สาธุ! วันนี้อย่าให้มีเหตุเภทภัยใดเกิดขึ้นกับการเขียนและการส่งบันทึกเลย จั่วหัวมาอย่างนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ความจริงก็ไม่มีอะไรมากหรอกค่ะ เพียงแค่เมื่อวานนี้ผู้วิจัยไม่สามารถส่งบันทึกเข้ามาในระบบได้เท่านั้นเอง อุตส่าห์นั่งพิมพ์ตั้ง 2 รอบ ไม่รู้ว่าระบบเป็นอะไร พอพิมพ์เสร็จ กำลังจะส่ง ก็เกิด Error ขึ้นมาเฉยๆ
เรื่องที่ตั้งใจจะเล่าให้ฟังตั้งแต่เมื่อวานนี้ คือ เรื่องโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของเครือข่ายฯ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาใน V.2 ความพิเศษของโปรแกรมในเวอร์ชันนี้ (เท่าที่ทราบ) ก็คือ
1.สามารถปรินท์ใบเสร็จรับเงินได้
2.สามารถสรุปงบดุลต่างๆให้อยู่ภายในหน้าเดียวกันได้
3.สามารถเชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละกลุ่มเข้ามาที่เครือข่ายฯได้
อันว่าความพิเศษทั้ง 3 ข้อนี้ จะเกิดผลที่ดีมากหากกลุ่มต่างๆมีความพร้อม สำหรับผู้วิจัยแล้วเห็นว่าความพิเศษเหล่านี้น่าจะใช้ในอนาคตอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะเหมาะสมกว่า แต่ตอนนี้ได้มีการนำมาใช้กับกลุ่มนำร่องของเครือข่ายฯแล้ว 1 กลุ่ม
ในความพิเศษก็มีความไม่พิเศษแฝงอยู่เช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน (เท่าที่ทราบ) ก็คือ ในกรณีของการปรินท์ใบเสร็จรับเงินนั้น หากสำเร็จ จะหมายความว่า สมุดฝากที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้อีกต่อไป นอกจากนี้แล้วด้วยความเป็นอัตโนมัติของโปรแกรม (ผู้วิจัยเชื่อว่า) จะต้องเกิดปัญหาตามมาแน่นอน เนื่องจากในแต่ละเดือนคณะกรรมการที่ดูแล รับผิดชอบด้านการเก็บเงินออม จะต้องคีย์ข้อมูลลงไปว่าในเดือนนี้จะต้องเก็บเงินออมเท่าไหร่ เช่น 28 บาท , 29 บาท , 30 บาท ,31 บาท เป็นต้น เมื่อคีย์ข้อมูลเข้าไปแล้ว โปรแกรมจะจัดการปรินท์ใบเสร็จรับเงินของสมาชิกแต่ละคนออกมาอย่างเป็นอัตโนมัติเลย ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่จากที่ผู้วิจัยได้เคยมีโอกาสไปเปิดดูบัญชีที่ (บาง) กลุ่มได้ทำไว้ในแต่ละเดือน พบว่า ในเดือนที่มี 31 วัน ซึ่งต้องเก็บเงินออมทั้งหมด 31 บาท มักจะไม่สามารถเก็บเงินออมได้ครบ ทั้งนี้เนื่องจาก ความเคยชินของสมาชิกที่คิดว่าออมเงินแค่ 30 บาท สมาชิกก็จะนำเงินมาออม 30 บาท ถ้าใช้ระบบเก่า คือ ใช้สมุดฝาก จะไม่เป็นปัญหา เพราะ เอาเงินมาออมเท่าไหร่ คณะกรรมการก็จะเขียนลงในสมุดเท่านั้น เดือนต่อไปค่อยเอาเงินมาออมสมทบก็ได้ แต่ถ้าเป็นระบบใหม่ที่โปรแกรมจะปรินท์ใบเสร็จออกมาอัตโนมัติ ถ้าสมาชิกเอาเงินมาออมไม่พอ คณะกรรมการต้องหาทางแก้ปัญหา เช่น หาเงินสำรองออมในส่วนที่ขาดแทนไปก่อน ทำบัญชีมือควบคู่กันไป เป็นต้น ถ้าหากเป็นเช่นนี้ ผู้วิจัยคิดว่าใช้ของเก่าน่าจะดีกว่า ไม่เป็นภาระเท่ากับของใหม่
นอกจากนี้แล้ว ผู้วิจัยยังไม่แน่ใจว่าโปรแกรม V.2 จะเป็นประโยชน์แก่ชุมชนมากน้อยเพียงใด เพราะ ยิ่งพัฒนาโปรแกรมให้ซับซ้อนเท่าไหร่ ยิ่งไม่เป็นผลดีเท่านั้น ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่างๆที่จะเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
1.ค่าใบเสร็จรับเงิน เท่าที่ทราบ สมาชิก 1 คน ต้องใช้ใบเสร็จรับเงิน 1 ใบ/เดือน ราคาของใบเสร็จรับเงินตกใบละ 25 สตางค์
2.ค่าหมึกปรินท์
3.ค่าไฟ
4.ค่าซ่อมบำรุงเครื่องคอมพิวเตอร์และปรินท์เตอร์
ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นแน่นอนหากนำโปรแกรมมาใช้ ซึ่งผู้วิจัยก็ยังตั้งคำถามอยู่ว่าโปรแกรมนี้จะเข้ากับแนวคิดความพอเพียงที่พวกเราพยายามที่จะกระทำหรือกล่าวอ้างถึงอยู่เสมอหรือไม่
ความจริงโปรแกรม V.2 นี้ยังมีจุดอ่อนอีกหลายอย่าง ทั้งในด้านตัวโปรแกรม และด้านการบริหารจัดการโปรแกรม แต่ผู้วิจัยจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ ทั้งนี้เนื่องจาก ผ้วิจัยเห็นว่าคงจะถึงเวลาแล้ว (ความจริงถึงมาตั้งนานแล้วค่ะ) ที่หน่วยงานที่ให้ทุนจะต้องลงมาดูอย่างจริงจัง ไม่ใช่โยนเงินมาให้อย่างเดียว พอถึงเวลาก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ หรือมารับงาน ซึ่งไม่ก่อประโยชน์ใดๆให้เกิดขึ้นกับชุมชน ในยามที่บ้านเมืองวิกฤติเช่นนี้ หน่วยงานเหล่านี้น่าจะหันกลับมาทบทวนการทำงานของตัวเองอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่บอกกับสาธารณชนว่าเราน้อมรับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนา หรือ เราจะทำการพัฒนาชุมชนเพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืน ทั้งที่ในความเป็นจริงพฤติกรรมการทำงานก็ยังคงเป็นแบบเก่าๆ
ไม่มีความเห็น