จิตวิทยาการเรียนรู้สำหรับครูเพื่อศิษย์ : ๗. ช่วยศิษย์ที่เรียนอ่อนอย่างไร


          หนังสือWhy don't students like school? เขียนโดยศาสตราจารย์ Daniel T. Willinghamผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการเรียนรู้แห่งมหาวิทยาลัย เวอร์จิเนียบททึ่ ๘ เรื่อง How Can I Help Slow Learners?  ถือเป็นตอนที่ดีที่สุดเท่าที่อ่านตั้งแต่บทที่ ๑ มาถึงบทที่ ๘ นี้

         คำตอบแบบฟันธง คือช่วยเอาใจใส่ ให้กำลังใจให้ศิษย์ที่เรียนอ่อนพากเพียรฝึกฝนตนเอง  และครูและวงการศึกษาทั้งมวล (รวมทั้งพ่อแม่)ต้องสร้างกระแสหรือกระบวนทัศน์ใหม่ในสังคม  คือกระบวนทัศน์หรือความเชื่อ ว่าสติปัญญาสร้างได้โดยการฝึกฝนอย่างมานะอดทน   และโดยการมี “โค้ช” ที่ดี และพ่อแม่และครูเพื่อศิษย์คือโค้ชที่ดี

         ความฉลาดเป็นทั้งสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด และสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่ใส่ตัวโดยการพากเพียรฝึกฝน  หรืออาจกล่าวว่า “อัจฉริยะสร้างได้”นั่นเอง   แต่สำหรับเด็กบางคน ต้องทำงานหนักฝึกฝนหนักกว่าคนอื่นจึงจะสร้างความอัจฉริยะให้แก่ตนเองได้  ครูเพื่อศิษย์มีหน้าที่ช่วยเป็นโค้ชแก่ศิษย์เรียนช้าเหล่านี้  และโดยการทำหน้าที่นี้ ครูจะได้เรียนรู้ cognitive epsychologyภาคปฏิบัติอย่างไม่รู้จบ

         เด็กจะต้องเชื่อว่า “ความฉลาดอยู่ในมือเรา”  ครูต้องช่วยยืนยัน ยกตัวอย่างเด็กรุ่นก่อนๆที่สมองด้อยกว่า   แต่การเคี่ยวกรำฝึกฝนตนเองช่วยให้เวลานี้เป็นผู้ใหญ่ที่มีชีวิตที่ประสบความสำเร็จสูงยิ่ง

         ครูเพื่อศิษย์ต้องมีไวยากรณ์หรือคำพูดที่ให้กำลังใจ ให้คุณค่าต่อความพากเพียรพยายาม ไม่ท้อถอย แก่ศิษย์ที่หัวช้า

         คนฉลาดคือคนที่เข้าใจความคิดที่ซับซ้อนและสามารถใช้เหตุผลหลากหลายแบบ  มีความสามารถเอาชนะอุปสรรค และสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์

         นิยามความฉลาดข้างบนนั้น เรียกว่า “ความฉลาดทั่วไป” (generalintelligence)  โปรดสังเกตว่า ความฉลาดทั่วไปเป็นคนละเรื่องกับพหุปัญญา (multiple intelligences) ของ Howard Gardner  โปรดอย่าเอามาปนกันจนก่อความสับสน

         จากผลการวิจัยจำนวนมากมาย สรุปได้ว่า ความฉลาดแบ่งออกเป็น ๒ ด้านคือด้านถ้อยคำ (Verbal Intelligence)  กับด้านคณิตศาสตร์(Mathematical Intelligence)   ที่ไม่สัมพันธ์กัน โดยที่ความฉลาดทั่วไป  ความฉลาดด้านถ้อยคำ และความฉลาดด้านคณิตศาสตร์มีความสัมพันธ์กันดังแสดงในแผนผังข้างล่าง

 


  
         คือหากความฉลาดทั่วไปมีจำกัด  ความฉลาดอีก ๒ชนิดก็จะจำกัดไปด้วย การฝึกฝนความฉลาดทั่วไปจะช่วยให้สามารถยกระดับความฉลาดด้านถ้อยคำและความฉลาดด้านคณิตศาสตร์ได้สูงขึ้น 

         หลักฐานที่แสดงว่าความฉลาดทั่วไปของมนุษย์เป็นสิ่งที่สร้างได้คือFlynnEffect 

         ปัจจัยสำคัญที่สุดคือความเชื่อ  ครูต้องทำให้ศิษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหัวเร็วหรือหัวช้า เชื่อว่าความฉลาดสร้างได้ด้วยความเพียร  เด็กที่หัวช้าก็เรียนรู้ได้เท่ากับเด็กหัวไวแต่อาจต้องใช้ความเพียรมากกว่า และหากรู้จักใช้ความเพียรสั่งสมความฉลาด ในอนาคตก็จะสามารถเรียนรู้สิ่งที่ยากขึ้นได้พอๆ กับเพื่อนๆที่หัวไว

         เคล็ดลับสำหรับครูเพื่อศิษย์คือการให้คำชม  จงอย่าชมความสามารถให้ชมความมานะพยายาม เพื่อทำให้สิ่งที่มีคุณค่าคือความมานะพยายาม คือความสำเร็จที่ได้มาจากความบากบั่นเอาชนะอุปสรรค จงอย่าชื่นชมความสำเร็จที่ได้มาโดยง่าย

         จงชื่นชมพรแสวงของศิษย์ ให้มากกว่าพรสวรรค์ 

         นี่คือสิ่งประเสริฐสุด ที่ครูจะพึงให้แก่ศิษย์ที่เรียนอ่อน เพราะในที่สุดเขาจะไม่ใช่เด็กที่เรียนอ่อนอีกต่อไป

         ครูต้องสร้างค่านิยมแก่ศิษย์ ว่าความล้มเหลวไม่ว่าในเรื่องใดๆรวมทั้งเรื่องการเรียน เป็นเส้นทางหรือถนนไปสู่การเรียนรู้และความสำเร็จ หากเราไม่ท้อถอยหรือยอมแพ้  

         ความยากลำบาก และความล้มเหลวคือธรรมชาติส่วนหนึ่งของการเรียนรู้  เป็นส่วนที่มีค่ายิ่งของการเรียนรู้

         คุณค่าของครูเพื่อศิษย์คือจะอยู่เคียงข้างและร่วมทุกข์ร่วมสุขกับศิษย์ที่เรียนอ่อนเสมอไม่ทอดทิ้ง  ไม่แสดงความท้อถอยที่จะช่วยโค้ชตามสถานการณ์

         หนังสือเล่มนี้ ลงรายละเอียดมาก ถึงขนาดแนะนำให้ครูจดรายการที่ตนขอให้เด็กแต่ละคนทำแบบฝึกหัดที่บ้าน ซึ่งหมายความว่า แบบฝึกหัดสำหรับศิษย์แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน

         สรุปได้ว่าครูช่วยศิษย์ที่เรียนอ่อนได้โดยแสดงความเชื่อในศิษย์ว่าสามารถเรียนรู้ได้ โดยไม่ใช่แค่แสดงออกด้วยคำพูด  แต่แสดงออกด้วยการกระทำแสดงแล้วแสดงอีกจนศิษย์เชื่อแน่ ว่าความเพียรคือหนทางสู่ความสำเร็จในการเรียนรู้  ผลจากการที่ครูช่วยศิษย์เรียนอ่อนตามแนวทางนี้จะเป็นคุณต่อศิษย์ไปตลอดชีวิต ในลักษณะเปลี่ยนชีวิตทีเดียว   

 

วิจารณ์ พานิช
๑๕ ก.พ. ๕๔ 
 
         
           
          
          
              


 

หมายเลขบันทึก: 428987เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2011 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2018 16:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • ผมเป็นคนหนึ่งที่คอยให้กำลังใจศิษย์ที่เรียนอ่อน
  • ความจริงผมสังเกตว่า นิสิตที่เรียนอ่อนในมหาวิทยาลัยหลายคน อาจจะอ่อนทางวิชาการ
  • แต่อาจมีความเก่งด้านที่ไม่ใช่วิชาการ เช่น คนหนึ่งชื่นชอบ,ฝึกฝนและเก่งด้านการเต้นเชียร์ลีดเดอร์ (ทั้งที่เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์)
  • เด็กที่เรียนทางวิทยาศาสตร์ ถ้าให้ไปแสดงความสามารถทางด้านเล่นละครเวที ก็สามารถทำได้ดี ไม่แพ้สถาปัตย์ฯหรือนิเทศศาสตร์
  • ทุกอย่างอยู่ที่การฝึกฝนหรือพรแสวง

ขอบคุณครับ อาจารย์หมอ ;)...

ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ

รู้สึกดีใจมากที่ได้เข้ามาอ่านบทความนี้

และดิฉันจะเชื่อว่าสร้างความฉลาดให้ศิษย์ทั้งหลายได้

..................ขอบคุณจริงๆ ค่ะ 

  ดิฉันเพิ่งเข้ามาอ่านบันทึกของท่าน เพราะเพิ่งสมัครเป็นสมาชิกบล็อก "gotoKnow" วันที่ 2 เมษายน 2554 (เวลาประมาณ ตี 2) หนังสือที่ท่านศาสตราจารย์ วิจารณ์ พานิชอ่านและหยิบสาระสำคัญมานำเสนอเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก ที่ครูอาจารย์ทุกคนในทุกระดับการศึกษาควรได้อ่านและนำไปเป็นแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนรู้และพัฒนาเด็กและเยาวชนในชั้นเรียนของตน ในยุคที่จะต้อง "จัดการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนทุกคนได้รับการพัฒนาให้ถึงขีดสูงสุดของศักยภาพของตน" ดิฉันเองเป็นครูคนหนึ่งที่ปฏิบัติในแนวทางดังกล่าว จึงขอเสนอข้อมูลเพื่อเป็นกรณีตัวอย่างหนึ่งในส่วนของผู้ปฏิบัติ ...ผู้บริหารในมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ดิฉันทำงาน มักจะพูดในที่ประชุมคณาจารย์ว่า "เราไม่ได้ปั้นดินแต่ปั้นทราย" ซึ่งหมายความว่า นักเรียนที่มหาวิทยาลัยรับเข้ามามีพื้นฐานทางสติปัญญาและความสามารถทางวิชาการต่า และดิฉันก็ได้ยินอาจารย์หลายๆ ท่านพูดถึงนักศึกษาโดยรวมว่า "เอามือโบกผ่านหน้าตายังไม่กระพริบ" ดิฉันได้ยินทีไรก็รู้สึกไม่สบายใจทุกที สำหรับตัวดิฉันเองมีโอกาสได้สัมผัสนักศึกษาแทบทุกสาขาวิชาจากทุกคณะ ในวิชา "พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน" ซึ่งเป็นวิชาศึกษาทั่วไปที่ฝ่ายหลักสูตรฯ จัดให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขาวิชาลงทะเบียนเรียนในชั้นปีที่ 1-2 ดิฉันมีความเชื่อพื้นฐานว่า "นักศึกษาทุกคนพัฒนาได้ถ้าอาจารย์ได้ใช้กลวิธีที่เหมาะสม" ดิฉันได้จัดการเรียนรู้ในวิชาดังกล่าวด้วยกระบวนการวิจัยชั้นเรียนมาตั้งแต่ปี 2544 โดยเริ่มจากการให้นักศึกษาแต่ละคนกรอกข้อมูลพื้นฐานรวมถึงความรู้และเจตคติต่อสาขาวิชาและสถาบันที่ตนเข้ามาเรียน และทดสอบเพื่อวัดทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้ในการเรียนรู้เพื่อช่วยให้อาจารย์รู้พื้นฐานของผู้เรียนรายบุคคล และนำไปเป็นข้อมูลในการจัดกลุ่มเรียนรู้แบบร่วมมือในกลุ่มย่อย ในกิจกรรมการพัฒนาตนนั้นดิฉันเน้นการพัฒนาความเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนและทักษะการเรียน เพราะทั้งสองสิ่งเป็นคุณลักษณะ/ทักษะที่จำเป็นในการเรียนในยุคสังคม-เศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based society and economy) ซึ่งผู้เรียนต้องเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง (Self-directed) กิจกรรมภาคปฏิบัติอย่างหนึ่งคือ ให้นักศึกษาวางแผน ดำเนินการ และรายงานการพัฒนาตนเองด้านการเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบนำตนเอง เพราะจากรายงานการติดตามผลบัณฑิตทุกรุ่นจากปี 2544 ถึงปัจจุบัน นักศึกษาโดยรวมชี้ว่า ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษเป็นความสามารถพิเศษที่ตนได้ใช้ประโยชน์ในการสมัครงานและการทำงานมากเป็นอันดับสองรองจากทักษะทาง IT แต่บัณฑิตและผู้จ้างงานประเมินว่าบัณฑิตมีทักษะดังกล่าวในระดับต้องปรับปรุง ดิฉันเริ่มกระบวนการพัฒนาโดยให้นักศึกษาทำการทดสอบเพื่อกำหนดเส้นฐานทักษะภาษาอังกฤษของตนก่อนการพัฒนา ซึ่งนักศึกษาทุกหมู่เรียน ประมาณ ร้อยละ 90-98 จะมีทักษะในระดับควรปรับปรุง และควรปรัยปรุงอย่างยิ่ง ที่เหลืออยู่ในระดับพอใช้ ต่อจากนั้นดิฉันจะกระตุ้น "แรงจูงใจในการเรียนรู้ (Motivation to Learn)" โดยเน้นองค์ประกอบของแรงจูงใจด้าน "การเห็นคุณค่าเห็นประโยชน์ (Value)" และด้าน "ความเชื่อในความสามารถของตนเอง (Self-efficacy Belief)" ว่าจะพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษได้  แล้วจึงให้แต่ละคนกำหนดเป้าหมายในการพัฒนา เลือกแนวปฏิบัติในการพัฒนา ดำเนินการพัฒนา และรายงานกิจกรรมการพัฒนาพร้อมหลักฐาน/ร่องรอย และดิฉันก็จะสอบวัดทักษะเพื่อนำไปเทียบกับเส้นฐานก่อนการพัฒาของแต่ละคน ในการกระตุ้น "Self-efficacy Belief" นั้น ดิฉันได้ให้นักศึกษาดูวีดิทัศน์กรณีตัวอย่างนักศึกษาสถาบันราภัฏสวนดุสิตที่มีอาการ Down' s Syndrome แต่สามารถเป็นที่พึ่งด้านการเรียนภาษาอังกฤษให้กับเพื่อนๆ ที่มี IQ ปกติ (ดิฉันบันทึกจากรายการ "ตีสิบ" เป็นวีดิทัศน์ด้วยตนเอง โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ส่วนตัว ซึ่งผลิตสื่อโดยวิธีนี้มาตั้งแต่ปี 2540) อนึ่ง ดิฉันบอกกับนักศึกษาทุกหม่เรียนในทุกรายวิชาว่า ครูชื่นชมคนที่มี "พรแสวง" มากกว่าคนที่มี "พรสวรรค์"  เพราะอย่างหลังเรากำหนดเองไม่ได้ แล้วแต่พ่อแม่จะให้มา

   ท้ายนี้ ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์หมอมากค่ะ ที่นำเสนอสิ่งดีๆ ให้อ่าน   

      

ดิฉันเพิ่งเข้ามาอ่านบันทึกของท่าน เพราะเพิ่งสมัครเป็นสมาชิกบล็อก "gotoKnow" วันที่ 2 เมษายน 2554 (เวลาประมาณ ตี 2) หนังสือที่ท่านศาสตราจารย์ วิจารณ์ พานิชอ่านและหยิบสาระสำคัญมานำเสนอเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก ที่ครูอาจารย์ทุกคนในทุกระดับการศึกษาควรได้อ่านและนำไปเป็นแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนรู้และพัฒนาเด็กและเยาวชนในชั้นเรียนของตน ในยุคที่จะต้อง "จัดการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนทุกคนได้รับการพัฒนาให้ถึงขีดสูงสุดของศักยภาพของตน" ดิฉันเองเป็นครูคนหนึ่งที่ปฏิบัติในแนวทางดังกล่าว จึงขอเสนอข้อมูลเพื่อเป็นกรณีตัวอย่างหนึ่งในส่วนของผู้ปฏิบัติ ...ผู้บริหารในมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ดิฉันทำงาน มักจะพูดในที่ประชุมคณาจารย์ว่า "เราไม่ได้ปั้นดินแต่ปั้นทราย" ซึ่งหมายความว่า นักเรียนที่มหาวิทยาลัยรับเข้ามามีพื้นฐานทางสติปัญญาและความสามารถทางวิชาการต่า และดิฉันก็ได้ยินอาจารย์หลายๆ ท่านพูดถึงนักศึกษาโดยรวมว่า "เอามือโบกผ่านหน้าตายังไม่กระพริบ" ดิฉันได้ยินทีไรก็รู้สึกไม่สบายใจทุกที สำหรับตัวดิฉันเองมีโอกาสได้สัมผัสนักศึกษาแทบทุกสาขาวิชาจากทุกคณะ ในวิชา "พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน" ซึ่งเป็นวิชาศึกษาทั่วไปที่ฝ่ายหลักสูตรฯ จัดให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขาวิชาลงทะเบียนเรียนในชั้นปีที่ 1-2 ดิฉันมีความเชื่อพื้นฐานว่า "นักศึกษาทุกคนพัฒนาได้ถ้าอาจารย์ได้ใช้กลวิธีที่เหมาะสม" ดิฉันได้จัดการเรียนรู้ในวิชาดังกล่าวด้วยกระบวนการวิจัยชั้นเรียนมาตั้งแต่ปี 2544 โดยเริ่มจากการให้นักศึกษาแต่ละคนกรอกข้อมูลพื้นฐานรวมถึงความรู้และเจตคติต่อสาขาวิชาและสถาบันที่ตนเข้ามาเรียน และทดสอบเพื่อวัดทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้ในการเรียนรู้เพื่อช่วยให้อาจารย์รู้พื้นฐานของผู้เรียนรายบุคคล และนำไปเป็นข้อมูลในการจัดกลุ่มเรียนรู้แบบร่วมมือในกลุ่มย่อย ในกิจกรรมการพัฒนาตนนั้นดิฉันเน้นการพัฒนา "ความเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนและทักษะการเรียน" เพราะทั้งสองสิ่งเป็นคุณลักษณะ/ทักษะที่จำเป็นในการเรียนในยุคสังคม-เศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based society and economy) ซึ่งผู้เรียนต้อง "เรียนรู้ด้วยการนำตนเอง (Self-directed)" กิจกรรมภาคปฏิบัติอย่างหนึ่งคือ ให้นักศึกษาวางแผน ดำเนินการ และรายงานการพัฒนาตนเองด้านการเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบนำตนเอง เพราะจากรายงานการติดตามผลบัณฑิตทุกรุ่นจากปี 2544 ถึงปัจจุบัน นักศึกษาโดยรวมชี้ว่า ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษเป็นความสามารถพิเศษที่ตนได้ใช้ประโยชน์ในการสมัครงานและการทำงานมากเป็นอันดับสองรองจากทักษะทาง IT แต่บัณฑิตและผู้จ้างงานประเมินว่าบัณฑิตมีทักษะดังกล่าวในระดับต้องปรับปรุง ดิฉันเริ่มกระบวนการพัฒนาโดยให้นักศึกษาทำการทดสอบเพื่อกำหนดเส้นฐานทักษะภาษาอังกฤษของตนก่อนการพัฒนา ซึ่งนักศึกษาทุกหมู่เรียน ประมาณ ร้อยละ 90-98 จะมีทักษะในระดับควรปรับปรุง และควรปรัยปรุงอย่างยิ่ง ที่เหลืออยู่ในระดับพอใช้ ต่อจากนั้นดิฉันจะกระตุ้น "แรงจูงใจในการเรียนรู้ (Motivation to Learn)" โดยเน้นองค์ประกอบของแรงจูงใจด้าน "การเห็นคุณค่าเห็นประโยชน์ (Value)" และด้าน "ความเชื่อในความสามารถของตนเอง (Self-efficacy Belief)" ว่าจะพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษได้  แล้วจึงให้แต่ละคนกำหนดเป้าหมายในการพัฒนา เลือกแนวปฏิบัติในการพัฒนา ดำเนินการพัฒนา และรายงานกิจกรรมการพัฒนาพร้อมหลักฐาน/ร่องรอย และดิฉันก็จะสอบวัดทักษะเพื่อนำไปเทียบกับเส้นฐานก่อนการพัฒาของแต่ละคน ในการกระตุ้น "Self-efficacy Belief" นั้น ดิฉันได้ให้นักศึกษาดูวีดิทัศน์กรณีตัวอย่างนักศึกษาสถาบันราภัฏสวนดุสิตที่มีอาการ Down' s Syndrome แต่สามารถเป็นที่พึ่งด้านการเรียนภาษาอังกฤษให้กับเพื่อนๆ ที่มี IQ ปกติ (ดิฉันบันทึกจากรายการ "ตีสิบ" เป็นวีดิทัศน์ด้วยตนเอง โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ส่วนตัว ซึ่งผลิตสื่อโดยวิธีนี้มาตั้งแต่ปี 2540) อนึ่ง ดิฉันบอกกับนักศึกษาทุกหมู่เรียนในทุกรายวิชาว่า ครูชื่นชมคนที่มี "พรแสวง" มากกว่าคนที่มี "พรสวรรค์"  เพราะอย่างหลังเรากำหนดเองไม่ได้ แล้วแต่พ่อแม่จะให้มา

   ท้ายนี้ ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์หมอมากค่ะ ที่นำเสนอสิ่งดีๆ ให้อ่าน   

อาจารย์หมอค่ะดิฉันได้ใช้หลักการกับนักเรียนพิเศษแล้วได้ผลจริงๆค่ะขอให้คุณครูทุกท่านมีกำลังใจอย่าท้อนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท