สร้างวาระการเรียนรู้ ฟื้นฟูลมหายใจและจิตวิญญาณหนองบัว : นิทรรศการเวทีคนหนองบัว


๒ เทศกาลและประเพณีที่สำคัญของคนหนองบัวในวาระเดียวกัน

เวทีคนหนองบัว ร่วมกับคณะกรรมการจัดงานงิ้ว สถานศึกษา ผู้นำชุมชน  คนหนองบัว และอีกหลายฝ่าย ช่วยกันนำเอาเนื้อหาเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับหนองบัวที่อยู่ในเว็บบล๊อก GotoKnow.org มาจัดนิทรรศการ ให้เป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวสังคมหนองบัวไปกับเทศกาลงานงิ้ว ไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่ และหลวงปู่ฤาษีนารายณ์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง ๒๔-๒๘ มีนาคม ๒๕๕๔ 

พร้อมกับที่เป็นงานงิ้ว ก็มีประเพณีแห่นาคและอุปสมบทหมู่ของชาวหนองบัวที่วัดหนองกลับหรือวัดหลวงพ่ออ๋อย หรือวัดหลวงพ่อเดิม ในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้จึงเป็นเทศกาลทางประเพณีและวัฒนธรรมอันงดงามของชาวหนองบัว เต็มไปด้วยสีสัน ความเคลื่อนไหวคึกคักมีชีวิตชีวา

สร้างเสริมพลังสังคมและสานสำนึกผูกพันท้องถิ่นด้วยความสมัครสมานสามัคคี

ลูกหลานชาวหนองบัวที่ออกไปศึกษาเล่าเรียน ไปทำการงาน และไปตั้งหลักปักฐานอยู่ในที่อื่นๆของประเทศ รวมไปจนถึงในต่างประเทศ หากจะกลับบ้านก็มักจะถือเอาห้วงเวลาดังกล่าวนี้กลับไปเยือนถิ่นเยี่ยมญาติพี่น้องและกราบไหว้บรรพบุรุษ การทำให้เป็นโอกาสสื่อสารกับโลกกว้างและสร้างการเรียนรู้ทางสังคมเรื่องราวของหนองบัวในทุกมิติ จะทำให้เทศกาลอันดีงามของท้องถิ่นมีความหมายต่อการสร้างความทรงจำและสานสำนึกรักท้องถิ่น สร้างเสริมให้สังคมของชุมชน รวมไปจนถึงสังคมในวงกว้าง ให้มีความเคลื่อนไหว เกิดบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมทางปัญญาในอันที่จะเพิ่มพูนพลังความสร้างสรรค์ที่มีอยู่ของชุมชน ด้วยความริเริ่มจากกลุ่มคนผู้มีความตื่นตัว ซึ่งจะเป็นอีกมิติหนึ่งที่ทำให้ชุมชนหนองบัวมีโอกาสพัฒนาตนเองและด้วยการพึ่งตนเองก่อน ได้มากยิ่งๆขึ้น ส่งเสริมอนาคตการพัฒนาของท้องถิ่นและสังคมส่วนรวมให้ยิ่งดีขึ้น 

เติมมิติความรู้และสร้างการเรียนรู้ ทำงานเทศกาลและความเป็นหนองบัว
ให้เป็นวาระแห่งการเรียนรู้อย่างกว้างขวางเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน

ด้วยความงดงามและความน่าสนใจของสิ่งที่มีอยู่เป็นทุนเดิมดังกล่าว เวทีคนหนองบัวกับชาวหนองบัวจึงร่วมกันสร้างเวทีการเรียนรู้ความเป็นหนองบัวขึ้นด้วยการจัดนิทรรศการทำให้งานเทศกาลและชีวิตชุมชนเป็นแหล่งการเรียนรู้ ให้ประสบการณ์ชีวิตต่อเรื่องราวของชุมชนอย่างมีความหมาย ประธานกรรมการจัดงานของปีนี้คือ นายนพดล ไชยสุกัญญาสัญ รองประธานคือนายวิรัตน์ บัวมหะกุล กำนันตำบลธารทหาร และคณะกรรมการจัดงาน ได้จัดสรรบริเวณข้างที่ตั้งเจ้าพ่อเจ้าแม่และหลวงปู่ฤาษีนารายณ์ ให้เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการ พร้อมกับดูแล ร่วมระดมความคิด ร่วมอำนวยความสะดวก และร่วมดำเนินการ ให้งานสร้างความรู้และการเคลื่อนไหวเพื่อการเรียนรู้ความเป็นชุมชนหนองบัวผสมผสานเข้ากับงานประเพณีและเทศกาลชุมชนครั้งนี้มีความสอดคล้องกลมกลืนไปด้วยกันเป็นอย่างดี

                        

เชื่อมโยงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังความรู้ กำลังทางวิชการ และกำลังการจัดการสมัยใหม่
ให้ร่วมเป็นพลังนำการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสู่สุขภาวะชุมชนของหนองบัวในมิติใหม่ๆ

กลุ่มคนหนองบัว ทั้งโดยเป็นชาวหนองบัวโดยกำเนิดและผู้ที่ได้เข้ามาทำการงาน อยู่อาศัย และดำเนินชีวิตเป็นชาวหนองบัว จำนวนหนึ่ง ได้ช่วยกันออกแบบความคิด ปรึกษาหารือ ระดมทรัพยากรและระดมความร่วมแรงร่วมใจ ทำนิทรรศการในครั้งนี้ด้วยกัน ชุมชนอำเภอหนองบัวเป็นชุมชนเล็กๆของนครสวรรค์ในเขตเมืองของภูมิภาคซึ่งจัดว่ายังมีความเป็นชนบทมาก คนในท้องถิ่นโดยมากก็มีความรู้จักคุ้นเคย ไปมาหาสู่ และติดต่อสมาคมทำสิ่งต่างๆด้วยกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นคนในรุ่นที่กำลังเป็นกลไกและเครือข่ายทางเศรษฐกิจสังคมทุกสาขาของหนองบัว ตลอดจนเครือข่ายความเป็นสาธารณะของชุมชนโดยรอบหนองบัวในทุกชุมชนนั้น กล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มคนลูกหลานคนหนองบัวที่ผ่านการศึกษาและบวชเรียนจากแหล่งเดียวกันเสียเป็นส่วนใหญ่ กล่าวในแง่นี้ นิทรรศการและการจัดเวทีเรียนรู้ความเป็นชุมชนหนองบัวที่ริเริ่มขึ้นกันในครั้งนี้ จึงเป็นจุดเชื่อมโยงและสร้างปฏิสัมพันธ์ให้กลุ่มคนที่มีกำลังทางความรู้และจัดการความเป็นชุมชนสมัยใหม่ ได้เข้ามาเป็นกำลังความรู้เสริมพลังความเป็นชีวิตชุมชน

                       

                       

คนรุ่นบุกเบิกดีใจ มีกำลังใจ พร้อมร่วมส่งเสริมเป็นพลังสร้างสรรค์ของหนองบัวและสังคม

อาจารย์ชัยยุทธ ภู่เกตุ และอาจารย์เสาวนิตย์ ภู่เกตุ ครูอาจารย์ของคนหนองบัวและเป็นผู้บริหารสถานศึกษาของสถานศึกษาระดับอำเภอและระดับจังหวัดอีกหลายแห่งของจังหวัดนครสวรรค์ รวมทั้งเป็นอดีตประธานสภาวัฒนธรรมของอำเภอหนองบัว ซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญในการเป็นผู้อนุรักษ์ส่งเสริมประเพณีบวชนาคหมู่ ร่วมกับนายสมหมาย ฉัตรทอง อดีตรองผู้ว่าราชการและผู้ตรวจราชการของกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นอดีตนายอำเภอหนองบัว ได้แวะให้กำลังใจและร่วมแสดงความยินดีกับการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ของเวทีคนหนองบัว พร้อมกับเสริมสร้างพลังใจให้มุ่งดำเนินการกิจกรรมสร้างความรู้และสร้างการเรียนรู้ให้แก่ชุมชนหนองบัวในลักษณะนี้ต่อไปให้ต่อเนื่อง

กลุ่มคนหลายรุ่นที่มีบทบาทสำคัญต่อสังคมหนองบัวหลายสาขา รวมทั้งชาวบ้าน เยาวชน ภาคธุรกิจ ตลอดจนสื่อท้องถิ่น และสื่อภาคประชาชนในแนวจิตอาสา ได้เข้ามาร่วมรับรู้ แสดงความสนใจและให้พลังใจสนับสนุน เป็นกิจกรรมที่สร้างปฏิสัมพันธ์และสานพลังความสร้างสรรค์ของกลุ่มคนที่มีบทบาทหลายด้านของหนองบัวให้เกิดความคิดดีๆในอันที่จะทำสิ่งต่างๆแก่ชุมชนต่อๆไปในอนาคต

                       

                       

สานเครือข่ายผู้นำและเป็นพื้นที่ถักทอความเป็นส่วนรวมของหนองบัว

ทีมผู้บริหารของโรงพยาบาลหนองบัว (เสื้อสีม่วงอ่อน) และประธานกลุ่มศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว รุ่นที่ ๑๔ สวมเสื้อม่อฮ่อมสีน้ำเงิน (ปัจจุบันมี ๕๐ รุ่น) ถือโอกาสระหว่างมาเดินดูงานงิ้วแวะชมนิทรรศการ ช่วยจัด และร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนแนวคิดต่างๆด้วยกันทั้งกับทีมผู้ช่วยกันจัดนิทรรศการและกับผู้คนที่แวะเวียนมาเจอกันที่เต๊นท์นิทรรศการเวทีคนหนองบัวครั้งนี้ ทำให้นิทรรศการและเวทีการเรียนรู้ความเป็นหนองบัว มีบทบาทต่อการสานเครือข่ายผู้นำหลายสาขาและถักทอความเป็นส่วนรวมเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ได้มีจุดเชื่อมต่อและเกิดปฏิสัมพันธ์กันในวิถีความรู้และการใช้ความรู้ชี้นำพลังการปฏิบัติของชุมชน ได้มากยิ่งๆขึ้น

                       

สานความดีงามและถักทอพลังศักยภาพอันสร้างสรรค์ในตัวคน

เฮียกวง พ่อค้าและคนเก่าแก่ของหนองบัว (เสื้อลายขวางยืนเห็นหน้าด้านซ้ายของผู้อ่าน) ผ่านมาแวะชมนิทรรศการและแสดงความตื่นเต้นดีในที่เห็นร้านของตนเองในรูปหัวตลาดและหอนาฬิกาในยุคเก่าก่อนของอำเภอหนองบัว ร้านครอบครัวของเฮียกวงเป็นร้านค้าที่เปิดโทรทัศน์ขาวดำให้คนหนองบัวได้ชมการยิงอพอลโล ๑๑ นำนักบินอวกาศไปเยือนดวงจันทร์เมื่อปี พศ. ๒๕๑๑

อาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ (นั่งเก้าอี้) ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ โรงเรียนดีประจำตำบล ผู้บริหารสถานศึกษาและเป็นผู้นำทางความรู้ที่มีบทบาทเป็นที่ชื่นชมมากที่สุดท่านหนึ่งของสังคมหนองบัว ร่วมเป็นผู้ริเริ่มจัดนิทรรศการในครั้งนี้ทั้งด้วยกำลังความคิด กำลังทางวิชาการ แรงกาย และเป็นวิทยากรให้กับเวทีเรียนรู้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ สร้างพลังเสวนาเรื่องหนองบัวและสร้างการเรียนรู้อย่างมีความสุขให้เกิดขึ้นแก่ชาวหนองบัวอย่างน่าประทับใจ

อาจารย์เจน ศรสุรินทร์และภรรยา (ยืนหันหลัง) ครูอาจารย์ของชาวหนองบัวและเป็นผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนรวมทั้งเรื่องราวต่างๆของชุมชน ได้ผ่านมาพบปะเสวนา แสดงความดีใจ และร่วมเสนอแนะให้ประสานงานพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อดำเนินการในลักษณะนี้ต่อไปในหนองบัว

                    

ระดมพลังช่วยกันสะสมภูมิปัญญาของสังคมท้องถิ่นหนองบัว

ลูกหลานของช่างว่อน ช่างตีมีดและทำเหล็กเครื่องมือเกษตร อีกทั้งเป็นผู้ที่มีภูมิปัญญาหลายด้านของท้องถิ่น และเครือข่ายหมู่มิตรของคุณเสวก ใยอินทร์ กลุ่มคนรักพริกเกลือหนองบัว ก็ได้มีส่วนร่วมอย่างน่านับถือน้ำใจในการนำเอาตัวอย่างมีดประจำตัวจากฝีมือดั้งเดิมของช่างว่อน และพริกเกลือจากฝีมือดั้งเดิมของญาติพี่น้องซึ่งเป็นชาวหนองบัว ไปมอบให้ผู้เขียนและทีมจัดนิทรรศการ ได้จัดวางเพื่อร่วมแสดงสิ่งอันเป็นหลักฐานบอกเล่าภูมิปัญญาความเป็นชุมชนหนองบัวที่อยู่ในคน

นอกจากนี้ ก็ได้ต้อนรับคุณครูอนุกูล วิมูลศักดิ์ ในการนำเอาฟิล์มหนังและการสะสมเรื่องราวเกี่ยวกับสื่อและธุรกิจความบันเทิงในอดีตของหนองบัว มาร่วมแบ่งปันอย่างเป็นที่น่าสนใจมากที่สุดอีกมิติหนึ่ง

                       

                       

                       

เวทีเรียนรู้และสานความงดงามหลากหลายของชุมชนเข้าด้วยกันอย่างเป็นธรรมชาติ

คุณครูป๋องลูกครูฉ่ำ (เสื้อลายตารางหมากรุก) ครูเก่าแก่ของโรงเรียนอนุบาลหนองบัวซึ่งมีลูกศิษย์อยู่ทั้งอำเภอกว่า ๓๐-๔๐ รุ่นคน และเป็นครูฝึกขบวนแห่เอ็งกอของงานไหว้เจ้าพ่อเจ้่แม่ หลวงปู่ฤาษีนารายณ์ ของคนหนองบัว อาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนหนองไผ่ ร่วมกันเป็นครูสร้างการเรียนรู้สาธารณะ ทำให้นิทรรศการกลายเป็นแหล่งสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งเป็นแหล่งมาพบปะพูดคุยเรื่องราวของหนองบัวในแง่มุมต่างๆด้วยกันอย่างมีความสุข สนุกสนาน ชาวบ้านรอบเกาะลอยและกลุ่มชาวบ้านจากหลายตระกูลเก่าแก่ของชุมชนหนองบัว จูงมือลูกหลานและญาติผู้ใหญ่ มาเดินชมนิทรรศการและร่วมใช้นิทรรศการเปิดหัวข้อพูดคุย สื่อสาร และสร้างการเรียนรู้เรื่องราวอันงดงามของหนองบัวเป็นจำนวนมาก 

ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัวและครูวิกานดา บุญเอก คุณครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพและเทคโนโลยี กลุ่มงานธุรกิจ โรงเรียนหนองบัว (เสื้อสีส้มแดง) กับอดีตผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ สาขาหนองบัว นายธวัช อังศุธรรม เดินชมนิทรรศการด้วยกันและสนทนาแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆกันด้วยบรรยากาศสบายๆ

นอกจากนี้ นายธวัช อังศุธรรม อดีตผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ ได้ขอมีส่วนร่วม ด้วยการนำเอาข้อมูลภาพถ่ายและเอกสารเรื่องราวของหนองบัวมามอบให้ ที่สำคัญคือ ประวัติศาสตร์จากการบอกเล่าเกี่ยวกับเจ้าพ่อเจ้าแม่และหลวงปู่ฤาษีนารายณ์ ประวัติศาสตร์ของหนองบัว และวัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญของหนองบัว

                       

                       

Nong Bua Learning Agenda Setting
by Alternative Mass Media :
เชื่อมโยงและสร้างวาระการสื่อสารเรียนรู้หนองบัว
กับสื่อมวลแนวชนทางเลือก

หนองบัวเป็นแหล่งที่มีดอกอุ้มน้อง พืชท้องถิ่นชนิดหนึ่งในกลุ่มดอกกระเจียวและเป็นพันธุ์พืชหายากเพื่อการศึกษาเชิงอนุรักษ์ในโครงการพระราดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี มีอยู่ที่หนองบัวแหล่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งรายการทุ่งแสงตะวันของป่าใหญ่ครีเอชั่นได้ทำเป็นรายการสารคดีเผยแพร่ทางสื่อมวลชนทางทีวีสีช่อง ๓ เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา นิทรรศการได้นำเสนอเพื่อการเรียนรู้และสร้างความซาบซึ้งในสิ่งดีๆที่มีอยู่ในชุมชนหนองบัวอีกมากมาย

                       

Nong Bua Learning Agenda Setting
by Small Media and Community Art :
เชื่อมโยงการสื่อสารเรียนรู้และสร้างวาระเรียนรู้หนองบัว
ด้วยสื่อภาพและทัศนศิลป์เรื่องราววิถีชีวิตชุมชน

ข้อมูลภาพ ทั้งในเชิงการเป็นศิลปะชุมชนและในเชิงการนำเสนอข้อมูลชุมชนด้วยภาพวาด ได้นำมาจัดเป็นมุมการเรียนรู้อดีตและแสดงภาพพัฒนาการของชุมชน เป็นเรื่องราวการเรียนรู้ทางสังคมและศิลปะสื่ออีกชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดพลังการเรียนรู้แก่ชาวบ้านมากเป็นอย่างยิ่ง ช่วยให้ชาวบ้านและคนหนองบัวทุกกลุ่มอายุและทุกสาขาอาชีพ ใช้เป็นจุดรวมความสนใจ เกิดวาระและหัวข้อการสนทนา แลกเปลี่ยนข้อมูลจากประสบการณ์ชีวิตและความทรงจำที่มักมีคนละด้าน ก่อให้เกิดการพูดคุย แบ่งปัน นับญาติ นับรุ่น สานสำนึกและความผูกพันในความเป็นคนหนองบัวที่สะท้อนซึ่งกันและกันอย่างเป็นธรรมชาติ

                       

Nong Bua Learning Agenda Setting
by Alternative Local History :
เชื่อมโยงการสื่อสารเรียนรู้และสร้างวาระการเรียนรู้
ด้วยประวัติศาสตร์พัฒนาการของท้องถิ่น

ประวัติศาสตร์จากความทรงจำของชุมชน สร้างวาระการรวบรวมข้อมูลชีวิตและเรื่องราวที่อยู่ในประสบการณ์ชีวิตของคนเก่าแก่ รวมทั้งคนร่วมสมัยหลายรุ่นของหนองบัว ทำให้เรื่องราวความเป็นมาทางด้านต่างๆที่สำคัญของหนองบัวปรากฏความชัดเจนมากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งบางส่วนเริ่มเกิดแง่มุมที่เชื่อมโยงกับพัฒนาการและสื่อสะท้อนให้เห็นถึงสภาวการณ์ที่สำคัญหลายด้านของประเทศไทย เช่น เรื่องราวของหลวงพ่อเดิมอันเป็นที่รู้จักแพร่หลายของผู้คนทั่วประเทศกับการสร้างเมืองหนองบัว เรื่องราวความเป็นมาของคำว่า เทพวิทยาคม หลังชื่อ โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม)ในอดีต หรือโรงเรียนอนุบาลหนองบัวเทพวิทยาคมในปัจจุบัน พัฒนาการของการสาธารณสุขและระบบสุขภาพจากอดีตยุคหมอหนิมและหมออรุณของคนหนองบัว ก่อนพัฒนาการเข้าสู่ยุคปัจจุบัน พัฒนาการของระบบสาธาณูปโภค ปัจจัยพื้นฐาน ตลอดจนสิ่งต่างๆเมื่อแรกมีของหนองบัว การเชื่อมโยงกับชุมชนและศูนย์กลางการติดต่อกับโลกภายนอกในอดีตของหนองบัว ซึ่งเป็นพื้นฐานการพัฒนาและคลี่คลายตนเองในหลายด้านสู่ปัจจุบัน

                   

                    

Nong Bua Learning Agenda Setting
by Self-Story and Cinema-Cultural Conservation :
เชื่อมโยงและสร้างวาระการสื่อสารเรียนรู้หนองบัว
ด้วยเรื่องราวตนเองและการอนุรักษ์หนัง

ภาพบนเป็นภาพเฮียกวงมาเดินเที่ยวงานและระหว่างที่ได้แวะเข้ามาชมเต๊นท์นิทรรศการก็ร้องบอกคนรอบข้างอย่างตื่นเต้นพร้อมกับชี้ไปยังรูปวาดลายเส้นรูปหนึ่งว่านี่คือรูปบ้านและร้านค้าในอดีตของครอบครัวตน ก่อนที่ต่อมาจะกลายเป็นร้านสะดวกซื้อ 7-eleven แห่งแรกของหนองบัวและกลายเป็นร้านขายของอย่างอื่นจนไม่เหลือสภาพเดิมแล้ว ภาพล่าง : สุภาพบุรุษที่นั่งถือล้อฟิล์มในชุดซาฟารีสวมแว่นนั้น คือ คุณครูอนุกูล วิมูลศักดิ์ ผู้ร่วมเขียนเรื่องราวต่างๆของหนองบัวในเวทีคนหนองบัว โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับหนัง เครื่องฉายหนัง และโรงภาพยนต์ ก่อนที่ต่อมาจะพัฒนาตนเองไปเป็นสมาชิกของคนอนุรักษ์ที่กรุงเทพฯและเป็นสมาชิกเครือข่ายระดับประเทศไปแล้ว และสุภาพสตรีในชุดสีแดงขวามือ คือ คุณเกศศรณ์ศิน วังบัวบานปัญญากร ลูกมหาจำลองของหนองบัว รุ่นน้องผมที่โรงเรียนหนองบัว ๑ รุ่น และอดีตเธอเป็นนักบาสเกตบอลหญิงของโรงเรียนรุ่นต่อจากศิริจิตต์ เชาวน์ไกลวงศ์ ปัจจุบันไปเป็นเจ้าของกิจการร้านเบเกอรี่อยู่ที่ลำปาง

ทั้งสองท่านนี้ได้เดินเข้ามานั่งเสวนาอยู่ในเวทีโดยไม่ทราบมาก่อน คุณครูอนุกูลแวะมาเดินเที่ยวงานงิ้ว เมื่อเจอเวทีและรู้ความเป็นมาว่าจัดขึ้นโดยพวกเราที่อยู่ในเว๊บบล๊อก GotoKnow อีกทั้งเมื่อทราบว่าเที่ยงคืนของวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นวันแห่นั้น ผมจะเก็บบอร์ดและกลับกรุงเทพแล้วเพราะหากตั้งไว้ก็ลำบากในการจัดหาคนมานั่งเฝ้าและคอยติดตั้ง ท่านก็รีบบึ่งรถกลับบ้านไปหอบเอาม้วนหนังและสิ่งของต่างๆมาอวดแก่สายตาคนหนองบัวพร้อมกับนั่งเสวนาไปด้วยหลายชั่วโมง

เช่นเดียวกับคุณเกศศรณ์ศิน ก็เพิ่งจะได้กลับบ้านเป็นครั้งแรกหลังจากไกลหนองบัวไปตั้งรกรากอยู่ที่ลำปางเสียหลายปี เธอเกิด วิ่งเล่น และเติบโตอยู่ในตลาดหนองบัว ดังนั้น จึงนำเอาเรื่องราวและข้อมูลมากมายเกี่ยวกับชุมชนหนองบัวมานั่งแบ่งปันกันอย่างสนุกสนาน เธอทั้งมีความสุขและร่วมมีความหวังว่าจะขอกลับมาทำสิ่งต่างๆที่หนองบัวด้วย นิทรรศการและเวทีเสวนาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นไปเอง จึงกลายเป็นแหล่งที่ทำให้คนหนองบัวได้รู้จักกันมากขึ้นอีกอย่างไม่เคยมีมาก่อน

                       

                       

Nong Bua Learning Agenda Setting
by GotoKnow e-media and Hand Made Booklets Combination:
เชื่อมโยงการสื่อสารเรียนรู้และสร้างวาระการเรียนรู้
ด้วยหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ที่สร้างและสะสมความรู้มาจากเว๊บบล๊อกGotoKnow

ท่านพระอาจารย์มหาแล ได้ดึงเอาเรื่องราวเกี่ยวกับหนองบัว ที่กลุ่มผู้ร่วมกันเขียนความรู้และบันทึกเรื่องราวต่างๆของหนองบัวเผยแพร่แก่สาธารณะมาอย่างต่อเนื่องจำนวนหนึ่งในเวทีคนหนองบัว โดยเฉพาะท่านเอง จากวัดศรีโสภณ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นคนพื้นเพหนองบัว คุณเสวก ใยอินทร์ ผู้เข้าอ่านและร่วมแบ่งปันข้อมูลความรู้ให้กัน มาจัดทำเป็นหนังสือเอกสารเย็บเล่ม ผู้เขียนจึงร่วมทำเป็นรูปเล่มและเข้าปกให้สวยงาม ดูมีมาตรฐานและสะดวกแก่การหยิบอ่าน ได้ถึง ๒๔ เล่ม ทำให้สามารถจัดเป็นสื่อการเรียนรู้และเป็นเสมือนห้องสมุดเคลื่อนที่ผสมผสานอยู่ในเต๊นท์นิทรรศการ เป็นที่ได้รับความสนใจแก่ผู้คนทุกรุ่นวัยในการยืนและนั่งอ่าน ซึ่งเปิดมิติใหม่ๆของความเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ของคนหนองบัวได้เป็นอย่างน่าชื่นใจ

                       

                       

Nong Bua Learning Agenda Setting
by Community Dialogue Forum :
เชื่อมโยงการสื่อสารเรียนรู้และสร้างวาระการเรียนรู้
ด้วยเวทีเสวนาชาวบ้าน

นอกจากนิทรรศการจะมีกลุ่มผู้ชมและชาวบ้านชวนกันมาเดินชม พูดคุย รำลึกอดีต สอบทานความรู้และทบทวนความทรงจำ รวมทั้งนำเอาข้อมูลต่างๆของหนองบัวมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันแล้ว ด้านหน้าของเต๊นท์นิทรรศการ ก็จะจัดเป็นเวทีนั่งสนทนาพูดคุยกัน โดยช่วยกันเชิญชวนคนเฒ่าคนแก่ ผู้นำชุมชน และคนหนุ่มสาวหลายสาขาของหนองบัว โดยอาสาและนำการสนทนากันเองด้วยบรรยากาศของชาวบ้านหนองบัว เป็นที่สนใจของผู้คนที่มาเที่ยวงาน รวมทั้งมีปฏิสัมพันธ์กับคนผ่านทางอย่างใกล้ชิดเพราะต่างก็รู้จักคุ้นเคยกัน เมื่อหัวข้อและเรื่องราวใดมีผู้ใดรู้เรื่องก็จะนำตนเองมานั่งคุยอย่างได้อรรถรส ชายวัยกลางคนสวมเสื้อลายสีเหลืองน้ำตาลในภาพคือ ผู้ใหญ่หวั่น สกุลมี อดีตผู้นำชุมชนรอบเกาะลอย

นอกจากชาวบ้านหนองบัวและคนมาทำการงานดำเนินชีวิตอยู่ที่หนองบัวแล้ว นิทรรศการและเวทีคนหนองบัวที่เดินออกมาจากเว๊บล๊อก GotoKnow ก็ได้ต้อนรับอาคันตุกะผู้เป็นกัลยาณมิติทางการเรียนรู้ของสังคมหนองบัวที่เป็นผู้นำฝ่ายสงฆ์ ๒ รูป คือ ท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข) จากวัดศรีโสภณ พิษณุโลก และท่านพระอธิการโชคชัย เจ้าอาวาสวัดพรหมพิราม พิษณุโลก และเป็นฝ่ายปกครองของสงฆ์ในเขตภาคเหนือตอนล่างซึ่งชื่นชมวิถีชีวิตของคนหนองบัว พระคุณเจ้าทั้งสอง โดยเฉพาะท่านพระอาจารย์มหาแลนั้น มีส่วนสำคัญในการเป็นผู้สนับสนุนการริเริ่มจัดนิทรรศการในครั้งนี้ รวมทั้งเป็นผู้เชื่อมโยงให้ผู้คนหลายคนได้มาเจอกันกระทั่งได้คิดทำสิ่งต่างๆดีๆด้วยกันให้แก่ชาวหนองบัว

พระคุณเจ้าทั้งสองและชาวหนองบัวหลายสาขา รวมทั้งคนเก่าแก่ของหนองบัว ได้นั่งเสวนาชวนกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้คนที่เดินผ่านไปมา เป็นที่ได้รับความสนใจและสร้างบรรยากาศให้เทศกาลงานเจ้าพ่อเจ้าแม่มีมิติการเรียนรู้อย่างกลมกลืนอย่างยิ่ง เติมเต็มความงดงามที่หลากหลายของความเป็นชุมชนหนองบัวให้ชัดเจนและสัมผัสได้อย่างใกล้ชิด มากยิ่งๆขึ้น

                       

                       

สานสำนึกและเสริมสร้างพลังพลเมือง
ผ่านการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชีวิตจิตใจความเป็นหนองบัวหลากมิติ

อาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ (เสื้อเหลือง) ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ อาจารย์สืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ (เสื้อสีส้มแดงภาพล่าง) คุณเบิ้ม รัชทนงค์ โพธิ์พรหม (เสื้อลายสีฟ้าอ่อน) ผู้จัดการโรงงานของบริษัทเหมืองแร่ในหนองบัวและเป็นลูกหลานคนหนองบัว คุณฉิก ศักดิ์ศิริ พิทักษ์อำนวย ริมซ้ายของภาพล่าง กับอดีตผู้ใหญ่และผู้นำชาวบ้านของชุมชนหนองบัว ผู้ใหญ่หวั่น สกุลมี ป้าอี๊ด หรือป้าสาลี สายภู่ (เสื้อสีน้ำตาลนุ่งซิ่นกำลังพูดผ่านไมโครโฟน)  รวมทั้งลูกหลานคนหนองบัวซึ่งเกิดและเติบโตอยู่ในตลาดหนองบัวนับแต่ยุคที่เป็นชุมชนหมู่บ้าน ได้ล้อมวงนั่งเสวนากันเกี่ยวกับเรื่องราวของหนองบัวที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก เช่น ตำนานเรื่องราวการก่อเกิดเกาะลอย เพลงพวงมาลัยและเพลงพื้นบ้านซึ่งเต็มไปด้วยรหัสนัยเพื่อการเรียนรู้และสืบทอดระบบความคิดของชุมชนชาวหนองบัวจากรุ่นสู่รุ่น ประเพณีการกินดอง วัฒนธรรมการแห่นาคและอุปสมบทหมู่ การแห่เจ้าและไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่ หลวงปู่ฤาษีนารายณ์

หลอมรวมและร่วมสร้างโอกาสอันดีงามให้แก่ลูกหลาน

ผู้เขียนได้ไปร่วมงานพบปะสังสรรค์ของศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว รุ่นที่ ๑๔ ที่โรงเรียนหนองบัวด้วย ได้กราบคารวะคุณครูโสภณ สารธรรม อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัว ศิษย์เก่าหนองบัวรุ่นที่ ๕ และเป็นครูเก่าแก่ของคนหนองบัว รวมทั้งได้พบปะกับหมู่มิตรซึ่งเป็นครูและผู้บริหารสถานศึกษาหลายแห่ง ตลอดจนอาจารย์ทองสุข อยู่ศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน เขต ๒ จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองบัวและเป็นคนวัดเทพสุทธาวาส ซึ่งในงานนี้ อาจารย์สืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัว เจ้าบ้าน ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมจัดนิทรรศการครั้งนี้ ได้แสดงความสนใจต่อสื่อและแผ่นนิทรรศการ ตลอดจนข้อมูลความรู้ในนิทรรศการในการนำไปจัดเป็นแหล่งข้อมูลท้องถิ่นเพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นแก่ลูกหลานชาวหนองบัวและเยาวชนรุ่นใหม่ต่อไป

ผู้เขียนจึงถือโอกาสมอบชุดนิทรรศการ รวมทั้งหนังสือและสิ่งพิมพ์ที่ผู้เขียนกับที่ท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโยช่วยกันทำขึ้นทั้งหมด มอบให้แก่โรงเรียนหนองบัวเพื่อนำไปดำเนินการต่างๆตามเจตนารมณ์ต่อไป

นิทรรศการและเวทีการเรียนรู้ที่ช่วยกันจัดขึ้นจึงได้มีโอกาสร่วมเชื่อมโยงให้ระบบสังคมที่แยกย่อยอยู่ในท้องถิ่นได้เกิดปฏิสัมพันธ์และเสริมพลังสร้างสิ่งดีให้งอกงามไปด้วยกันอย่างเป็นทวีคูณ

เป็นตัวเชื่อมความรู้และสื่อการเรียนรู้ของสังคมในโลกไซเบอร์และสังคมออนไลน์ให้ปฏิสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่นหนองบัว ขณะเดียวกัน ก็เปิดเวทีชุมชนแห่งการเรียนรู้หนองบัว สานสำนึกคนหนองบัว เชื่อมโยงผู้คนหลากหลายสาขา หลากหลายรุ่นวัย ที่ผูกพันกับหนองบัวให้ได้เห็นและเรียนรู้เรื่องราวอีกเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับหนองบัวอันน่าภาคภูมิใจ.

หมายเลขบันทึก: 432926เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2011 19:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (36)

อาจารย์ครับ...

ผมอยากทำงานเเบบนี้ที่ปายจังเลยครับ

ผมจากบ้านมาทำงานเกือบทุกที่ เเต่ที่บ้านของผมเอง กลับไม่ได้คืนกำไรให้บ้านผมเลย หากเริ่มต้นแบบอาจารย์ทำแบบอาจารย์ ...อย่างน้อย น่าจะเป็น "คลังปัญญา" พลิกฟื้นบ้านเเละพัฒนาที่ปายได้

หนองบัว โมเดลชุมชน อยากมาซึมซับมาเรียนรู้ แต่ติดภาระกิจ ประกอบน้ำท่วมรอบสอง อ่วมอรทัยไปตามๆกัน

  • ดีใจแทนคนหนองบัวด้วยจังนะคะ
  • มาเยือนเหมือนมาชมงานศิลป์เลย
  • สร้างสรรค์จริงๆ 
  • ชื่นใจๆๆๆๆ

 

 

ที่นี่งานงิ้วขึ้นชื่อมากครับ อยากไปเที่ยวตั้งแต่เรียนมัธยมที่เพชรบูรณ์ จนบัดนี้ยังไม่ได้ไป อิอิ

สวัสดีครับคุณเอก จตุพร
งานนี้นี่ถ้าหากมีคุณเอกไปนั่งสนทนากับชาวบ้านในนามของคนปายและคนทำงานแนวนี้ละก็คงจะสนุกมากละครับ ได้บรรยากาศที่ดีมากครับ

สวัสดีครับเฒ่าวอญ่าครับ
หลังกิจกรรมนี้แล้ว นำเอาประสบการณ์มาถอดบทเรียนดู
ก็คงจะสามารถเรียบเรียงเรื่องราวต่างๆมาเล่าสู่กันฟังได้อีกเยอะครับ

สวัสดีครับคุณอุ้มบุญครับ
แล้วยิ่งมาบวกกับช่วงเทศกาลที่สำคัญอีก ๒ อย่าง คืองานงิ้วและงานบวชนาคหมู่
ซึ่งเป็นงานหลักของสังคมวัฒนธรรมชุมชนหนองบัวทั้งสองเรื่อง
ก็แทบจะทำให้ทั้งหนองบัวเป็นงานแสดงสดทางศิลปะ
ผู้คนและกิจกรรมต่างๆกลายเป็นองค์ประกอบทางศิลปะ
ที่เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงอย่างมีชีวิตไปได้อยู่ตลอดเวลาเลยเชียวละครับ

สวัสดีครับคุณบีเวอร์ครับ
เพิ่งทราบว่าคุณบีเวอร์เป็นนเพชรบูรณ์นะครับ
เพชรบูรณ์นี่ต้องถือว่าเป็นญาติของหนองบัวเลยกระมัง

ผมขอทดไว้ก่อนครับ ตอนนี้ผมกำลังจะกลับกรุงเทพฯ
เมื่อถึงที่พักที่กรุงเทพฯแล้ว จะเล่าเรื่องราวต่างๆให้ชาวหนองบัวและผู้อ่านเวทีคนหนองบัว
ได้เห็นและได้ทราบสิ่งที่น่าสนใจ รวมทั้งได้รู้จักผู้คนที่น่าทึ่งน่าประทับใจอีกเยอะเลยครับ

อาตมาขออนุญาตลาคุณครูวิกานดากลับพิษณุโลกเวลาประมาณยี่สิบนาฬิกา
หลังจากที่เสวนาเวทีย่อยๆกับชาวบ้านหลายเรื่องหลายราวสักสามชั่วโมงได้
ส่วนมากก็เป็นผู้ฟังซะมากกว่า(เพราะบางเรื่องก็เพิ่งได้ยิน)
ชาวบ้านพูดคุยได้อย่างเป็นธรรมชาติมาก เยี่ยมยอดจริงๆ
ประทับใจหลายเรื่องมากๆเลย
ถึงวัดสี่ทุ่มตรง
รายงานย่อๆแค่นี้ก่อน

นมัสการพระอาจารย์มหาแล...พระอาจารย์คงยิ้มแก้มปริกลับพิโลกไปเลยนะคะ..ด้วยอาการปลาบปลื้ม...

     ขอสะท้อนความรู้สึกจากบรรยากาศของเวทีคนหนองบัวที่ผ่านมาบอกได้เลยว่าทุกคนที่เข้ามาเรียนรู้ในเต๊นท์เวทีคนหนองบัว  คืนวันที่ 25 และ 26 มี.ค. 54 เขาจะแสดงออกด้วยสีหน้าแววตาที่อยากเล่าอยากบอกให้คนอื่นรู้เรื่องราวของชุมชนหนองบัวในอดีตที่แฝงไว้ด้วยความสามัคคี ประเพณีวัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่น่าเรียนรู้มากเพราะผมเฝ้าสังเกตผู้มาร่วมกิจกรรมทุกคนมาแล้วจะต้องนั่งเล่าเรื่องหนองบัวเท่าที่จำได้ล้วนเป็นเรื่องราวดีๆทั้งนั้น หากปัจจุบันเด็กและเยาวชนหนองบัวได้เรียนรู้ความเป็นมาของเรื่องราวในแต่ละเรื่องในท้องถิ่นหนองบัวของตนเองผ่านหลักสูตรท้องถิ่นที่คุณครูนำไปบรรจุไว้ในหลักสูตรท้องถิ่นในสถานศึกษาผมเชื่อว่าเด็กหนองบัวจะรักท้องถิ่นตนเองมากยิ่งขึ้น ขอขอบคุณ ดร.วิรัตน์ แทนคนหนองบัวด้วยใจจริงที่เสียสละทั้งแรงกาย และทุนของตนเองเพื่อแทนคุณแผ่นดินเกิดจะมีคนแบบนี้อีกกี่คนครับที่ทำเพื่อสังคมอย่างนี้

กลับถึงวัดแล้วรีบบันทึกความทรงจำ

เีรียนท่านพม.แล เจริญพร ดร.วิรัตน์ และชาวหนองบัวทุกท่าน

นิทรรศการดูเรียบง่าย และยังได้เสียงตอบรับดีมาก สำนึกรักท้องถิ่น จริงๆ 

เจริญพรขอบพระคุณโยมอาจารย์ และญาติโยมชาวหนองบัวทุกท่านที่ให้การตอนรับ...

กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ

ต้องขอกราบนมัสการน้อมคารวะและแสดงความประทับใจต่อพระคุณเจ้าและท่านพระอธิการโชคชัยมากอย่างยิ่งนะครับ ท่านพระอธิการโชคชัยนั้นเป็นวิทยากรคุยทางสื่อกับชุมชนได้ดีมากเลยนะครับ ผมนั้นทั้งตื้นตันใจแทนสังคมที่มีพระสงฆ์มีน้ำใจต่อสังคมในเรื่องอย่างนี้ ทั้งงดงามและเป็นกำลังทางปัญญาให้กับชาวบ้านที่มีความหมายจริงๆครับ ผมดีใจที่ได้ร่วมริเริ่มและทำกิจกรรมอย่างนี้ร่วมกับพระคุณเจ้ากับทุกท่านมากครับ มันได้ผลโน้มนำสิ่งดีให้มาประกอบเข้าด้วยกันและส่งเสริมให้เกิดความเคลื่อนไหวที่ดีๆเกิดขึ้นในหนองบัวได้อย่างกว้างขวางเกินความคาดหมายมากจริงๆ

สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก
ชาวหนองบัวนั้นต้องรำลึกถึง
และขอบคุณน้องคุณครูอ้อยเล็ก
อีกคนหนึ่งด้วยนะครับ

สวัสดีครับอาจารย์พนมครับ
แต่เดิมนั้น ผมก็ทึ่งและชื่นชมอาจารย์มากอย่างยิ่งนะครับ
ทั้งในความเป็นคุณครู ความเป็นคนดีที่ชาวบ้านยกย่อง
ความเป็นมิตรผู้เอาธุระและใส่ใจต่อสิ่งต่างๆของสังคมท้องถิ่นและของสังคมวงกว้าง
ความเป็นคนมีอุดมการณ์
แต่เมื่อได้มีโอกาสแวะไปยี่ยมโรงเรียนของอาจารย์ ระหว่างที่กำนันวิรัตน์ บัวมหะกุลและคณะกรรมการจัดงานงิ้วได้บอกว่ารอไปจัดนิทรรศการช่วยกันตอนเย็นๆดีกว่า รวมทั้งได้เห็นความเสียสละทุ่มเทช่วยงานของคนหนองบัวหลายเวทีอย่างไม่รู้เอาพละกำลังและความเก่งกาจไปทุกด้านมากจากไหน ได้อย่างงดงามไปหมดของงานนี้แล้ว ก็ต้องทึ่งและชื่นชมยกย่องอาจารย์มากเข้าไปอีก

ตอนที่อาจารย์กับอาจารย์ป๋องครูฝึกขบวนเอ็งกอของเจ้าพ่อเจ้าแม่พาชาวบ้านเดินดูนิทรรศการพร้อมกับคุยถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆของหนองบัวไปด้วยกันนั้น ช่างเป็นภาพความมหัศจรรย์มากจริงๆเลยละครับ เป็นคอนเสิร์ตและมหรสพทางปัญญา ที่ส่งให้เด็กๆในท้องถิ่นและชาวบ้านมีความสง่างามน่าตื่นตาตื่นใจจริงๆละครับ นับถือ นับถือ

กราบนมัสการท่านพระอธิการโชคชัยครับ
พระคุณเจ้ามีทุนทางสังคมในแนวทางนี้ดีมากอย่างยิ่งเลยนะครับ
ซาบซึ้งน้ำใจและการให้เมตตาต่อชาวหนองบัว
ไปเยี่ยมเยือนและร่วมสานเสวนากันในครั้งนี้
มากเลยนะครับ ได้ทำไปตามกำลังและเรียนรู้สิ่งดีๆ
ด้วยกันเยอะเลยนะครับ

พี่วิรัตน์คะ  ขอแก้ไขข้อมูลด้วยค่ะ  ครูวิกานดา บุญเอก  เป็นครูกลุ่มสาระการเรียนรู้       การงานอาชีพและเทคโนโลยี กลุ่มงานธุรกิจ แต่ทำงานฝ่ายการเงินคู่กับครูสุนันท์  จันทร์ดิษฐ  ค่ะ   เดี๋ยวอีกสักครู่จะเข้ามาเล่าความรู้สึกประทับใจในนิทรรศการด้วยนะคะ 

สวัสดีจ้าคุณครูวิกานดา ครูน้อง
แก้ไขให้ถูกต้องโดยพลันแล้วครับผม
ขอบใจมากจ้า หายเหน็ดเหนือยกันแล้วใช่ไหม
ขอบคุณน้องๆ และคนรุ่นใหม่ๆของหนองบัว
ที่มาช่วยกันอย่างมากมายในครั้งนี้นะครับ

 

กราบนมัสการกราบเรียนท่านพระอาจารย์มหาแล
และเรียนกลุ่มน้องๆลูกหลานช่างว่อนกับเพื่อนๆของคุณเสวก ใยอินทร์
ที่นำเอามีดของช่างว่อนกับพริกเกลือไปให้ร่วมจัดนิทรรศการ

หนังสือของพระคุณเจ้าทั้งหมด และมีดของช่างว่อน ผมได้มอบให้โรงเรียนหนองบัวไปจัดเป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นนะครับ มีดของช่างว่อนนั้น ผมได้แจ้งแก่คุณครูของโรงเรียนว่า ช่างว่อนนั้นหาชีวิตไม่แล้ว เพราะฉนั้น มีดของช่างว่อนก็จะเป็นของหาคนทำไม่ได้และเป็นของหายาก จึงขอให้ยังคงเป็นสมบัติของลูกหลานช่างว่อนที่โรงเรียนนำเป็นจัดแสดงเพื่อเป็นการศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและความเป็นหนองบัวในอีกมิติหนึ่งไว้นะครับ

เรียน อาจารย์ อาจารย์พระมหาแล  และทุกท่าน

  • แวะมาชื่นชมด้วยครับ  เสียดายไม่ได้เข้าร่วมด้วย
  • เห็นบรรยากาศแล้วอบอุ่นจัง....
  • ยินดีกับความสำเร็จนี้ครับ

*พี่ใหญ่มาแสดงความยินดีในผลสำเร็จของการจัดงานครั้งนี้ที่ได้ติดตามมาตั้งแต่ต้น..ขอให้กำลังใจในการขับเคลื่อนต่อยอดสู่เป้าหมายที่คาดหวังไว้ทุกประการค่ะ..

*นิทรรศการบ่งชี้รูปธรรมที่ชัดเจนในความหมายและคุณค่าของกิจกรรมแห่งประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นและร่องรอยที่อาจสานต่อสู่ความยั่งยืน..เป็นแบบอย่างการจัดงานรวมพลังที่น่าสนใจค่ะ..

  • ภาพคุณอนุกูล วิมูลศักดิ์ค่ะ ถ่ายด้วยมือถือเลยไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ (ฝากลบกล่องนี้ด้วยค่ะเมื่อดึงภาพไปใช้แล้ว)

                             

          

กราบเรียน พระอาจารย์ มหาแล พระอธิการโคชัย

สวัสดี ดร.วิรัตน์ ผอ.พนม รองสืบศักดิ์ คุณฉิก และเพื่อน พี่น้องชาวหนองบัวทุกท่าน

         เนื่องจากในงานงิ้วที่อ.หนองบัว ทางคณะผู้จัดทำนิทัศการ เวทีคนหนองบัว ผมต้องขอโทษด้วยทีแรกผมก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นจริงเป็นจังขนาดนี้

จึงไปร่วมงานล่าช้ามากต้องขอโทษจริงๆ พอไปถึงเห็นผลงานและรูปที่ติดไห้ดูผมอึ้งไปชั่วขณะภาพที่เห็นช่างชวนไห้นึกถึงอดีตความหลังในความทรงจำ

ไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรม ภาพในอดีต และประเพณีต่างๆ ดูแล้วบอกว่าใช่เลย ทุกคนทำได้ดีมากผมขอปรบมือให้และชื่นชมอย่างจริงใจ ปีหน้าขอให้มีอีก

อย่าให้จบแค่นี้ ต้องมีให้เหมือนรุ่น 14 ที่จัดพบปะกันทุกปี และต้องขอขอบคุณ พระอาจารย์ มหาแล พระอธิการโคชัย ดร.วิรัตน์ ผอ.พนม รองสืบศักดิ์ คุณฉิก

และเพื่อนๆทุกคน ที่ทำให้งานจบลงด้วยดี ผมขอแก้ตัวครั้งหน้าครับ 

     และสิ่งที่ทำให้ผมถึงกับขนลุก ขอพูดถึงเรื่องส่วนตัวหน่อยนะครับ ตอนเย็นของวันที่ 26 มี.ค. ผมได้พูดคุยกับ ดร.วิรัตน์ อยู่พอดีท่านได้แนะนำตัวคุณแม่

ให้ผมรู้จักก็ได้ถามไถ่เรื่องราวต่างๆ ผมก็ได้แนะนำตัวเองว่าผมเป็นลูกช่างกลีบ ช่างซ่อมปืนในตลาดหนองบัว ท่านได้ยินและได้แสดงความดีใจและได้

บอกกับผมว่าผมกับ ดร.วิรัตน์เป็นญาติกัน ผมก็เป็นงงอยู่ เพราะพ่อก็ไม่เคยเล่าให้ฟังเลย ท่านก็บอกว่า ช่างกลีบ บ้านเดิมอยู่ที่ บ้านหนองหัวโพธิ์ จ.สระบุรี

ซึ่งทางแม่ของ ดร.วิรัตน์ ก็ย้ายมาจากที่นั่น คุณพระช่วยผมกับ ดร.วิรัตน์ เป็นญาติกัน ผมเรียนกันมาตั้งแต่ มศ1-มศ3 ก็รู้แค่เป็นเพื่อนกัน แต่ถ้าวันที่ 26 มี.ค.

ถ้าผมไม่ไปงานนี้ ผมคงไม่รู้ว่าผมเป็นญาติกัน แต่จริงๆแล้ว ผมไม่ได้อยากเป็นญาติกับคำว่าเขาเป็น ด๊อกเตอร์ แต่ผมดีใจที่ผมเป็นญาติกับคนที่ชื่อ

 วิรัตน์ คำครีจันทร์  ที่เป็นคนดีที่ ติดดิน ตั้งใจทำงานและทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเสมอมา และขอปรบมือตังๆให้อีกครับผม

 

สวัสดีครับคุณช้างน้อยมอมแมมครับ
งานนี้แสนเสียดายที่ขาดมือดีอย่างคุณช้างน้อยมอมแมมและคุณกานต์ไป เลยขอหักคอลากเอาอาจารย์ณัฐพัชร์จากเวทีเวิร์คช็อปแผนงาน สอส.ของคุณกานต์ไปได้ ๑ คน แต่ก็ช่วยได้มากเป็นอย่างยิ่ง ต้องทำท่าลิเกป้องปากแอบบอกสักหน่อยว่าถึงกับทุ่มทุนสร้างซื้อกล้องตัวใหม่แทนการเอาตัวเก่าไปซ่อมเลยทีเดียว

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ
สนุกมากครับพี่ใหญ่ครับสื่อสิ่งพิมพ์จากมูลนิธิสยามกัมมาจลที่ทำให้เครือข่ายโรงเรียนเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งที่ถอดบทเรียนให้กับโรงเรียนบ้านหนองไผ่ของอาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ก็ช่วยสื่อสารเพื่อการเรียนรู้สิ่งที่มีอยู่ในตนเองของชุมชนหนองบัวได้มากอย่างยิ่งครับ อาจารย์พนมกับผมเอาไปจัดแสดงและได้รับความสนใจจากผู้คนดีมากเชียวครับ

ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์มากเลยละครับ
ทั้งที่นำรูปมาให้ใช้และที่ได้ไปช่วยกันจัดกิจกรรมในครั้งนี้ให้แก่ชาวหนองบัว
มีความสุขจากการได้เดินถ่ายรูปขบวนแห่และได้อยู่ในเหตุการณ์ทุกขั้นตอนของเทศกาลอย่างใกล้ชิดเลยนะครับ

สวัสดีครับเบิ้ม : รัชทนงค์ โพธิ์พรหม

ผมก็ประทับใจเพื่อนๆและอีกหลายฝ่ายของหนองบัวมากเลยนะ ไม่คิดเหมือนกันว่าจะทำกันได้มากมายและออกมาดีอย่างนี้ มันเป็นการช่วยกันทำหมุดหมายและวางอิฐก้อนแรกเพื่อนำไปสู่การริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งต่างๆต่อไปกันได้อีกมากมายเลย หากไม่ได้ไปทำในปีนี้ก็เชื่อว่ายากที่ปัจจัยทุกอย่างจะส่งเสริมเกื้อหนุนกันได้มากขนาดนี้ เบิ้มและเพื่อนๆ รวมทั้งพี่ๆน้องๆที่บอกต่อๆกันและมาช่วยกัน รวมไปจนถึงไปร่วมนั่งเสวนาสร้างบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้อย่างสนุกสนานนั้น ต้องปรบมือให้มากๆเลยทีเดียว

เบิ้มร้องเพลงลูกทุ่งเพราะและได้อารมณ์เพลงลูกทุ่งมากเลยว่ะ งานพบปะสังสรรค์กันในหมู่เพื่อนๆรุ่นที่ ๑๔ ก็เยี่ยมมากเลย เสียดายมากที่อยู่ไม่ได้นาน รวมทั้งมีงานอยู่ข้างหลังอีกมากมายหลายอย่างเลยไม่ได้อยู่ปล่อยแก่กับเพื่อนๆให้เต็มที่สักหน่อย เสียดาย

งานนี้ทำให้ได้ความประทับใจเกินความคาดหวังมากมายหลายอย่าง

  • ได้รู้จักกลุ่มชาวบ้านที่มีภูมิปัญญาและมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆของหนองบัวที่ไม่เคยทราบกันมาก่อนหลายคน ได้รวบรวมข้อมูลเรื่องราวเกี่ยวกับเกาะลอยและเรื่องราวหลวงปู่ฤาษีนารายณ์ เรื่องราวว่าเหตุใดหนองบัวขาดแคลนน้ำ มีน้ำซึมบ่อทรายให้ได้ดื่มกินและใช้สอยได้ตลอดแต่ก็ไม่มาก ได้รู้ความหมายและภาพสะท้อนของสังคมที่อยู่ในเพลงมาลัยของหนองบัว ได้รู้เรื่องราวของประเพณีคู่ดอง
  • ได้รวบรวมสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นจากการจัดนิทรรศการไปมอบให้แก่โรงเรียนหนองบัวเพื่อลูกหลานคนหนองบัวของเรา
  • ได้ทำหมายเหตุความทรงจำด้วยการทำงานเพื่อถิ่นฐานบ้านเกิดกับเพื่อนๆพี่น้องคนหนองบัว เอาไว้คิดถึงและเป็นพลังชีวิตในกาลข้างหน้า
  • ได้เจอญาติจากเพื่อนอย่างที่คุณเบิ้ม: คุณรัชทนงค์บอก ผมแนะนำเบิ้มให้รู้จักแม่ผม และเป็นธรรมดาที่คนเมื่อก่อนเมื่อเจอเด็กๆในถิ่นที่อันเป็นบ้านเกิดเดียวกัน เขาก็จะถามถึงพ่อแม่ว่าเป็นลูกเต้าและเทือกเถาเหล่ากอใคร ครั้งนี้ก็เช่นกัน แม่ผมก็ได้ถามว่าเบิ้มเพื่อนผมเป็นลูกใคร พอแม่รู้ว่าเป็นลูกช่างกลีบ แม่ก็ลุกขึ้นจากการนั่งเก้าอี้ แล้วก็บอกผมกับเบิ้มว่านี่เป็นญาติกันน่ะ ตากลีบกับญาติพี่น้องทางตายายของผมนั้นเป็นญาติพี่น้องกันที่บ้านหนองหัวโพธิ์ จังหวัดสระบุรี ดูเถอะ เรียนมัธยมมาด้วยกันแล้วก็เป็นเพื่อนกันมาจนเกือบจะแก่ล้มหายตายจากกันไปแล้วก็เพิ่งจะได้รู้จากสังคมรอบข้างนี่เองว่าเราเป็นญาติพี่น้องกัน
  • เชื่อว่ามีเรื่องราวในสังคมอีกเป็นจำนวนมากที่กระบวนการเรียนรู้ทางสังคมเข้าไปไม่ถึงซึ่งกทำให้การเห็นตนเองของชุมชนหายไป จึงนับว่าเป็นความโชคดีที่พวกเราชาวหนองบัวได้ทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาด้วยกัน

สวัสดีค่ะอาจารย์วิรัตน์

  • ทายาทช่างว่อนที่ติดตามข่าวสารเวทีคนหนองบัว และบางครั้งก็เข้ามาร่วมพูดคุยกันในเวทีแห่งนี้ ทราบข่าวว่าจะมีเวทีคนหนองบัวในช่วงงานงิ้วที่เกาะลอยจึงนำมีดพกฝีมือดั้งเดิมของช่างว่อนมาฝาก ยังไม่พอยังนำพริกเกลือ ซึ่งเพิ่งเคยเห็น และได้ชิมในวันนั้นอย่างเอร็ดอร่อย ต้องขอขอบคุณลูกหลานช่างว่อนด้วยค่ะ .. (นำภาพมาจาก Clip vdo อาจจะไม่ชัดนักค่ะ)

 

          

         

         

         

สวัสดีค่ะ

แวะมาเยี่ยม มาอ่าน และเรียนรู้ทุกวันค่ะ

ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์และทุกท่านนะคะ

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

  • ขอบคุณรูปที่อุตส่าห์ดึงออกมาจากคลิปวิดีโอจนได้บ้างนะครับ
  • ขอบคุณทายาทและลูกหลานช่างว่อนด้วยครับ
  • คงมีโอกาสได้ไปขอคุยและถ่ายรูปเก็บไว้อีกนะครับ

สวัสดีครับพี่คิมครับ
ทำงานนี้แล้วก็พอจะประเมินกำลัง ประเมินขนาดของงานกันได้บ้างแล้วละครับ หากทำอย่างอื่นอย่างที่อยากทำกันอีกก็น่าจะเตรียมการและทำได้ลงตัวดีกว่าเดิมครับ ได้ประสบการณ์ดีมากเลยครับ 

นายเจ็น ศรสุรินทร์

อาจารย์วิรัตน์

ผมมีความภาคภูมิใจมากที่เห็นเวทีคนหนองบัวและเกิดพลังรักท้องถิ่นตนเองขึ้นมาทันที อาจารย์ทำได้ดีมากคนหนองบัวมาเห็นภาพและเรื่องราวในอดีดที่เป็นตัวตนที่แท้จริงของชาวหนองบัว ผมกำลังจะรวบรวมเรื่องราวเก่าๆที่คนรุ่นปู่ย่าตายายท่านสะสมไว้มาให้อาจารย์ได้นำเสนอผ่านเวทีคนหนองบัว

ครูเจ็น

สวัสดีครับอาจารย์เจ็นครับ ดีใจจังเลยครับที่ได้เห็นอาจารย์เข้ามา เหมือนกับตอนจัดนิทรรศการเลยละครับที่อาจารย์และภรรยาได้แวะเข้าไปคุยเรื่องราวต่างๆให้ฟังหลายอย่าง

  • ผมก็ดีใจมากเลยครับที่เวทีคนหนองบัวทำกันได้ขนาดนี้ ดูแล้วหนองบัวมีสิ่งต่างๆมากมายกว่าที่เคยได้ทราบและได้เคยรับรู้กันมาก่อนเสียอีกนะครับ
  • ผมก็กำลังทำเรื่องอื่นๆไปด้วยเช่นกันครับ ตอนนี้ได้บทเรียนเป็นอย่างดีว่าหากเขียนความรู้และรวบรวมเรื่องราวต่างๆไว้ ก็จะปรับปรุงวิธีนำเสนอและทำสื่อเป็นแผ่นนิทรรศการดีๆไปด้วยทีละเล็กละน้อย โดยมองการทำให้ได้ผลต่อเนื่องกันไปหลายๆอย่างว่า นอกจากจะจัดแสดงนิทรรศการในโอกาสต่างๆได้แล้ว ก็สามารถสะสมไปลงในแหล่งที่มีการสะสมสิ่งของเป็นพิพิธภัณฑ์ ให้สามารถมีสื่อเล่าเรื่องและช่วยจัดแสดงสิ่งของที่มีอยู่แต่เดิม ให้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ได้ดีกว่าเดิมไปด้วย  
  • ตอนนี้หนองบัวน่าจะทำงานด้านสร้างความรู้และพัฒนาการเรียนรู้ตนเองอย่างกว้างขวางด้วยวิธีที่ช่วยๆกันทำ ที่จะทำสิ่งต่างๆและดีๆได้อีกเยอะมากเลยครับอาจารย์

เรียน อ. วิรัตน์

ต้องขอโทษนะครับที่ห่างหายไปนานมาก นับตั้งแต่หลังจากการเสวนาในครั้งนั้น เหตุผลก็คือ ในปลายเดือนเมษายน ผมถูกแต่งตั้งให้เป็น "เว็บมาสเตอร์" จากเว็บไซต์ "กลุ่มเพื่อนคนรักหนัง" หรือเว็บ "ไทยซีน" (THAICINE) ซึ่งความจริงแล้ว ควรจะเรียกว่า "ผู้ดูแล" หรือ "แอดมิน" (ADMIN) มากกว่า ซึ่งหลังจากนั้นก็ตามมาด้วยกิจกรรมหรืองานอื่นที่เว็บไซต์เข้าไปเกี่ยวข้อง

ขณะเดียวกันเมื่อปลายปี พ.ศ. 2553 ผมก็มีทั้ง "เฟซบุค" (ที่ต้องกด "แอด") และได้สร้าง "แฟนเพจ" (กด Like อย่างเดียว) ออกมาต่างหาก ถึง 2 รายการเมื่อกลางปี โดยทั้งคู่จะลิงค์กับเว็บไซต์ดังกล่าวอยู่ ที่ผ่านมาก็ได้ลองผิดลองถูกจนเสียเวลาไปนานทีเดียว

จนล่าสุดเมื่อเย็นวันนี้ เมื่อผมได้เข้ามาอ่านบล็อกของ อ. วิรัตน์ อีกครั้ง ก็เลยไม่ลังเล โดยตัดสินใจเปลี่ยนเนื้อหาในแฟนเพจที่ลิงค์กับเว็บไซต์ 1 รายการ และย้ายเนื้อหาจากแฟนเพจเดิม เพื่อเอาไปสร้างเป็นแฟนเพจอันใหม่ (ซึ่งจะไม่มีการลิงค์กับเว็บไซต์)อีก 1 รายการ

* แฟนเพจที่เปลี่ยนเนื้อหา คือ NONG BUA Photo Archive (เดิมคือ KRU NU Cinematheque) จะเป็นรวมภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องกับอำเภอหนองบัวครับ ทั้งภาพส่วนตัว หรือภาพกิจกรรม บางภาพเคยถ่ายเป็นฟิล์มไว้และและเคยอัดไว้ ก็จะเอามานำเสนอครับ

* แฟนเพจ KRU NU Cinematheque "ครูนุ ภาพยนตร์สถาน" (ที่สร้างขึ้นมาใหม่ และจะไม่ลิงค์กับเว็บไซต์ดังกล่าว) จะเน้นเรื่องข้อมูลของภาพยนตร์ที่ได้อนุรักษ์ไว้ รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องครับ

ทั้ง 2 แฟนเพจในตอนนี้ กำลังปรับเปลี่ยน และเพิ่มเติมเนื้อหาอยู่ ซึ่งจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท