KM ข้างเวที 'ยิ่งให้ ยิ่งได้รับ' ใน NKM5 : ภายใต้การพับกระดาษคือแก่นภูมิปัญญาและความสร้างสรรค์อย่างยิ่งของปัจเจก


  การพับกระดาษ Origami กับศิลปะการเรียนรู้และพัฒนาการตัดสินใจ 

ผมขอร่วมบันทึกแบ่งปันเป็นความประทับใจผ่านการร่วมเรียนรู้กิจกรรมของชมรมคนรักมวลเมฆและเครือข่ายการเรียนรู้ของท่าน ดร.ชิว : ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ในบางด้านที่อาจจะเป็นเกร็ดความน่าสนใจและเพิ่มความรอบด้านมากยิ่งๆขึ้น โดยจะเป็นแง่มุมเกี่ยวกับศิลปะและการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ซึ่งผมได้ทำเป็นเชิงอรรถบทความไปบ้างแล้วที่บันทึก เวทีจัดการความรู้แห่งชาติ NKM5 กับเวที'ยิ่งให้ยิ่งได้รับ'ของ GotoKnow : วิธีเชิงรุกของวัฒนธรรมความรู้สู่ Life Style  แต่ก็เกรงว่าจะยาวไปและรู้สึกเสียดาย จึงขอนำมาบันทึกเผยแพร่ไว้ให้แก่ผู้สนใจที่บันทึกนี้ เหมือนกับเป็นร่วมทอดผ้าป่า 'ทำบุญ-ทำทานความรู้' ช่วยกัน ต่อเนื่องจากเวที 'ยิ่งให้ยิ่งได้รับ' ของ GotoKnow ใน NKM 5 เมื่อ ๒๒-๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา

  วิถีภาวนาและการพัฒนาการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมปฏิบัติ 

ผู้เขียนเคยไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นและได้เข้าร่วมกิจกรรมการจัดดอกไม้แบบอิเคบานะ : Ikebana ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นกิจกรรมทางศิลปะที่เป็นที่นิยมทั้งในหมู่คนญี่ปุ่นและมีผู้สนใจทั่วโลก ทำให้ได้ทราบวิธีคิดของคนญี่ปุ่นอย่างหนึ่งว่า การพัฒนาตนเองไปอย่างสูงสุดนั้น จะให้ความสำคัญกับภาวะที่เรียกว่า ซาโตริ หรือ เซน เต๋า มาก

ภาวะซาโตริ นั้น คงจะเทียบได้กับความเป็น สุญญตา นิพพาน รวมทั้งความเป็นอิสรภาพหลุดพ้นจากความเป็นวัตถุและความเป็นเหตุผล บางแห่งจะเรียกว่าความไร้ซึ่งเหตุผล ซึ่งจะไม่ใช่ความไม่มีเหตุผล ทว่า หมายถึงภาวะไร้ซึ่งเหตุผลด้วยวิถีแห่งปัญญาหรือเกินจะเข้าถึงได้ด้วยวิธีการทางเหตุผลหรือวิธีคิดเชิงวัตถุ 

วิธีเข้าถึงภาวะซาโตรินั้น สังคมต่างๆจะมี Tacit Knowledge หลากหลายกันไป วิถีวัฒนธรรมอันเป็นที่มาของวัฒนธรรมการพับกระดาษก็เช่นกัน ก็จะมีการพัฒนาวิถีและวิธีปฏิบัติไปได้อย่างหลากหลายแนว ซึ่งก็จะเหมือนกับวิถีแห่งมรรค ๘ ที่เราจะต้องรู้กาละเทศะในการถือเอามรรคข้อใดข้อหนึ่งเป็นตัวนำมิติอื่นๆอีก ๗ มิติให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความจำเป็น เช่น บางกิจกรรมและบางสถานการณ์ก็ต้องใช้การประกอบสัมมาอาชีวะเป็นตัวนำองค์ประกอบอื่น เป็นต้นว่าเป็นคนทำมาค้าขายก็ต้องมุ่งนำชีวิตด้วยสัมมาอาชีวะเป็นตัวนำ หากใช้ด้านอื่นนำก็จะไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของชีวิต 

ในบางสถานการณ์ก็อาจจะต้องเน้นสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำมิติอื่น เช่น เมื่อเป็นผู้นำการประชุมก็ต้องถือความมีสัมมาทิฏฐิสำหรับการฟังและตัดสินใจเป็นตัวนำ หากถือมิติสัมมาอาชีวะเป็นตัวนำก็ย่อมไม่สอดคล้องกับกาละเทศะ ดังนี้เป็นต้น ทั้งนี้ ทุกด้านก็ยังคงต้องเป็นองค์ประกอบแห่งการปฏิบัติให้ครบเช่นกัน เพียงแต่ต้องมีวิธีพิจารณาเพิ่มขึ้นมาอีกว่าในเงื่อนไขนั้นๆ ต้องการวิธีเข้าถึงการปฏิบัติที่จำเป็นอย่างไร

วิธีคิดการเข้าถึงภาวะแห่งเซน เต๋า ซาโตริ หรือสุญญตา ในวัฒนธรรมของญี่ปุ่นก็เช่นกัน ก็จะมี วิถีแห่งมรรรค ดังกล่าวนี้หลายวิถีแตกต่างกันไป เช่น การเขียนบทกวีให้เห็นภาวะย้อนแย้งและหลุดกรอบซึ่งเป็นเงื่อนไขให้เข้าถึงภาวะเซนและเต๋าได้ วิถีจัดดอกไม้ วิถีแห่งชาและการชงชา วิถีกระบี่ซามูไร เหล่านี้เป็นต้น

  เป็นความสำคัญต่อชีวิตและจิตวิญญาณของสังคม 

ในวิถีและวิธีปลีกย่อยมากมายเหล่านี้ แต่ละคนและในสาขาอาชีพต่างๆก็อาจจะมีวิธีการที่เหมาะสมไปตามเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป การฝึกเขียนพู่กันและอักษร การเขียนบทกวี การจัดงานพบปะและกิจกรรมชงชา การทำงานศิลปะพับกระดาษและพับผ้า การเล่นดนตรี เหล่านี้ จึงเป็นวัฒนธรรมที่มีอยู่ในหมู่ปัญญาชนและในครอบครัวของชาวญี่ปุ่นทั่วไป เพราะถือว่าเป็นวัฒนธรรมการกล่อมเกลาปัญญา ฝึกฝนความเป็นศิลปะวิทยาให้ลึกซึ้ง เปรียบได้กับในวิธีการในพุทธธรรมที่มีวิธีการทำในใจให้แยบคายด้วยกระบวนการโยนิโสมนสิการ

ผู้เขียนเคยได้ฟังการเปรียบเปรยความเป็นคนญี่ปุ่นว่า หากเดินอยู่กับฝูงชนชาวญี่ปุ่นแล้วโยนก้อนหินขั้นไปบนฟ้า หินที่ตกลงมาจะโดนหัวกวี ๓ คนในกลุ่มคนญี่ปุ่น ๑๐ คนกลุ่มนั้น ซึ่งหมายความว่าความมีศิลปะและการพัฒนาความละเอียดอ่อนด้านในด้วยศิลปะ บทกวี อาหาร เสื้อผ้า งานวรรณกรรม ดนตรี กระบี่ ตลอดจนงานฝีมือต่างๆนั้น เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นปฏิบัติเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของวิถีดำเนินชีวิต

  การพับกระดาษ Origami กับนัยยะต่อวิถีปฏิบัติต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 

การพับกระดาษอย่างที่ ดร.ชิวเผยแพร่ให้กับผู้สนใจทั่วไปด้วยอยู่เสมอนี้ อาจจัดว่าเป็นแนวหนึ่งของวิถีแห่งศิลปะ ซึ่งในญี่ปุ่นนั้นจะนับว่าเป็นการปฏิบัติทางปัญญาที่ได้มีการพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าเป็นอย่างสูง หนังสือและงานศิลปะพับกระดาษเป็นแนวหนึ่งที่แพร่หลาย อีกทั้งทำได้อย่างงดงามที่สุด  

ในทางศิลปะและการพัฒนากระบวนการเรียนรู้นั้น ถือว่าสิ่งสำคัญของการพับกระดาษ Origami ไม่ได้อยู่ที่ชิ้นงานที่อยู่ข้างนอกเท่านั้น ทว่า อยู่ที่กระบวนการคิดและตัวปัญญาที่จะเกิดขึ้นอย่างลงตัวไประหว่างการพับกระดาษ กิจกรรมการพัฒนากระดาษจึงเป็นวิธีศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นองค์รวม พัฒนาการเรียนรู้ภายในและการอยู่กับตนเอง ได้ฝึกฝนการจัดวางทางความคิดและทดลองออกแบบองค์ประกอบทั้งหมดให้ลงตัว ตรวจสอบการมีความหมาย มีคุณค่า และมีความสมบูรณ์อยู่ในตนเองของทุกสิ่งอย่างลึกซึ้งและให้รอบด้านถ้วนทั่วอย่างที่สุดของความคิดและกิจกรรมที่กำลังทำนั้น

กล่าวได้ว่า การพับกระดาษ Origami นั้นเป็นหนึ่งในหลายวิธีการที่ผู้มุ่งความเป็นเลิศสูงสุดของตนเองในทุกแขนงจะนำมาใช้เป็นวิธีทำงานความคิดในระดับที่จำเป็นต้องพึ่งสติปัญญาตนเอง ซึ่งแหล่งปัญญาและประสบการณ์ผู้อื่นจะช่วยได้เพียงเป็นสภาพแวดล้อมให้ได้เท่านั้น ก่อนที่จะออกแบบและแปรสู่การปฏิบัติระดับทฤษฎีหรือการจัดวางองค์ประกอบทางวัตถุและกายภาพอีกทีหนึ่งต่อไป

ในวิถีปฏิบัติอื่นๆก็จะมีภาวะแห่งเซน เต๋า หรือการบรรลุธรรมด้วยจริตและมรรควิถีแตกต่างกันออกไป เช่น ในวิถีกระบี่ก็จะเน้นจิตใจที่เป็นหนึ่งกับกระบี่และความว่างเพื่อความเป็นอิสระและเด็ดขาด การเขียนพู่กันก็จะมุ่งเป็นหนึ่งกับปัจจุบันขณะ ความแม่นยำ วิถีดอกไม้ผ่านการจัดอิเคบานะ ก็จะมุ่งเข้าถึงความเป็นเช่นนั้น ดุลยภาพและความเรียบง่ายของธรรมชาติ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งภาวะเหล่านี้จะทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึงปัญญาสำหรับใช้ดำเนินชีวิตสูงสุดและงอกงามไปตามวิถีแห่งตนได้

  วิถีแห่งพุทธะและวิถีแห่งปัญญา เป็นแนวหนึ่งของการเรียนรู้ทางสังคม  

ความสำคัญในการฝึกและพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ให้แก่พลเมืองในวิถีทางดังกล่าวของญี่ปุ่นจะเห็นจากการสะท้อนอยู่ในการ์ตูน อิกคิวซัง : เณรน้อยเจ้าปัญญา ซึ่งก่อนการตัดสินใจต่างๆทุกครั้งนั้น อิกคิวซังจะต้องนั่งสมาธิและมีวงแหวนสัญลักษณ์ทางปัญญาญาณผุดขึ้นเหนือศีรษะ สื่อการ์ตูนดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อเป็นสื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้ประชาชนเข้าถึงวิธีคิดต่อกระบวนการทางปัญญาในระดับเหนือความเป็นเหตุผล รวมทั้งส่งเสริมให้พลเมืองใช้วิถีแห่งวิจารณญาณและการใช้ปัญญาอันแยบคายในการแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตาม ในหลักการนั้นจะสอดคล้องกับวิธีคิดแบบเซน แต่เซนจะเน้นผสมผสานกับงานและการดำเนินชีวิตจริง ไม่เน้นวิธีนั่งสมาธิดังในการ์ตูนอิกคิวซัง.

หมายเลขบันทึก: 411257เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2010 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

สวัสดีค่ะ

อาจารย์ท่านที่ยืนกลางนี้ สวัสดีทักทายกันแล้ว  เมื่อท่านเดินจากไปจึงทราบว่าท่านคือบล็อกเก่อร์ที่เราคุ้นเคยกันมาแล้วนั่นเอง

พี่คิมเห็นใคร ๆ ได้เรียนพับกระดาษจากอาจารย์บัญชาแล้ว อยากเรียนมากค่ะ โหลดบันทึกของท่านมาจัดเก็บเพื่อจะฝึกพับเอง

คราวแรกเจอกันที่อุดรธานี  เป็นงานแต่งงาน ได้แต่คุย สนทนากัน คราวนี้เจอกันอีก  ไม่คิดว่าจะได้เรียน "อาจารย์คะยั้นคะยอที่จะสอนพวกเรา" ค่ะ

พี่คิมได้เรียนมา ๒ แบบคือผีเสื้อและกระต่าย  แต่ที่พิษณุโลก ไม่มีกระดาษขาย พี่คิมใช้วิธีตัดกระดาษโรเนียว  ลองฝึกพับไปก่อน  กลัวจะลืมวิธีค่ะ

แค่พับผีเสื้อได้  ก็ภาคภูมิใจมาก  "ข้อสำคัญคือเมื่อพับไป เราเกิดจินตนาการขึ้นมาเองว่าจะให้งานพับของเราเป็นแบบไหน"

จึงขอขอบพระคุณอาจารย์มา ณ ที่นี้อีกครั้งค่ะ

ภาพที่พวกเราเรียนพับกระดาษ  หน้าห้องประชุมค่ะ  เจ้าออโต้สามารถพับผีเสื้อ  และนำไปแบ่งปันสอนเพื่อน ๆ ได้ค่ะ

..พี่มีความสุขมากจริงๆค่ะเมื่อได้ตั้งสมาธิในการฝึกพับกระดาษกับน้องซิว

..เธอให้ทั้งกำลังใจ และเพียรฝึกพวกเราอย่างอารมณ์ดีๆ..เป็นแรงบันดาลในเรื่องนี้มาก

..ผีเสื้อสีม่วงและกระต่ายสีเขียว เป็นฝีมือของพี่ด้วยการหนุนนำของ อ.ซิว..

 

เชื่อเลยละครับว่ามิตรรักแฟนบล๊อกของ ดร.ชิว และความเหนียวแน่นของชมรมคนรักมวลเมฆนั้น คึกคักและมากมายจริงๆ เพียงระหว่างที่โพสต์และปรับแต่งยังไมเสร็จนี้ ก็มีคนเข้ามาอ่านไปเกือบ ๖๐ คลิ๊กแล้ว ผมเพิ่งจะเคยเห็นตั้งแต่เข้ามาใน GotoKnow นี้เลยละครับ

สวัสดีค่ะ

ไปติดตามหาภาพบรรยากาศ "นักเรียน ๔ คน กำลังเรียนพับกระดาษ" ค่ะ

พี่ใหญ่ตั้งใจพับมาก เสียงหัวเราะระรื่น  ยังก้องอยู่ในหูไม่จางหายค่ะ

อาจารย์ซิว  มีความตั้งใจ บอกเทคนิคการพับแบบนี้จะได้อย่างนั้น หากพับแบบนั้นจะได้อย่างนี้

แนะนำวิธีกรีดอย่างไร  การออกแบบโดยการพับโครงร่าง  และวางแผนสัดส่วนของกระดาษเพื่ออะไร

อาจารย์ซิว  บูรณาการ อธิบายการเกิดเมฆและปรากฏการณ์ที่พวกเราเคยทึ่ง แต่วันนี้เห็นด้วยกับ ซตพ.อย่างวิทยาศาสตร์  ชัดแจ้งค่ะ

ใครอยากทราบว่าอาจารย์ซิวอธิบายปรากฏการณ์อะไร  โปรดถามด้วยตนเองค่ะ

  • สวัสดีครับพี่คิมและพี่ใหญ่-พี่นงนาทครับ
  • ดร.ชิวเป็นครูที่มีพลังมากจริงๆเลยนะครับ
  • แล้วพี่คิมเล่นแง้มๆอย่างนี้นี่ มันเหมือนกับปั่นจมูกจนเกือบจามแต่ไม่ได้จามเลยนะครับเนี่ย
  • ต้องบอกว่าพี่ชิวเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้
  • มีความรู้ในหลายสาขามาก
  • ผมเลยได้เรียนรู้จากพี่ชิว
  • เอาไปสอนครูประถมต่อครับ
  • กำลังฝึกหลายๆๆแบบ

สวัสดีคับอาจารย์ขจิตครับ
อาจารย์ก็เช่นกันนะครับ เป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำงานเก่ง ทุ่มเท
และมีคุณธรรมต่อผู้อื่นมากครับ 

                         

กำลังหิวเลยครับ
งั้นประเดี๋ยวเอาบวบไปต้มมาจิ้มเต้าเจี้ยวสักสอง-สามลูก
ขอบคุณครับ

อาจารย์ครับ...

ผมว่าการใช้วิธีการทางศิลปะและวัฒนธรรมเหล่านี้นอกเหนือจากการได้อยู่กับตัวเอง ฝึกสมาธิและพัฒนาจิตใจด้านในของตัวเราแล้ว สุดท้ายยังได้งานศิลปะที่ทรงคุณค่าอีกด้วยนะครับ...

เหมือนกับศิลปะและสถาปัตยกรรมโบราณที่เราก็ไม่คาดคิดนะครับว่า จะเกิดขึ้นได้ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเทคโนโลยีหรือความเจริญในทางเครื่องมือเครื่องใช้มาช่วย...

ขอบคุณมากครับ...

 

การทำงานในแนวที่คุณดิเรกกล่าวถึงนี่มีแนวทางเฉพาะเป็นแนวทางหนึ่งเลยนะครับ เป็นแนวที่สนองตอบทางจิตใจ รวมทั้งสะท้อนออกมาจากกระบวนการด้านใน อาจจะใกล้เคียงกับลักษณะการใช้แรงกายปฏิบัติที่เรียกว่า ดร.โนนากะ เรียกว่า Intellectual Muscle หรือในภาษาศิลปะก็มีสาขา จิตรกรรม ซึ่งใช้เรียก Fine Art แต่แปลกลับอีกที่น่าจะเป็น Mind Practice ซึ่งก็เป็นการทำกิจกรรมเพื่อให้ได้อยู่กับจิตใจตนเอง แล้วก็ได้ผลงานออกมาชื่นชมอย่างว่าเลยละนะครับ

สวัสดีค่ะ

          การพับกระดาษ Origami กับศิลปะการเรียนรู้และพัฒนาการตัดสินใจ 

น่าสนใจมากค่ะ  อยากมาเรียนรู้กับดร.ชิวบ้างจัง จะได้เรียนรู้วิธีดูเมฆ และพัฒนาจิตใจให้เข้าถึงวิธีคิดเเบบเซนที่เน้นผสมผสานกับงานและการดำเนินชีวิตจริง   ที่หาความสงบให้จิตใจยากเหลือเกินค่ะ

                          

                                  มีภาพโคมลอยในเดือนยี่เป็งมาฝากค่ะ

เล่าเรื่องด้วยภาพชุดได้ดีนะครับครูดาหลาครับ
ทางเหนือตอนนี้คงจะอากาศสบายดีนะครับ

อาจารย์ครับ

ผมขออนุญาตหารือตรงนี้เลยครับ พอดีผมจะกลับบ้านที่เหนือ ไปนานพอสมควรครับ ทราบว่า ทาง อาจารย์และ ดร.ภัทรียา เป็น Session manager ในงานประชุมวิชาการที่จะถึงนี้

ทาง รศ.ดร.เนาวรัตน์ ท่านได้บอกผมว่า ผมไม่ต้องนำเสนองานวิจัยที่ได้เสนอบทความไปเเล้ว เเต่ให้ นำเสนอประเด็น "ครูเพื่อศิษย์" เป็น seesion ต่างหากไปเลย เเต่ให้ประสานกับอาจารย์ เเละ ดร.ภัทรียา

กระผมก็ยัง งงๆอยู่ ก็เลยเอาเป็นว่า ผมจะเตรียมงานนำเสนอ ที่เกี่ยวข้องกับครูเพื่อศิษย์นะครับ เเละ ดูกระบวนการกันอีกที อย่างน้อยก็เล่าถึงสิ่งที่ผมเคยทำมาก่อนหน้านี้

 

ขอบคุณครับ

 

ก็ไม่เลวนะครับ ห้องนำเสนอบทความและผลงานวิชาการจะมีอยู่ ๓ ห้อง ห้องแรกจะเกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอน ห้องที่ ๒ เป็นเวทีนานาชาติ และห้องที่ ๓ เกี่ยวกับชุมชนและการศึกษาเรียนรู้ที่มีชุมชนเป็นฐาน

ทั้ง ๓ ห้องจะมีการเสาวงนาและนำเสนอผลงานคู่ขนานกันไปถึงบ่าย ๔ โมงเย็น จากนั้นก็จะไปรวมกันอยู่ที่ห้องแรกซึ่งจะมีกิจกรรมปิดท้ายอยู่อีกช่วงหนึ่งประมาณ ๓๐ นาที ซึ่งแต่เดิมนั้นจะเป็นการเสวนาของเครือข่ายศิษย์เก่า แต่จะคุยกันเพื่อมองโอกาสและประเด็นความน่าสนใจต่างๆสำหรับการพัฒนาไปข้างหน้า เอกมาคุยช่วงนี้ก็จะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะช่วงหนึ่งนะครับ

แต่ถ้าเป็นไปได้ หากเตรียมคุยเรื่องครูเพื่อศิษย์ แต่เอากรณีศึกษาที่เอกเคยไปเรียนรู้และนำมาเขียนถ่ายทอดไว้ รวมทั้งที่ศูนย์จิตตปัญญานำเอาไปตีพิมพ์เผยแพร่มาย่อยนำเสนอแล้วเปิดประเด็นชวนคิดในเชิงระบบและหลายๆมิติ หลายๆองค์ประกอบที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาและการปฏิรูปสังคม หากออกมาในแนวนี้ ก็น่าจะเป็นการคุยเพื่อให้ความคิดดีๆนำรายการ ก่อนที่จะแยกไปตามห้องย่อยต่างๆกันนะครับ จะลองหารือ ดร.ภัทรียาดูนะครับ ให้เธอกลับจากญี่ปุ่นอาทิตย์หน้านี้ก่อน

ครับ อาจารย์ครับ

ชุดที่ทาง รศ.ดร.อภิชาติ นำไปตีพิมพ์เล่มล่าสุดเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่ง ที่นำเสนอครับ ด้วยความตั้งใจของ ศ.นพ.วิจารณ์ ท่านอยากให้มีการขับเคลื่อนด้วย

ผมกำลังนั่งคิดว่าจะนำเสนออย่างไร ให้กระชับ ให้เห็นเเนวทาง รวมไปจนถึง หากจะขยับในมุมของนักวิชาการในระดับแบบนี้ เราจะสร้างเครือข่ายอย่างไร? ระดมความคิดอย่างไร?

ผมขอเป็นการบ้านครับผม 

  • ท่านชื่ออาจารย์ ดร.อนุชาติ น่ะครับ รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี รองอธิการบดี ของมหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาท่านที่ผ่านมา
  • นำเสนอเพื่อส่งเสริมวิธีคิดการพัฒนาเครือข่ายให้เห็นแง่มุมความเชื่อมโยงผ่านการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ของสังคมในความหมายที่กว้าง เพื่อให้คนที่มีความริเริ่มอยู่ในวิถีการทำงานและกระจายไปตามสาขาการทำงานที่แตกต่างกันในแหล่งต่างๆของประเทศ ได้เห็นวิธีสะท้อนการปฏิบัติของตนเองไปด้วย ก็จะทำให้เป็นเวทีที่ฟังกันได้ทุกคนนะครับ แต่ต้องมองกรณีศึกษาที่นำมายกตัวอย่างเป็น ๒ ระดับ คือมีบทเรียนที่ได้ความน่าสนใจอยู่ในตนเอง กับเป็นความสำเร็จที่สะท้อนปัจจัยเชิงระบบและโครงสร้าง รวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง ที่เอกอยากหยิบยกให้เป็นประเด็นสำคัญสำหรับเสวนาและอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง
  • หรือคุยไปตามที่เห็นอย่างเป็นธรรมชาตินั่นแหละครับดีที่สุด

เป็นอาหารสมองที่อ่านแล้วรู้สึกเบิกบานใจค่ะ

บันทึกนี้ทำให้มุมมองงานกระดาษน่าสนใจและมีความหมายมากขึ้นค่ะ

ความสุขจากการเก็บเมฆด้วยกล้องมาร้อยถักให้ตื่นตาตื่นใจด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของอ.ชิวนั้นทำให้คนไม่เคยมองเมฆกลับตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้พบเห็นมัน

บทความที่ถ่ายทอดพับกรีดกระดาษก็ส่งเสริมให้สมองเด็กน้อยเกิดจินตนาการและความสุขขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ค่ะขออนุญาตขอคุณอ.ชิว ผ่านบันทึกนี้นะคะ

ขอบคุณค่ะ

เห็นด้วยอย่างที่ครูต้อยติ่งกล่าวถึงครับ
ผมเองนั้น ปรกติก็ชอบมองท้องฟ้า หมู่เมฆ และสิ่งต่างๆรอบข้างอยู่เสมอ รวมทั้งชอบมองแบบคนเขียนรูป คือพอมองไปทางไหนก็ลองจัดวางองค์ประกอบต่างๆดูไปด้วยอยู่ตลอดเวลา แต่ตอนนี้ทำให้จัดหัวข้อในการมองเมฆแบบต่างๆเพิ่มขึ้นมาอีก เวลาคุยกันคนอื่นๆนั้น ในสองสามเดือน ก็จะต้องมีใครสักคนเปิดหัวข้อเรื่องเมฆให้เป็นหัวข้อคุยกันอย่างน้อยก็สัก ๑ ครั้ง ส่งเสริมความเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ได้อย่างแพร่หลายมากทีเดียวครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท