ไปเยี่ยมนักเรียนโรงเรียนชาวนา จ.สุพรรณบุรี


เมื่อวานทีมสคส. มีอ.วิจารณ์ พี่อ้อม และน้ำ ไปพาคณะจากสภาพัฒน์ฯ +สภาการศึกษา และคณะของสนงคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปดูโรงเรียนชาวนาที่จ.สุพรรณบุรี พื้นที่ดำเนินงานของมูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งสคส.ให้การสนับสนุนเรื่องนำกระบวนการการจัดการความรู้ไปใช้

 เป็นอีกหนึ่งครั้งในหลายๆ ครั้งที่เราได้ไปเยี่ยมพ่อแม่ ที่เป็นนักเรียนชาวนาที่นี่ ไปเมื่อไหร่ก็เห็นได้ถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นทุกครั้ง ครั้งนี้เราเลือไปพื้นที่ที่ยังไม่เคยไปเยี่ยมคือพื้นที่ หนองแจง อ.ดอนเจดีย์ และบ้านดอน อ.อู่ทอง ตามกำหนดการเราต้องไปถึงที่มูลนิธิข้าวขวัญเพื่อไปฟังตัวแทนชาวนาทั้ง 4 พื้นที่ เล่าว่าที่เขาเรียนกันนั้น เรียนกันอย่างไร เรียนเรื่องอะไร เรียนกับใคร ได้ผลอย่างไร ขอสรุปสั้นๆ เลยว่าทั้ง 4 พื้นที่เรียนจากการปฏิบัติ เรื่องการกำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธี การปรับปรุงบำรุงดินโดยชีววิธี และการพัฒนาปรับปรุงพันธ์ข้าว โดยแต่ละพื้นที่จะนัดกันเองว่าจะพบกันในวันใดใน 1 สัปดาห์ ตามสะดวก โดยทุกคนเป็นครูทุกคน และมีทัศนคติความเชื่อว่า "ความรู้อยู่ในตัวคน" การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการปฎิบัติจริงเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเหตุผลหลักให้โรงเรียนชาวนาขับเคลื่อนไปได้เกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นความรู้ที่ได้จากเอกสาร ตำรา ข่าวสารฯลฯ "แต่ถ้าฟังชาวนาทั้ง 4 พื้นที่เขาเล่าเองจะได้อรรถรสและสามารถมองเห็นภาพตามกว่าเล่าในบล็อคค่ะ" (เสร็จตรงนี้ มูลนิธิฯ แจกข้าวให้เราคนละ 2 กก.)เป็นพระคุณอย่างยิ่งค่ะ

***นักเรียนชาวนาบอกเราว่าเรียนอยู่ในห้องเรียนไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ อีก 80 เปอร์เซ็นต์เรียนนอกห้องเรียนจากการปฏิบัติจริง******

ฟังครบทั้ง 4 พื้นที่แล้วตามกำหนดการต้องลงไปเยี่ยมดูของจริงที่โรงเรียนชาวนาบ้านหนองแจงก่อน แต่เนื่องจากเที่ยงพอดีพวกเราและคณะก็เลยรับประทานอาหารฝีมือนักเรียนชาวนากันก่อน "อร่อยมาก" มีผัดวุ้นเส้น แกงเรียง น้ำพริกกะปิ ปลาทู น้ำพริกหมูสับ แกงกะทิสายบัว ขนมปากิมไข่เต่าเป็นอาหารหวาน มากินฟรีแล้วจานก็ยังไม่ได้ล้างเองอีกรู้สึกผิดจริงๆ แต่รู้สึกผิดยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อคณะของเราไม่สามารถเดินทางเข้าไปเยี่ยมโรงเรียนชาวนา ที่หนองแจงได้ เพราะบางท่านไม่สามารถฝ่าเส้นทางเฉอะแฉะเข้าไปได้ ชาวบ้านบอกว่าต้องนั่งโฟล์วิวอย่างเดียว แล้วจากนั้นก็ต้องเดินเท้าอีก 100 เมตรเส้นทางลื่นมาก และมีโคลนเกือบครึ่งแข้ง นักเรียนชาวนาก็เลยต้องเดินทุกลักทุเลออกมาหาเราเอง ซึ่งส่วนใหญ่นักเรียนชาวนาที่นี่เป็น พ่อเฒ่าแม่เฒ่า อายุ กว่า 70 ทั้งนั้น แต่เห็นมีเด็กๆ รุ่น 14-15 เป็นสมาชิกด้วยก็เห็นถึงอนาคตที่น่าจะสดใสของการเดินทางแห่งความรู้เรื่องการทำนาในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนอยู่บ้าง (เสียดายจริงๆ ค่ะ ฝากชมพู่ขอโทษนักชาวนาด้วยน่ะ)ยังไม่พอ ชาวบ้านยังแจกปุ๋ยให้คณะเราอีกคนละ 1 ถุงใหญ่....เป็นอย่างไรล่ะ น้ำใจชาวบ้าน

จากนั้นเราก็ไปดูพื้นที่โรงเรียนชาวนาที่ บ้านดอน ที่นี่ดีที่ยังพอเดินเหิรได้ และนั่งรถไปดูจุดที่เขาเรียนกันหลายที่ เช่นแปลงทดลองข้าวหลัก , แปลงนาที่ทดลองดำนา ต้นเดียว, จัดที่ทำน้ำหมักจุลินทรีย์ , ตรงนี้ก็ได้น้ำมะพร้าว และแถมด้วยน้ำหมักชีวภาพกันอีกคนละ 2 ขวด (ดูเอาเถอะ น้ำใจคนสุพรรณฯ)

ดูจุดเรียนกันมาเยอะ ก็มาจบกันตรงที่ห้องเรียนของพื้นที่บ้านดอน ซึ่งเป็นโรงเรียนแห่งหนึ่งเขาอนุญาติให้ใช้สถานที่ในการมาพบกันในวันอาทิตย์ เนื่องจากว่า ผอ.ที่นี่เห็นว่ากิจกรรมที่โรงเรียนชาวนา บ้านดอนทำอยู่นี่น่าจะดีถ้าเขามาสู่ในระบบการศึกษาจริงๆ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนกันว่า เขาให้ใช้สถานที่ แต่โรงเรียนชาวนาต้องเขียนหลักสูตร ขั้นประถมกับ มัธยมให้เขาน่ะ (เป็นข้อแลกเปลี่ยนที่ดี แต่ต้องเอาไปใช้ให้ถูกทางค่ะ ท่านผอ.)

ซึ่งจุดสุดท้ายนี้เองเราได้เห็นภาพที่ประทับใจในห้องเรียนเรือนไม้เก่าๆ นักเรียนชาวนา ประมาณ 20-25 คน นั่งอยู่ฟากหนึ่ง ส่วนคณะของเรานั่งอยู่อีกฟากหนึ่งหันหน้าชนกัน คุยกันถึงเรื่องราวในการเรียนต่างๆ ท่านเลขาฯ สภาพัฒนฯ ก็ถามลองเชิง เอาถึงจิตสาธารณะต่อการพัฒนาของนักเรียนชาวนากลุ่มนี้ว่าถ้าหากมีเงินจากรัฐมาให้ก้อนหนึ่งจะทำอะไร จะเอาถนนไหม , จะเอาลานวัดไหม..ชาวนาบอกว่า "ไม่เอา เราจะซื้อเครื่องอัดปุ๋ยอินทรีย์" เพราะจะเป็นประโยชน์ และตอบสนองต่อความต้องการของเราได้มากที่สุด ถนน ลานวัดเป็นเพียงสิ่งลวง ความสุขของชาวบ้านที่นี่คือการอยู่ดี กินดี ก่อน เมื่ออยู่ดีกินดีแล้ว ถนนลานวัดจะมาเมื่อไหร่ก็ได้" นี่แหละค่ะ ความคิดของนักเรียนชาวนา บ้านดอน จ.สุพรรณบุรี

วันนี้โชคดีที่ตลอดเส้นทางฝนไม่ตกเลย ทำให้การศึกษาดูงานในวันนี้ค่อนข้างราบรื่น ถือว่าโชคช่วยจริงๆ และที่สำคัญ "พัฒนาการของนักเรียนชาวนามีขึ้นจริงๆ "

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3977เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2005 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท