ใกล้เข้ามาทุกทีกับงาน มหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่ 3 (1-2 ธันวาคม 2549) ซึ่ง ผม ในฐานะหนึ่งในทีมที่ต้องจัดงานครั้งนี้ รวมทั้ง คณะทำงาน ซึ่ง สคส. มักพูดอยู่บ่อยๆ ให้ดูเหมือนมีทีมทำงานเยอะ ทั้งๆที่เรามีรวมๆกันแล้วไม่ถึง 20 คน
แต่งานระดับชาติเราก็จัดกันมาแล้วถึง 2 ครั้ง และครั้งนี้ดูจะยิ่งใหญ่กว่า 2 ครั้ง ที่ผ่านมา เพราะจาก 2 ปีที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากประชาชน หลายๆ หน่วยงาน ที่ให้ความสนใจร่วมงาน และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างกว้างขวางแล้วในสังคมปัจจุบัน
ผมในฐานะทีมจับภาพ ก็มีการเคลื่อนไหวงานด้านการจัดการความรู้อยู่หลายๆ ด้าน ล่าสุดเราได้ไปจับภาพ โรงเรียนพระมารดานิจจานุเคราะห์ ย่านถนนนวมินทร์ กทม. ซึ่งมีการการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยกระบวนการวิจัย ที่ใช้หลักการ ผู้เรียนสำคัญที่สุด โดยใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา ช่วยในการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน โดยสร้างนิสัยให้นักเรียนเป็นนักวิจัย
ทั้งยังมีกิจกรรมโครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่ง โรงเรียนได้อาศัยการสร้างสวนพฤกษศาสตร์ เพื่อส่งเสริมและปลูกฝังให้นักเรียนรู้จักอนุรักษ์พรรณไม้ต่างๆ ที่ปลูกบริเวณโรงเรียน มาเป็นสื่อประกอบการเรียนรู้ของผู้เรียนในวิชาต่างๆ
ซึ่งคณะผู้บริหารได้เห็นความสำคัญของโครงการ จึงทำสวนพฤกษศาสตร์ขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ และใช้เป็นห้องเรียนธรรมชาติ เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนักด้าน สิ่งแวดล้อมตามนโยบายของโรงเรียน
ผมได้ข้อมูลเบื้องต้นแล้ว จึงติดต่อไปทาง ดร. สมลักษณ์ สุเมธ รองครูใหญ่ของโรงเรียนพระมารดาฯ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ความว่ากิจกรรมนี้นับเป็นกิจกรรมหลักของโรงเรียนที่นักเรียนทุกคน ครูทุกคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนทุกๆคน ต้องเรียนรู้ร่วมกัน และทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในวันนั้น ผมได้รับทราบว่า จะมีโรงเรียนซางตาครู้สศึกษา โรงเรียนในเครือ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย
จึงขออนุญาต ดร. สมลักษณ์ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยในคราวเดียวกัน เมื่อไปถึงโรงเรียน ทีมจับภาพจาก สคส. ( แขก พี่หญิง และครูใหม่) พร้อมกันที่ห้องประชุม ดร. สมลักษณ์ ออกมาให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ไม่นานนักคณะครูจากโรงเรียนซางตาครู้สศึกษา กว่า 10 ท่าน ก็มาถึง
จากนั้น อาจารย์นันทา ชุติแพทย์วิภา ผู้ช่วยฝ่ายวิชาการ ก็เล่าถึงภาพรวมโครงการสวนพฤกษศาสตร์ ให้กับคณะครูจากโรงเรียนซางตาครู้สศึกษา และทีมจับภาพของเราฟัง อาจารย์เทพตรีชา ศรีคุณ ประธานกรรมการโครงการสวนพฤกษศาสตร์ของโรงเรียนได้ฉายภาพ Power Point ให้เห็นกิจกรรมได้ชัดเจนขึ้น หลังจากได้เห็นภาพรวมแล้ว มีการซักถามเกี่ยวกับโครงการกันพอสมควร ก่อนที่จะลงพื้นที่ดูสวนและพรรณไม้ต่างๆ รอบๆโรงเรียนในพื้นที่กว่า 52 ไร่ โครงการสวนพฤกษศาสตร์อาจารย์เทพตรีชา ศรีคุณ บอกว่า เป็นกิจกรรมร่วมของทุกคนในโรงเรียนที่เน้นให้นักเรียนเป็นผู้ดำเนินการ ครูเป็นผู้ช่วยเหลือให้คำแนะนำและสนับสนุน ผู้บริหารเป็นแรงผลักดัน และตัวโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชเป็นพี่เลี้ยง
ซึ่งอาศัยการใช้ประโยชน์จาก สวนพฤกษศาสตร์ ในด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ และวิชาอื่นๆ เช่น ภาษาไทย สังคมศึกษา พุทธศาสนา สุขศึกษา ศิลปะ การงานพื้นฐานอาชีพ คณิตศาสตร์ และอื่นๆ ซึ่งเป็นการบูรณาการให้เข้ากับกลุ่มสาระวิชาทั้ง 8 สาระวิชานั่นเอง โดยกิจกรรม ในการออกแบบการเรียนการสอนแต่ละวิชาก็จะแตกต่างกันไป นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ธรรมชาติด้วย
ซึ่งดำเนินงานโดยอาศัยหลัก 5 องค์ประกอบ
1. การจัดทำป้ายพรรณไม้ = บำรุงรักษาพรรณไม้
2. การปลูกพรรณไม้เพิ่มเติม = ปลูกพรรณไม้ที่น่าสนใจ เน้นพืชพรรณในท้องถิ่น และจัดทำแผนผังพรรณไม้ในโรงเรียน
3. การศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ = ทำการศึกษาด้านชีววิทยา สัณฐานวิทยา การขยายพันธุ์ การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น การบันทึกข้อมูล , การเก็บตัวอย่างพรรณไม้แห้ง , การเก็บตัวอย่างพรรณไม้ดอง
4. การเขียนรายงาน = เขียนรายงานด้านชีววิทยา นิเวศวิทยา และการใช้ประโยชน์ในเชิงคุณธรรม
5. การนำไปใช้ประโยชน์ = การเขียนรายงานแบบสหวิทยาการ “ค่ายวิชาการ” ,การบูรณาการในการเรียนการสอนกลุ่มสาระ 8 กลุ่มสาระ และการศึกษาวิจัยพืช “แคนา” ธรรมชาติแห่งชีวิต ทรัพยากรไทย : ประโยชน์แท้แก่มหาชน
หลังจากนั้นกิจกรรมการลงพื้นที่ดูพรรณไม้รอบๆโรงเรียน ซึ่งมีทั้งสวนสมุนไพร พืชสวน และไม้ใหญ่หลายชนิด รวมทั้งต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำโรงเรียนด้วย ทีมจับภาพของเราได้เดินดูพรรณไม้แยกกับกลุ่มโรงเรียนซางตาครู้สศึกษา
ซึ่งมีโอกาสได้คุยกับดร.สมลักษณ์ อาจารย์นันทา และอาจารย์เทพตรีชา รวมทั้งน้องๆ ที่มาให้การต้อนรับและให้ความรู้ ในกิจกรรมที่ทำต่ออีกมากมาย สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในโรงเรียนนี้ คือ สวนเอเดน ที่มีการจัดสวนให้นักเรียนเรียนเกี่ยวกับห้องเรียนธรรมชาติ ในสวนมีการจัดสวนได้เป็นระเบียบเรียบร้อย วันที่เราไปจับภาพได้ไปดูรอบๆสวนที่ประกอบไปด้วยแปลงสาธิต แปลงเพาะชำ สวนน้ำ สวนผักและพืชสวน ห้องเรียนธรรมชาติที่เป็นระเบียบเรียบร้อย
และบรรยากาศดีๆ รวมถึง บ่อบำบัดน้ำเสียภูมิปัญญาของคนสวนที่ไม่มีกลิ่นเหม็นส่งออกมารบ กวนแม้แต่น้อยผมแอบถามอาจารย์นันทา ว่าทำไมถึงไม่มีกลิ่นเลย ?อาจารย์นันทา บอกว่า เป็นภูมิปัญญาของคนสวนซึ่งเป็นชาวกระเหรี่ยง ซึ่งเขาใช้ถ่านไม้รองไว้ที่ก้นบ่อ รวมทั้งใช้ผักตบชวาช่วยกรองดักจับของเสียด้วย
แต่ที่น่าเสียดาย คือ วันนี้ไม่กิจกรรมที่นักเรียนต้องลงพื้นที่เรียนวิชาในห้องเรียนธรรมชาติเลย รวมทั้ง คนสวนก็ไม่อยู่ด้วย เลยไม่ได้พูดคุยกันในเชิงลึก เพราะอาจจะมีความรู้ต่างๆอีกมาก ทั้งในตัวชาวสวน และนักเรียนที่เรียนรู้จาก สวนเอเดน แห่งนี้
ในส่วนของน้องๆ ที่มาให้การต้อนรับ ค่อนข้างจะสนุก และให้ความสนใจกับผู้เข้าเยี่ยมชมมาก สังเกตจากการที่น้องๆ เข้ามาซักถามว่าอยากรู้เรื่องอะไรค่ะ ? และให้การอธิบายในกิจกรรม และผลงานที่โชว์อยู่อย่างชาญฉลาด
ผมขอรบกวนเวลาน้องๆ สัก 15 นาที เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับกิจกรรม ที่น้องๆ ซึ่งอยู่ชั้น ม.2 ทั้ง 4 คน โดยให้น้องๆเล่าเรื่องกิจกรรมที่ประทับใจ และกิจกรรมที่ทำสำเร็จ ซึ่งส่วนใหญ่บอกว่ากิจกรรมที่ทำส่วนใหญ่ล้วนเกี่ยวข้องกับสวนพฤกษศาสตร์ ซึ่งช่วยให้น้องๆ เกิดการทำงานเป็นทีม ทั้งการหาความรู้ การศึกษาเพิ่มเติม การวางแผน และการเรียนรู้เป็นระบบ จากกระบวนการวิจัย ซึ่งจะแฝงอยู่ในทุกรายวิชาอยู่แล้ว
ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันข้ามสายชั้น สำรับน้องๆ ม. 2 ที่เรียนรู้เรื่องการเขียนรายงานการวิจัย ก็มีการเรียนรู้จากรุ่นพี่ๆ และยังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในเรื่องการวิจัยพืชเพิ่มเติมอีกด้วย โดยได้ทดลองปฏิบัติกับรุ่นพี่ และยังมีโครงการถ่ายทอดความรู้ให้รุ่นน้องๆในเรื่องที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
ซึ่งน้องๆบอกว่า โดยรวมแล้ว กิจกรรมทำนั้นสนุก และน่าตื่นเต้น เพราะแต่ละคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า โรงเรียนค่อนข้างจะได้เปรียบที่เรามีพืชพรรณไม้ในโรงเรียนให้เราได้ศึกษาในโรงเรียน และได้ทดลองปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งยังมีการนำเสนอผลงานที่เราได้ทำด้วย ซึ่งโครงการสวนพฤกษศาสตร์มีให้เรียนตั้งแต่อนุบาล และพัฒนาระดับความยากขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้การเรียนนั้นน่าติดตามยิ่งเราทำได้ เราก็อยากรู้อีกว่า ต่อไปมันจะทำได้ไหม และยากแค่ไหน
การดูงานที่โรงเรียนครั้งนี้ คงไม่ใช่เป็นครั้งสุดท้าย เพราะในส่วนตัวผมเอง คิดว่ายังขาดองค์ประกอบอีกมากที่จะทำให้คนอื่นๆ เห็นภาพที่ชัดเจนในเรื่องการจัดการความรู้ ของโรงเรียนพระมารดานิจจานุเคราะห์ และจะนำมาเล่าต่อไปครับ