ชีวิตอินเทอร์น:ได้เขียนทำให้ได้คิด


กระบวนการในการเรียนรู้ทุกขั้นตอนมีประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ทั้งในแง่ของการเป็นแบบเรียนของความสำเร็จ และการเป็นบทเรียนจากความผิดพลาดที่ ผ่านการแก้ไขมาแล้ว

 อาทิตย์ที่ผ่านมาประเดิมด้วยวันหยุดเนื่องในวันอาสาฬหบูชา งานชิ้นแรกคือการเขียนบทความ เรื่อง มองหาเสน่ห์ของ www.Gotoknow.org  ความยาว ๔ หน้า ให้กับพี่วัธ (ผู้ประสานงานหนุ่มหนึ่งเดียวของสคส.) เพื่อตีพิมพ์ลงใน "ถักทอสายใยแห่งความรู้" ฉบับครบรอบ ๑ ปี Gotoknow การได้เขียนบทความเรื่องนี้ทำให้ได้คิดเกี่ยวกับประโยชน์ของ blog อย่างจริงจัง จากมุมมองของครู มุมมองของนักมานุษยวิทยา และมุมมองของคนทำสื่อ   บันทึกนี้ขอนำเสนอเพียงเฉพาะ "มองอย่างครู" เพี่อตอบโจทย์ที่ตั้งค้างไว้ในประเด็นของการนำเครื่องมือที่ใช้ในแวดวงการจัดการความรู้ เข้าไปประยุกต์ใช้กับกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในโรงเรียนที่มีความต้องการที่จะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ 

มองอย่างครู 

                หากมอง www.Gotoknow.org ด้วยสายตาของความเป็นครู สิ่งที่น่าสนใจที่สุดก็คือเรื่องของการกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการใช้ blog เป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ ทั้งการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล  การเรียนรู้จากผู้อื่น และที่สำคัญที่สุดคือเป็นการเรียนเมื่ออยากรู้ซึ่งเป็นการเรียนที่ดีที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่ได้รู้ มาจากการอ่าน blog ที่มีลักษณะเป็นการสื่อสาร ๒ ทาง ยังเป็นความรู้ปฏิบัติที่นำไปใช้ได้โดยไม่ต้องมานั่งขบคิดกับทฤษฎีให้เปลืองแรง แต่ผู้อ่านต้องแปลงให้เข้ากับบริบทของงาน ของชุมชน ขององค์กรของเขา เป็นการลงแรงเพื่อให้เกิดผลในทางการปฏิบัติโดยตรง ดังนั้นจึงไม่ใช่ความรู้สำเร็จรูปที่จะไปลอกเลียนแบบกันมาเพื่อนำไปใช้ได้เลย การเรียนจากวิธีที่มีผู้นำไปปฏิบัติแล้วก่อให้เกิดผลดีจึงเป็นการเรียนลัดจากวิธีที่เป็นเลิศ แต่ต้องเรียนอย่างผู้มีปัญญา คือต้องนำมาคิดต่อว่าเคล็ดวิชาที่ได้มานั้นจะนำไป ขยายต่ออย่างไรจึงจะเกิดผล  ดังนั้น กระบวนการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ที่เหมาะสมกับตน จึงเป็นกระบวนการธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองอย่างค่อยเป็นค่อยไปจน กลายเป็นนิสัยของกลุ่มที่สมาทานเอาวิธีของการจัดการความรู้เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือ เป็นวิถีของการเรียนรู้ที่ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับพฤติกรรม และเหมาะกับยุค สมัย เป็นสื่อการสอนที่ช่วยให้รู้ว่ามีคนคิดและทำในเรื่องนั้นๆอย่างไร เป็นการฝึกทักษะการค้นคว้า การเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ ที่เป็นความรู้จากการปฏิบัติจริง และสามารถเข้าไปค้นคว้าได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง

 

กระบวนการในการเรียนรู้ทุกขั้นตอนมีประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ทั้งในแง่ของการเป็นแบบเรียนของความสำเร็จ  และการเป็นบทเรียนจากความผิดพลาดที่ ผ่านการแก้ไขมาแล้ว ดังนั้นการได้รับรู้ว่าสิ่งต่างๆสร้างขึ้นมาได้อย่างไร จึงเป็นเรื่องสำคัญ การได้อ่านบันทึกรายวัน ได้เห็นอาการของการตั้งไข่ของการปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนจากบันทึกที่ตีพิมพ์ลงใน blog จึงเป็นการรับรู้เส้นทางของความสำเร็จที่มีผู้สนใจในประเด็นเดียวกันที่เคย"อาบน้ำร้อนมาก่อน" และบางคนก็เคยโดนน้ำร้อนลวกมาแล้ว  มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของตน เพื่ออีกหลายคนจะได้ไม่ต้องไปพานพบเหตุการณ์เช่นที่เคยผ่านมาแล้ว แม้ว่าการจัดการความรู้จะเน้นเรื่องเล่าที่เป็นเรื่องราวของ ความสำเร็จ แต่กว่าจะถึงซึ่งความสำเร็จก็ล้วนต้องเผชิญกับการลองผิดลองถูกมาแล้วทั้งสิ้น การลองผิดลองถูกนี้เองที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ และเกิดเป็นการแลกเปลี่ยนเรียน รู้โดยอาศัยช่องทางของ www.Gotoknow.org 

 

 การประมวลความรู้ คืออีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้ทุกคนได้รู้ว่าเราได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง และเรียนรู้เรื่องนั้นอย่างไร มีอะไรที่ยังไม่รู้และอยากขอความรู้จากผู้อื่นบ้าง ฯลฯ การเขียน blog จึงเป็นห้วงเวลาและโอกาสในการประมวลความรู้ออกมาเป็นข้อเขียนให้ได้เรียบเรียงตัวเองเป็นระยะ และในขณะเดียวกันก็เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วยเนื่องจากการเขียน blog เป็นการเขียนในรูปของการสื่อสาร ดังนั้นสารที่สื่อออกไปจึงต้องเป็นสารที่อ่านแล้วรู้เรื่อง การเขียนในลักษณะนี้จึงเป็นการฝึกทักษะการสื่อสารไปด้วย ทั้งการสื่อสารที่มีลักษณะของการโต้ตอบกับความคิดของตัวเอง  และการเรียบเรียงให้ผู้อื่นเข้ามาอ่านอย่างเข้าใจ

 

                กิจกรรมการเปิดใช้ blog เป็นเครื่องมือในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประจำตัวผู้เรียนแต่ละคน น่าจะมีลักษณะเดียวกันกับการทำสมุดประมวลความรู้ที่กำหนดให้ผู้เรียนต้องส่งเมื่อสิ้นภาคเรียน ซึ่งเป็นงานที่เปิดพื้นที่ให้คุณครูประจำวิชาต่างๆได้เข้ามาตรวจผลงานที่ผู้เรียนทำขึ้นร่วมกัน  ครูทุกหน่วยวิชาโดยเฉพาะครูที่สอนอยู่ในช่วงชั้นที่ ๓ และ๔ (ระดับมัธยมศึกษา) น่าจะได้ประโยชน์จากการใช้ blog ของนักเรียนโดยทั่วกัน ทั้งในแง่ของการติดตามผลการเรียนรู้  การส่งเสริม  หรือแก้ไขความเข้าใจของผู้เรียนอย่างทันท่วงที

                 นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นเวทีแสดงออกถึงความสนใจส่วนตัวได้อย่างอิสระ ก่อให้เกิดการลปรร. ข้าม กลุ่ม ข้ามชั้นเรียน ข้ามช่วงชั้น ข้ามสถานศึกษา ฯลฯ ได้ในลักษณะเดียวกันกับชมรม หรือ ชุมนุมของโรงเรียนต่างๆ นั่นเอง  
หมายเลขบันทึก: 39159เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2006 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เป็นบันทึกที่ทำให้เห็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน GotoKnow ได้ชัดเจนและชัดแจ้งมากครับ มีข้อแก้ไขนิดเดียวในย่อหน้าที่ 3 "ดวามรู้" เป็น "ความรู้" ครับ
ขอขอบคุณค่ะ  และน้อมรับคำแนะนำมาปฏิบัติเรียบร้อยแล้วค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท