ความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และความสามารถทางการเกษตรที่น่าจะเป็นประโยชน์กับสังคมไทย พัฒนามาอย่างไร


ผมจะทำทุกอย่างที่จะช่วยแก้ปัญหาของการทำการเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้จงได้

ตั้งแต่วันแรกที่ผมนั่งรถประจำทาง บขส. จากกรุงเทพมหานคร มาถึงขอนแก่นเมื่อประมาณปลายปี ๒๕๑๙ เพื่อมาทำงานในตำแหน่งอาจารย์ที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมได้ตั้งปณิธานว่า

ผมจะทำทุกอย่างที่จะช่วยแก้ปัญหาของการทำการเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้จงได้”

ผมยังจำภาพไร่นา วัวควาย ที่ปรากฏต่อสายตาผมในวันนั้นได้ดี เพราะบังเอิญว่าผมมีระบบความจำแบบวีดีโอ ที่จะจำทุกอย่างเป็นระบบภาพเคลื่อนไหว ที่สามารถทบทวนได้แบบภาพเคลื่อนที่เดินหน้าและถอยหลังได้ แต่จะข้ามภาพบางภาพไม่ได้

ผมเห็นสภาพนาที่เสื่อมโทรม มีตันไม้ประปราย วัวควายห่างๆ มีบ้านเรือนเป็นระยะๆ ที่ผมคิดและตั้งใจไว้ว่า จะต้องหาทางพัฒนาเพื่อลบล้างการดูถูกเหยียดหยามคนอีสานโดยคนภาคอื่นให้ได้

ผมเริ่มทำงานแบบไม่รอทุนวิจัย เก็บของที่พอหาได้จากรอบๆที่ทำงาน มาใช้ในการทำงานวิจัยเอง

โดยไม่เคยทราบมาก่อนว่าการทำงานวิจัยต้องรอทุนวิจัย รองบประมาณ รอฤดูกาล

ผมจำได้ว่างานแรกๆที่ทำในกระถางที่ไม่ทราบว่าใครทิ้งไว้ให้

ผมใช้วัสดุปรับปรุงดินทุกอย่างที่หาได้มาทดลอง ที่มีทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยเทศบาล ปุ๋ยอินทรีย์ และเศษพืชที่หาได้ เพื่อการปลูกพืชทดลอง

ทั้งตามตำราที่เรียนมาและจากความคิดที่ “อยากรู้” ไปเรื่อยๆ

ทำให้ผมพบว่า

  • ไม่มีสูตรปุ๋ยเคมีใดๆ ไม่ว่าสูงแค่ไหน จะทำให้พืชโตเท่าปุ๋ยอินทรีย์
  • ไม่มีปุ๋ยอินทรีย์สำเร็จสูตรใดๆ ที่ใส่ตามอัตราแนะนำจะทำให้พืชโตเท่ากับดินที่ปรุงด้วยการหมักเศษพืช และมีเศษพืชคลุมดินตลอดการปลูก

ที่ทำให้ผมประหลาดใจ และเป็นข้อสงสัยมาก ว่าทำไม แต่สมัยนั้นก็ยังไม่กล้าคุยกับใคร เพราะกลัวคนจะรู้ว่าผมไม่มีความรู้ จึงแอบทำไปคิดไปเรื่อยอยู่คนเดียว

การทำงานวิจัยในระยะต่อๆมากับนักวิจัยชาวญี่ปุ่นในปี ๒๕๒๑-๒๕๒๔ เรื่องนิเวศวิทยาไร่เลื่อนลอย ทำให้ผมเริ่มเข้าใจถึงระบบนิเวศวิทยาของดินและสิ่งที่มีชีวิตในดิน ที่พืชต้องการเพื่อการเจริญเติบโต ที่มากกว่า “ธาตุอาหาร” เพียงอย่างเดียว

จนกระทั่งผมมีโอกาสได้ทุนไปเรียนปริญญาเอกที่ประเทศออสเตรเลีย ระหว่าง ปี ๒๕๒๕-๒๕๒๙ ผมจึงได้มีโอกาสทดสอบความรู้นี้ในเชิงวิชาการมากขึ้น

ทำให้ผมพบว่า

ดินที่มีชีวิตเป็นดินที่ทำให้พืชและสิ่งมีชีวิตต่างๆเจริญอยู่ได้

การมีชีวิตของดินคือ การที่ดินมีระบบนิเวศแบบครบถ้วนในระบบของดิน

ที่ต้องมี

  • โครงสร้าง มีแร่ธาตุ มีอินทรียวัตถุ มีสิ่งปกคลุมกันแดดกันลม กันร้อนกันหนาว
  • กลไกการหมุนเวียน และพัฒนาความอุดมสมบูรณ์ของดิน
  • สิ่งมีชีวิตในดินที่หลากหลาย คอยดูแลปกป้องการล่มสลายของโครงสร้างและกลไกการทำงานของดินที่มีชีวิต
  • การเกิด การเจริญ การแก่ การเจ็บป่วย และตาย ที่สามารถทำให้เกิดใหม่ได้

พอจบปริญญาเอก ผมก็รีบกลับมาลุยงานการปรับปรุงดินกับชุมชน

งานแรกๆก็คือการศึกษาและติดตามการใช้ดินจอมปลวกปรับปรุงดินภาคอีสาน ที่ผมพบว่าเป็นภูมิปัญญาของคนอีสานโดยแท้ ที่ทำให้คนอีสานปลูกผักหลายๆชนิดได้ โดยการลงทุนน้อยกว่าที่นักวิชาการทั่วไปคิด

งานชิ้นนี้ได้พัฒนาตัวเองมาแบบ “ฝังใจ” ในระบบคิดของผมจนถึงปัจจุบัน

แม้สูตรดินปุ๋ยผสมที่ผมทำวิจัยจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ก็ยังใช้ชื่อว่า “แทนโพน” ที่มีรากศัพท์ภาษาอีสาน แปลเป็นไทยว่า “แทนดินจอมปลวก”

ที่ผมพบว่า

แท้ที่จริงจอมปลวกก็คือ “ศูนย์การเก็บรวบรวมและสำรองธาตุอาหารและอินทรียวัตถุ” ของระบบนิเวศที่เปราะบางและเสื่อมโทรม

แต่จอมปลวกก็มีไม่มากพอ และมีการใช้มากมาย จนถือได้ว่า “หายาก” ไปแล้ว จึงต้องหาสิ่งทดแทนให้ได้ นี่คือที่มาของคำว่า “แทนโพน”

อุทาหรณ์เรื่องจอมปลวกทำให้ผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิจัยระดับนานาชาติ และเกษตรกรในชุมชน

ที่พบว่า

ในทุกระบบนิเวศต้องมีระบบสำรองและหมุนเวียนธาตุอาหารพืช

ดินที่ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดีนั้น ต้องมีทั้งระบบสำรองที่ใหญ่ และการหมุนเวียนที่มากพอตลอดฤดูกาลของการเจริญเติบโตของพืช

และพบว่า

ดินเขตอบอุ่นส่วนใหญ่ มีระบบสำรองใหญ่ มีดินเหนียวมาก มีอินทรียวัตถุมาก แต่มีอัตราการหมุนเวียนต่ำ

จึงเป็นที่มาของ

  • การเปิดป่าให้โล่ง เพิ่มอุณหภูมิดิน
  • ไถพรวนให้ดินแตก เพิ่มการย่อยสลายอินทรียวัตถุ เพื่อให้มีธาตุอาหารหมุนเวียนออกมามาก เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช
  • การใช้ปุ๋ยเคมีเร่งการย่อยสลายของอินทรียวัตถุ และให้ธาตุอาหารทีมีน้อย หรือปลดปล่อยมาน้อย

แต่ในดินเขตร้อน มีระบบสำรองเล็ก แต่ปลดปล่อยได้มากและรวดเร็ว มีการชะล้างพังทลายสูง ดินเหนียวน้อย อินทรียวัตถุต่ำ

จึงต้องอาศัยการสำรองในระบบพืชพรรณมาช่วย ที่ต้อง

  • มีพืชคลุมดิน
  • มีวัสดุอินทรีย์คลุมดิน
  • มีสิ่งมีชีวิตในดิน ที่ช่วยไถพรวนดินแบบธรรมชาติ ตลอดเวลา
  • มีรากพืชคอยดักจับธาตุอาหารและลดการชะล้าง พังทลายของดิน

ที่เป็นหลักการของความจำเป็นที่จะต้องมีพืชยืนต้นร่วมในแปลงพืชล้มลุก ในนามของ

  • ระบบวนเกษตร
  • ระบบเกษตรผสมผสาน
  • ระบบป่าล้อมไร่นา

ที่ไม่ควรมีการทำลายดินทั้งเชิงโครงสร้างและระบบนิเวศ

แต่ควรใช้ดิน หรือปลูกพืชแบบผสมผสานให้มากที่สุดที่จะทำได้ เพื่อให้เกิดและรักษาระบบสำรองและหมุนเวียนธาตุอาหารพืชที่ใหญ่เพียงพอ

แต่...น่าเสียดาย ที่เราไปรับแนวคิดวิธีการปลูกพืชของเขตอบอุ่น ที่เน้นการไถ และการใช้ปุ๋ยเคมี ที่ทำให้เร่งการสลายตัวของอินทรียวัตถุ จนทำให้ดินเขตร้อนของเราล่มสลาย ทั้งเชิงโครงสร้างและระบบนิเวศ

ที่การแนะนำให้ใช้ปุ๋ยเคมี ก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่มีผลเสียระยะยาวต่อระบบนิเวศของดิน ที่ในที่สุดก็คือความเสื่อมโทรมของดินไปเรื่อยๆ ทั้งเชิงโครงสร้าง นิเวศวิทยาความ “มีชีวิต” ของดิน และปริมาณธาตุอาหารพืช

ผมได้พยายามแนะนำให้ชาวบ้านในเครือข่ายการเรียนรู้ เพื่อแก้ไขปัญหาตามแนวคิดที่พบ กลับไม่มีใครที่ทำได้ มีแต่ข้ออ้าง ข้อแก้ตัวสารพัด

ด้วยความอึดอัด และต้องการพิสูจน์ความจริงที่ผมได้พบมา ผมจึงต้องลงทุนด้วยชีวิต ใช้เงินที่พอเก็บไว้บ้างมาซื้อที่นา ๔ ไร่ ใกล้เมืองขอนแก่น เพื่อทำนาตามที่ผมคิดมาให้ทุกคนเห็น “เชิงประจักษ์”

ลองทำทุกรูปแบบที่อยากรู้อยากเรียน เมื่อได้ผล ก็พยายามนำไปบอกเล่า ก็มีแต่คนขำ และบอกว่า

 “แค่ ๔ ไร่ ใครก็ทำได้ ฉันมี ๒๐-๓๐ ไร่ ทำไม่ได้หรอก”

ผมก็เลยรับคำท้าว่า

งั้นผมจะหาซื้อที่เพิ่มให้เป็น ๒๐ ไร่ จะลองทำดู

ที่ผมต้องลงทุนกู้เงินธนาคารมาซื้อที่ดิน อีก ๑๖ ไร่ ที่สาหัสพอสมควร กับการลงทุนเรียนรู้ของผมในครั้งนี้

ความดีในเรื่องนี้ ต้องยกให้เป็นความอดทนของครอบครัวโดยแท้

เมื่อผมได้ที่มา ๒๐ ไร่ ผมก็ทำด้วยตนเองเกือบทั้งหมด พยายามไม่ขอให้ใครช่วย ไม่จ้าง

ใช้เวลาที่พอมีหลังจากงานในมหาวิทยาลัย และงานวิจัยในชุมชน โดยเฉพาะเช้า เย็น และวันหยุดทำงานในนา

นอนน้อยลง ทานอาหารน้อยลง ทำงานมากขึ้น งานบันทึกทำกลางดึก

ผมพบว่าผมทำได้เต็มที่เพียง ๑๖ ไร่ เพราะ ๔ ไร่ที่เหลือ อยู่ห่างออกไป ทำไม่ได้ และทำไม่ทัน

แต่ก็ได้พัฒนาเทคนิคที่สามารถทำนาเป็นร้อยไร่ได้ ถ้าแปลงนาอยู่ติดกัน

พอทำได้แล้ว ก็รีบไปบอกสมาชิกเครือข่าย กลับได้คำตอบแบบผิดหวังว่า “ฉันไม่หมั่น (ขยัน) เท่าอาจารย์ ฉันทำไม่ได้หรอก” ทำให้ความคิดของผมเป็นสุญญากาศ อีกครั้งหนึ่ง

สิ่งที่ผมทำได้แล้วนั้น สามารถพัฒนา

  • เทคนิคการทำนาแบบ “คนจน” ไม่ไถ ไม่ดำ ไม่หว่าน ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ยาสารพิษ
  • ทำแบบต้นทุนต่ำ ไม่ใช้เงิน เน้นการพึ่งตนเอง ใช้แรงงานตนเอง ทำเท่าที่ทำได้
  • การใช้ระบบนิเวศ “ป่าล้อมนา” ที่มีการจัดการย่อยๆอีกหลายสิบเทคนิคในการแก้ปัญหาการทำนาแบบ “ต้นทุนต่ำ ประหยัดพลังงาน”
  • การพึ่งพาธรรมชาติให้พืชสัตว์ควบคุมกันเอง ปลากินหอยเชอรี่ กบกินปู นกกินแมลง งูกินหนู ต้นไม้คุมหญ้า โดยมีการจัดการน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อประหยัดแรงงาน และค่าใช้จ่าย
  • ลดการใช้น้ำจากการทำนาบก ไม่ต้องมีน้ำขัง ก็ได้ผลผลิตข้าว แก้ปัญหาความเข้าใจผิดของคนทั่วไปว่า “ข้าวใช้น้ำมาก”
  • คิดค้นวิธีหว่านข้าวโดยใช้ “แกลบ” เพื่อประหยัดเมล็ดพันธุ์
  • การหว่านข้าวแบบ "๓ นิ้ว" เพื่อลดการใช้เมล็ดพันธุ์ จาก ๒๐-๔๐ กก. ต่อไร่ เป็น ๒-๔ กก. ต่อไร่ 
  • คิดค้นวิธีการขยายพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีที่ชิมว่า “อร่อย” แล้ว จาก “เมล็ดเดียว” นำไปปลูกได้ ๑ ไร่ ภายในเวลา ๑ ปี
  • การปลูกต้นไม้แบบไม่ต้องปลูก
  • การคัดเลือกพันธุ์ข้าวให้เหมาะกับการทำนาของตนเอง เช่น พันธุ์ที่ปลูกครั้งเดียวเกี่ยวตลอดชาติ ปลูกครั้งเดียวเกี่ยว ๓ ครั้ง เพื่อเป็นการลดต้นทุนการทำนา
  • และยังมีเทคนิคย่อยๆอีกมากมาย จากการลงมือทำเอง

ที่พบว่ามีหลายวิธีการที่เหมาะกับการทำการเกษตรตาม “จริต” ที่ดีของแต่ละคน

และได้นำความรู้เหล่านี้ไปเผยแพร่ แลกเปลี่ยน ทั้งในระดับ

  • เกษตรกร
  • นักส่งเสริม
  • นักวิจัย
  • นักพัฒนา
  • นักวางแผนและนโยบาย
  • นักการเมือง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ที่หวังว่างานที่ทำมาด้วยชีวิต จะได้ผลเป็นประโยชน์กับชุมชนและผู้ตกทุกข์ได้ยาก  ที่ต้องการพัฒนาตนเองให้พ้นวิกฤติและกับดักทางสังคม ความรู้ และเศรษฐกิจแบบ “ใครรู้น้อยกว่า มีแต่โดนเอาเปรียบ”

เพื่อที่จะมีความรู้ เอาตัวรอดได้ ส่งไม้ต่อให้ลูกหลานต่อไปได้ อย่างมีศักดิ์ศรีต่อไป

ผมก็จะถือว่าได้ใช้หนี้ให้กับสังคม กับโลก เพื่อที่จะจากไปอย่างไม่มีกังวลว่า

“ยังมีอะไรที่ยังไม่ได้ทำอีกบ้าง”

เพราะผมคิดว่าผมทำให้เป็นตัวอย่างทั้งนักวิชาการ เกษตรกร และบุคคลทั่วไป ในการพัฒนาชีวิตแบบ “บูรณาการ” ที่ตามรากศัพท์ แปลว่า “ทำให้สมบูรณ์” ครับ

สวัสดีครับ

 

หมายเลขบันทึก: 402399เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2010 04:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)
  • สวัสดีครับ อาจารย์แสวง
  • แวะมาเติมเต็มสาระความรู้ดีๆ ครับ
  • ผมก็เติบโตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรครับ
  • สมัยผมเด็กๆ  ใช้ควาย ดำนา เกี่ยวข้าว ตีข้าวเอง ทำลานเอง มีเกวียน
  • แต่ทุกวันนี้ ใช้รถไถ น้ำมัน นาหว่าน รถเกี่ยวข้อง ปุ๋ยเคมี ฯลฯ
  • ผมที่ตามมา "ความสูญหายของวัฒนธรรมที่ดีงาม"
  • ผู้คนเริ่มเห็นแก่ตัว ไม่มีน้ำใจ มากขึ้น

Thank you.

This is the best summary and example of an ecological agriculture practice.

I was born in a farming family but had gone into information technology profession and now returned to the land. I am working on adding water, micro-organisms and carbon reservoirs on my bush block. I have been growing fruits and vegetables among gum trees for several years now. I can only subsist on my land and my practice -- no commercial output ;-) . I can appreciate the need for families to build financial reservoir, to own land, build a house and raise a family. Any practice that would 'in general' produce this outcome, is the the practice of choice for the 'general' mass. But we know that land, water, life and time are limited and getting scarcer. The dream of owning a house in a little fertile farm is fading out day by day -- not only for Thais but for the whole world.

From somewhere, I learned "how to start a movement". The founder starts by showing around his idea and practice. A follower --the very first follower-- joins in and spread the idea and practice. Slowly, more followers join because it is not 'a crazy odd ball thing' anymore. Then the movement can speed up and spread quickly as it is now fashionable and those who sit on the fence watching feel left out...

We see that the seed (the founder+the first follower) is essential for the movement's birth and growth. Replication of the same movement in geographical locations gives strength and pooling of resources gives power. From there...

I think สคส is achieving replication and pooling despite the vast number of people still sitting on the fence.

ขอบคุณครับที่ชม

ผมก็พยายามอธิบายให้คนที่อยู่ในวังวนใกล้ๆกันได้รับรู้ว่า

  • ผมกำลังคิดและทำอะไร
  • ผมสู้มาตลอดชีวิตด้วยวิธีใด
  • ผมเดินมาถึงไหน
  • กำลังจะไปไหน

เผื่อจะได้พึ่งพาอาศัยกันได้ครับ

สวัสดีครับอาจาย์

ผมเป็นบุคลากรใน มข. อยากศึกษาวิธีการทำนาอย่างที่อาจารย์ได้กล่าวมานี้ ผมอยากทำเกษตรพอเพียงครับ(อยู่ในแผนของชีวิต)

อยากขอไปศึกษาดูงาน ที่ท้องนาบ้านอาจารย์อยู่บ้างจะได้ไหมครับ...ถ้าอาจารย์ไม่สะดวกก็ไม่เป็นครับ

ผมได้ความรู้มากครับ

ด้วยความยินดีครับ

เมื่อไหร่ก็ได้ครับ

สวัสดีครับอาจารย์

  • วันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2553 ผมมีโอกาสจะเดินทางไปประชุมใหญ่หอการค้าฯ ที่ จ.ขอนแก่น อยากจะขอพบพูดคุยกับอาจารย์ ไม่ทราบว่าช่วงนั้นอาจารย์ติดภารกิจหรือไม่ รบกวนขอทราบเบอร์โทร.ติดต่อทางอีเมล์ [email protected]
  • ขอบคุณครับ

 

quote:

"ผมก็พยายามอธิบายให้คนที่อยู่ในวังวนใกล้ๆกันได้รับรู้ว่า

* ผมกำลังคิดและทำอะไร

* ผมสู้มาตลอดชีวิตด้วยวิธีใด

* ผมเดินมาถึงไหน

* กำลังจะไปไหน

เผื่อจะได้พึ่งพาอาศัยกันได้ครับ"

Very good.

I did in g2k exactly identical to your above actions.

Please keep it on.

regards,

zxc555

สวัสดีค่ะอาจารย์ ....ปัจจุบันเป็นพยาบาลที่มาอาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ค่ะ

แต่อดีต....เป็นเด็กจังหวัดบุรีรัมย์..

คิดถึงอดีตแล้ว...อยากเรียกภาพเก่าๆในความทรงจำกลับคืนมาแล้วมอบให้กับลูก 2 คน ได้รับรู้ เพราะ ทุกสิ่งคือความเป็นไทย

เป็นประเทศเกษตรกรรม....ที่ไม่มีวันอดตาย

แต่ทุกวันนี้ทุกคนมุ่งทำลาย...โดยเอาความเป็นอุตสาหกรรมเข้ามารุกรานประเทศ ความหายนะต่างๆจึงเกิดขึ้นกับประเทศของเรา

คำขวัญที่ดีๆมีมากมาย แต่มีสักกี่คนที่ศรัทธาและทำตามคำขวัญดีๆเหล่านั้น

อนิจจา อนิจจัง

Your ending in comment #9 sound a tad 'defeatism'.

Though, I do agree that 'words' are empty if they merely fill the air and waste our time (as someone said "sowing in the wind"). I also believe that words can spark up a fire, a hope, an inspiration within. Right words in the right place at the right time (ปากเป็นเอก) may turn Thailand back from an industrial estate (controlled by foreign companies) to the "garden state of Siam" (read this like the 'garden of Eden') again.

At the moment, your words are ringing beautiful and pleasing for many.

May we have uplifting words at end of each post? I like to see optimism at end of each interaction ;-)

I cannot understand your good Eng above. But I am sure you say some thing good.

And you made good contribution because you wrote it in Eng.

You increase variability of the choices and reduce probability of risk for Th to damage.

Please keep on your good work.

Even g2k has less than 1 in millions persons compared to 60 million TH but that was sufficient to push TH to progress. I know yesterday that my powerful friend start his project to produce good persons in the same way g2k did. We do not need many Muk Ngai persons' as politics did at all. 55555.

Regards,

zxc555

ถ้าผมจะไม่หว่านในปีต่อไป แล้วผม จะรู้ได้ยังไงครับว่า ข้าวที่ตกเรี่ยปีนี้จะพอ และกระจายสม่ำเสมอเพียงพอ

ผมจำเป็นต้องหว่านข้าวเพิ่มลงไปไว้ หลังจากเกี่ยวข้าวไหมครับ

หลังเกี่ยวข้าว ผมจะเอาฟางมาคลุมให้ทั่วทั้งนากันหญ้างอก ดีไหมครับ

พันธ์ข้าวที่ปลูกครั้งเดียวเกี่ยวตลอดชาติทำยังไงครับ

การหว่านข้าวโดยใช้แกลบทำยังไงครับ

ผมอยากให้อาจารย์ นำเสนอเทคนิคต่างๆ เป็นคลิบวีดีโอ แล้วอัพโหลดขึ้น youtube น่าจะดีนะครับ

แฮะๆ แต่คิดว่าน่าจะรบกวนอาจารย์มากเกินไป เพราะอาจารย์งานเยอะอยู่แล้ว

อย่างน้อย ผมคนนึงละที่กำลังทดลองทำตามวิธีการที่อาจารย์พาทำอยู่ และ ได้ผลหลายอย่างตามที่อาจารย์บอกไว้

และคิดว่าวิธีของอาจารย์ เวิร์ค ครับ

ขอขอบพระคุณ อาจารย์ ดร.แสวง มากๆครับ

อ่อ ผม อิทธิพล ความเห็น 12 เมื่อกี้ลืม เขียนชื่อครับ

ลองทำไปครับ ไม่พอก็ทำเพิ่ม จะได้ความรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

ดีครับ

แต่ชาวนาทั่วไปยังไม่เชื่อครับ

แม้ชาวนาจะเชื่อ เจ้าของรถไถก็ยังไม่เชื่อครับ

ปัญหาอยู้ประมาณนี้ครับ

นาไม่ใถ ผมก็อึ้งแล้วน่ะ ผมเจอเทคนิคด้านล่างนี้ผมชักงง แล้วหล่ะ ขอถามอาจารย์แสวง เป็นข้อๆ นะครับ จะได้นำไปทดลองทำดู

  • คิดค้นวิธีหว่านข้าวโดยใช้ “แกลบ” เพื่อประหยัดเมล็ดพันธุ์
  • ใช้แกลบผสมก่อนหย๊อก เมล็ดพันธุ์หรือใช้แทนเมล็ดพันธุ์ได้เลยครับ

  • การหว่านข้าวแบบ "๓ นิ้ว" เพื่อลดการใช้เมล็ดพันธุ์ จาก ๒๐-๔๐ กก. ต่อไร่ เป็น ๒-๔ กก. ต่อไร่ 
  • อันนี้ผมเข้าใจว่าเป็นการหย๊อกหยอดเมล็ดพันธุ์โดยใช้สามนิ้วแล้วหมุนปล่อยเหล็ดพันธุ์ลงสู่พื้นหรือเปล่าครับ

  • คิดค้นวิธีการขยายพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีที่ชิมว่า “อร่อย” แล้ว จาก “เมล็ดเดียว” นำไปปลูกได้ ๑ ไร่ ภายในเวลา ๑ ปี
  • ถือว่าฟังแล้วก็แปลกใจและก็งงครับ ผมไม่ค่อยมีความรู้เรื่องข้าวเท่าใดนักครับ เป็นการซิมเมล็ดข้าวที่เป็นข้าวเปลือกแล้วทำอย่างไรต่อครับ ผมรบกวนอาจารย์แสวงแนะนำเพิ่มเติมให้หน่อยครับ

    ขอแสดงความนับถือครับ

    คมสัน หนุ่มสุรินทร์

    แกลบที่สีแล้วจะมีข้าวหักปน ไปหว่านจะงอกครับ

    การหว่านสามนิ้วให้ไปดูเทคนิคใน yourtube ครับ

    เราชิม"ผล" ข้าวครับ ครึ่งผล แล้วนำที่เหลืออีกครึ่งผล ส่วนที่มี embryo ไปเพาะแบบต้นฤดู แยกกล้าบ่อยๆ สัก ๕ เดือนก็เต็มพื้นที่ ๑ ไร่ครับ

    อย่ามัวแต่เดาครับ ไม่มีทางรู้หรอกครับ

    ไม่มีความรู้ใดเกิดจากการเดา มีแต่จากการปฏิบัติแล้วเรียนรู้ครับ

    ปฏิบัติ แล้วไม่เรียน ก็ไม่รู้

    แบบที่ชาวนาทำกันมาเป็น ๑๐๐ ปี ก็ยังไม่รู้ เพราะเขาไม่ยอมเรียนครับ

    คมสัน หนุ่มสุรินทร์

    แกลบที่ออกจากโรงสี ทั่วๆไปตามชนบท ก็สามารถนำไปปลูกได้หรือครับ

    "ส่วนที่มี embryo ไปเพาะแบบต้นฤดู" ขอท่านอาจารย์ขยายความนิดหนึ่งครับ

    ขอขอบคุณท่านอาจารย์มากๆ ครับ ผมจะลองเพาะข้าวจากแกลบดูครับ

    แกลบของคนอื่นอย่าเสี่ยงครับ

    ทั้งพันธุ์และเมล็ดหญ้า

    ใช้ของตัวเอง จากการสีข้าวกล้องดีที่สุดครับ

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท