๔๓. วิชา การอยู่ร่วมกันนานาชาติ : Inter-Nations and Cross Socio-Cultural Interactive Learning ผ่าน Photos Seeing and Talking


เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผมและคณะอาจารย์ในหลักสูตรปริญญาโท สาขาการบริหารจัดการการศึกษา(หลักสูตรนานาชาติ) ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พานักศึกษาของเราไปศึกษาดูงานการจัดการศึกษาของประเทศสิงค์โปร์

นักศึกษาของเรามาจากศรีลังกา จีน ไทย ภายในกลุ่มที่มาจากประเทศเดียวกันก็มีความแตกต่างกันในความเป็นพื้นถิ่น พูดและคิดคนละภาษา แวดล้อมด้วยสภาวการณ์สังคมที่หลากหลาย นับถือศาสนาต่างกัน ดังนั้น จึงมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ สังคม และวัฒนธรรม ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารของสถานศึกษาและหน่วยงานทางการศึกษา บางส่วนเป็นครูของสถานศึกษาเอกชน อัตลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรมและความเป็นตัวตนทางวิชาชีพ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งต่อกระบวนการศึกษาเรียนรู้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในแง่ประสบการณ์ชีวิตต่อโลกกว้างและประสบการณ์ทางการศึกษาแล้ว ผมให้นึกชื่นชมยินดีไปกับกลุ่มนักศึกษาที่เขามีโอกาสผ่านการได้มาศึกษาเรียนรู้ที่ประเทศไทยในห้วงชีวิตหนึ่งของเขาในครั้งนี้มากเป็นอย่างยิ่ง ว่านอกจากทั้งได้มาศึกษาในขั้นสูงจากมหาวิทยาลัยชั้นยอดของไทยแล้ว ก็ได้ประสบการณ์ต่อโลกกว้างทั้งจากประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย และประเทศที่พัฒนาก้าวหน้ามากแล้วของโลกอย่างสิงคโปร์  ซึ่งผู้คนเป็นจำนวนมากกว่าจะได้ประสบการณ์ในโพ้นทะเลมากมายอย่างนี้ก็คงต้องใช้เวลาและสิ่งต่างๆในชีวิตมากพอสมควร

แต่ความตระหนักต่อโอกาสการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ให้ตนเองอย่างกว้างขวางผ่านการศึกษาดูงานในครั้งนี้ จะไปคาดหวังให้นักศึกษาทำสิ่งต่างๆให้หนักเพื่อเก็บเกี่ยวสิ่งต่างๆให้ได้มากที่สุดอย่างที่น่าจะเป็นนั้น ก็คงจะเหลวไปทั้งสองอย่าง ทั้งต้องมัวพะวักพะวน ถูกจำกัดกรอบให้เสียความประทับใจในโอกาสที่หาได้ไม่บ่อยนักอย่างนี้ กับการที่จะกลายเป็นทำให้งานเรียนรู้ แปรเป็นสิ่งที่น่าเบื่อและอยากให้ผ่านไปไวๆ

กระนั้นก็ตาม เมื่อได้ไปแล้ว ก็ต้องทำให้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดของชีวิต ผมกำหนดในใจว่าจะต้องมุ่งสื่อสะท้อนให้เขาได้เห็นโอกาสอันมีคุณค่ามากอย่างนี้ เพื่อให้คนของเราอันได้แก่กลุ่มนักศึกษา ได้ประสบการณ์เรียนรู้และนำกลับติดตัวไปอย่างมีความหมาย ให้ดีที่สุด

ผมจึงให้ความอิสระและร่วมสร้างความผ่อนคลายที่สุดแก่นักศึกษา แต่พยายามเข้าถึงและเก็บเกี่ยวสิ่งต่างๆเพื่อนำกลับไปเวิร์คช็อปและนำกลับมาเปิดประเด็นการศึกษาเรียนรู้กันให้เข้มข้นเท่าที่จะมีโอกาส ซึ่งผมเองก็พลอยได้เรียนรู้ไปด้วยว่า ด้วยแนวคิดดังกล่าวนี้ ผมจะสร้างโอกาสให้นักศึกษาได้สิ่งต่างๆไปด้วยให้มากที่สุดได้อย่างไร แน่นอน...ผมได้หลายอย่างจากการสร้างความตั้งใจเล่นๆอย่างนี้ไปด้วย มากเหมือนกัน   

ความระลึกรู้และการเฝ้าดูแล พร้อมกับพยายามทำให้ตนเองเป็นแหล่งประสบการณ์ให้กับนักศึกษาของเราที่ต่างก็จากบ้านเมืองตนเองมาไกลดังกล่าว ให้ความรู้สึกที่ดีมากแก่ตัวผมเองอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน ผมรู้สึกว่านักศึกษาคนหนุ่มคนสาวของเราเป็นคนในรุ่นที่มาทีหลัง ผมจึงควรให้เขาได้งอกงามอยู่กับความอิสระและความเป็นตัวของตัวเอง และเป็นหน้าที่ของผมกับคณาจารย์ที่จะต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปเพิ่มพูนให้กับพวกเขา พวกเขาเป็นนักศึกษาและเรามีหน้าที่ที่จะต้องดูแล ทำให้เขามีความสุข ได้ความเชื่อมั่นและความแข็งแกร่งต่อการสร้างประสบการณ์ให้แก่ตนเองในสภาพแวดล้อมที่เราดูแล เป็นผู้ชี้นำ และเป็นพี่เลี้ยงให้ 

การได้ประสบการณ์ ได้ความคิด และเกิดบทเรียนที่ดีๆ บางครั้งจึงได้จากวิธีดำเนินการดังกล่าวนี้ไปด้วยอย่างไม่ได้คาดหวังไว้ก่อน ในขณะที่เฝ้ามองดูกระบวนการสังคมแห่งเรียนรู้ที่เกิดไปเองอย่างเป็นธรรมชาติ ก็ได้เรียนรู้เจริญภาวนาสร้างสมความเมตตาและรู้สึกอ่อนโยนในใจ ช่างเป็นวิถีการเรียนรู้ที่ประหลาด เนื่องจากมุ่งสู่การให้ที่พุ่งไปยังผู้อื่นและเขาก็ได้รับกระบวนการเรียนรู้ สร้างสรรค์สิ่งดีๆแก่ตนเอง แต่ขณะเดียกัน ก็กลับเป็นพลังกล่อมเกลา ให้อารมณ์แห่งการเจริญสติภาวนา สังเกตและเพิ่มพูนต่ออาการภายในตนเองบางอย่างได้เกิดขึ้นและได้มีความสุขไปด้วย

ผมได้เห็นโลกแห่งการเรียนรู้บนกิจกรรมชีวิตง่ายๆและเป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง เป็นการเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันและสร้างความงอกงามไปด้วยกันของผู้คนที่มาจากต่างสังคมวัฒนธรรม...กลุ่มนักศึกษาของเราเป็นครูด้วยการแสดงให้ดู

ผมถ่ายรูป และเดินเก็บเกี่ยวเรื่องราว เก็บเป็นข้อมูลไว้เพื่อบอกเล่าและถ่ายทอดโลกรอบข้างผ่านมุมกล้อง เล่นกับศิลปะการถ่ายภาพให้เพลิดเพลิน พร้อมกับทำสื่อการเรียนรู้ เก็บข้อมูลสะสมเพื่อการศึกษา

เช้าวันหนึ่ง หลังกินข้าวเช้าและรอขึ้นรถเพื่อไปศึกษาดูงาน ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ผมก็เอาโน๊ตบุ๊คซึ่งได้โหลดภาพจากกล้องดิจิตัลที่ผมบันทึกไว้แต่ละวันมานั่งเปิดดูและจัดการไฟล์ให้เป็นหมวดหมู่สำหรับเก็บไว้ใช้ในโอกาสต่างๆ ระหว่างที่นั่งทำ นักศึกษาบางคนก็เริ่มเตร่เข้ามานั่งเลียบๆเคียงๆ เมื่อดูไปแล้วเกิดชอบใจภาพไหนก็เริ่มเอ่ยปากพูดคุย คุยกับผมยังได้อรรถรสไม่พอ ก็ชักส่งเสียง ถ่ายทอดสู่กันฟังแก่คนโน้น คนนี้

ก็เหมือนกับนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ในท่ามกลางเพื่อนฝูง ตราบใดที่เรานั่งอ่านเงียบๆก็จะยังคงสามารถอยู่ในโลกส่วนตัวได้ แต่ถ้าหากเผลอออกปากบอกเล่าอย่างขาดๆหายๆหรือวิพากษ์วิจารณ์ไปด้วย ซึ่งทำให้เกิดภาวะข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ ในทางจิตวิทยาการศึกษาแนวเกสตัลต์หรือการเรียนรู้ความเป็นส่วนรวมนั้น ก็มีแนวอธิบายได้ว่า การคุยและวิจารณ์สิ่งที่ตนเองดูให้ผู้คนที่อยู่ใกล้ๆได้ยินนั้น ทำให้สามารถเข้าใจได้เพียงบางส่วน และเมื่อเกิดสิ่งใดที่ขาดหายไปนั้น แทนที่จะทำให้คนเพียงพอกับการเรียนรู้ในส่วนที่มีอยู่และเลิกสนใจส่วนที่ขาดหาย ก็จะกลายเป็นเกิดปรากฏการณ์อีกแบบ

กล่าวคือ คนเราจะมุ่งแสวงหาความสมบูรณ์ให้ครบถ้วนโดยพยายามต่อเติมส่วนที่ขาดหาย.....อยากรู้ให้ครบ พลันก็ต้องวางมือและผละจากสิ่งที่กำลังต่างก็ทำกันอยู่ชั่วคราวเข้าไปแย่งและขอแบ่งกันดูให้หายสงสัย ซึ่งทำให้ผมได้เห็นอีกมิติหนึ่งในบทบาทของศิลปะสื่อภาพถ่ายว่าไม่เพียงสร้าง Talk of the town และเป็นเงื่อนไข Agenda setting ได้เท่านั้น แต่กำลังขับเคลื่อนและจัดวางสังคมได้อีกด้วย

ผมตื่นเต้นกับพัฒนาการของกลุ่มที่เกิดการรวมตัวกันจากการดูภาพถ่ายและก่อเกิดปฏิสัมพันธ์เชิงสังคม การสนทนา และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างสนุกสนาน จึงขอเดินออกไปถ่ายรูปบันทึกเหตุการณ์ชั่วขณะหนึ่งนี้ไว้ได้หลายแง่มุม

ผลก็คือเกิดการตีวงเข้ามาดูด้วยกัน นำเสนอส่วนที่ตนเองเห็นและรู้แก่ผู้คนรอบข้าง ขณะเดียวกันก็มุ่งค้นหาส่วนที่ตนเองขาดอยู่จากผู้อื่น การได้ประสบการณ์และการเรียนรู้ที่เพิ่มพูนขึ้น จึงได้ผ่านการปฏิสัมพันธ์และสร้างความเป็นส่วนรวมให้เกิดขึ้นด้วยกัน ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม...ต่างเรียนรู้และร่วมกันสร้างประสบการณ์ทางสังคม ที่สามารถข้ามกรอบ ข้ามพรมแดนความแตกต่างกัน ได้หลายอย่าง

เมื่อหลายคนมาดูด้วยกัน แหล่งประสบการณ์เดียวกันก็เกิดปฏิสัมพันธ์กับความแตกต่างหลากหลายที่มากับกลุ่มนักศึกษานานาชาติ ก่อให้เกิดกระบวนการทางสังคมซ้อนขึ้นมาบนกิจกรรมการดูภาพถ่าย เกิดการปฏิสัมพันธ์กันอย่างคึกคัก หลากหลาย สนุกสนาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์และประกอบสร้างสิ่งต่างๆให้เกิดขึ้น ทั้งการสะท้อนทรรศนะต่างวิถีคิด การอธิบายขยายความและปะติดปะต่อข้อมูลจากหลายแหล่งประสบการณ์ การได้แสดงตนทั้งในบทบาทเจ้าของเรื่อง ตลอดจนการเป็นผู้รับฟังและเสริมความเป็นตัวของตัวเองให้แก่ผู้อื่น

ชุมชนการเรียนรู้ก่อตัวและเกิดการจัดการตนเองอย่างเลื่อนไหล ทุกคนมีส่วนร่วมและได้บทบาทอันเหมาะสมของตนเองโดยไม่ต้องจัดวางบทบาทและให้โครงสร้างเชิงหน้าที่อย่างเป็นสูตรสำเร็จ รู้ความพอประมาณของส่วนรวมและเห็นกาลเทศแห่งตน ความพอดี พอประมาณ

ไม่เพียงกลุ่มนักศึกษาเท่านั้น กลุ่มครูอาจารย์ก็สามารถสานกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภาพถ่ายมีพลังขับเคลื่อนกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ขึ้นมาได้อย่างมีพลัง อีกทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างผสมผสาน โดยเฉพาะการเรียนรู้เพื่อจะพัฒนาตนเองให้เข้าถึงความเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเดียวกัน ที่ทุกคนต่างก็ยังคงมีความเป็นตัวของตัวเองไปด้วย

การขับเคลื่อนพลังชุมชนแห่งการเรียนรู้ เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้การรวมกันของกลุ่มคน มีความหมายต่อการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้อย่างทวีคูณให้กัน ไม้ใช่สังคมแห่งความแปลกแยก แข่งขันช่วงชิงการเอาเปรียบ พัฒนาภาวะแห่งตนที่คับแคบ ทว่า ก่อให้เกิดความสุขและความดีงามที่ห้วงชีวิตหนึ่งได้มีโอกาสได้มาพานพบ เพิ่มพูนประสบการณ์และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความหมายแก่ชีวิตให้กัน นับว่าเป็นวิชาเพื่อการอยู่ร่วมกันนานาชาติที่ไม่สามารถเรียนรู้และเข้าถึงได้อย่างลึกซึ้งอย่างนี้จากห้องเรียนและหนังสือตำรา

ภาพถ่ายและการนำเสนอ จัดวางวิธีคิด รวมทั้งสร้างสถานการณ์การเรียนรู้ได้อย่างยืดหยุ่นหลากหลายอยู่เสมอ เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ง่าย ใกล้มือ แต่มีพลังมากอย่างยิ่ง ทำให้ศิลปะและความงามของภาพถ่าย เป็นเครื่องมือและวิธีเขียนความงามลงไปบนการสร้างคนและสร้างสังคม ข้ามข้อจำกัดทางสังคมวัฒนธรรมได้ แม้ในแง่มุมเล็กๆ แต่ก็สร้างสรรค์โอกาสให้สิ่งที่เป็นไปได้ยากได้เกิดขึ้นไปบนรายทางชีวิตของเราได้อยู่เสมอ.

หมายเลขบันทึก: 397151เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2010 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

วิชา การอยู่ร่วมกัน...นี้เข้ากับบรรยากาศพอดีเลย ก็คือวิชาปรองดองนั่นเอง

กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแลครับ

  • ทันสมัยมากเลยนะครับ จากปรองดองสงครามแบ่งสี สู่ปรองดองไทย-ซาอุ อย่างนั้นใช่ไหมครับ
  • แต่ก็มีบางแง่มุมที่หลากหลายออกไปจากวิถีความปรองดองบ้างเหมือนกันครับ
  • บทเรียนอย่างวิชา การอยู่ร่วมกันนานาชาติ อย่างนี้ อาจจะไม่ต้องมีอะไรให้ต้องปรองดองครับ
  • เพราะมิติที่ทุกคนร่วมกันสร้างขึ้นมาเป็นภาวะตัวตนอย่างใหม่ร่วมกันนั้น เป็นพื้นที่ความเป็นชุมชนและความเป็นกลุ่มก้อนที่หลุดจากกรอบการแบ่งเป็นขั้ว ข้ามพรมแดนความเป็นชาติ ในขณะที่ก็มีตัวตนเป็นเอกลักษณ์และคุณลักษณะเฉพาะตนของแต่ละชาติแต่ละภาษา ซึ่งไม่เพียงยังคงเป็นตัวของตัวเองอยู่ได้เท่านั้น ทว่า กลับเป็นที่มาของการต่อเติมและให้ความงอกงามแก่กันและกันในทุกสิ่งอีกด้วย

สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ การอยู่ร่วมกันนานาชาติ ไม่นึกว่าจะเป็นวิชา อ่านจากบันทึกท่านทำให้ได้ขบคิด

และเห็นความงาม ในความหลากหลาย ของคนนานาชาติ ที่สำคัญคนต่างชาติต่างเผ่าพันธ์มาอยู่ร่วมกันคือต้องมี ธรรมที่ไกล้เคียงกัน

เป็นสะพาน สื่อ ถึงกัน ซึ่งต่างก็ได้เรียนรู้กันและกัน และการได้สื่อสารกันด้วยภาพ ก่อเกิดกระชับได้รวดเร็ว

("ผมได้เห็นโลกแห่งการเรียนรู้บนกิจกรรมชีวิตง่ายๆและเป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง เป็นการเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันและสร้างความงอกงามไปด้วยกันของผู้คนที่มาจากต่างสังคมวัฒนธรรม...กลุ่มนักศึกษาของเราเป็นครูด้วยการแสดงให้ดู")

ขอบคุณ ศิลปภาพถ่าย ที่ทำให้คนรักกัน

ขอบคุณอาจารย์ ใช้ภาพสื่อสารทำให้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ไม่เหมือน วาทะกรรมของคำว่า"ปรองดอง"ที่หลายได้นำมาพูด แต่มองไม่เห็นปลายทาง เพราะหลงวนเวียนอยู่กับการคิดค้นออกแบบให้คนอื่นทำ ก้าวข้ามไม่พ้น.....คนต้องมีธรรมเท่ากัน

  • อาจารย์ครับ
  • น่าสนใจมาก
  • ทุกครั้งที่ผมทำกิจกรรมผมจะสรุปกิจกรรมในตอนท้ายให้นักเรียนหรือครูโดยใช้ภาพสรุปว่าเขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง
  • อาจารย์ใช้โปรแกรม movie maker หรือว่าอะไรครับ
  • ผมใช้เจ้า PhotoScape ทำ slide ประกอบเพลง Take me to your heart ให้ครูปรากฎว่าครูและนักเรียนชอบมาก นั่งดูกันนิ่งเหมือนนั่งดูหนัง ...หลังจากนั้นก็ช่วยกันสรุป

สวัสดีครับ ท่าน วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei-- ครับ

  • หลายท่านคงได้ความบันดาลใจดีๆนะครับ คนมีกล้องถ่ายรูปกันอยู่เยอะและถ่ายรูปดีๆ สามารถเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้และเป็นวิธีบันทึกสื่อสะท้อนเรื่องราวต่างๆได้อย่างดีอยู่มากมาย
  • ที่สำคัญคือ ภาษาภาพและภาษาศิลปะสื่อสะท้อนประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของผู้คน ที่บันทึกการมองโลกกว้างผ่านบันทึกลงภาพถ่ายนั้น เป็นพลังภาษาที่สื่อจากใจสู่ใจ ข้ามกรอบจำกัดที่เป็นปัญหาวิธีเรียนรู้การอยู่ร่วมกันของสังคมและของโลก ได้อย่างทรงพลังอย่างยิ่งนะครับ
  • ที่น่าสนใจมากก็คือ มันก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่มีมมิติทางสังคมในบริบทใหม่เกิดขึ้นมาอีกจังหวะหนึ่ง ทั้งในขณะที่ดูและหลังจากการได้ดูภาพถ่าย  ได้สื่อสะท้อน ตรวจสอบความคิดและประสบการณ์กันและกัน สร้างความรู้และพลังการได้ปัญญาณญาณ รวมทั้งวิจารณญาณ และการหยั่งเห็นภาวะสามัญสำนึกต่อกรณีต่างๆ กาลเทศอย่างนี้ เห็นได้จากการเรียนรู้เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นโดยมีภาพถ่ายและการจัดสถานการณ์อย่าวงเป็นธรรมชาติอย่างนี้ ได้แตกต่างจากสถานการณ์อื่นๆมากทีเดียวครับ

สวัสดีครับท่านอาจารย์ขจิตครับ

  • ผมใช้ทั้ง PhotoScap และฟังชั่นการถ่ายบันทึกวิดีโอครับอาจารย์ คนดูเลยต้องคลิ๊กและทำให้เกิดการสื่อสารพูดคุย สร้างปฏิสัมพันธ์เชิงการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ตลอดการดู 
  • วิธีทำเหมือนกับปิดท้ายกระบวนการเวทีอย่างอาจารย์นี้ก็น่าสนใจมากเลยครับ ผมเคยทำก็ได้ผลมากอยู่เสมอครับ
  • โดยเฉพาะหากก่อนที่จะนำเสนอ ก็อารัมภบทนำเข้าสู่รายการ ไกด์สักหน่อย จัดสภาพแวดล้อมให้นิ่ง สบาย ความคิดและความตื่นรู้พร้อม จากนั้นก็นำกระบวนการให้ได้อยู่กับตนเอง ทบทวนย้อนกลับไปจากเมื่อเริ่มต้นแล้วนั่งดูสื่อสรุปบทเรียนด้วยกันให้ได้ประสบการณ์ ได้ความคิดที่แยบคายลึกซึ้ง และได้ความทรงจำอย่างมีความหมาย

มองเห็นความสุขสดชื่นจากภาพถ่ายงดงามนี้นะคะ..มนุษยสัมพันธ์นานาชาติ เคลื่อนจาก solid state เข้าสู่ liquid state มากขึ้น ดังนั้น การปรับสมดุลของชีวิตเพื่อความสุข จึงเป็นทางเลือกที่ควรใส่ใจนะคะ..balance is beautiful..

       

                                เยาวชนกล้าใหม่-ใฝ่รู้ปี ๕

สวัสดีครับคุณพี่นงนาทครับ ชอบแนวคิดเหล่านี้จังเลยละครับ.....

  • 'ความสุขที่เกิดจากการปรับสมดุลของชีวิต'
  • 'ภาพถ่ายและความงดงามของภาพถ่าย ที่ให้ความสุขสดชื่น' ....ซึ่งหมายความว่าเป็นการพัฒนาวิธีถ่ายภาพหรือดูศิลปะภาพถ่าย เป็นกระบวนการเรียนรู้ให้เข้าถึงศิลปะของชีวิต ความสมดุล และความสุขสดชื่นด้วยอีกวิธีหนึ่ง
  • 'กระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง' .....จากสำนึกและวิถีปฏิบัติต่อผู้อื่นที่สะท้อนความเป็นสังคมแบบ Solid state สู่ Liquid state
  • ทางเลือกที่หลากหลายยิ่งขึ้นต่อวิถีความงาม ที่เชื่อมโยงกับความเป็นสังคมได้ ....'Balance is beautiful'
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท