ข้อมูลมากมาย หายไปเพราะความพลั้งเผลอ


ใกล้ตัวคว้าไว้ก่อนนะจ๊ะ

เมื่อวานซืน มีผู้ใช้บริการคนหนึ่งทำให้ดิฉันใจพองด้วยความดีใจ ว่ามีคนรู้จักบริการยืมระหว่างห้องสมุดด้วย เพราะเธอแจ้งว่า ขอใช้บริการยืมระหว่างห้องสมุดขอบทความวารสาร ไปที่ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แต่เมื่อดิฉันถามว่า เข้าไปสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลของสำนักหอสมุดของเรารึยังคะ เมื่อเธอตอบกลับมา หัวใจของดิฉันที่พองโตก็มีอันแฟ่บลงราวลูกโป่งไม่ได้อัดแก๊ส (อันนี้ไม่เกี่ยวกับ มนุษย์ต่างดาวที่แม่จันนะ) เธอบอกว่าไม่เคยรู้จักโฮมเพจ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร นั่นทำให้ดิฉันต้องมานั่งทบทวนหน้าที่ของตนเองอย่างแรง ดิฉันเป็นบรรณารักษ์ มีหน้าที่ให้บริการผู้ใช้เพื่อสืบค้นข้อมูล แต่มีสมาชิกของมหาวิทยาลัย อย่างน้อยอยู่ตรงหน้าดิฉัน 1 คน ที่ไม่เคยใช้บริการฐานข้อมูลในโฮมเพจ โอ พระพุทธ ดิฉันรู้สึกผิดมหันต์จริงๆ นะ ยิ่งกว่านั้น ดิฉันพบว่า รายการที่เธอต้องการ มีให้บริการอยู่ในห้องสมุดด้วย

เกริ่นนำมายาวพอสมควร ที่จริงดิฉันตั้งใจจะเขียนหลักการง่ายๆ ของการค้นข้อมูลด้วยตัวท่านเอง ก็คือ

หากค้นผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

1.  ค้นจากสิ่งที่เรามีอยู่ก่อนเป็นลำดับแรก ขอร้องทุกท่าน อยู่สังกัดไหน ค้นข้อมูลจากต้นสังกัดของตนเองก่อนที่จะขอไปที่อื่น เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลารอ เสียเงินทอง และเสียความรู้สึก(ถ้ารู้ทีหลังว่ามีใกล้ตัว) 

2.  ค้นจากฐานข้อมูลออนไลน์ที่เราสามารถหาได้ง่ายๆ และได้ฉบับเต็มก่อน  เช่น ฐานข้อมูลออนไลน์ที่ห้องสมุดบอกรับให้อยู่แล้ว หรือฐานข้อมูลที่ให้บริการ ฟรี (อย่าลืม ดูความน่าเชื่อถือด้วยนะคะ) ไว้วันหน้าจะมาเล่าว่ามีฐานอะไรที่มีให้บริการบ้างค่ะ

3.  ค้นจาก search engine ที่มีอยู่มากมาย อันนี้ต้องขึ้นอยู่กับคุณๆ ว่าจะเลือกพิจารณารับข้อมูลไหนมาใช้และทิ้งข้อมูลไหน ตามอัธยาศัยเลยค่ะ

หลังจากนั้นขยับออกนอกเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

4.  ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ (เน้นค่าใช้จ่ายน้อย)  ซึ่งคาดเดาได้ว่ามี อย่าละเลยนะคะ เช่น ผู้เฒ่า ผู้แก่ ห้องสมุดประชาชนและที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง วัด โรงเรียน สถานที่สำคัญ ฯลฯ แล้วขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆ เท่าที่จะทำได้ (ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ต้องการนะคะ)

5.  แต่ถ้าหาไม่ได้จริงๆ คราวนี้คงต้องใช้บริการจากแหล่งอื่นๆ เช่น หน่วยงานที่ให้บริการสารสนเทศแบบมีค่าใช้จ่ายแล้วล่ะค่ะ

ที่สุดแล้ว หากยังเห็นว่าบรรณารักษ์ช่วยได้ ติดต่อได้ทันทีเลยค่ะแล้วคุณจะพบว่า อาชีพนี้อดทนต่อการสืบค้นข้อมูลมากเพียงใด  แต่อย่าลืมหลักการง่ายๆ ใกล้ตัวคว้าไว้ก่อนนะคะ 

 

หมายเลขบันทึก: 3979เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2005 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผู้ใช้มักนึกถึงสิ่งที่คุ้นเคยอย่าง Google มากกว่าห้องสมุด เพราะ google แค่คลิกก็หาไปให้  หามาเยอะเสียด้วย แต่ว่าไม่มีคนคัดกรองข้อมูลว่าตรงกับสิ่งที่ต้องการจริงๆหรือไม่ น่าเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด  ซึ่งก็ช่วยได้ระดับหนึง ในความรู้สึกของคนทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะบ้านเรา ในต่างประเทศก็เป็นเหมือนกัน ห้องสมุดมักเป็นแหล่งที่ผู้ใช้จะนึกถึงอันดับท้ายๆ  ทั้งๆที่ปัจจุบัน เว็บไซต์ห้องสมุด ได้รวบรวมข้อมูลไว้ให้เลือกใช้งานได้มากมาย ทั้งที่หยิบจับตัวเล่มได้ในห้องสมุด หรือข้อมูลในรูปอิเล็กทรอนิกส์  .... 

บางทีอาจต้องหันกลับมามองตัวเอง ทั้งส่วนห้องสมุด ว่าเป็นเพราะเหตุใด ผู้ใช้ถึงไม่นึกถึง เว็บไซต์จัดทำให้น่าสนใจหรือไม่ เข้าไปเลือกค้นหาข้อมูลยากหรือไม่  ส่วนตัวผู้ใช้เอง ก็จำต้องปรับทัศนคติที่มีต่อห้องสมุดใหม่หรือไม่ ห้องสมุดยุคเก่า ภาพเดิมๆ ที่มีบรรณารักษ์แก่ๆใส่แว่นตาหนาเตอะ คอยให้บริการนั้น อาจไม่มีให้เห็นแล้วก็ได้...  บรรณารักษ์ยุคใหม่ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงผู้หยิบหนังสือให้ผู้ใช้ หรือนั่งเฝ้าตู้หนังสือ  หากแต่เป็นทั้งผู้ช่วยแนะนำการค้นคว้า ช่วยวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้ได้ระดับหนึ่ง .....

หากคุณต้องการข้อมูลความรู้ และไม่รู้จะเริ่มต้นค้นหาอย่างไร ต่อไปลองนึกถึงห้องสมุดที่ใกล้ตัวดูก่อนนะคะ

       แหม! ช่างเป็นเรื่องที่ตรงใจเสียจริงๆ เค้าเรียกสุภาษิตนี้ว่าไงน่ะ เส้นผมบังภูเขา เอ ไม่น่าใช่น่าจะเป็น ใกล้เกลือกินด่างหรือปล่าว ว๊า ยิ่งพูดยิ่งไม่เข้าแก๊บ แต่ผมเจอแบบที่คุณวันเพ็ญ (ปากกาด้ามเดียว) พูดจริงๆ ว่าบางครั้งเรามองข้ามสิ่งที่ใกล้ตัวไป มองข้ามความสำคัญของสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ หรือบางครั้งไม่ยอมรับนับถือสิ่งที่ใกล้ตัว ยกตัวอย่างแค่การอบรมความรู้ให้กันเอง เราต้องไปสรรค์หาวิทยากรผู้เยี่ยมยุทธมาจากสำนักอันไกลโพ้น (พูดไปพูดมาชักเข้าหนังจีนซะแล้ว!) แต่ความจริงแล้วในหน่วยงานของเรามีคนเก่งๆ ที่รอบรู้มากมาย ทำอย่างไรน๊าเราถึงจะเฟ้นหายอดฝีมือของเราเองบ้าง ผมว่าวันหน้าเรามาเรียนรู้เรื่องบางเรื่อง แลกปลี่ยนกันในบางเรื่องกันเองโดยไม่ต้องไปหาวิทยากรภายนอกกันดีกว่า ว่าแต่ว่ามีใครเก่งเรื่องอะไรและพวกเราสนใจเรื่องอะไรกันเล่าครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท