NHSO-PCN
เครือข่าย Palliative Care สปสช. NHSO-PCN

เมื่อวิปัสสนา...”จิต” ก็สามารถสังเกต ”กาย” ได้ไม่แพ้ ”ตา”


ไม่ต้องรอให้ "ตา" สังเกตเห็น ท่านจะสามารถรับรู้และเข้าใจในสิ่งต่างๆ ที่ชีวิตต้องเผชิญได้โดยตรง ทั้งก่อนเกิด ขณะเกิด และหลังจากเกิดไปแล้ว ด้วยความเข้าใจใน "ธรรม" ด้วย "จิต" ของท่านเอง

นพ.ลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากร


วิปัสสนา เป็นภาษาบาลี ตามพจนานุกรมเสรีศัพท์ แปลว่า การเห็นชัดเจน หรือ การเห็นแจ้ง ตามความเข้าใจของผม “วิปัสสนา” แปลว่า “การดู” หรือ “การสังเกต”ะอย่างไรก็ตามคำถามที่ตามมาคือ เห็นแจ้งอะไรหรือดูอะไร แล้วใช้อะไรดู ดูเพื่ออะไร ใครเป็นผู้ดู เมื่อพิจารณาผิวเผินแล้วก็อาจเข้าใจว่าเป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิตที่สามารถทำได้หากมีตา ซึ่งนั่นไม่ใช่ความหมายที่แท้จริง ขอย้อนกลับไปที่คำถามข้างต้นเพื่อตอบข้อสงสัย หลังจากผมได้มีโอกาสไปปฏิบัติธรรมในสำนักของโกเอ็นก้า (ชื่อเต็มคือ ท่าน สัตยา นารย ัน โกเอ็นก้า) ทำให้ผมได้เข้าใจชีวิตของผมเอง อาจจะรวมถึงสิ่งมีชีวิตทั้งหลายมากมายทั้งที่ดูเห็นและดูไม่เห็นด้วยตาเปล่ามากขึ้น และสามารถตอบคำถามต่างๆที่ตนเองเคยคิด เคยฟัง มาในอดีตเกือบทั้งหมด หากไม่ได้ อย่างน้อยก็รู้วิธีที่จะได้มาซึ่งคำตอบเหล่านั้นได้ไม่ยาก

 

ผมมีความเข้าใจกับการวิปัสสนาว่าการสังเกต เพราะฟังแล้วใกล้เคียง และไม่เกิดความสับสนเหมือนคำว่าดู และทำให้ทราบถึงบริบทของพฤติกรรมนี้มากขึ้น หากเริ่มถามว่าผมสังเกตอะไร ก็คงตอบได้หลากหลาย เพราะคำ”สังเกต”นั้นเป็นกริยาที่ต้องการกรรม (ในทางภาษา “ประโยค”ประกอบด้วย ประธาน กริยา ส่วนขยาย คำเชื่อม กรรม เป็นต้น) กรรมจึงสามารถเป็นได้มากมาย ในมุมมองคนทั่วไปโดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ก็จะคิดถึงสิ่งที่สังเกตได้ด้วยตาเปล่า หรือไม่ก็ผ่านกระบวนการเทคโนโลยีเช่น กล้องจุลทรรศน์ กล้องโทรทัศน์ เครื่องตรวจจับและแสดงผลออกมาทางหน้าจออิเล็กโทรนิกส์ ซึ่งได้แก่ คน สัตว์ พืช สิ่งมีชีวิตเล็กๆ สิ่งของ เป็นต้น สุดท้ายก็ผ่านเข้า”ตา”ของผู้สังเกตอยู่ดี สิ่งต่างๆข้างต้นในความหมายของวิปัสสนา เรียก “กาย” ซึ่งจัดเป็นกรรมเพียงหนึ่งชนิดในทั้งหมดสี่ชนิดที่มนุษย์เราสามารถสังเกตได้ แล้วเรามักทำมันอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้การสังเกตกรรมอีกสามชนิดได้แก่ เวทนา จิต และธรรม ซึ่งจัดว่าเป็นกรรมที่เป็น นามธรรมเช่น การเดิน การพูด ความเย็น ความสุข ความทุกข์ จับต้องไม่ได้ และจะขอกล่าวโดยขยายต่อไป สรุปว่าเราวิปัสสนาอะไร คำตอบคือ เราวิปัสสนา”กรรม” ๔ ชนิด ได้แก่ กาย เวทนา จิต และธรรม บางท่านเรียกว่า กรรมฐานทั้ง ๔ นั่นเอง (บางท่านอาจจะเข้าใจคำว่า “กรรม” หมายถึง การกระทำ กฎแห่งกรรม ซึ่งก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “กรรม” ในเชิงนามธรรมเช่นกัน)

 

คำถามต่อไปแล้วเราใช้อะไรสังเกต ต่อเนื่องจากที่ตอบคำถามแรก เราสามารถใช้”ตา”ในการสังเกตสิ่งต่างๆรอบตัวได้ รวมทั้งร่างกายของเราเองภายนอก และภายในโดยใช้เครื่องทุ่นแรงหรือเทคโนโลยีใดๆก็ตาม หากแต่ยังมีอีกเครื่องมือหนึ่งที่สามารถใช้ได้เพื่อสังเกตสิ่งต่างๆโดยเฉพาะ “กรรม” ๓ ชนิดที่เหลือ นั่นคือเราใช้ “จิต” สังเกตเป็นหลักซึ่งไม่สามารถทำได้โดยใช้”ตา” ดูได้โดยละเอียด เช่น หากท่านจะสังเกต “ความร้อน” “ความเย็น” หรือ “ความรู้สึกทางกาย” (เวทนา) ต่างๆได้อย่างถูกต้องและเข้าใจสิ่งนั้นจริงๆว่าเป็นอย่างไร ก็ต้องใช้ระบบประสาทและสมอง ซึ่งบทบาทของ”ตา”ต่อการสังเกตก็ลดลงไป หรือหากท่านจะสังเกต “ความเศร้า” “ความโกรธ” “ความทุกข์” “ความสุข” ฯลฯ (จิต) ที่เป็นนามธรรมเฉพาะตัวของท่านเอง หรือคนอื่นๆอย่างชัดเจน ก็คงต้องถามตนเองหรือคนอื่นว่าเป็นอย่างไร ซึ่งไม่มีทางที่จะรับรู้สิ่งนั้นได้อย่างแท้จริง จนกว่าท่านจะมีประสบการณ์นั้นโดยตรง ซึ่งก็แน่นอนว่าท่านไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่าสิ่งที่ท่านรู้สึกนั้นเป็นสิ่งเดียวกับที่คนอื่นเป็นหรือไม่ สามารถตรวจวัดได้ยากมากในทาง "กาย" ภาพ หรือ "ตา" เห็น และสุดท้าย เนื่องจาก "จิต" ซึ่งเป็นอวัยวะที่ไม่มีสัณฐานที่วัดได้ ยังมีความสำคัญมากในการสังเกต "ธรรมชาติ" ของสิ่งต่างๆรอบตัว คือการเปลี่ยนแปลงไป เป็นปกติธรรมดาของสรรพสิ่ง เป็นกฎเกณฑ์สากลของทุกสิ่งทั้งจักรวาล (ธรรม) เช่น หากท่านไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าความตายมีลักษณะอย่างไร เป็นอย่างไร ความเปลี่ยนไปของจักรวาลเป็นอย่างไรแล้ว หรือความเป็นอมตะเป็นอย่างไร ท่านก็สามารถพัฒนาจิตของท่านให้สามารถสังเกตและรับรู้สิ่งต่างๆทั้งภายในและภายนอกโดยละเอียดให้ดีเพื่อรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เข้าถึงสัจธรรมทั้งปวง ซึ่งแน่นอนบางครั้งการอธิบายเรื่องของ “ธรรม” ก็ยากที่จะเข้าใจด้วยการสื่อสารด้วยภาษา คำพูดอธิบาย มีเพียงการปฏิบัติเท่านั้นจะทำให้ท่านเข้าใจการสังเกตระดับนี้ได้มากขึ้นๆ ละเอียดขึ้นๆ

 

คำถามต่อมาว่า วิปัสสนานั้นทำไปเพื่ออะไร คำตอบก็คือ การสังเกตนี้เกิดขึ้นก็เพื่อให้รู้ให้เข้าใจในธรรมชาติมากขึ้นจนถึงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต โดยส่วนใหญ่จะไม่สามารถหาได้จากการอ่านมา ฟังเขามา หรือการทดลองทางวิทยาศาสตร์อะไรก็ตามที่ไม่บริบูรณ์ด้วยตัวมันเอง ด้วยศักยภาพแห่ง "จิต" หากถูกอบรมฝึกฝนให้มีกำลังมากพอก็สามารถสังเกตเห็น หรือรับรู้ได้ในสิ่งที่ยากที่จะรับรู้ได้ตามปกติทาง "ตา" ผู้ที่ปฏิบัติจะสามารถตัดสินใจกระทำการใดๆ ทั้งทางกาย วาจา และใจด้วยความเหมาะสมยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นประโยชน์สูงสุดและไม่ก่อโทษแก่สิ่งแวดล้อม อยู่ร่วมกันกับสิ่งต่างๆ ในสังคมอย่างสมดุล ซึ่งการกระทำใดๆ ที่เกิดประโยชน์นั้นเราเรียกว่า "ปัญญา"  โดยสรุปการวิปัสสนานั้นก็เพื่อใจเกิดปัญญาในการดำเนินชีวิต หากแต่ผู้ที่ใช้วิทยาศาสตร์ปัจจุบันมุ่งเน้นการสังเกตแต่เพียง "กาย" จึงยากที่จะเข้าถึง "ธรรม" เลยต้องตามแก้ไขสิ่งที่วิทยาศาสตร์ก่อขึ้นเรื่อยๆ ไป ขอเพียงผู้ที่ใช้วิทยาศาสตร์นั้นหันมาสังเกตโดยใช้ "จิต" ที่พัฒนาร่วมด้วยกับ "ตา" แล้ว จะเกิดสิ่งซึ่งเป็นแต่ประโยชน์มหาศาลไม่สร้างปัญหาเหมือนดั่งในโลกปัจจุบัน

 

คำถามสุดท้ายใครเป็นผู้สังเกต คำตอบก็คือผู้สังเกตได้คือผู้ที่มี “ตา” และ “จิต” หรืออย่างน้อยมี "จิต" ที่พัฒนาได้นั่นก็แปลว่า อย่างน้อยๆ ผู้นั้นก็มีต้องปัญญาทางโลกซึ่งเกิดขึ้นจากการอ่าน การฟัง การนึกคิด และจำเป็นต้องมีเนื้อสมองใหญ่ (Cerebrum หรือ Neocortex) ที่ทำหน้าที่เหล่านั้นเพียงพอ ไม่ได้ถูกทำลายไป หรือไม่มีตั้งแต่เกิด หากสังเกตแล้วเห็นจะมีแต่มนุษย์เท่านั้นที่จะปฏิบัติได้ โดยเฉพาะจะเหมาะสมที่สุดในมนุษย์ที่ไม่ได้พิการทางสมองหรือถูกทำลายไปมาก มีปัจจัยสี่พอเพียง มุ่งมั่นใฝ่หาพัฒนาตนเอง อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย มีกัลยาณมิตรชักชวนให้ปฏิบัติ

 

การวิปัสสนานั้นเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาตามอิริยาบถต่างๆ หากแต่จะมีความละเอียดอ่อน แตกต่างกันตามเหตุและปัจจัยรบกวนภายนอกและภายใน ขอแนะนำในผู้ที่ฝึกปฏิบัติใหม่ทุกท่าน ซึ่ง "จิต" ยังมีกำลังไม่มากพอที่จะเป็นอิสระจากสิ่งกระทบนั้นๆ ควรหาที่ฝึกปฏิบัติในที่ๆ สงบเงียบ มีสิ่งเร้าน้อยที่สามารถเข้ามากระทบทั้งทาง ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ซึ่งจัดว่าเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ เหลือแต่ส่วนที่เป็นสิ่งรบกวนทางจิตใจเท่านั้นที่ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็เจอได้ซึ่งมันคือ โอกาสที่การวิปัสสนาโดยใช้ “จิต”จะได้พัฒนานั่นเอง ดังนั้นหากท่านวิปัสสนาดูก็จะรู้ว่าเมื่อใดที่ท่านได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติโดย การนั่งสงบ(กาย) หลับ(ตา) ไม่พูดคุย (หู) ในธรรมชาติที่ไม่มีมลภาวะทางอากาศ ไม่มีเครื่องหอม(จมูก) รับประทานอาหารที่ไม่ปรุงแต่งรสชาติจัดจ้าน (ลิ้น) และเราก็สามารถใช้สิ่งรบกวนที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรานี้เองเป็นแบบฝึกหัดพัฒนาการสังเกตจนกระทั่งเกิดปัญญาในระดับที่ละเอียดขึ้นๆ การปฏิบัติเช่นนี้นับว่าเป็นหนทางพื้นฐานที่เหมาะสมที่สุดต่อการพัฒนาจิตในขั้นสูงต่อไป ปฏิบัติด้วยความเพียรไม่เกียจคร้าน แล้วท่านจะสังเกตได้ว่าการเกิดครั้งที่สองของท่านนี้จะทำให้ท่านพร้อมเผชิญหน้าต่อความเปลี่ยนแปลงในชีวิตทุกสถานการณ์ รวมทั้งความตาย

 

ไม่ต้องรอให้  "ตา" สังเกตเห็น ท่านจะสามารถรับรู้และเข้าใจในสิ่งต่างๆ ที่ชีวิตต้องเผชิญได้โดยตรง ทั้งก่อนเกิด ขณะเกิด และหลังจากเกิดไปแล้ว ด้วยความเข้าใจใน "ธรรม" ด้วย  "จิต" ของท่านเอง

หมายเลขบันทึก: 391483เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2010 08:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เจริญพร คุณหมอลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากร

เป็นข้อสังเกตุการปฏิบัติที่ดีมาก ได้ข้อคิดเตือนใจเรื่องการใช้ ตา คู่กับใจ และให้ได้ปัญญา

ขออนุโมทนา

นมัสการครับพระคุณเจ้า

สาธุ สาธุ สาธุ (-/\-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท