การพัฒนากระบวนการหลักของโรงพยาบาลบ้านตาก


เป็นการวิเคราะห์กระบวนการของโรงพยาบาลโดยใช้โซ่ร้อยค่านิยม มีการะบวนการหลัก(น้ำมันเชื้อเพลิง)และกระบวนการสนับสนุน(น้ำมันหล่อลื่น)

                      ในการจัดการกระบวนการมี 2 กระบวนการสำคัญคือกระบวนการสนับสนุนซึ่งจะเป็นงานของทีมคร่อมหน่วยงานชุดต่างๆและกระบวนการหลัก ซึ่งเกี่ยวข้องกับทีมระบบบริการและทีมคลินิกบริการ โดยกำหนดขั้นตอนหลักหรือกระบวนการหลัก ออกเป็น 5 ขั้นตอนคือ
                    1. การรับ เป็นการนำผู้รับบริการเข้าสู่การบริการของโรงพยาบาล จุดรับอาจจะเป็นห้องบัตตรและเวชระเบียน ห้องฉุกเฉินในกรณีนอกเวลาราชการ ห้องแพทย์แผนไทย ห้องเวชปฏิบัติครอบครัว ห้องทันตกรรม ห้องเวชกรรมฟื้นฟูในกรณีที่จัดระบบเป็นOne stop service ในการรับจะมีข้อกำหนดสำคัญในเรื่องการใช้สิทธิบัตร การตรวจสอบสิทธิบัตร การปฏิบัติตามสิทธิผู้ป่วยในการเข้าถึงบริการที่เสมอภาค รวมทั้งการรับบริการในชุมชนในจุดที่เราออกไปให้การบริการเช่นในโรงเรียน(การฉีดวัคซีน การใส่ไอโอดีน การตรวจพัฒนาการ เป้นต้น) ในชุมชนที่มีการเยี่ยมบ้านหรือออกHome health care ที่สำคัญในจุดนี้จะต้องมีการจัดทำเวชระเบียนเพื่อเป็นการเก็บข้อมูลการให้บริการและการสื่อสารในกลุ่มผู้ให้บริการด้วยกันต้องมีข้อมูลที่เหมาะสม เพียงพอ เป็นความลับและปลอดภัยในการเก็บรักษา 
                      2. การประเมิน โดยมีการประเมินเบื้องต้นเพื่อส่งไปยังจุดบริการต่างๆโดยห้องบัตรและเวชระเบียนที่มีข้อกำหนดในการส่งผู้ป่วยไปตามจุดบริการต่างๆ และมีการประเมินโดยจุดให้บริการว่า
- ห้องฉุกเฉิน จะต้องให้บริการผู้ป่วยอย่างไร รวดเร็วเร่งด่วนแค่ไหน โดยแบ่งเป็นกลุ่มปกติ กลุ่มป่วยแบบทั่วไป เร่งด่วน ฉุกเฉิน เพื่อจะได้จัดลำดับความสำคัญในการให้บริการให้ผู้มารับบริการปลอดภัย
- ผู้ป่วยนอก มีการประเมินว่าจะรอตรวจที่ห้องผู้ป่วยนอกได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ จะต้องส่งไปห้องฉุกเฉินหรือเปล่า ถ้ารอที่ผู้ป่วยนอกได้จะต้องเข้ารับการดูแลแบบลัดคิวได้หรือไม่ดูจากข้อกำหนดที่จัดทำไว้ เช่นเด็กเล็กที่มีไข้ต้องระวังการชักจากไข้สูงหรือผู้สูงอายุที่อาจจะต้องลัดคิวตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุหรือพระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น
- ทันตกรรม ประเมินสภาพทั่วไปว่าจะสามารถให้การรักษาทางทันตกรรมได้หรือไม่ เช่นถ้าต้องถอนฟัน มีข้อห้ามหรือข้อควรระวังอย่างไร
- ห้องแพทย์แผนไทย ประเมินว่าจะอบ จะนวดได้หรือไม่
-ห้องเวชปฏิบัติครอบครัว ประเมินว่าจะฉีดยาคุม ฝังยาหรือใส่ห่วงได้หรือไม่ ควรใช้วิธีไหน จะฉีดวัคซีนได้หรือไม่ มีโอกาสแพ้ยาหรือไม่
                       3. การดูแล ในขั้นตอนนี้เป็นการดูแลที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ดูแลแบบองค์รวมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม เชาว์ปัญญา(จิตวิญญาณ) ซึ่งจะต้องมีการวางแผนในการดูแลผู้มารับบริการให้ได้รับสิ่งที่เหมาะสมที่สุด ปลิดภัยที่สุดและตรงต่อความต้องการมากที่สุด ซึ่งจะประกอบไปด้วยการส่งเสริม การป้องกัน การรักษาและการฟื้นฟูสภาพ(ผสมผสาน) ทั้งนี้จะเป็นแบบผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยในก็มีแนวทางการรับไว้นอนโรงพยาบาลกำหนดไว้ โดยมีขั้นตอนย่อยๆ ดังนี้
- การซักประวัติ
- การตรวจร่างกาย
- การสืบค้นเพิ่มเติม เช่นตรวจเลือด ปัสสาวะหรือการเอกซ์เรย์ หรือการตรวจพิเศษต่างๆ
- การวินิจฉัยโรค มีการวินิจฉัยเบื้องต้น การวินิจฉัยแยกโรคและการวินิจฉัยสุดท้าย ซึ่งจะทำให้ได้แนวทางการรักษา
- การรักษา จะมีทั้งการรักษาตามอาการ การรักษาประคับประคองและการรักษาเฉพาะ เช่นผู้ป่วยโรคกรวยไตอักเสบ ให้การรักษาตามอาการโดยให้ยาลดไข้ลดปวด ให้การรักษาประคับประคองโดยการให้สารน้ำและเกลือแร่ให้เพียงพอ ให้การรักษาเฉพาะโดยการให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อโรคที่ทำให้กรวยไตอักเสบ
- การให้ข้อมูล เป็นการให้ข้อมูลที่เหมาะสมกับผู้ป่วยและญาติทั้งในเรื่องของโรคที่เป็น สาเหตุที่เป็น การรักษาโรค การป้องกันไม่ให้เป็นโรคซ้ำ ซึ่งมีข้อกำหนดว่าแพทย์ พยาบาลหรือวิชาชีพต่างๆใครจะเป็นผู้ให้ข้อมูลบ้าง ให้ได้ในระดับไหน
- การเสริมพลัง เป็นการให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้มารับบริการและญาติ โดยสามารถให้เขาเลือกที่จะรับการรักษาในสถานที่ใด วิธีใด โดยใคร และเขาจะดูแลตนเองได้อย่างไร เขาขะทำให้ตัวเองแข็งแรงขึ้นได้อย่างไร ทำอย่างไรเขาจะไม่เจ็บป่วยแบบนี้อีกและญาติจะช่วยเขาดูแลตนเองได้อย่างไร รวมทั้งทำอย่างไรญาติจึงจะไม่เจ็บป่วยแบบเขาอีก
                      4. การจำหน่าย จะเป็นการให้ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลโดยวิธีไหน ให้กลับบ้านหรือต้องส่งตัวไปรักษาที่อื่น ซึ่งจะมีข้อกำหนดในการจำหน่ายทั้งให้กลับบ้านหรือส่งต่อ ในกรณีที่ส่งต่อก็มีการทบทวนการส่งต่อว่าที่ส่งไปนั้นช้าเกินไปไหม ส่งไปแบบไม่เหมาะสมไหม เกิดอันตรายขณะส่งต่อหรือไม่ ในกรณีที่เข้ารับการรักษาได้ที่เรา มีการวางแผนการจำหน่ายไหม โดยใครกับใคร(ของเราเป็นแพทย์กับพยาบาลโดยมีแบบฟอร์มในการวางแผนจำหน่ายและใช้หลักMETHOD)
                     5. การติดตาม เพื่อให้มีการดูแลผู้รับบริการอย่างต่อเนื่อง จะมี 2 แบบคือ
- การนัดตรวจซ้ำ เพื่อประเมินผลการรักษาและให้การรักษาอย่างต่อเนื่อง จะมีข้อตกลงไว้เช่นเบาหวาน ถ้าน้ำตาลน้อยกว่า 140 มก.%นัดทุก 2 เดือน ถ้ามากกว่านัดทุก 1 เดือน กรณีโรคไทรอยด์เป็นพิษที่ไม่มีอันตรายนัดทุก 2 เดือน กรณีความดันสูงถ้าควบคุมได้ปกติ ไม่เกิน 140/90 นัดทุก 2 เดือน ถ้าเกินนัดทุก 1 เดือน กรณีผ่าตัดไส้ติ่งหรือทำหมันนัด 1 สัปดาห์ กรณีมาลาเรีย นัดตรวจซ้ำ 1 สัปดาห์ เป็นต้น
- การติดตามที่บ้านและชุมชน เป็นการติดตามเพื่อประเมินการดูแลตนเองของผู้ป่วยและญาติพร้อมทั้งการออกไปช่วยเหลือดูแลในกรณีที่ผู้ป่วยมาลำบาก มีการดูแลที่ต้องไปทำเองที่บ้าน เราก็จะตามไปประเมินว่าดูแลได้เหมาะสมถูกต้องไหม เราแนะนำไปนั้นเหมาะกับสภาพความเป็นอยู่ หรือไม่ มีการทำข้อกำหนดผู้ป่วยที่จะไปเยี่ยมบ้านไว้ชัดเจน เช่นอัมพาต เบาหวานที่ฉีดอินสุลิน ผู้ป่วยที่ใส่NGtube เป็นต้น
- การติดตามผู้ป่วยที่ส่งต่อไปรักษาที่อื่น เช่นตามไปดูผู้ป่วยที่โรงพยาบาลทั่วไปในอำเภอ ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยที่น่าสนใจหรือที่เราต้องดูแลอย่างต่อเนื่องหรืออาจเป็นปัญหา

              การสรุปนี้เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลมองภาพออกมากขึ้นและจะได้สามารถนึกถึงกิจกรรมที่ตนเองทำ เวลาอาจารย์มาประเมิน(HA2006)ในวันที่ 20-21 กรกฎาคมนี้ จะสามารถตอบได้ เพราะบางทีทำจนเป็นกิจวัตรเวลาถูกถาม จะเอามาตอบอาจนึกไม่ออกก็ได้

คำสำคัญ (Tags): #kmกับคุณภาพ
หมายเลขบันทึก: 39098เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2006 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 17:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท