บันทึกความทรงจำชุมชน : เบื้องหลังการซ้อมและเตรียมขบวนแห่ของลูกหลานคนหนองบัว งานเทศกาลประจำปี ๒๕๕๔


เมื่อเย็นวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ผมไปเป็นวิทยากรเครือข่ายการวิจัยของศูนย์ส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชน ภาคเหนือ จังหวัดนครสวรรค์ พอเสร็จแล้ว ก่อนกลับกรุงเทพฯก็ได้เลยไปหาพรรคพวกที่หนองบัวเพื่อที่จะไปดูสถานที่และได้คุยกับคนที่จะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงช่วยกันทำนิทรรศการ ร่วมกับงานงิ้วหรือเทศกาลงานประจำปีเจ้าพ่อเจ้าแม่และหลวงปู่ฤาษีนารายณ์ของหนองบัว ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ ๒๔-๒๘ มีนาคม ๒๕๕๔ ที่จะถึงนี้ เพื่อช่วยกันทำให้เป็นโอกาสเรียนรู้และสร้างความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆของหนองบัวสะสมไปทีละเล็กละน้อย

                          Large_electricitygeneratornb 

ภาพวาดเกาะลอยในอดีตเมื่อกว่า ๔๐ ปีก่อน ปัจจุบันเกาะลอยที่อยู่ตรงกลางแอ่งน้ำไม่มีแล้ว แต่อาณาบริเวณโดยรอบของเกาะลอยก็ยังคงเป็นแหล่งจัดงานเทศกาลงานงิ้ว ไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่และหลวงปู่ฤาษีนารายณ์ของชุมชนหนองบัวอยู่อย่างสืบเนื่อง วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

                          

                         

พอไปถึงและได้เตรียมการต่างๆด้วยกันกับกำนันวิรัตน์ บัวมหะกุล กำนันตำบลธารทหารและเป็นลูกหลานคนหนองบัว เจ้าของโรงสีไฟศรีอุดม กับอาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ โรงเรียนที่สร้างคนสร้างอนาคตให้ลูกหลานคนหนองบัวแล้ว ก็ได้เห็นการซ้อมขบวนแห่สิงห์โต กระตั้วแทงเสือ และขบวนแห่ล่อโก๊ะ ของลูกหลานชาวไทยจีนหนองบัวและลูกหลานของคนหนองบัว อย่างขมักเขม้น

                      

                     

                     

                          

ผมเองเมื่อยังเด็กนั้น หลังจบประถมศึกษา ๔ ที่โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ที่บ้านตาลิน ไกลออกไปจากอำเภอหนองบัวในยุคที่ไปกลับต้องใช้เวลาเดินเท้า ๑ วันแล้ว ก็เรียนในโรงเรียนที่ตัวอำเภออีก ๒ แห่ง คืออยู่ที่ โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) หรือปัจจุบันคือโรงเรียนอนุบาลหนองบัว ซึ่งเป็นโรงเรียนประถม ๓ ปี และโรงเรียนหนองบัวหรือในชื่อเรียกของคนท้องถิ่นว่าโรงเรียนหนองคอก ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยม อีก ๓ ปี รวมเป็น ๖ ปี ก็ได้เป็นสมาชิกของวงดุริยางค์ของโรงเรียน ได้ร่วมซ้อมและร่วมขบวนแห่งานเทศกาลประจำปีเจ้าพ่อเจ้าแม่และหลวงปู่ฤาษีนารายณ์ของหนองบัวอยู่ทุกปี แต่เนื่องจากพอเลิกเรียนก็ต้องกลับบ้านซึ่งอยู่ไกลจากตัวอำเภอ ๖-๗ กิโลเมตร ในขณะที่การซ้อมอย่างนี้เขาซ้อมกลางคืน ผมจึงไม่เคยเห็นงานเบื้องหลังการซ้อมและการเตรียมตนเองของขบวนแห่อย่างนี้มาก่อนเลย อีกทั้ง เชื่อว่าแม้คนในตลาดหนองบัวเองอีกเป็นจำนวนมากก็คงจะไม่เคยเห็น

                      

                      

                      

                      

                      

                      

                      

บริเวณที่ซ้อมกันนี้ ใช้สถานที่เกาะลอยอันเป็นบริเวณจัดงานตรงหน้าศาลหลวงปู่ฤาษีนารายณ์ เด็กๆซ้อมกันอย่างเข้มข้น จริงจัง ทั้งหมดเป็นคนหนองบัว ครูฝึกก็เป็นคนหนองบัว อุปกรณ์ที่ใช้ซ้อมเป็นของเก่าที่แตกและผุพัง ผสมผสานกับของที่จัดหาไว้สำหรับการซ้อม ในวันแห่จริงจะเป็นของชุดใหม่และคุณภาพอย่างดี

                      

                      

                      

เด็กๆที่กำลังฝึกหัด ประกอบด้วยทั้งเด็กรุ่นเก่าและรุ่นที่เพิ่งเข้ามาใหม่ ทว่า ทั้งหมดอาสาตนเองเข้ามา ครูฝึกและผู้ใหญ่ที่ดูแลจะเปิดโอกาสเด็กทุกคนที่เดินเข้ามาขอเป็นผู้ร่วมขบวนแห่ต่างๆ ทั้งแห่สิงห์โต แห่ล่อโก๊ะ กระตั้วแทงเสือ หัวโต และอื่นๆ ได้ร่วมฝึกซ้อมและพัฒนาทักษะไปตามความถนัดของตนเอง ใช้เวลาฝึกซ้อมแต่ละปีมากกว่า ๑ เดือน และต้องสนับสนุนค่าใช้จ่ายมากกว่า ๑ แสนบาท

                      

การซ้อมจะกระจายกันออกไปซ้อมหลายแห่งในตัวอำเภอ เพราะหากอยู่ใกล้กันเสียงกลอง ล่อโก๊ะ และฉาบจะอึกกระทึกคึกโครมรบกวนกัน เด็กๆจะอดทนและพัฒนาทักษะได้เป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งมีจิตใจสู้มาก หากคนใดได้รับการคัดออกก็จะเสียใจและจะหาทางให้ผู้ใหญ่พากลับเข้ามาหัดจนได้ นับว่าเป็นกิจกรรมทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชนที่ก่อเกิดและสืบสานกันไว้ด้วยพลังจิตอาสาอย่างแท้จริง

                         

                         

                         

                       

เด็กๆที่มีทักษะสูงก็จะสามารถพัฒนาตนเองไปเล่นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงและต้องพัฒนาการเรียนรู้ในตนเองอย่างเข้มงวด เช่น การกระโดดและเล่นกายกรรมในขบวนแห่สิงห์โต การต่อตัวและแสดงกายกรรมบนที่สูง เด็กๆที่ยังอยู่ในวัยไม่พร้อม แต่มีความสนใจ ก็จะออกไปนั่งเฝ้าดูการซ้อมอยู่เป็นประจำ นับเป็นการถ่ายทอดกันระหว่างรุ่นของรุ่นพี่รุ่นน้อง

                        

เมื่อถึงวันแห่จริง ขบวนแห่อันน่าตื่นตาตื่นใจก็จะแห่ไปทั่วทั้งอำเภอหนองบัว เป็นที่ประทับใจต่อคนทั้งอำเภอ ลูกหลานหนองบัวที่จากบ้านไปอยู่ถิ่นอื่นและได้กลับบ้าน รวมทั้งต่อผู้คนจากทุกแหล่งที่แวะไปเยือนหนองบัวในห้วงเวลานี้ของทุกปี

                       

สังคมและสิ่งแวดล้อมทางด้านต่างๆมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในอนาคต กิจกรรมอย่างนี้ก็จะหาดูได้ยาก อีกทั้งวัฒนธรรมที่หล่อหลอมและเคลื่อนไหวไปบนวิถีชีวิตของชุมชนในลักษณะนี้ ก็จะหาสมาชิกรุ่นใหม่มาเรียนรู้และสืบทอดไว้ได้ยาก ภาพเหล่านี้จึงเป็นความงดงามและเป็นความทรงจำที่สะสมไว้อยู่กับชุมชนอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ แหล่งที่มีความงดงามของความแตกต่างหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมมากที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดนครสวรรค์และภาคเหนือตอนล่าง.


หมายเลขบันทึก: 431430เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2011 18:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

เบื้องหลังงานนี้ ยอมรับว่ารับประทานด่างไปหลายร้อยกิโลกรัมเลยแหละ ที่ว่ากินด่างไปเยอะแยะก็เพราะว่าบ้านอาตมานั้นอยู่ในตัวเมืองเลยก็ว่าได้ อยู่ในเมืองขนาดตกกลางคืนก่อนงานงิ้วหลายสัปดาห์ ช่วงหัวค่ำจะได้ยินเสียงการซ้อมขบวนแห่สิงโตทุกคืน แต่ก็แปลกไม่เคยไปดูการซ้อมเลยเหมือนกัน

น่าชื่นใจกับเด็กๆและผู้ใหญ่ผู้มีหัวใจอาสาทั้งหลายที่ยังช่วยกันสืบทอดงานงิ้ว
ขอบคุณผู้บันทึกเบื้องหลังการสร้างสรรค์จากชุมชน

*น่าชื่นชมการสืบทอดประเพณีท้องถิ่นดีๆนี้นะคะ..

*พี่ใหญ่เคยติดตามภาพข่าวประเพณีแห่เจ้าแม่กวนอิมประจำปีที่ จ.นครสวรรค์..ยิ่งใหญ่มากเช่นกัน..

ขอชื่นชมผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างกรรมดี

และผู้ใหญ่จิตอาสาที่สนับสนุน

ทุ่มเทฝึกซ้อมเยาวชนรุ่นใหม่

เห็นอย่างนี้แล้วเชื่อเหลือเกินว่า

กิจกรรมนี้ไม่หายไปแน่ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ เลยเป็นการบันทึกให้คนได้ทราบเบื้องหลังของความงดงามตระการตาว่าเป็นผลของความทุ่มเทและต้องใช้พลังการเรียนรู้อย่างมากมาย รวมทั้งเป็นการรวบรวมไว้ให้เด็กๆที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเป็นหนองบัว เมื่อโตขึ้นก็จะเป็นหมายเหตุความทรงจำให้ได้รำลึกถึงและเป็นพลังความดีงามของชีวิต เพื่อพึ่งตนเองและนำตนเองไปสู่สิ่งดีๆได้อยู่เสมอ

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ
ตั้งแต่ตรุษจีนต้นเดือนกุมภาพันธ์กระทั่งเดือนมีนาคม
นครสวรรค์และหนองบัวจะอยู่ในบรรยากาศของเทศกาลตรุษจีน
และขบวนแห่เทพเจ้า รวมทั้งสิ่งที่เคารพนับถือตลอดเลยละครับ

สวัสดีครับครูต้อยติ่งครับ
ความชื่มของครูต้อยติ่งต้องทำให้เด็กๆ ครูฝึก พ่อแม่ญาติพี่น้อง และชุมชน
ได้ความภาคภูมิใจมากเป็นอย่างยิ่งเลยละครับ

  • ตามมาเชียร์อาจารย์
  • งานของศูนย์ภาคเหนือเป็นอย่างไรบ้างครับ
  • เห็นการซ้อมแล้ว
  • ดีใจที่เมืองไทยมีเรื่องดีๆอีกมาก
  • อาจารย์สังเกตเห็นไหมครับว่า
  • ทำไมคนตีกลองและฉาบจะยืนแบบแยกขา
  • เอหรือจะได้ยืนนานๆๆ

งานของศูนย์ ศช.ภาคเหนือ เป็นการนำเอาความเคลื่อนไหวของงานด้านผู้สูงอายุมาศึกษาทบทวนและวิเคราะห์สภาวการณ์จากบทบาทการดำเนินงานของหน่วยงานและเครือข่ายของคนที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ก็มีอำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี  อำเภออวัชรบารมี จังหวัดพิจิตร และอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร

แต่ละแห่งก็มาด้วยกันกลุ่มละ ๕-๖ คน ทั้งจาก CUP : Contact Unit for Primary Care จากองค์กรท้องถิ่น จาก สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ จากสถานีอนามัย จากโรงพยาบาล รวมทั้งจากกองทุนและหน่วยสนับสนุนต่างๆ ซึ่งดูจากองค์ประกอบของกลุ่มที่มาทำงานข้อมูลและพัฒนาวิธีคิดต่างๆด้วยกันบนเวทีในครั้งนี้แล้วก็เห็นความสามารถบูรณาการในระดับแนวคิด การสร้างความเชื่อมโยง และการบูรณาการกันได้ในระดับดำเนินการหลายมิติ โดยเฉพาะด้านงบประมาณและทรัพยากร ด้านกำลังคนและเครือข่ายทำงานในพื้นที่ ด้านกิจกรรมที่ถือเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง

ในด้านการบริหารจัดการและการเกิดโครงสร้างเชิงระบบงานด้านผู้สูงอายุที่หลายฝ่ายมีประเด็นร่วมกันและเชื่อมโยงไปสู่การเตรียมสังคมไทยสู่ความเป็นสังคมผู้สูงอายุนั้น ดูจากประสบการณ์ที่นำมาแลกเปลี่ยนกันและการมองไปข้างหน้าที่จะทำงานให้เชื่อมโยงกันในระดับภาคเหนือตอนล่างนั้น ก็ยังอยู่ในช่วงของการต้องริเริ่มและเรียนรู้เพื่อนำการเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆไปด้วยอยู่อีกมากครับ ดูพื้นฐานของความเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้และการมีวิธีทำงานด้วยกันแบบเครือข่ายหลากหลายภาคีแล้ว ก็นับว่าเริ่มมีต้นทุนที่ดีมากครับ ศูนย์ สช.กับหน่วยสนับสนุนทางวิชาการและหน่วยให้การสนบัสนุนด้านทุนดำเนินการเริ่มเห็นภารกิจและลักษณะเฉพาะของ CUP ในการเป็นผู้สนับสนุนในของพื้นที่

กิจกรรมส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่ทำให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ รวมทั้งสะท้อนความเป็นงานเชิงนโยบายของหลายกระทรวงที่อยู่ภายใต้ พรบ.ผู้สูงอายุ  ปี ๒๕๔๖  ทั้งของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมฯ และกระทรวงมหาดไทย ผมเลยขอถือโอกาสย้ำแนวคิดแก่เวทีเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ การดำเนินงานเพื่อเตรียมสังคมไทยสู่สังคมสูงอายุนั้น ไม่ได้หมายถึงการทำงานจำเพาะกับผู้สูงอายุ อีกทั้งจะใช้ทรรศนะแบบเก่าที่มองว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มประชากรวัยพึ่งพิงนั้น ไม่ได้

ทว่า การดำเนินงานด้านผู้สูงอายุเพื่อสะท้อนลงสู่งานในชุมชนท้องถิ่นในการเตรียมสังคมสู่การเป็นสังคมสูงอายุนั้น เป็นการทำงานเพื่อรับมือแต่เนิ่นๆในการที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคมประชากรสู่การมีกลุ่มประชากรสูงวัยมากขึ้นและกลุ่มเด็กเยาวชนกับกลุ่มที่อยู่ในวัยแรงงงานและวัยเจริญพันธุ์จะลดลง ซึ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปทั้งในเชิงระบบและในรายละเอียดของการดำเนินงาน

ผู้สูงอายุกำลังจะไม่ใช่กลุ่มประชากรวัยพึ่งพิง แต่จะเป็นกลุ่มพลังที่ขับเคลื่อนวิถีการผลิตของสังคม วิถีบริโภค ตลอดจนระบบเศรษฐกิจสังคมในทุกมิติ สิ่งที่จะทำขึ้นมาขายและให้บริการในระบบตลาดจะต้องมองกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากยิ่งๆขึ้น ตำแหน่งงาน เทคโนโลยี และระบบปฏิบัติการต่างๆ จะขยายตัวรองรับบทบาทของสังคมผู้สูงอายุ เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนสังคมจะคุยกันเรื่องระยะเวลาที่คนทำงานจะกำหนดวัยเกษียณที่อายุเท่าใด แต่ ณ เวลานี้และในอนาคต ทุกสังคมกำลังมองไปยังวิธีพัฒนาระบบการศึกษา ตำแหน่งงาน และระบบสังคมเศรษฐกิจที่คนจะทำงานและเรียนรู้ไปตลอดชีวิตจนกว่าจะไม่ต้องการทำ สังคมผู้สูงอายุจึงเป็นที่มาของการมีงานทำและการมีบทบาททางด้านสาธารณะของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งพัฒนาการในอนาคตดังกล่าวนี้ จะไม่เพียงพอหากทำงานเพียงทำกิจกรรมผู้สูงอายุ ซึ่งเวทีก็ได้ให้ความสนใจและเกิดความคิดกว้างขวางมากยิ่งๆขึ้นกว่าเดิมมากละครับ

  • ข้อสังเกตของอาจารย์ว่าทำไมคนตีกลองและตีฉาบจึงต้องยืนแยกขานั้น ก็เนื่องจากใครที่ยืนแยกขาหรือขากางออกนั้น จะกระโดดอยู่บนยอดเสาในท่ากายกรรมต่างๆแบบขากางกว้างเกินไป
  • จะทำให้ต้องใช้เสาตั้งรับหลายเสา ซึ่งทำให้มีคนไม่พอ เลยต้องให้ตีฉาบกับตีกลองน่ะสิครับ
  • ฮา ช่างสังเกตนะครับอาจารย์

-สวัสดีครับ...

-เข้ามาอ่านเรื่องราวดี ดี ครับ..

-ขอบคุณที่เข้าไปเยี่ยม "เกษตรแนวศิลปะ" นะครับ..

สวัสดีครับคุณเพชรน้ำหนึ่งครับ
ศูนย์การเรียนรู้ เกษตรศิลปะ น่าสนใจดีมากเลยนะครับ

                        

หนังสือทำเองของท่านพระอาจารย์มหาแล ที่ท่านส่งไปให้ผมก่อนหน้านี้ ผมนำไปเข้าปก ๗ เล่ม เสร็จออกมาแล้วนะครับ ผมจะส่งไปที่หนองบัว เพื่อวางโชว์ในงานนิทรรศการ มีเรื่องราวของหลวงพ่อเดิม หลวงพ่ออ๋อย พริกเกลือของชาวบ้านหนองบัว และรูปวาดเกี่ยวกับวิถีชีวิตคนหนองบัว แบ่งเป็นหัวข้อย่อยๆ เป็นชุดความรู้และเรื่องราวของชุมชนท้องถิ่นที่น่าสนใจ ขนาดน่าอ่านดีครับ

 

ดูแววตา..และท่าทางของเยาวชนรุ่นใหม่ของชุมชนแห่งนี้

รู้สึกถึงความมุ่งมั่นมากนะครับอาจารย์

ผมมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่ง นะครับอาจารย์

สายเลือด ความรัก และสายใยของบรรพบุรุษนี่แหละครับ

เป็นแรงบันดาลใจชั้นยอดในการขับเคลื่อนพลังของชุมชนแห่งนี้

..ชุมชนคนหนองบัว

 

ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้นะครับ

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ
การที่สังคมและชุมชนมีทุนทางสังคมอย่างนี้อยู่
ก็ช่างเป็นแหล่งหล่อหลอมชีวิตจิตใจเด็ก
ให้ประสบการณ์ต่อสังคม และบ่มเพาะให้ได้เติบโตงอกงาม
ที่สะท้อนความเป็นสมาชิกของสังคมสู่ชีวิตจิตใจ
และความเป็นตัวเป็นตนของเด็กๆ
ที่มีพลังมากอย่างยิ่งเลยนะครับ

-สวัสดีครับอาจารย์...

-แวะมาเยี่ยมอีกครั้ง..ในวันศุกร์...

-วันนี้ไปคุยป่ารัง...ผิงไฟคลายหนาว..กับน้อง ๆ และเก็บผักมาฝากครับ...

 

สวัสดีครับคุณเพชรน้ำหนึ่งครับ
ดูเจ้าตัวเล็กๆรวมกลุ่มล้อมรอบกองไฟ
แล้วก็เหมือนกับจดจ้องเผาอะไรกินกันด้วยแล้ว
ก็ทำให้นึกถึงบรรยากาศตอนเด็กๆเมื่อครั้งอยู่บ้านนอกเลยครับ

เรียนอาจารย์วิรัตน์

ผมผ่านไปนครสวรรค์เป็นประจำ แวะมาส่งกำลังใจให้คนหนองบัวครับ

ส่วนมากจะแวะเข้าไร่ เข้านา ยังไม่ค่อยได้เข้าวัดครับ

เรียนเชิญอาจารย์ชมบันทึกเรื่อง คนทำนา นครสวรรค์ครับ

http://gotoknow.org/blog/supersup300/431414 ปัญหาจากเเปลงนานครสวรรค์

http://gotoknow.org/blog/supersup300/431375 เกษตรกรจากเก้าเลี้ยว

http://gotoknow.org/blog/supersup300/424672 คนหนุ่มเเห่งท่าตะโก ครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณต้นกล้าครับ
ฟังดูเหมือนเป็นคนคุ้นเคยพื้นที่นครสวรรค์
รวมทั้งหนองบัว มากเลยนะครับ
เลยก็ย่อมดีใจและรู้สึกซาบซึ้งใจ
ที่นำเรื่องราวดีๆมากฝากคนหนองบัวด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท