วันชีวันตาภิบาลโลก สงขลานครินทร์ 2010


วันชีวันตาภิบาลโลก สงขลานครินทร์ 2010

วันนี้ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดงาน World Palliative Care Day (วันชีวันตาภิบาลโลก) ประจำปี 2010 ซึ่งปีนี้เป็นปีที่หกแล้ว ตั้งแต่ที่มีวันนี้ขึ้นมา สำหรับ theme ประจำปีนี้คือ Sharing the Care เราก็ได้ทำกิจกรรมเล็กๆน้อยๆ เป็นการรณรงค์ เผยแพร่ การดูแลผู้ป่วย และเน้นที่การใช้ "ต้นทุนสุขภาวะ" ทุกอย่างที่มี ได้แก่ ของคนไข้ ครอบครัว ชุมชน ผสมผสานกับสิ่งที่เรา (โรงพยาบาล) มีและทำให้กับผู้ป่วยได้ ด้วยเหตุนี้กลุ่มหลักที่ปีนี้เราเลือกมานำเสนอ พูดคุยกัน จึงเป็นกลุ่มอาสาสมัครโรงพยาบาล

 

ผอพ้อ คุณป้าสุภรณ์ อุดมทัศนีย์ อาสาสมัคร สว. (สูงวัย 81 ปี)

เนื่องจากปีที่ผ่านมา ศูนย์มิตรภาพบำบัด รพ.สงขลานครินทร์ ได้มีชุดโครงการมิตรภาพบำบัด ได้รับการสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งจาก สปสช. ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการพิจารณาผลงานเนื่องในวันมหิดล ภายใต้หัวข้อ "เพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง" อันมาจากพระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ได้กลายเป็นปรัชญาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (และมหาวิทยาลัยมหิดล) เราเลยถือเป็นโอกาสที่เชื้อเชิญเจ้าของโครงการย่อยๆในชุดโครงการนี้ มาแลกเปลี่ยน เล่าเรื่องราว ความรู้สึกแก่กันและกัน และเชื้อเชิญประชาชนผู้สนใจมาเข้าร่วมฟังด้วย

ที่จริงเรามีประมาณ 10 กว่าโครงการ แต่ผู้ที่สามารถมาร่วมงานมีแค่ 4 โครงการ ก็พอเหมาะพอเจาะกับ slot เวลาคือประมาณ 3 ชั่วโมงพอดิบพอดีในการเล่าเรื่องและการสะท้อน (ถ้ามาหมด สงสัยต้องใช้สองวัน!!)

  1. โครงการไกลตา ใกล้ใจ
  2. โครงการฝึกอบรมนวดแผนไทย
  3. โครงการดูแลผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอ
  4. โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้ป่วยโรคเรื้อรังอาคารเย็นศิระ

โครงการไกลตา ใกล้ใจ

นำเสนอโดยพี่น้อยหน่า head ward จักษุ ของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ผู้ป่วยโรคตาหลังผ่าตัด มีกิจกรรมที่ต้องดูแลตนเองมากพอสมควรหลังจากออกจากโรงพยาบาล เพราะการที่ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เร็วเนื่องจากเป็นการผ่าตัดเฉพาะที่ ทำให้การจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลทำได้ง่าย กระนั้นก็ตามพบว่าผู้ป่วยจะต้องมีโปรแกรมการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องหลังการผ่าตัด อาทิ ท่านอน ท่าอาบน้ำ การหยอดตา สระผม ฯลฯ ซึ่งถ้าหากสับสนไม่เข้าใจ หรือปฏิบัติผิด ก็อาจจะส่งผลให้เกิดผลเสียตามมาได้ ในโครงการนี้ก็เลยเป็นการแก้ปัญหาแบบเชิงรุก ด้วยการอุทิศแรงงานพยาบาลหนึ่งท่าน ในการโทรศัพท์ติดตามการรักษาไปที่บ้านคนไข้ เป็นระยะๆ ก่อนที่จะถึงวันนัดมาโรงพยาบาลครั้งต่อไป ส่งผลให้สามารถรับรู้ว่าผู้ป่วยปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดถูกต้องหรือไม่ มีปัญหาอะไรในระหว่างนั้นที่ควรแก้ไขก่อน และสิ่งสำคัญก็คือ ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจากการที่พยาบาลโทรศัพท์ไปติดตามการรักษาถึงบ้าน

หลังเสร็จสิ้นโครงการ เราได้ทราบกิจวัตรที่ผู้ป่วยปฏิบัติที่อาจจะเกิดความเสี่ยง ทำให้มีการปรับปรุง discharge planning หรือกระบวนการปฏิบัติก่อนจำหน่ายผู้ป่วยกลับบ้าน เพื่อเป็นการป้องกัน ทำให้อัตราการ readmit (ย้อนกลับมานอนโรงพยาบาลใหม่) ลดต่ำลง สังเกตเห็นได้เมื่อ tracing ย้อนหลัง 4 ปี ญาติและคนไข้ดีใจมากที่ได้รับโทรศัพท์ถามสาระทุกข์สุกดิบจากโรงพยาบาล น้องพยาบาลที่เป็นคนโทร ได้เพิ่มทักษะการสื่อสาร ได้เกิด tacit knowledge (ความรู้ฝังลึก) ของปัญหาหลังการผ่าตัดที่ไม่ได้มีบันทึกในตำรามากมาย เพ่ิมมิตรภาพระหว่างผู้ป่วยและทีมรักษาที่โรงพยาบาล

โครงการนี้ผลักดันโดยสภาวะจิตของผู้ทำงาน ที่หลุดพ้นวาระของ efficiency หรือแค่การเน้นประสิทธิภาพ ไปสู่ระดับ "ประณีต งดงาม" หรือสุนทรีย์ คือเราไม่ได้ดูแค่คนไข้ได้กลับบ้าน แต่ดูผลงานด้วยว่าคนไข้ "มีความสุข" หรือไม่ และรีบแก้ไขป้องกันเพื่อให้ผลงานนั้นประณีต สมบูรณ์ แสดงถึงความเอาใจใส่ และสนใจในงานประจำอย่างแท้จริง ขวนขวายหาปัจจัยเสี่ยง และผลักดันการทำงานออกนอกกรอบของงานประจำได้

โครงการอบรมนวดแผนไทย

นำเสนอโดยพี่มาริษา ภาควิชาพยาธิวิทยา พี่มาริษาได้มีโอกาสรู้จักกับอาจารย์คณิต ครูสอนนวดแผนไทย ที่มีทั้งทักษะและความรู้ลึกซึ้งในศาสตร์และศิลป์การนวดแผนไทย ในระดับที่สามารถดูแลไม่เพียงคนธรรมดาแต่สามารถดูแลในคนเจ็บป่วยได้ด้วย ประโยชน์ของการนวดนั้น เป็นศิลปที่ละเอียดอ่อน ประกอบด้วยสัมผัสแห่งความรัก อ่อนโยน ความปราถนาดี และความเข้าใจลึกซึ้งในอาการ อาการแสดงของคนไข้ ตระหนักถึงความเสี่ยงและข้อควรระมัดระวังเป็นอย่างดี แต่ก็ทำให้การเรียนการสอนไม่ยากเกินไป เพราะมีทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ การสอนแสดง สอนประกอบการดูแล และวงจรสะท้อนกลับหลังการทำกิจกรรม

กลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนทั่วไป มีทั้งเด็กวัยรุ่นวัยเรียน และผู้ใหญ่ บางคนก็มีญาติตนเองเป็นคนไข้ นอนติดเตียงบ้าง มีปัญหาการขยับเขยื้อนร่างกายบ้าง ผลปรากฏว่า ผู้เข้าร่วมเกิดความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับญาติของตนเองหลังจากที่ได้นำเอาเทคนิกการนวดเพื่อการผ่อนคลายไปใช้ มีน้องสองคนที่ได้นำเอาเทคนิกไปดูแลให้อาม่าของตน ปรากฏว่าติดใจ ได้กลับมาทำให้อาม่าทั้งเช้า ทั้งเย็น ก่อนและหลังทำก็ได้โอบกอดอาม่าอย่างมีความสุข มีผู้เข้าร่วมอบรมที่ได้นำไปใช้่กับพี่สาวตนเองที่ป่วยที่หอผู้ป่วยระบบประสาท ช่วยดูแลบีบนวดให้ จนทั้งหมอและพยาบาลต่างก็ซาบซึ้งในความอ่อนโยน ประณีต และความรักภายในครอบครัวอย่างมาก

เทคนิกการนวด ไม่เพียงแต่เป็นศาสตร์ทางการแพทย์ แต่เป็นกิจกรรมที่มีการสัมผัสระหว่างร่างกายมนุษย์ โดยที่ intention หรือจิตระหว่างการสัมผัสนั้น เปี่ยมด้วยความรัก เมตตา และกรุณา เป็นการเสริมสร้างสภาวะทางจิตของผู้กระทำ เสริมสร้างสภาวะการเยียวยาของผู้ถูกกระทำ หลังจากที่ได้มีทักษะนี้ติดตัวไป จะหล่อหลอมกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เห็นได้จากที่มีน้องคนหนึ่งได้ไปเจอะเจอกับชาวบ้านบางคนที่บ่นเมื่อยขบ ทั้งๆที่ไม่ได้รู้จักกัน ก็ไปขอบีบนวดให้เบาๆจนอาการดีขึ้นอย่างมาก แล้วก็จากกันโดยที่ไม่ได้บอกชื่อ บอกอะไรกัน เพียงแต่เอามาเล่าให้อาจารย์คณิตและพี่มาริษาฟัง เป็นจิตอาสาที่เกิดขึ้นอย่างบริสุทธิ์หลังจากที่ตนเองทราบว่าเราสามารถจะทำให้คนอื่นมีความสุข หรือคลายความทุกข์ได้อย่างไร

โครงการดูแลผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอ

นำเสนอโดยทันตแพทย์ฉลอง (หมอหลอง) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการดูแลผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอนั้น จะต้องตระหนักถึงความทุกข์ทรมานอย่างมากของผู้ป่วย เนื่องจากบริเวณนี้เป็นบริเวณที่อ่อนไหว มีอาการและอาการแสดงมาก มีผลกระทบต่อสุขภาวะและความทุกข์ของคนไข้ได้เยอะ การดูแลแบบสหสาขาวิชาชีพจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ในโครงการนี้ หมอหลองได้เชื้อเชิญแพทย์และบุคลากรสาขาต่างๆมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันจากมุมมองของวิชาชีพของตนที่จะดูแลผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอ ตั้งแต่การดูแลสุขภาพช่องปาก ลักษณะการดำเนินโรคของบริเวณนี้ ผลจากการฉายแสง การป้องกันแก้ไขภาวะต่างๆ ผู้เข้าร่วมเป็นทันตแพทย์ในเครือข่ายรอบๆโรงพยาบาลสงขลานครินทร์

คำว่า "มิตรภาพ" นั้น คงจะไม่เพียงเฉพาะเพื่อนสนิทมิตรสหายของผู้ป่วยอย่างเดียว ในการดูแลเข้าถึงความเป็นองค์รวมนั้น แพทย์เองก็ต้องมองหากัลยาณมิตรในวิชาชีพหลากหลายสาขาเพื่อค้นหาการทำงานที่จะส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะในคนไข้ให้มากที่สุด

มิตรที่เกิดขึ้นระหว่างสหสาขาวิชาชีพ ทำให้เรายิ่งเพิ่มความเข้าใจในความซับซ้อนของสุขภาพ ทราบว่าบางมุมมองที่เป็น "ข้อจำกัด" ของสิ่งที่เราทำนั้น อาจจะมีคำตอบอยู่ในมุมมองจากสาขาวิชาชีพอื่นๆ และสิ่งที่เราทำเป็นประจำ ก็อาจจะเป็นคำตอบที่สำคัญในการช่วยการทำงานของเพื่อนต่างสาขาก็เป็นได้ โครงการนี้ได้ทำให้การดูแลร่วมกันเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เกิดเครือข่ายกัลยาณมิตร และสานเป็นฐานรองรับการเกิดเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยครบองค์รวมในอนาคตต่อไป

โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง อาคารเย็นศิระ

นำเสนอโดยคุณชาย จากหน่วยสิทธิประโยชน์ (ที่อื่นเรียก "สังคมสงเคราะห์") รพ.สงขลานครินทร์ ที่จริงสิ่งที่โรงพยาบาลได้จัดทำที่อาคารเย็นศิระนั้นมีมากมายเกินกว่าที่จะสรุปเป็นโครงการเดี่ยวๆได้ และผมเองได้เล่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในการนำมาดัดแปลงกับหลักสูตรและการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาแพทย์มากมายหลายกิจกรรม สิ่งที่ชายนำเสนอในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และคัดมาบางกรณีที่ประทับใจ เคยนำไปเสนอผลงานที่กรุงเทพฯในงานมิตรภาพบำบัดของส่วนกลาง เรียกความประทับจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมมาแล้ว

อาคารเย็นศิระสร้างมาตั้งแต่ปี 31 ก็ยี่สิบปี แต่ รพ.ได้เข้าไปบริหารจัดการโดยตรงตั้งแต่ปี 2549 ก็ประมาณ 4 ปีมานี้ แต่เดิมเป็นอาคารที่จัดให้ผู้ป่วยรังสีรักษาที่ต้องมาฉายแสงเป็นเวลาหลายอาทิตย์ ได้มีที่อยู่ คิดค่าอาศัยเพียงแค่วันละ 5 บาทเท่านั้น อนุญาตให้ญาติเฝ้าได้หนึ่งคน มีอาสาสมัครอาคารเย็นศิระดูแลคือลุงจรูญและป้าแดง และเป็นพื้นที่สำหรับอาสาสมัครของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ลงไปทำกิจกรรมกับคนไข้ ภายหลังเราได้จัดเป็นพื้นที่การเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาแพทย์ ในสาระเรื่องสุขภาวะองค์รวม จริยธรรม จรรยาบรรณ และการสื่อสารด้วยความรักและเมตตา

ชายได้เล่าเรื่องของน้องกุ้ง ผู้ป่วยเด็กผู้หญิงที่มีภาวะเจ็บป่วยหนัก แต่ก็ร่วมมือในการรักษา ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆจนอาการดีขึ้นอย่างมหัศจรรย์ น้องกุ้งได้เริ่มวิถีชีวิตในการเป็นอาสาสมัครจากชีวิตที่เกิดใหม่ ด้วยความซาบซึ้งในบุญคุณของบิดามารดา ประทับใจในความรักของพ่อที่ยอมขายเรือ อันเป็นเครื่องมือทำมาหากิน เพื่อมารักษาตัวน้องกุ้ง และประทับใจในกำลังใจที่ได้รับจากพี่ๆอาสาสมัครที่อาคารเย็นศิระนี้ ภายหลังได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นจากจังหวัดติดต่อกันเป็นเวลาสามปี และเธอก็ยังคงใช้ชีวิตเพื่อช่วยเหลือคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยมาตลอดในปัจจุบัน

ในเรื่องราวแบบนี้ ไม่มี "การสรุป" ว่าเกิดจากอะไร

เดี๋ยวนี้กำลังเป็นยุคฮิตติดใจกับ "การถอดบทเรียน" แต่หากเราได้เข้าฟังอย่างลึกซึ้งในเนื้อหาต่างๆของเรื่องเล่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าของน้องกุ้ง ของคุณบุญยืนในการนวดแผนไทย ของหมอหลองในการดูแลคนไข้ เราจะพบว่ามีเหตุปัจจัยมากมายนัก ทั้งที่เรามองเห็น และมองไม่เห็น ทั้งที่เรารับรู้เข้าใจได้ กับสิ่งที่เราเองไม่ได้มีประสบการณ์ตรงแต่ก็ทราบว่ามีอยู่ อีกมากมายนัก การ "สรุปชีวิต" ของเป็นหนึ่งหน้ากระดาษ A4 เป็นการ minimalize humanity หรือบางทีอาจจะถึงขั้น dehumanization ลงก็เป็นได้

ตกตะกอนหรือตกผลึก

บทเรียนนั้น เราสามารถจะทำแบบ "ตกตะกอน" หรือ "ตกผลึก" ก็ได้ ต่างกันนิดหน่อยก็คือ ตกตะกอนจะเกิดหลังจากเรากวนๆ และสิ่งที่เกิดขึ้นก็จะเป็นชั้นๆ แยกแยะ ส่วนหนึ่งไปนอนก้น ส่วนหนึ่งเป็นสารละลาย แต่การตกผลึกนั้น เป็น "ความบริสุทธิ์เข้มข้น" ซึ่งเมื่อบ่มเพาะอย่างเหมาะสม ใน "นิเวศน์ที่นิ่ง" ผลึกอันสวยงามอันเป็นธาตุแท้ของระบบ ก็จะผุดปรากฏออกมาอย่างสวยงาม

ภาษาที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ไม่เพียงพอที่จะบรรยายถึงความงาม และทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในปรากฏการณ์เบื้องหน้าเราได้ การที่เราจะลด experiences ของคนลงมาเหลือคำไม่กี่คำ และเชื่อในคำที่ได้ออกมานั้นว่าเป็น magic words เป็นการ devalues ของสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ

การทำ world cafe ก็ดี การ KM ก็ดี เกิดความรู้มากมายที่จะผันแปรไปตาม background ของคนซึ่งไม่เหมือนกัน จนกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ละลายกลายเป็นเนื้อเดียว ในความเข้มข้นที่เหมาะสม ในการเพ่งพินิจพิจารณาอย่างลึกซึ้งใคร่ครวญอย่างแยบคาย เราถึงจะได้ผลึกที่เจียระไนอย่างประณีต ไม่ได้เป็น "ผงตะกอน" ที่เกิดจากการเร่งรัดรีดเค้น บางครั้งโดยคนที่ไม่ได้มีประสบการณ์ตรงเสียด้วยซ้ำ ว่า "คืออะไร" แต่เพราะความที่คนสรุป เป็น EXPERT บางทีคนที่มีประสบการณ์ตรงกลับทิ้งสิ่งที่ตนรู้สึกและสัมผัส ไปไขว่คว้าเอา key words เหล่านี้มาแทน ซึ่งก็น่าเสียดาย

KM เป็นการสะท้อนที่ละเอียดและลึกซึ้ง เป็นกิจกรรมสำคัญของ "คุณกิจ" หรือผู้กระทำกิจกรรม ส่วนคนฟังภายนอกนั้น อาจจะได้อะไรที่เป็นความสวยงามของผลึกนี้ แต่ไม่มีทางที่จะได้ประสบการณ์ตรงจนกว่าตนเองนำไปปฏิบัติเองในบริบทของตนเอง ดังนั้น ความคาดหวังจะต้องมีให้ถูกกาละ เทศะ และบุคคล

โครงการจิตอาสาจึงเป็นโครงที่สวยงามด้วยการ narrative หรือการเล่า แต่สิ่งที่คนทำได้นั้น เป็น personal privilege หรืออภิสิทธิ์ส่วนตัว ใครอยากจะได้บ้าง ไม่มีทางลัด ไม่มี "ถอดความรู้" ต้องทำเองด้วยตนเอง และนำมาใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งให้เข้าเนื้อเข้าตัว จนตกผลึกไม่ใช่ตกตะกอน เท่านั้น เราจึงจะเกิด self transcendence ขึ้นมาจากชีวิตที่เราใช้

หมายเลขบันทึก: 402814เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2010 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 12:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อ่านไปเรื่อยๆ นอกจากสะดุดที่ภาพคุณป้าที่อายุมากเเล้วยังสดใสอยู่ ยังสามารถฮูล่าฮูปได้นี่ถือว่าเยี่ยมจริงๆครับ

อ่านมาถึงเรื่องราวการตกตะกอน การตกผลึกของความรู้ หากเราตัดสิ่งที่เรายึดติด ไม่ว่า คำก็ดี รูปแบบบางอย่างก็ดี น่าจะเป็นความพยายามในการหาพื้นที่เรียนรู้ประณีตได้ ในมุมของการเรียนรู้ที่ทรงพลังผ่านธรรมชาติของผู้คน

ขอบคุณครับ อาจารย์หมอครับ

ผมอิจฉาผอพ้อเหมือนกันครับ น้องเอก สุดยอด สว. จริงๆ

หึ หึ ก็ไม่ได้รังเกียจรังงอนอะไรกับ "ถอดความรู้" หรอกนะครับ บางเรื่องน่าถอดจริงๆ ยิ่งเป็นเรื่อง mechanic ล่ะก็ยิ่งดี เจอ key ปุ๊บไปโลด

แต่ถอดเรื่องชีวิตมนุษย์ เรื่องสังคมนี้ ยิ่งถอดยิ่งโป๊ ยิ่งถอดยิ่งเหลืออัตตา (คนถอด) อย่าไปถอดมันมากนักเลย รอมันตกผลึกเอง เราจะพบว่าในระบบที่เราไปกวน ไปคนนั้น ผลึกจะตกไม่ได้ หรือเสียรูปทรง ต้องในที่นิ่งๆ เราจึงจะได้ผลึกสมบูรณ์แบบ ได้หินงอกหินย้อยที่สวยงามก็เพราะ "เวลา" มาช่วยหล่อหลอมเท่านั้น

ขอบคุณที่เข้ามา comment อย่างทันใจครับ

...ยายธี..สดุด..อยู่ที่..โครงการจิตอาสาเป็น..โครงที่สวยงาม...ด้วยการเล่า....อภิสิทธิ์ส่วนตัว..ไม่มีทางลัด..ไม่มีถอดความรู้..ต้องทำเองด้วยตนเอง....จนตกผลึก...มิใช่ตกตระกอน..เท่านั้น.จึงจะเกิด...ขึ้นจากชีวิต..ที่เราใช้...(ปิ้งมากเจ้าค่ะ...ท่านอาจารย์..ขอบพระคุณที่มีวาทะดีๆให้ได้อ่านกันเจ้าค่ะ...ยายธี).....

สะดุดแล้วลุกเดินต่อไปใช่ไหมครับ ยายธี อิ อิ

อาจารย์คะ

โดนใจเรื่อง ตกตะกอน และ ตกผลึกมากค่ะ

สิ้นเดือนนี้ มี workshop ถอดบทเรียน จาก เรื่องเล่า ของ เภสัชกรภาคเหนือ ในงานปฐมภูมิ

จะนำข้อคิดดีๆ ของอาจารย์ไปใช้ค่ะ (ดีใจมากค่ะที่ได้อ่านทันเวลา..)

ขอให้งานนี้ ไม่ถูกกวนจนตกตะกอน นอนก้น แยกชั้น แล้วเข้ากันไม่ได้อีก ...

สาธุ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท