บทบาทของการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมแบบสหสาขาต่อการยกระดับมิติบูรณาการในวิจัยแบบ PAR


การแยกส่วนและการขาดความบูรณาการที่อาจเกิดจากวิธีใช้ความรู้ในการวิจัยแบบ PAR 

โดยปรกติแล้ว กลุ่มคนที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมหรือการวิจัยแบบ PAR จะมีธรรมชาติของการเป็นชุมชนและองค์กรจัดการอันเกิดจากการรวมตัวกันขึ้นอย่างชั่วคราวในสถานการณ์ของการปฏิบัติการวิจัยที่มีความแตกต่างหลากหลายด้วยเงื่อนไขจำเพาะตนติดตัวมาด้วย นับแต่สาขาอาชีพและการทำกิน ความรู้และสาขาการศึกษาเรียนรู้ ลักษณะทางสังคมประชากร พื้นฐานทางเศรษฐฐานะ วิถีการดำเนินชีวิตและการสื่อสารเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งปัจจัยระดับบุคคล สังคมและสิ่งแวดล้อม ที่จะก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างบุคคลในกลุ่มผู้มีส่วนร่วมได้อีกเป็นจำนวนมาก

ความแตกต่างหลากหลายในลักษณะดังกล่าวจะมีบทบาทมากต่อการเข้าสู่ปัญหาและสร้างความเป็นจริงต่อสิ่งต่างๆในสังคม อีกทั้งมีบทบาทต่อการสร้างมิติส่วนรวมแบบแยกส่วน ระบุปัญหาจากสิ่งเดียวกันให้เป็นปัญหาแยกส่วน มีขอบเขตแยกออกจากกันทีละด้าน อีกทั้งจำกัดประเด็นความสนใจซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเครือข่ายปฏิบัติการอย่างบูรณาการและก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างเพียงพอต่อความเป็นจริง

สภาพปัญหาดังกล่าวนี้ ส่วนหนึ่งนั้น ก็มักจะเกิดจากการมุ่งใช้ความรู้ที่มีความแยกส่วนอยู่โดยธรรมชาติมาเป็นวิธีระบุปัญหาและพัฒนาประเด็นการวิจัย ซึ่งระเบียบวิธีวิจัยแบบ PAR และการออกแบบวิธีปฏิบัติการเชิงสังคมให้เกิดขึ้นในกระบวนการวิจัยแบบ PAR จะช่วยปิดช่องว่างและแก้ปัญหาในลักษณะดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ดังจะอธิบายให้เห็นด้วยแผนภาพต่อไปนี้เป็นลำดับ

                          

ภาพที่ ๑ ความเป็นจริงอย่างที่เป็นของชุมชน : ความเป็นจริงของสังคมเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งมีพัฒนาการทางด้านต่างๆไปอยู่ตลอดเวลา ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีความเป็นจริงอย่างที่เป็นอยู่ในตนเองหลายด้าน แม้ไม่มีผู้สังเกตเข้าไปรู้ ก็จะมีความเป็นปรากฏการณ์ที่ดำเนินไปตามเหตุปัจจัยของตนอย่างนั้น ดังนั้น ความเป็นจริงของปรากฏการณ์กับความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ วิธีรู้ และวิธีปฏิบัติหรือจัดการกับปัจจัยด้านความรู้ จึงมิใช่สิ่งเดียวกัน อีกทั้งนับว่าเป็นตัวแปรอย่างหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตัวความรู้และวิธีจัดการความรู้

                         

ภาพที่ ๒ ชุมชนกับความรู้ในการกำหนดรู้ความเป็นจริง : หากมองและเข้าไปรู้ความจริงด้านใดก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นความจริงของชุมชน สามารถระบุปัญหาและหยิบยกให้เป็นประเด็นที่สำคัญของส่วนรวมได้แทบทุกด้าน แต่ก็อาจจะไม่จริงไปทั้งหมด อีกทั้งเมื่อนำมาพิจารณาพร้อมกันก็จะพบว่าต่างก็มีความสำคัญพอกันไปหมด สภาพความเป็นจริงของการดำเนินการวิจัยแบบ PAR ในชุมชนแบบต่างๆก็มักจะเป็นดังนี้เช่นกัน

                          

ภาพที่ ๒  การระบุปัญหาและประเด็นการวิจัยด้วยความรู้ : ความจำเป็นและสภาวการณ์ความเป็นจริงของชุมชนจะเป็นปรากฏการณ์ที่เผยตนเองไปตามแง่มุมต่างๆที่อธิบายและเข้าถึงได้ด้วยความรู้ที่นำมาใช้ ความรู้ทางด้านสาธารณสุขและอนามัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งแทนด้วยพื้นดำทึบ ก็จะทำให้สภาวการณ์ด้านสาธารณสุขและอนามัยสิ่งแวดล้อมสามารถเห็นได้แจ่มชัดมากขึ้น ในขณะที่ความเป็นจริงทั้งหมดของชุมชนด้านอื่นๆก็จะยังคงดำรงความเป็นจริงอย่างที่เป็นอยู่ต่อไปอย่างนั้น มิใช่ไม่สำคัญหรือมิใช่ปัญหาหมดไป ทว่า ยังคงมีอยู่ แต่อยู่นอกขอบเขตของความรู้ที่แยกมองทีละด้าน

                         

ภาพที่ ๓  การระบุปัญหาและประเด็นการวิจัยด้วยความรู้ : ประสบการณ์และความรู้ทางด้านการศึกษาเรียนรู้ ซึ่งแทนด้วยสีดำทึบ ก็จะทำให้สภาวการณ์ด้านการศึกษาเรียนรู้ภายในชุมชนสามารถเห็นได้แจ่มชัดมากขึ้น ในขณะที่ความเป็นจริงทั้งหมดของชุมชนด้านอื่นๆก็ยังคงดำรงความเป็นจริงอย่างที่เป็นอยู่ต่อไปอย่างนั้นอีกเช่นกัน ซึ่งก็มิใช่ไม่สำคัญหรือมิใช่ปัญหาจะหมดไปแล้ว ทว่า ยังคงมีอยู่ครบถ้วนทุกประการ แต่ที่ไม่เข้ามาอยู่ในลำดับความสำคัญหรือไม่เป็นปัญหา ก็เนื่องจากอยู่นอกขอบเขตของความรู้ที่แยกมองทีละด้านเท่านั้น

                         

ภาพที่ ๔  การระบุปัญหาและประเด็นการวิจัยด้วยความรู้ : ประสบการณ์และความรู้ทางด้านการทำมาหากิน เศรษฐกิจ การทำเกษตรกรรมของชาวบ้าน ซึ่งแทนด้วยสีดำทึบ ก็จะทำให้สภาวการณ์ด้านการทำมาหากิน การทำเกษตรกรรม ประเด็นทางเศรษฐกิจภายในชุมชนสามารถเห็นได้แจ่มชัดมากขึ้น ในขณะที่ความเป็นจริงทั้งหมดของชุมชนด้านอื่นๆก็ยังคงดำรงความเป็นจริงอย่างที่เป็นอยู่ต่อไปอย่างนั้น ซึ่งก็มิใช่ไม่สำคัญหรือมิใช่ปัญหาจะหมดไปแล้ว ทว่า ยังคงมีอยู่ครบถ้วนทุกประการ แต่ที่ไม่เข้ามาอยู่ในลำดับความสำคัญหรือไม่เป็นปัญหา ก็เนื่องจากอยู่นอกขอบเขตของความรู้ที่แยกมองทีละด้านเท่านั้น

                         

ภาพที่ ๕  การระบุปัญหาและประเด็นการวิจัยด้วยความรู้ : ประสบการณ์และความรู้ทางด้านการสาธารณสุข สุขภาพ ซึ่งแทนด้วยสีดำทึบ ก็จะทำให้สภาวการณ์ด้านการสาธารณสุข ความเจ็บไข้ได้ป่วยและปัญหาสุขภาพต่างๆภายในชุมชนสามารถเห็นได้แจ่มชัดมากขึ้น ในขณะที่ความเป็นจริงทั้งหมดของชุมชนด้านอื่นๆก็ยังคงดำรงความเป็นจริงอย่างที่เป็นอยู่ต่อไปอย่างนั้น ซึ่งก็อีกเช่นกัน มิใช่ไม่สำคัญหรือมิใช่ปัญหาจะหมดไปแล้ว ทว่า ยังคงมีอยู่ครบถ้วนทุกประการ แต่ที่ไม่เข้ามาอยู่ในลำดับความสำคัญหรือไม่เป็นปัญหา ก็เนื่องจากอยู่นอกขอบเขตของความรู้ที่แยกมองทีละด้านเท่านั้น

นัยสำคัญต่อการออกแบบกระบวนการมีส่วนร่วมในการวิจัย

จะเห็นได้ว่าความรู้และวิธีสร้างการมีส่วนร่วมในการระบุปัญหา ตลอดจนการค้นหาความจำเป็นและการเข้าถึงความเป็นจริงต่างๆของชุมชน มีบทบาทสำคัญมากและทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมเป็นองค์ประกอบสำคัญ ทั้งในแง่การเป็นระเบียบวิธีการวิจัยซึ่งจะส่งผลต่อวิถีปฏิบัติต่อความรู้ และในแง่การบริหารจัดการเพื่อบรรลุจุดหมายดังที่พึงประสงค์ร่วมกันของชุมชน ที่สำคัญคือ :

  • ทำให้เห็นความเป็นจริงจำเพาะด้านที่รู้จักและเข้าถึงได้ด้วยความรู้ที่นำมาใช้
  • ทำให้ระบุกลุ่มผู้เกี่ยวข้องและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ ตลอดจนเครือข่ายหน่วยงาน รวมทั้งองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้อง เปลี่ยนแปลงไปตามข้อมูลที่จะแสดงผลไปตามกรอบแนวคิดของความรู้
  • ขาดมิติการสะท้อนความเป็นจริงของตนเองในบางด้านของชุมชนที่อยู่นอกเหนือกรอบวิธีคิดของความรู้ที่เรานำมาใช้

สรุปและแนวคิดสำคัญเพื่อแปรไปสู่ภาคปฏิบัติ

จากที่กล่าวมาโดยลำดับ ก็จะเห็นได้ว่าการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการวิจัยแบบ PAR ในอีกแง่หนึ่งนั้น จะช่วยให้ผู้วิจัยสามารถข้ามกรอบจำกัดในการเข้าถึงประเด็นการวิจัยที่สะท้อนความเป็นจริงของสังคมและชุมชน ด้วยการดำเนินการให้กลุ่มผู้เข้ามามีส่วนร่วมมีความเป็นสหสาขาแทนวิธีการทางความรู้แบบแยกส่วน รวมทั้งเปิดโอกาสให้วิถีความรู้จากชุมชนและภูมิปัญญาจากประสบการณ์ชีวิตของผู้คน สามารถผสมผสานเข้ากับความรู้สมัยใหม่หลากหลายสาขา

กล่าวได้ว่า การมีส่วนร่วมที่เพิ่มมิติความเป็นสหสาขานั้น จะช่วยทำให้สามารถยกระดับมิติการบูรณาการในการวิจัยและทำให้การทำงานสร้างสุขภาวะชุมชนส่วนหนึ่งที่ก้าวเดินออกจากความแยกส่วน เห็นความหมายและความสำคัญของการสร้างความมีส่วนร่วมที่มีนัยต่อการสร้างและใช้ความรู้สำหรับปฏิบัติการวิจัยให้ครอบคลุมความจำเป็นต่างๆได้มากกว่าวิธีวิจัยแบบทั่วไป ซึ่งอาจจะมิใช่อยู่ที่การมีลักษณะกิจกรรมที่ต่างกัน ทว่า อยู่ที่วิธีคิดและวิธีระบุประเด็นปัญหาจะสื่อสะท้อนความมีจุดยืนร่วมกันได้มากขึ้น ซึ่งแนวการใช้ความรู้เป็นกรอบปฏิบัติการเชิงสังคมในอีกแง่หนึ่งดังกล่าวนี้ ชุมชนที่ดำเนินการวิจัยก็ย่อมสามารถแก้ปัญหาครอบคลุมความเป็นส่วนรวมได้ดียิ่งๆขึ้นได้อีกมิติหนึ่ง.

หมายเลขบันทึก: 424722เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2011 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ชอบการวิจัยPARแบบนี้ครับ
  • เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย
  • ไปค่ายกับนิสิตมา
  • ครั้งต่อไปจะชวนนักศึกษาอาจารย์ด้วยได้ไหมครับ
  • http://gotoknow.org/blog/yahoo/424711

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ
น่าสนใจมากทีเดียวครับ อยากพานักศึกษาผมไปมีประสบการณ์ให้มากๆจากสังคมไทยและการทำงานกับพวกเรามากเลยครับ แต่เนื่องจากเขาเป็นชาวต่างชาติและอยู่ในความรับผิดชอบของหลายฝ่าย ก็เลยจะมีข้อจำกัดในการที่จะต้องดูแลพวกเขามากเลยครับ แต่พาไปแถวใกล้ๆรอบๆมหาวิทยาลัยนี่สบายครับ และนักศึกษาก็ชอบมากกว่านั่งฟังบรรยาย

ขอบพระคุณดอกไม้จากพี่คิม
กราบนมัสการดอกไม้จากท่านพระอาจารย์พระมหาแล
ขอบคุณดอกไม้จากคุณแสงแห่งความดี เป็นอย่างยิ่งครับ
มือทำงานแนวชุมชนและแนวประชาคมทั้งนั้นเลยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท