หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

โภชนาการดีอย่างยั่งยืนในโรงเรียน (๒. สถานการณ์โภชนาการเด็กไทย)


 

สถานการณ์โภชนาการเด็กไทย 

            เป็นการบรรยายให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โภชนาการของเด็กและเยาวชนของประเทศไทย โดย อ.สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการเชี่ยวชาญโภชนาการ จากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

            อ.สง่า ดามาพงษ์ เริ่มต้นการบรรยายด้วยการให้ข้อมูลว่า ปัญหาโภชนาการในประเทศไทยยังหมดไป เด็กขาดแคลนขาดสารอาหาร มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ การเจริญเติบโตไม่สมวัยยังไม่หมดไป ในขณะที่เด็กที่น้ำหนักเกินเกณฑ์ก็มีปรมาณเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นปัญหาอีกด้านหนึ่งของโภชนาการของประเทศ

            และได้ย้ำกับที่ประชุมว่า ทั้งเด็กผอมและเด็กอ้วนต่างก็เป็นปัญหาทั้งสิ้น เด็กผอมซึ่งขาดสารอาหาร จะมีผลโดยตรงต่อระดับสติปัญญา สำหรับเด็กอ้วนซึ่งมาจากพฤติกรรมการบริโภคและใช้ชีวิตไม่เหมาะสมก็จะส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วยง่าย ในที่สุดไม่ว่าจะเป็นเด็กผอมหรือเด็กอ้วนก็จะเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพของประชากรของประเทศในอนาคต รวมทั้งต้องแบกรับปัญหาการเจ็บป่วยที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างเลี่ยงไม่ได้ และในท้ายที่สุดก็จะกระทบต่อการพัฒนาประเทศโดยรวม

            ต้นตอของปัญหาทุพโภชนาการและโภชนาการเกิน มิใช่จากตัวเด็กเอง แต่มาจากความผิดพลาดในการเลี้ยงดู การขาดการปลูกฝังลักษณะนิสัยและพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสม ทั้งนี้อาจเกิดมาจากระดับความรู้ความเข้าใจและความตระหนักของผู้ปกครองที่ไม่เพียงพอ รวมไปถึงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สามารถเข้าถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผล/ซ้ำเติมปัญหาได้ง่าย ดังนั้นปัญหาโภชนาการดังกล่าวมาบรรดาผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งครูและผู้ปกครอง ฯลฯ ล้วนต้องมีส่วนในการรับผิดชอบต่อปัญหานั้นด้วย

            ในการนี้ อ.สง่า ดามาพงษ์ ได้ให้ภาพรวมเกี่ยวกับการบริโภคของเด็กไทยว่า

            -    เด็กจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับประทานอาหารเช้ามาโรงเรียน และอีกจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่รับประทานอาหารเช้าที่ขาดทั้งคุณภาพและปริมาณ

            -    อาหารกลางวันที่โรงเรียนจัดให้แก่นักเรียน โดยมากแล้วยังมีคุณภาพต่ำ มิได้คำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการอย่างเพียงพอ และโดยมากเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูงทั้งนี้รวมถึงอาหารว่างที่จัดให้ด้วย

            -    เด็กไทยมักรับประทานอาหารที่รสชาดค่อนไปทางหวาน-มัน-เค็มจัด ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับอาหารมื้อหลักโดยจะให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารว่างจำนวนขนมและเครื่องดื่มมากกว่า

            -    นอกจากนั้นเด็กจำนวนมากก็มิชอบการบริโภคผักและผลไม้ นิยมอาหารฟาสต์ฟู้ดละเลยและไม่นิยมรับประทานอาหารไทยที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง

            และได้ให้ข้อมูลที่เป็นข้อค้นพบจากการวิจัย ว่า

            -    เด็กไทยจำนวนมากยังขาดไอโอดีนและธาตุเหล็ก ซึ่งธาตุอาหารเหล่านี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระดับสติปัญญา จึงเป็นสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เด็กไทยมีระดับสติปัญญา (IQ) เพียง ๙๑ ขณะที่ระดับสติปัญญาเฉลี่ยของคนทั่วไปจะอยู่ราว ๙๐ – ๑๐๐

            -    เด็กไทยจำนวนมากรับประทานผักและผลไม้ ไม่เพียงพอ รับประทานเพียงคนละ ๑-๒ ช้อนต่อวัน ในขณะที่ร่างกายควรได้รับอาหารจำพวกนี้วันละ ๑๒ ช้อน

            -    เด็กไทย ๑ ใน ๓ คน รับประทานอาหารจำพวกแป้ง ไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูงเป็นประจำ

            -    ในระยะห่างกันเพียง ๕ ปี เด็กไทยก่อนวัยเรียนจะมีน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๐

            -    และเช่นเดียวกัน ในระยะห่างกัน ๕ ปี พบว่า เด็กไทยป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ ๒ จากร้อยละ ๒ เป็นร้อยละ ๑๘ (ในขณะที่ประเทศไทย ใช้เงิน ๗-๘ หมื่นล้านบาทต่อปี สำหรับการรักษาคนป่วยโรคเบาหวาน และโรคหัวใจหลอดเลือด)

            -    ปัจจุบันเด็กนักเรียนในวัยเรียนจะมีลักษณะท้วมและอ้วนเพิ่มมากขึ้น ถึง ๒-๓ ใน ๑๐ คน และในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า เด็กไทยจะเป็นโรคอ้วนถึงร้อยละ ๒๐ หรือ ๑ ใน ๕

            -    จากการสำรวจพบว่าเด็กไทยวัยเรียน ถึงร้อยละ ๔๙.๖ รับประทานขนมกรุปกรอบเป็นประจำ และจากการเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลัง พบว่าห่างกันเพียง ๓ ปี การรับประทานขนมกรุปกรอบของเด็กเหล่านี้เพิ่มขึ้นถึง ๒ เท่า

            -    มีการประมาณการค่าใช้จ่ายของเด็กในการซื้อขนมกรุปกรอบว่า เด็ก (และผู้ปกครอง) จ่ายเงินเพื่อสิ่งนี้มากถึง ๑ แสนล้านบาทต่อปี เฉลี่ยคนละ ๙,๘๐๐ บาทต่อปี ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนต่อคนเพียง ๓,๐๒๔ บาท ถือว่าค่าขนมกรุปกรอบสูงเป็น ๓ เท่าของค่าใช้จ่ายในการเรียน

            -    โรงเรียนที่จัดผลไม้ให้นักเรียนรับประทานเป็นอาหารว่าง จะพบว่ามีเด็กอ้วนน้อยกว่าโรงเรียนไม่ได้จัด สูงถึงร้อยละ ๓๐

            -    โรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนทำกิจกรรมจากบริษัทเครื่องดื่มน้ำอัดลม และขนมกรุปกรอบ พบว่ามีเด็กอ้วนสูงเป็น ๑.๕ เท่าของโรงเรียนที่ไม่ได้รับการสนับสนุน

            -    โรงเรียนที่จำหน่ายน้ำอัดลมและเครื่องดื่มรสหวานมีเด็กอ้วนสูงเป็น ๒ เท่า ของโรงเรียนที่ไม่ได้จำหน่ายสินค้าดังกล่าว

            -    โรงเรียนที่ทำกิจกรรมทางกายอย่างน้อย ๓ ครั้งต่อสัปดาห์ มีเด็กอ้วนน้อยกว่าโรงเรียนที่ไม่ได้จัดกิจกรรมลักษณะนี้ ร้อยละ ๒๐

            ในช่วงท้ายของการบรรยาย อ.สง่า ดามาพงษ์ ได้ชักชวนให้ผู้เข้าร่วมประชุมตระหนักและเห็นความสำคัญในการป้องกันและแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ปัญหานี้เป็นปัญหาร่วมของทุกคน จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้การดำเนินงานนี้มิได้เริ่มต้นจากความว่างเปล่า แต่การจัดการกับปัญหานี้ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว มีประสบการณ์และบทเรียนที่สามารถนำไปต่อยอดได้

            สำหรับประเด็นการขับเคลื่อนการส่งเสริมโภชนาการดีนั้น มีจุดเน้น ๔ ประการ คือ “ลดหวานมันเค็ม เติมเต็มผักผลไม้ ใส่ใจคุณภาพอาหารกลางวันและอาหารว่าง สร้างสุขนิสัยการกิน”

 


คำสำคัญ (Tags): #โภชนาการ
หมายเลขบันทึก: 395359เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2010 00:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 15:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

เรียนท่านIco64ที่นับถือ

  ขอบคุณบันทึกดีๆที่นำมาแบ่งปันนะคะ ขออนุญาตนำไปเผยแพร่ต่อด้วยค่ะ

  • สวัสดีค่ะคุณหนานเกียรติ
  • ผลการสำรวจ และข้อเท็จจริงในปัญหาทางโภชนาการของเด็ก น่าห่วงนะคะ
  • ควรส่งเสริม หาทางป้องกัน แก้ไขและให้ข้อมูลอย่างจริงจัง อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
  • ปัญหาที่พบเห็นมากในโรงเรียนครูกาญคือ นักเรียนไม่ได้ทานอาหารเช้า(และอาจรวมถึงมื้ออื่นๆด้วย)สาเหตุจากเพราะไม่มีจะทาน น่าสงสารมากค่ะ

สวัสดีค่ะ

ปัญหาโภชนาการ  ได้เห็นมีการดำเนินงานในโรงเรียนมาหลายสิบปี  บริการอาหารกลางวันและอาหารเสริม  คุณภาพน่าจะขึ้นอยู่กับการจัดการของโรงเรียน

ขอพี่ช่วยส่งทาง email อีกทีนะครับผม

ขอบคุณครับ :)

*** ว่างๆจะชวนมาจิบกาแฟวิวดีที่ inter เพื่อแสดงความขอบคุณอย่างเป็นทางการครับผม :) เเต่สองสามวันนี่ไปแตะออกันที่ปัตตานีก่อนละกัน

ดาวมองว่าค่านิยมการบริโภคส่วนหนึ่งมาจากสื่อโฆษณาค่ะ

อิทธิพลของสื่อเข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตค่อนข้างเยอะโดยไม่ทันได้รู้ตัว...

ถ้าดูตามโทรทัศน์ จะมีสักกี่ครั้งที่มีการเชิญชวนให้บริโภคผักผลไม้ที่มีประโยชน์

ทำให้เด็กไทยมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ในขณะที่มีภาวะทุพโภชนาการ

ในขณะที่เด็กอีกส่วนหนึ่งมีปัญหาทุพโภชนาการเพราะไม่มีเงินจะซื้ออาหารที่มีคุณค่ารับประทาน...เฮ้อ

เสียดายไม่ว่าง พี่ชวนน้องหมอดาวไปดูนะครับ

http://gotoknow.org/blog/corner--of-life/391713

อาหารสำคัญจริงๆค่ะ ต้องดูแลตั้งแต่เล็กๆ

แล้ววันนี้น้องเฌวา ไม่มีกิจกรรมอะไรเหรอค่ะ

อิอิ อยากดูอีกค่ะ

สวัสดีค่ะน้องหนานเกียรติ

  • ได้เวลาแวะมาเยี่ยมเยียน
  • เนื่องจากภารกิจเบาบางแล้ว
  • ขอบพระคุณมากมายนะคะ
  • ที่แวะไปส่งกำลังใจให้กัน  ช่วงที่ครูอิงมีภารกิจสำคัญ
  • ต้องขออภัยจริง ๆ ค่ะที่ไม่ค่อยได้มาเยี่ยมเยียนตอบแทน
  • วันนี้ขอแวะทักทายพี่น้องผองเพื่อนให้ทั่วถึงก่อน
  • แล้วค่อยย้อนมาเก็บรายละเอียดในบันทึก
  • มีความสุขเสมอ ๆ นะคะ

มาชม

ได้แง่คิดเรื่องที่ว่า...“ลดหวานมันเค็ม เติมเต็มผักผลไม้ ใส่ใจคุณภาพอาหารกลางวันและอาหารว่าง สร้างสุขนิสัยการกิน”...

  • เรื่องอาหารการกิน ในสภาพสังคมเช่นนี้ บางทีผู้ใหญ่เองก็ยังควบคุม หรือทำใจยากเลย โดยเฉพาะตัวเอง(ฮา)
  • โรงเรียน บ้าน ต้องแข็งขัน จริงจังกับเรื่องเหล่านี้ ช่วยกันนะครับ ทั้งครูและผู้ปกครอง
  • ขอบคุณเรื่องราวดีๆนี้ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท