมใส่จนแหว่ง หากหูขาดก็จะร้อยด้วยเชือก และเมื่อไม่สามารถจะซ่อมแซมต่อไปได้ก็จะตกเป็นของเด็กๆ ซึ่งก็จะเอาไปทำเป็นล้อรถเด็กเล่นแบบทำเอง

                        

เมื่อรถเกิดติดหล่ม ผู้ที่จะต้องลงไปช่วยกันทำหน้าที่เข็นรถขึ้นจากหล่มทุกวิถีทางก็คือผู้โดยสารนั่นเอง ส่วนเจ้าของหรือคนขับมีความจำเป็นต้องนั่งถือพวงมาลัยและคอยบังคับรถ ชาวบ้านในละแวกบ้านตามริมถนนที่อยู่ใกล้เคียง ก็มักจะต้องออกมาช่วยกันด้วย อีกทั้งเมื่อเสร็จแล้วก็มักจะต้องดูแลน้ำท่าให้ล้างหน้าตาและดื่มกินแก้กระหายกันอีก   

                        

จะสังเกตว่ายังอยู่ในยุคที่รถยนต์ยังไม่รูจักการติดแอร์ อีกทั้งแบรนด์ของรถโตโยต้าก็ยังคงเป็นตัวอักษร ก่อนที่ต่อมาอีกเกือบ ๑๐ ปีจึงพัฒนาแบรนด์และใช้ตราเป็นรูปตัว T คล้ายกับคนกางแขนดังปัจจุบัน

                         

อำเภอหนองบัว เมื่อครั้งน้ำท่วมแบบฉับพลันเมื่อปลายปี ๒๕๕๓ พร้อมกับทุกอำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ก็ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ฉุกเฉินและมีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังจากการประสบภัยพิบัติด้วยอุทกภัย ซึ่งห่างจากภาวะฝนตกหนักและน้ำหลากจนถนนขาดดังในภาพอดีตเมื่อปี ๒๕๒๙ ของหนองบัว ๒๒ ปี

                         

                         

สภาพของหนองบัวในบริเวณเดียวกันแต่ห่างกัน ๒๒ ปีโดยภาพบนถ่ายเมื่อปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมาและภาพล่างเป็นภาพที่บันทึกได้เมื่อฤดูฝนปี ๒๕๒๙ รถเมล์สายหนองบัว-ชุมแสงของหนองบัวมีอยู่ด้วยกัน ๒ สาย คือรถเมล์แดงกับรถเมล์เขียว คนท้องถิ่นเรียกรถเมล์เขียวว่ารถเจ๊กไถ่ เรียกรถเมล์แดงว่ารถฮั้งคีม

รถคิวแรกจากชุมแสงของทุกวันจะเต็มไปด้วยของจากตลาดชุมแสงเพื่อไปขายหนองบัว และเที่ยวสุดท้ายจากนหองบัวก็จะเต็มไปด้วยเข่ง ปี๊บ และของที่รับซื้อจากตลาดหนองบัวเข้าไปขายที่ตลาดชุมแสง โดยเฉพาะจำพวกปลา หน่อไม้ และอาหารจากป่า สายหน่อยในช่วง ๖ โมงเช้าถึง ๗ โมงเช้าจากชุมแสงและเที่ยวเย็น ๔ โมงถึง ๖ โมงเย็นจากหนองบัวไปชุมแสง ก็จะเต็มไปด้วยเด็กนักเรียนและผู้โดยสารแออัดบนหลังคารถรวมทั้งห้อยโหนจนล้นออกประตูรถหน้าหลัง ดังนั้น รถเจ๊กไถ่และรถฮั้งคีมจึงต้องวิ่งสลับคิวรถเมล์ที่เหมือนกันทุกวัน เริ่มคิวแรกจะเป็นรถเมล์ของเจ๊กไถ่วันต่อไไปก็จะเป็นรถของฮั้งคีม เป็นอย่างนี้ทุกวัน

ในระยะแรก เด็กๆจะขึ้นรถเมล์ฟรี ต่อมาก็มีบัตรที่ผูกรถเมล์กันเป็นเทอม ในยุคที่เริ่มมีธรรมเนียมผูกรถเมล์กันเป็นเทอมนั้น นับเป็นความลำบากของเด็กๆที่ไม่ได้นั่งเป็นประจำที่เดินหรือถีบจักรยานไปโรงเรียน หากวันใดจำเป็นต้องนั่งรถเมล์ในช่วงที่ผู้โดยสารเยอะซึ่งก็มักจะเป็นช่วงที่นักเรียนต้องเดินทางด้วย เมื่อโบกรถเมล์รถก็มักจะไม่รับ หากได้ขึ้นจากต้นทางและไม่มีผู้ใหญ่ลงด้วย คนขับรถเมล์ก็จะจอดให้เลยที่จะลงและต้องเดินกลับไกลๆ จึงต้องโบกรถทุกชนิดทั้งรถบรรทุกแร่และรถบรรทุกข์ข้าว ปัจจุบันรถเมล์เขียวและรถเมล์แดงยังคงวิ่งอยู่แต่ไม่ค่อยมีผู้โดยสารหนาแน่นเหมือนอดีต

ดูเหมือนว่าเจ๊กไถ่เป็นเถ้าแก่โรงสีข้าว และมีลูกหลานในตระกูลทำมาค้าขายอีกหลายกิจการในหนองบัว โรงสีเจ๊กไถ่อยู่กลางตัวเมืองหนองบัว ท่อควันไฟจากเชื้อเพลิงแกลบเป็นท่อกลมทำด้วยเหล็กซึ่งเหมือนกับโรงสีไฟทั่วไป แต่มีโรงสีไฟอีกแห่งหนึ่งชื่อโรงสีฮังลั้ง อยู่เยื้องหน้าอำเภอหนองบัว เป็นโรงสีไฟที่มีปล่องควันก่อด้วยอิฐเป็นแท่งสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ดูใหญ่โตอลังการ

                          

ริมถนนด้านขวามือของผู้ชม เป็นพื้นที่ตรงข้ามด้านหน้าวัดหลวงพ่ออ๋อย หรือวัดหนองกลับ หรือวัดหลวงพ่อเดิม ในอดีตนั้นเป็นพื้นที่ป่าช้า ในช่วงเทศกาลงานประจำปีจึงจะถางพื้นที่เป็นที่ฉายหนัง ตั้งเวทีดนตรี และจัดมหรสพต่างๆ นอกนั้นก็จะปล่อยรกร้างเป็นทุ่งเลี้ยงวัวควาย ปัจจุบันนี้เป็นอาคารพาณิชย์ ธนาคาร ร้านสะดวกซื้อ 7- eleven

                         

                         

                         

                         

                         

                         

สภาพของชุมชนในตัวตลาดหนองบัว ในอดีตนั้น อาคารร้านค้าของอำเภอหนองบัวจะทำด้วยไม้ ซึ่งเป็นงานที่แสดงถึงความมีฝีมือของช่างไม้อย่างยิ่ง อีกทั้งมีความเป็นศิลปะ ใส่ใจรายละเอียดและความพิถีพิถัน โดยเฉพาะลูกเล่นที่อยู่ในลูกกรง ประตูไม้  หน้าต่างไม้ เฟี้ยมสำหรับปิดหน้าร้านแบบพับได้

                          

                         

                         

ย่านหัวตลาดและศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์ ศูนย์กลางในการเดินทางและติดต่อทำมาค้าขายระหว่างหนองบัวกับอำเภอชุมแสง ท่าตะโก ตากฟ้า ตาคลี และพื้นที่ชุมชนรอบนอก

หมายเลขบันทึก: 433437เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2011 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

ขอบคุณค่ะ..ภาพเปรียบเทียบช่วงเวลาเหล่านี้ พี่จินตนาการว่า ปากน้ำโพ บ้านเกิดของคุณแม่ของพี่ใหญ่ที่นครสวรรค์น่าจะใกล้เคียงกันในบางจุด..ไม่แน่ใจว่า หนองบัวกับ ปากน้ำโพ อยู่ห่างกันมากไหมคะ ?..

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ

  • เมื่อก่อนนี้ คนคุ้นเคยที่จะเรียกนครสวรรค์ว่าปากน้ำโพมากกว่าครับ  ตลาดปากน้ำโพและสถานีรถไฟปากน้ำโพจะเป็นศูนย์กลางของการไปเมืองปากน้ำโพ-นครสวรรค์มากกว่าไปลงที่สถานีบ้านหนองปลิงแล้วต่อไปหน้าค่ายจิระประวัติเลี้ยวเข้าตัวเมืองนครสวรรค์อย่างปัจจุบัน แต่เดียวนี้ปากน้ำโพก็จะเป็นเหมือนกับย่านเมืองเก่า
  • ปากน้ำโพกับหนองบัวคงจะห่างกันประมาณ ๖๐ กิโลเมตรคงจะได้ครับ คะเนจากป้ายบอกระยะทางจากแยกข้างสะพานเดชาติวงศ์ที่บอกว่านครสวรรค์-หนองบัว ๗๐ กิโลเมตร
  • เวลาได้ยินว่าใครเป็นคนปากน้ำโพหรือชุมแสง ผมก็มักจะนึกถึงความเป็นคนว่ายน้ำเก่ง เมื่อตอนเป็นเด็กนั้น ผมอยากนั่งรถไฟ อยากเห็นรถไฟ บึงบอระเพ็ด และแม่น้ำ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา หรือแม่น้ำยม แม่น้ำวัง พอได้เห็นแล้วก็รู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่และน่ากลัว ทำให้เชื่อว่าเด็กๆและคนริมแม่น้ำที่ว่ายน้ำในแม่น้ำได้นั้นเก่ง
  • รวมทั้งนึกถึงท่านอาจารย์กรุณา-เรืองอุไร กุศลาศัย กับเรื่องราวของท่านในการบวชเณรเดินไปอินเดียกับพระโลกนาถ ชาวอิตาลีซึ่งมีศรัทธาแก่กล้าในพระพุทธศาสนาที่ต้องการสร้างเณรและคนรุ่นใหม่ปฏิบัติศึกษาพระศาสนาอย่างเข้มข้นเพื่อออกไปเผยแผ่ธรรมทั่วโลก กับงานด้านวรรณกรรมและงานหนังสือของท่านและท่านอาจารย์เรืองอุไรภรรยาของท่าน ที่แปลผลงานระดับโลกที่เป็นวรรณกรรมอินเดียมาสู่สังคมไทย

สวัสดีครับอาจารย์

ตามมาขอบคุณที่ไปแวะเยี่ยมถามไถ่ครับ...
ช่วงนี้ผมวุ่น ๆ อยู่กับการช่วยเหลือชาวบ้านที่ดอยมูเซอ จ.ตาก (บ้านเกิด) ครับ
มีโครงการจากทางจังหวัดจะไปลง แล้วค่อนข้างสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน จะมีผลกระทบมากเกี่ยวกับการทำมาหากินในระยะต่อไป
พยายามใช้ความสามารถเท่าที่มีอยู่ร่วมกับชาวบ้านคัดค้านโครงการกับทางจังหวัดครับ  

เห็นภาพรถติดหล่มแล้วนึกถึงเมื่อก่อนเลยครับ สมัยก่อนต้องนั่งรถไปโรงเรียนหน้าฝนต้องช่วยกันเข็นรถให้หลุดจากหล่มเป็นประจำเลยครับ

แวะมาเยี่ยมเยียนอาจารย์ด้วยความระลึกถึงครับ...

 

อดีตผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ ชื่อคุณธวัช  อังศุธรรม ค่ะ

พิธีเปิดโรงพยาบาลหนองบัว นครสวรรค์
๓๐  มิถุนายน  พ.ศ. ๒๕๒๖
ประธานในพิธิเปิดดูจากภาพแล้ว น่าจะเป็นนายเทอดพงษ์ ไชยนันท์
รัฐมนตรีชีวยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น(ถ้าข้อมูลผิดพลาดขออภัยด้วย)ที่จำได้อย่างนี้ เพราะตอนนั้นลุงมารุต บุนนาค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายอำเภอในขณะนั้นคือนายสมหมาย ฉัตรทอง
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์คือนายสนอง รอดโพธิ์ทอง
และตอนนั้นลุงสวัสดิ์ คำประกอบ สส.หลายสมัยของนครสวรรค์เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักยกด้วย

ภาพจากหนังสือประวัติการเรียนและการปฏิบัติงานของป้หมอหนิม(ถนิม อ่วมวงษ์)ในหนังสือ ภาพถ่ายชุดดังกล่าวนี้โดยไม่มีข้อมูลรายละเอียดใดๆ นอกจากภาพถ่ายพิธีเปิดปีที่มอบ

และในวันเดียวกันนั่นเอง(๓๐ มิถุนายน๒๕๒๖) ก็มีพิธีมอบโรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัวให้เป็นของรัฐด้วย ซึ่งโรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัวนั้นเป็นโรงพยาบาลเอกชนเปิดดำเนินการในปี๒๕๑๑ โดยก่อนหน้านั้นคณะมิชชันนารีได้เปิดเป็นคลีนิคในปี๒๕๐๖ โดยเช่าห้องแถวที่สี่แยกริมถนนในตลาดหนองบัว
และในปีพ.ศ.๒๕๒๖ โรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัว ก็ปิดตัวลงในที่สุด

ภาพจาหนังสือป้าหมอหมิน(ถนิม อ่วมวงษ์)

สวัสดีครับหนานเกียรติครับ
ว่าแล้วว่าคงต้องสาลวนอยู่กับอะไรสักอย่าง
ขอให้ได้ความสำเร็จที่ดีอยู่เสมอครับ

สวัสดีจ้าครูน้อง
ขอบคุณครับ กำลังนึกอยากโทรถึงและถามชื่อของท่านอยู่พอดีเลย
เลยใส่ชื่อพี่เขาลงไปเรียบร้อยแล้วนะครับ

กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ
ต้องนับว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์พัฒนาการของอำเภอหนองบัวอีกด้านหนึ่งที่สำคัญมากเลยนะครับ

เขียนชื่อป้าหมอผิดอีกแล้ว
ภาพจากหนังสือป้าหมอหมิน แก้เป็น ภาพจากหนังสือป้าหมอหนิม(ถนิม อ่วมวงษ์)

ถนนสายนี้...ในภาพแรก เมื่อครั้งวัยเด็ก อาจารย์ใช้มันบ่อยมั้ยครับ

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว กับ 40 ปีที่แล้ว ต่างกันมากมั้ยครับ

 

เอ่อ.. ในภาพนี้ ระหว่าง พี่ควาย กับ พี่จักรยาน ใครจะหลบคะ? ถ้าพี่จักรยานหลบ จะหลบยังงัยเนี่ยะ? ขวาทุ่งนา ซ้ายร่องโคลนลึก ^^"

                   

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ

ผมเดินและถีบจักรยานไปกลับระหว่างบ้านและโรงเรียนด้วยถนนเส้นนี้ จากโรงเรียนจนถึงตลาดกว่า ๒ กิโลเมตรและจากตัวตลาดถึงทางแยกเข้าหมู่บ้านอีก ๗ กิโลเมตร แล้วก็เดินตามทางเกวียนในหน้าแล้งและบนคันนาจากถนนสู่บ้านอีกประมาณ ๒ กิโลเมตร รวมไปกลับวันละประมาณ ๒๕ กิโลเมตรอย่างนี้อยู่ ๕-๖ ปีครับ ตอนท้ายๆก็มีบางช่วงที่ต้องได้อาศัยความเมตตาของคุณครูให้ได้ไปอยู่บ้านพักครูด้วย บ้างก็เช่าห้องพัก และอยู่กับบ้านชาวบ้านในหนองบัวที่รู้จักกัน

ถนนที่ดูว่ามีสภาพเละและเต็มไปด้วยหล่มโคลนอย่างนี้นั้น ก็คล้ายในรุ่นของผมแหละครับ แต่ในรุ่นผมซึ่งจะก่อนปี ๒๕๒๙ กว่า ๑๐ ปีนั้น ถนนจะมีหลุ่มบ่อและก้อนดินโคลนมากว่านี้ สองข้างทางก็จะเป็นป่าเป็นระยะๆ และมีคลองน้ำหลากตามธรรมชาติ ไหลบ่าเอ่อท่วมเต็มถนนเกือบตลอดทาง

ทางจะเละกว่านี้ครับ เพราะในยุคผมนั้นจะมีแต่รถหนักๆ คือรถบรรทุกแร่ กับรถบรรทุกไม้ซุงและไม่ไผ่ รถหนักๆเหล่านี้ไม่กลัวติดหล่ม ตามล้อจะใช้โซ่เส้นขนาดใหญ่พันรอบยางให้เกาะถนน พร้อมกับพอติดหล่มก็ใช้ลวดสลิงยึดกับต้นไม้ขนาดใหญ่แล้วดึงรถให้เคลื่อนไปเป็นระยะๆ รถเล็กๆจะวิ่งไม่ได้ ต้องเดินหรือถีบจักรยานไปเลย

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

ดูยืนจังก้าเลยนะครับ หากเป็นผมนะครับ เห็นท่าอย่างนี้แล้วละก็ลงแบกรถจักรยานหลบเลยดีกว่า ท่าทางเขากำลังอยากได้เพื่อนเล่นอยู่นะครับน่ะ กำลังรุ่นๆเหมือนเด็กๆกำลังขี้เล่นอยู่ด้วย ยิ่งเจอน้ำและอากาศสดชื่นอย่างในรูปนี้แล้วละก็พี่ควายมักชอบกระโดดโลดเต้น เห็นแล้วก็ขำดีครับ บรรยากาศของเมื่อก่อนเป็นอย่างนี้เลยละครับ ตอนเจอนั้นลำบาก แต่พอผ่านไปแล้วก็ดูน่ารักและสนุกกับชีวิตดี 

เห็นภาพในอดีตชุดนี้แล้ว นึกถึงคุณครูโรงเรียนวัดห้วยน้อย
ครูรร.วัดห้วยน้อยส่วนมากจะเป็นคนหนองบัว และอยู่ในเมืองในตลาด
ทางไปโรงเรียนนั้น จะต้องใช้เส้นทางถนนหนองบัว-ท่าตะโก
เรียกว่าทางเดินอ้อมเกือบได้หนึ่งรอบ เพราะหมู่บ้านห้วยน้อยอยู่ใกล้หนองบัวนิดเดียว
แต่ยุคนั้นยังไม่มีถนนจากหนองบัวถึงห้วยน้อยโดยตรง ถ้าปัจจุบันระยะทางประมาณ ๕ กิโลเมตร

แต่เมื่อก่อนนั้น ระยะทางจากหนองบัวไปห้วยน้อยอ้อมโลกตกยี่สิบกิโลเมตร
วันไหนฝนตกถนนลื่น รถวิ่งไม่ได้จะเห็นคุณครูเดินถือรองเท้า กางร่ม เดินตั้งแต่ถนนใหญ่หมู่บ้านบ้านป่าเรไร-วัดห้วยน้อย ซึ่งก็ไม่ใกล้เลย ระยะทางร่วมสามกิโลเมตร

บนถนนก็จะมีวัว-ควายผูกไว้ เป็นระยะๆตามพื้นที่ของเจ้านาแต่ละเจ้า
คนในเมืองเจอวัว-ควายแต่ละที ก็เหมือนในภาพถ่ายนี่เลย
ยิ่งคนแสดงอาการกลัว วัว-ควาย ก็ทำท่าตื่น หายใจฟืดฟาด ทั้งจะหนี และเดินเข้าใส่คน

ถ้าชาวบ้านส่วนใหญ่เหมือนจะรู้นิสัยเมื่อเจอ ก็เดินไปเรื่อยๆ วัว-ควาย ก็จะนิ่งๆไม่แสดงอาการมากนัก

สีเผื้อผ้าที่ฉูดฉาดมากๆก็ทำให้วัว-ควายตกใจได้เหมือนกัน

นึกถึงแล้วก็ขำดี

นี่ต้องมอบความดีให้แก่คุณพี่ธวัช อังศุธรรม
อดีตผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ สาขาหนองบัว
เลยนะครับ
ที่ถ่ายภาพชุดนี้ไว้แล้วไม่เก็บไว้กับตนเองอย่างเดียว
นำมาแบ่งปัน ได้เห็นภาพหนองบัวในอดีต
และดูแล้วก็มีความสุขดีมากอีกด้วย

ตอนนี้ในหน้า Facebook กำลังแชร์คำตอบกันอย่างสนุกสนานเลยค่ะ ๕๕๕๕ ^^"

ยุคนั้นนี่แถวหนองบัวยังมีวัวควายอยู่เยอะแยะครับ

                        

เลยเอาบรรยากาศการเลี้ยงควายเลี้ยงวัวของเด็กๆมาประกอบเรื่องด้วยครับ วัวควายนี่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวบ้านเลยละครับ เป็นกำลังการผลิต เป็นแหล่งสร้างความเป็นชีวิตและลมหายใจ งานศิลปะ บทกวี บทเพลง วรรณกรรม คติสอนใจ รวมไปจนถึงมีส่วนอย่างใกล้ชิดต่อการกำหนดรูปแบบการตั้งถิ่นฐาน ลักษณะบ้านเรือน ลักษณะการจัดการเชิงพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัย ที่มีลักษณะเฉพาะของสังคมไทย

เมื่อตอนจัดนิทรรศการนั้นรูปไอ้เป๋หนองบัวกับวัวหลวงพ่ออ๋อย เป็นรูปหนึ่งที่ชาวบ้านมาร่วมรำลึกพูดคุยความเป็นหนองบัว แลกเปลี่ยนทรรศนะ แลกเปลี่ยนความทรงจำจากประสบการณ์ชีวิตกันได้อย่างแจ่มชัดมากเลยละครับ   

                        

ยิ่งรูปนี้แล้วก็ยิ่งได้อารมณ์ชวนคุย ดูพ่อหนุ่มบนจักรยานท่าทางจะหยั่งขาขวายืนบนพื้นไปแล้วละครับ ดูๆแล้วจักรยานจะไม่มีเบรคด้วย จักรยานแต่ก่อนของชาวบ้านก็จะลักษณะนี้และครับ ไม่ค่อยมีเบรค เวลาเบรคก็คือกระโดดลงแล้วมือจับแฮนด์วิ่งไถลแท่กๆๆไปกับจักรยานอยู่พักหนึ่งนั่นแหละครับถึงจะหยุดได้

นี่ก็เหมือนกันครับ พ่อหนุ่มในรูปคงคิดว่าถีบไปเรื่อยๆทำท่าเฉยๆ อย่างที่ท่านพระอาจารย์มหาแลว่า ประเดี๋ยวเจ้าควายนี้ก็คงเดินลงถนนหลบไป ที่ไหนได้ กลับยืนจังก้าฮึดมองตรง อย่างนี้ก็ต้องติดเบรคอย่างไม่ต้องลังเล ดูหลังตรงแหนว ขาเหยียด มือกำแฮนด์จักรยานแน่นอย่างนี้นี่ นึกอารมณ์ออกเลยครับ คือวิกฤตจนขนหัวลุกเป็นกระด้งแล้วละครับ ภาษาลาวก็จะต้องอุทานว่า "เป็นตาน่าย่านหลาย !!!!" น่ะครับ

ตามมาชมครับ

เห็นของเก่าเก็บที่ทรงคุณค่า ผมนึกถึงพี่น้องไทพวนจากเมืองไทยเกือบ 30 จังหวัด ที่เขาร่วมใจร่วมทุน ไปสร้างพิพิธภัณฑ์ที่ เมืองแปก แขวงเซียงขวาง (เมืองพวนเก่า สมัยราชอาณาจักรลาว) ถ้าเราทำกันได้ตามนั้นจะเป็นการดีไม่น้อย

ที่วัดหลวงพ่ออ๋อยก็มีพิพิธภัณฑ์ของใช้พื้นบ้านอยู่แล้ว หากเรากันพื้นที่สักส่วนหนึ่งจัดแสดงภาพเก่า ๆ อย่างถาวรน่าจะดึงดูดผู้คนได้ไม่น้อย

ขอขอบคุณท่านเจ้าของภาพและท่านอาจารย์ที่นำมาเผยแพร่ครับ

ชอบแนวคิดนี้นะครับ มีน้องๆทั้งที่มหาวิทยาลัยมหิดลและเพื่อนๆที่หนองบัวเสนอแนวคิดให้ทำงานที่เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นหนองบัวเหมือนกันครับ เมื่อวันไปกราบนมัสการท่านพระครูไกร เจ้าอาวาสวัดหนองบัวองค์ปัจจุบัน ท่านก็ปรารภเปรยๆอยู่เหมือนกันครับว่าหากไปช่วยงานพัฒนาพิพิธภัณฑ์ของวัดหนองกลับซึ่งมีอยู่แล้วเป็นอย่างดีช่วยกันได้บ้าง ก็จะเป็นการดี  หากได้ทำกันอีกก็จะขอใช้แนวคิดนี้เป็นแนวหาทางทำงานกันให้ได้ประโยชน์ไปด้วยกันหลายๆต่อนะครับ

เคยไปตอนเด็กๆครับ เพราะแม่เป็นน้องสาวของลุงลอง (  จำลอง อ่วมวงษ์) ตอนนั้นไปนอนอยู่บ้าน คุณชำนาญ ยาใจ หลานลุงจำลองเช่นกัน เป็นครูสอนที่หนองบัว เคยเห็นคุณป้า หนิม บ้าง แต่จำไม่ค่อยได้ เพราะเห็นตอนเด็กๆ ลุงลอง ป้าหนิม เคยไปเยี่ยม คุณตาบ้าง ( เปล่ง อ่วมวงษ์)ที่นครชุม ชื่นชมครับ กับท่านที่ทำเพจนี้ ขึ้นมาให้ความภาคภูมิใจกับคนหนองบัว ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท