นักวิชาการสายรับใช้สังคมไทยด้านสิทธิมนุษยชน


 
          หลังจากกลับมาจากอุ้มผางเมื่อเย็นวันที่ ๕ ก.ย. ๕๓ ผมระลึกได้ว่า สิ่งที่ผมทำคือติดตามนักวิชาการสายรับใช้สังคมไทยลงภาคสนาม เพื่อเก็บข้อมูล   โดยผมมี BAR ก่อนการเดินทางดังต่อไปนี้

Before Action Review ของการไปอุ้มผาง

วิจารณ์ พานิช


          ผมร่วมไปลงพื้นที่ครั้งนี้ในฐานะ “ผู้ไม่รู้” และไม่มีประสบการณ์ตรงในเรื่องคนไร้รัฐ  และเรื่องสิทธิมนุษยชน   รวมทั้งในชีวิตนี้ไม่เคยไปอุ้มผาง   และเข้าใจว่าไม่เคยสัมผัสภูมิสังคมแบบที่อุ้มผาง   ดังนั้น วัตถุประสงค์ในการเดินทางไปกับคณะในครั้งนี้ของผม ได้แก่

๑. ต้องการไปเรียนรู้ภูมิสังคม (และภูมิประเทศ) ของอำเภอชายแดนพม่า ที่ห่างไกล


๒. ต้องการเรียนรู้ภาพใหญ่ของเรื่องคนไร้รัฐ  และเรื่องสิทธิมนุษยชน   รวมทั้งมิติอื่นๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ย้ายถิ่นจากประเทศพม่า  และเกี่ยวกับกลไกการทำหน้าที่ของรัฐไทย และสังคมไทย

 
๓. ต้องการทำความเข้าใจว่า การย้ายถิ่นของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจะมีผลต่อประเทศไทย สังคมไทย ในระยะยาวอย่างไร


๔. ต้องการเรียนรู้การทำงานของนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชนและนักกฎหมายเกี่ยวกับสถานะบุคคล


๕. หวังว่าจะได้ให้ความเห็น ในลักษณะของความรู้สึก ของ “ผู้ไม่รู้” ต่อการทำงานของคณะที่ร่วมเดินทางลงพื้นที่ด้วยกัน 

 

          ดังนั้น หลังกลับมาจากการลงพื้นที่อุ้มผางระหว่างวันที่ ๓ – ๕ ก.ย. ๕๓  ผม AAR ตาม BAR ข้อ 4 ได้ว่า ผมค้นพบนักวิชาการสายรับใช้สังคมไทยด้านสิทธิมนุษยชนกลุ่มหนึ่ง ที่มี “อาจารย์แหวว” รศ. ดร. พันธ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร แห่งคณะนิติศาสตร์ มธ. เป็น “อาจารย์ใหญ่”   เป็นการค้นพบแบบ “ระลึกรู้” สิ่งที่อยู่ปลายจมูก   คือผมคบค้ากับนักวิจัยทีมนี้มานาน   และอาจารย์แหววก็บอกว่าเธอเกิดใหม่ในภพนักกฎหมายเพื่อคนจนก็เพราะผม สมัยที่เป็น ผอ. สกว. ชวนท่านมาทำงานด้านนี้จนท่านติด   ละจากภพภูมิ “นักกฎหมายเพื่อคนรวย” หรือนักกฎหมายธุรกิจ มาทำงานกฎหมายด้านสังคม ได้แก่แรงงานข้ามชาติ หรือคนไร้สถานะพลเมือง  

          นักวิชาการสายรับใช้สังคมไทยมีธรรมชาติเกาะติดอยู่กับเรื่องราวความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม   รู้ร้อนรู้หนาวเจ็บปวด หรือเป็นเดือดเป็นแค้นไปกับปัญหาสังคม   และทำงานร่วมกับนักปฏิบัติ   ซึ่งในกรณีที่ผมติดตามไปอุ้มผางนี้คือ นพ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ หนี่งใน ๗ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่รับผิดชอบเป็นประธานอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น และชนพื้นเมือง   คุณหมอนิรันดร์ ฉลาดมากที่ดึง อ. แหวว ไปเป็นอนุกรรมการนี้ด้วย   ทำให้นักวิชาการสายรับใช้สังคม กับนักปฏิบัติการรับใช้สังคม ได้ร่วมทีมกันทำงานเพื่อสังคม

          ดังนั้น การเดินทางครั้งนี้ผมได้ประโยชน์โดยไม่ได้คาดหมายมาก่อน ในด้านช่วยให้ผมมองเห็นบทบาทและวิธีทำงานของนักวิชาการสายรับใช้สังคมไทยชัดเจนขึ้น   โดยผมสรุปลักษณะสำคัญได้ดังนี้

๑. ทำงานร่วมกับนักปฏิบัติหรือหน่วยปฏิบัติ อย่างต่อเนื่อง

 
๒. มีการลงพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูลในบริบทจริงของสังคมไทย


๓. มีเครือข่ายความร่วมมือกับนักวิชาการสาขาเดียวกันหรือสาขาเกี่ยวเนื่อง ในหลากหลายสถาบัน เพื่อผลของการปฏิบัติ และเพื่อสร้างสรรค์วิชาการ


๔. มีการสร้างทีมวิชาการ และสร้างนักวิชาการรุ่นใหม่


๕. มีการสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ ทฤษฎีใหม่ ขึ้นจากการทำงานร่วมกับฝ่ายปฏิบัติ 

          อ. แหวว ส่ง อ. ด๋าว ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล และลูกศิษย์อีกท่านหนึ่งไปเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มน. (ผศ. ดร. บุญญรัตน์ โชคบันดาลชัย คณบดี) ซึ่งต้องการทำงานเรื่องคนไร้รัฐ เพราะ มน. อยู่ที่พิษณุโลก ใกล้กับพื้นที่ชายแดนพม่าที่มีปัญหาหนักในด้านสิทธิของผู้มีปัญหาสถานะบุคคล   เท่ากับเกิดการสร้างหรือขยายเครือข่ายวิชาการรับใช้สังคมไทย ตามข้อ 3 ข้างบน   เป็นสภาพที่ผมเห็นแล้วเกิดความปิติ

 

 

วิจารณ์ พานิช
๖ ก.ย. ๕๓  
 

อ.แหววคือคนสวมเสื้อสี คนซ้ายสุดคือ นพ. วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผอ. รพ. อุ้มผาง หนึ่งในยอดนักปฏิบัติ

คนสวมเสื้อกาวน์คือคุณรุ่งทิวา โพธิสาร หัวหน้าพยาบาลห้องคลอด รพ. แม่สอด

 

ที่คลินิกแม่ตาว คนสวมเสื้อขาวนั่งกลางคือ หมอซินเธีย หม่อง

 

 ที่ รพ. อุ้มผาง จากซ้าย อ. แหวว นพ. นิรันดร์ นพ. วรวิทย์

 

 ที่แคมป์นุโพ หน้าโรงพยาบาล ดำเนินการโดย AMI คนซ้ายสุดคือคุณเต้น ทำงานที่ AMI

 

ส่วนหนึ่งของทีมที่ร่วมเดินทาง

หมายเลขบันทึก: 391498เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2010 09:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอชื่นชมและร่วมเป็นกำลังใจให้...ทีมนักวิชาการสายรับใช้สังคมไทยครับ

ขอบคุณครับอาจารย์

  • มาชื่นชมการทำงานของอาจารย์แหววและอาจารย์หมอวิจารณ์ครับ
  • รออ่านกิจกรรมอีกครับ

การเชื่อมองค์ความรู้ทางทฤษฎีและทางปฏิบัติที่อุ้มผางครั้งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เช้าวันนี้มังคะ

แมว..ลูกศิษย์ที่ทำงานกับหมอตุ๋ยเล่าว่า วันนี้ที่โรงพยาบาลอุ้มผางประชุมกันแต่เช้าหารือการทำงานขั้นตอนต่อไป

สำหรับด๋าว ตี๋ เตือน และโอ๊ต ก็เตรียมรับมือกับเรื่องน้องหม่องค่ะ

พวกเรายังเดินบนถนนสายนี้ไปอีกนานค่ะ

ชอบการวิเคราะห์ของอ.วิจารณ์จังเลยค่ะ

มา ตามติด และ ติดตาม

ท่านปรมาจารย์ ทุกท่านครับ

ได้ ปัญญา เพิ่มขึ้นอีกมากมาย

กราบขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท