๗๔.การถ่ายภาพกับวิธีบันทึกหมายเหตุของผู้สังเกต ให้เป็นการสะสมความรู้ของสังคม


หากมีกล้องถ่ายภาพและอินเทอร์เน็ต เราก็จะสามารถนำมาเป็นเครื่องมือสร้างความรู้และพัฒนาการเรียนรู้ รวมทั้งสามารถทำให้พลเมืองทุกคนที่รักในการเรียนรู้ สามารถเป็นนักวิจัยชาวบ้าน หรือเป็นอาลักษณ์ของชุมชน ซึ่งสามารถมีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคม พร้อมกับเป็นผู้สังเกต แปรประสบการณ์และสิ่งที่พานพบ ให้เป็นข้อมูลข่าวสารและสร้างความรู้ เพื่อบันทึก รายงาน และทำหมายเหตุเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆ สะสมเป็นความรู้และสารสนเทศฉบับประชาชนได้ในทุกหนแห่ง

  เป็นคนสร้างความรู้ตนเองของสังคม ด้วยน้ำใจและสองมือของท่าน  

กระบวนการต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำสำหรับฝึกฝนและเรียนรู้ เพื่อนำเอาสิ่งคุ้นเคยที่มีอยู่ทั่วไป มาเป็นเครื่องมือทำให้ทุกคนสามารถเป็นพลเมืองผู้มีส่วนร่วมต่อความสร้างสรรค์สิ่งต่างๆอย่างมีความหมายมากยิ่งๆขึ้น โดยเป็นแนวปฏิบัติสำหรับเพิ่มความท้าทายและเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผู้ที่ถ่ายภาพเป็น และสามารถเขียนบันทึกเป็น ทั้งใน GotoKnow นี้และในแหล่งอื่นๆ ในอันที่จะเพิ่มวิธีเขียนบันทึกของตนเองให้หลากหลายเพิ่มขึ้ันมาอีกแนวหนึ่ง 

หากท่านต้องการพัฒนาวิธีถ่ายภาพและใช้ข้อมูลภาพถ่ายบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ มาสร้างการเรียนรู้ พร้อมกับบันทึกหมายเหตุในฐานะเป็นผู้สังเกต*และพอจะมีเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลที่ดีเพื่อให้เป็นการสะสมความรู้ของสังคมไปด้วย ก็ลองพิจารณาข้อมูลภาพถ่ายเพื่อเขียนบันทึกและถ่ายทอดออกมาให้ได้เรื่องราวครอบคลุมสัก ๕ มิติต่อไปนี้สิครับ

  • การพัฒนาวิถีทรรศนะและมุมมอง หรือวิธี Aproach ภาพถ่ายและข้อมูลจากการเห็นต่างๆอย่างมีความหมาย
  • การบันทึกข้อมูล ให้รายละเอียด และแสดงข้อเท็จจริงของปรากฏการณ์
  • การเรียนรู้ทางสังคมและสภาวการณ์รอบด้านที่เกี่ยวข้อง
  • ความเป็นสิ่งสื่อสะท้อนความหมายและความมีนัยสำคัญต่อสิ่งต่างๆที่ควรคำนึงถึง
  • การตกผลึกระบบวิธีคิด การสะท้อนความเข้าใจโลกกว้างและการอธิบายสถานการณ์ของสังคมและสิ่งอื่นที่หลากหลายออกไป ทว่า บนตรรกะและหลักคิดเดียวกัน

  ความสำคัญและโอกาสในการนำไปใช้ 

การบันทึกและทำหมายเหตุจากมุมมองอย่างผสมผสานของผู้สังเกตการณ์ที่ดีในลักษณะนี้ ไม่เพียงจะทำให้สามารถทำให้ทุกแห่งเป็นเวทีให้ท่านได้ทำหน้าที่เป็นคนงานความรู้และนักสะสมข้อมูลความรู้ไว้ให้แก่สังคมเท่านั้น แต่จะสามารถเป็นวิธีที่ทำให้บทเรียนจากประสบการณ์ของหน่วยงาน กลุ่มก้อน และองค์กรทำงานทุกแห่งที่ท่านได้เข้าไปเกี่ยวข้อง ถูกบันทึกเป็นข้อมูลสารสนเทศสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆต่อไปได้อีก เช่น เป็นข้อมูลสำหรับทบทวนและวางแผนของชุมชนหรือองค์กร เป็นข้อมูลทำสื่อและเผยแพร่ให้เข้าถึงได้กว้างขวางและชัดเจนมากยิ่งๆขึ้น เป็นความรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของสังคม ใช้พัฒนาข้อมูลองค์กร สร้างความรู้ชุมชน สร้างข้อมูลพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ชุมชน รวมทั้งใช้เป็นกระบวนการในการพัฒนาบุคลากรและชุมชนแห่งการเรียนรู้ในองค์กรที่ทำงานสาธารณะด้วยความรู้

ผู้เขียนเคยพัฒนาวิธีดังกล่าวนี้ให้เป็นเครื่องมือฝึกฝนทักษะคนทำงาน ทั้งของมหาวิทยาลัยมหิดล กระทรวงสาธารณสุข และในหน่วยงานของผู้เขียนเอง ในการทำตนเองให้เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่ดี ให้สามารถเข้าไปสัมผัสกิจกรรมและปรากฏการณ์ต่างๆอย่างมีนัยต่อการเรียนรู้ ฝึกทักษะการรายงาน ถ่ายทอดและนำเสนอ การพูดในที่ประชุม การหารือ การเขียนบันทึกรายงาน การบันทึกข้อมูลสนามของนักวิจัยและทีมเก็บข้อมูลวิจัย การทำบทบรรยายสื่อ การทำเอกสารจัดประชุมสื่อมวลชน (Press Release) การทำข้อมูลเพื่อส่งต่อนักสร้างสรรค์และคนทำสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานต่างๆ ซึ่งแต่ละคนจะมีความก้าวหน้าในการฝึกฝนต่างๆกัน ทว่า ได้ผลดีทุกคน

ในทักษะรายบุคคลก็ทำให้คนทำงานสามารถเรียนรู้งานตนเอง มีวิธีคิดและข้อมูลที่เป็นระบบที่สะท้อนการเพิ่มพูนประสบการณ์ไปกับการทำงานและยกระดับการพึ่งตนเองเพื่อบริหารจัดการสิ่งที่เกี่ยวข้องได้ดีขึ้น ส่วนในความเป็นทีมและต่อเครือข่ายงานที่เกี่ยวข้อง ก็ทำให้สามารถสื่อประสานความร่วมมือกัน เพิ่มโอกาสการเกิดเครือข่ายกระจายความร่วมมือและช่วยกันตัดสินใจริเริ่มปฏิบัติ ซึ่งทำให้ทำงานต่างๆได้ผลดีขึ้น

 ๑  การพัฒนามุมมองและวิธีคิดให้หลากหลาย 

เมื่อมีข้อมูลภาพถ่ายสักภาพหนึ่ง และต้องการหาวิธีให้ภาพถ่ายเล่าเรื่องพร้อมไปกับสร้างความรู้ สื่อสารเรียนรู้ และให้ทรรศนะที่สามารถนำไปใช้ต่อไป ก็สามารถเขียนบันทึกในแต่ละมิติไปโดยลำดับ เริ่มจากมิติแรก : การพัฒนามุมมองและวิธีคิดให้หลากหลาย  

ความเป็นนักสังเกตที่ดี ต้องมีความละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง แยบคาย รักในวิถีการเป็นผู้สัมพันธ์กับสิ่งต่างๆด้วยการปฏิบัติและเรียนรู้ สามารถสร้างความรู้และแสวงหาแง่มุมที่ให้ประสบการณ์และการเรียนรู้ได้อยู่เสมอ รวมทั้งต้องหมั่นฝึกฝนวิธีมองปรากฏการณ์และเรื่องราวต่างๆ ให้ได้หลากหลายแง่ หลากหลายทรรศนะ หลายมิติ ตัวอย่างเช่น

  • มุมมองด้านกายภาพ โครงสร้าง และองค์ประกอบ
  • มุมมองด้านสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
  • มุมมองด้านวิทยาศาสตร์ชุมชน
  • มุมมองด้านการศึกษา สุขภาพ การพัฒนา
  • มุมมองศิลปะ
  • มุมมองด้านอรรถประโยชน์และการใช้สอย

มุมมองและวิธี Approach ในแง่มุมต่างๆ [๑] จะทำให้เราสามารถเข้าสู่ความเป็นจริงของสิ่งที่ต้องการบันทึกได้รอบด้าน อีกทั้งสามารถบันทึกถ่ายทอดครอบคลุมรายละเอียดที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีความหมายในหลายมิติ  เมื่อเข้าสู่ความเป็นจริงของปรากฏการณ์และข้อมูลภาพในมุมมองใด ก็คลี่คลาย แจกแจง และถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นรายละเอียดในแง่มุมนั้นๆ ให้ครอบคลุมทุกมิติ เท่าที่จะเห็นว่าเหมาะสม

 ๒  การให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงแสดงปรากฏการณ์บอกเล่าตนเอง 

  มิติที่สอง   เป็นการให้รายละเอียดและบันทึกเพื่อถ่ายทอดข้อเท็จจริง ให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ไม่ได้เกิดจากการปรุงแต่งด้วยกรอบคิดใดๆของผู้บันทึกรายงาน ได้แสดงตนและบอกเล่าเรื่องราวต่อผู้อ่านด้วยตนเอง เช่น......[๒].. จากภาพตัวอย่าง เป็นภาพต้นไม้แห้งยืนต้นที่เห็นตามปรกติตามท้องนาทั่วไป ลักษณะของไม้เป็นไม้เนื้อแข็ง แต่ลำต้นไม่ใหญ่นัก ตลอดลำต้นคดงอ มีบางส่วนของโคนต้นที่ตรง เปลือกของลำต้นและตามกิ่งต่างๆหลุดและเปลือยให้เห็นเนื้อในของลำต้น บ่งบอกให้ทราบว่าเป็นต้นไม้แห้งที่ยืนต้นตายมานานหลายปีแล้ว ถ่ายตามแสงธรรมชาติ ด้วยกล้อง Fujifilm เวลา ๑๙.๔๓ น. วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ที่บ้านห้วยส้ม อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ถ่าย : วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ...การบันทึกข้อมูลดังกล่าวเป็นอันดับแรกที่ควรมี ทั้งภาพและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องจะแสดงตนและบอกเล่าแก่ผู้อื่นที่ได้เห็นในภายหลัง

 ๓  การให้การเรียนรู้เพื่อเห็นสภาวการณ์โดยรอบ 

  มิติที่สาม  ใช้ข้อมูลภาพและข้อเท็จจริงโดยตัวมันเอง เป็นเกณฑ์ในการสำรวจออกไปในสังคมและสภาพแวดล้อม เพื่อช่วยให้ผู้อื่นสามารถประเมินและเห็นสถานะของสิ่งดังกล่าวได้หลายมิติ รอบด้าน และชั่งน้ำหนักในการเห็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องโดยรอบได้ดีขึ้น เช่น [๓]....ลักษณะของไม้ยืนต้นและแห้งตายในลักษณะนี้ เป็นสภาพที่เห็นได้โดยทั่วไปของพื้นที่ในเขตร้อนชื้น เป็นกระบวนการที่เป็นธรรมชาติ...ข้อมูลและสารสนเทศดังกล่าว ทำให้ผู้อ่านสามารถมีหลักเกณฑ์ในประเมินและชั่งน้ำหนักในการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆต่อไปได้ดีขึ้น หากเป็นสภาพวิกฤติปัญหาก็จะได้ทราบ และหากเป็นสภาพปรกติก็จะได้มุ่งความสนใจไปยังแง่มุมอื่นๆ ได้ดียิ่งๆขึ้น เหล่านี้เป็นต้น

 ๔  การตีความ สะท้อนทรรศนะ ประเมินให้คุณค่าและความหมาย 

 มิติที่สี่  แสดงแนวคิด วิธีมอง และจุดยืนของผู้เขียน เพื่อให้ผู้อ่านได้เกิดการเรียนรู้โลกกว้างได้มากยิ่งๆขึ้นผ่านสายตาของผู้อื่น เป็นกระบวนการเรียนรู้ภายในเชิงเปรียบเทียบ Comparative Learning and Knowledge โดยสิ่งใดที่เหมือนหรือสอดคล้องกับประสบการณ์และทรรศนะของผู้อ่าน ก็จะทำให้เกิดความหนักแน่นและเสริมความแข็งแกร่งในความรู้ต่อสิงนั้น และสิ่งใดแตกต่างหลากหลายออกไป ก็จะช่วยให้ผู้อ่านได้เรียนรู้สิ่งใหม่ เกิดโลกทรรศน์และความรอบรู้ ได้ประสบการณ์การเรียนรู้จากการอ่านที่กว้างขวางมากยิ่งๆขึ้น เช่น.....[๔]....ต้นไม้ยืนต้นแห้งตายและถูกปล่อยทิ้งให้เสื่อมสลายไปในลักษณะดังกล่าวนี้ โดยทั่วไปแล้ว หากเป็นไม้จริงหรือไม้เนื้อแข็งและลำต้นตรง ชาวบ้านและเจ้าของที่นาก็จะนำไปเลื่อยแปรรูปทำเป็นไม้สร้างบ้านหรือทำเป็นเครื่องมือเกษตรกรรม ทว่า ไม้ที่ต้นไม่ใหญ่และคดงอดังที่เห็นในภาพ ไม่เหมาะสมที่จะนำไปใช้สอยในลักษณะดังกล่าว ซึ่งถ้าหากเป็นในอดีต ชาวบ้านก็จะนำไปทำฟืน ทำรั้ว และทำไม้ล้อมการปลูกพืชผักสวนครัว แต่ในปัจจุบัน ชาวบ้านก็อาจจะปล่อยทิ้งไว้ เพราะชุมชนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ฟืนหุงข้าวและการปลูกพืชผักไว้บริโภคในครัวเรือนก็ลดน้อยลงไปมากแล้ว

 ๕  การสังเคราะห์หลักคิด ใช้เป็นหลักเรียนรู้และอธิบายโลกกว้าง 

 มิติที่ห้า  เป็นการสังเคราะห์บทเรียนที่ตกผลึกประสบการณ์ การให้วิธีคิด และการได้หลักคิดซึ่งสามารถพัฒนาการเรียนรู้แบบถ่ายเทประสบการณ์ให้สามารถนำไปเรียนรู้และทำความเข้าใจโลกกว้างได้อย่างแยบคายและลุ่มลึกมากยิ่งๆขึ้น เช่น.....[๕].... การจัดการทรัพยากรชุมชน รวมทั้งปัจจัยการผลิตของชุมชน เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างความสมดุลและมีความเป็นพลวัตร เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ทั้งจากภายในความเป็นชุมชนและจากอิทธิพลของสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม วิทยาการและเทคโนโลยี การหาแนวทางใช้ประโยชน์จากต้นไม้และทรัพยากรที่มีอยู่เองในแหล่งทำมาหากินของชาวบาน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากแล้วในปัจจุบัน อาจจะไม่สามารถทำตามรูปแบบที่เคยดำเนินมาอย่างในอดีต ทว่า อาจจะต้องคิดริเริ่มและหาแนวทางนำไปดัดแปลงใช้ในแนวคิดใหม่ๆ

ในแง่ของศิลปะการสร้างโครงเรื่องนั้น ท่านสามารถลำดับการเขียนให้หลากหลายได้ เช่น อาจจะนำเอาเรื่องราวทั่วไปของสังคมซึ่งอยู่ในอันดับหลังในตัวอย่างนี้ ไปเป็นตัวเปิดเรื่อง หรืออาจจะใช้มิติความเป็นสัญญะเป็นตัวเปิดเรื่องก่อนก็ได้ เมื่อสามารถพิจารณา เขียนแจกแจงโดยลำดับนี้แล้ว ก็จะทำให้ได้ความเรียงและงานเขียนเชิงสารคดีประกอบภาพ ให้การเรียนรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์หลายมิติในการดูภาพ ได้ความสุข เพลิดเพลิน และมีวิธีเรียนรู้สิ่งต่างๆให้ละเอียดอ่อนรอบด้าน นำไปใช้ดำเนินชีวิตและทำการงานได้ต่อไป 

   ตัวอย่าง   เมื่อนำมาสร้างเป็นเนื้อหาเขียนบันทึก 

จากตัวอย่างที่กล่าวมานี้ เมื่อพัฒนามุมมอง สร้างเนื้อหาทีละมุมมองและบันทึกให้ครอบคลุมทุกด้าน อันได้แก่ [๑]+[๒]+[๓]+[๔]+[๕] พร้อมกับจัดภาพประกอบ ก็จะได้บันทึกและเนื้อหาความรู้แนว Pictorial และ Documentary Photo-Essay ดังตัวอย่างต่อไปนี้

   ตัวอย่างประกอบการศึกษา : ต้นไม้แห้ง   
เรียนรู้และพัฒนาวิธีคิดทางสังคมจากธรรมชาติ 

ต้นไม้แห้งยืนต้นที่เห็นตามปรกติตามท้องนาทั่วไป ลักษณะของไม้เป็นไม้เนื้อแข็ง แต่ลำต้นไม่ใหญ่นัก ตลอดลำต้นคดงอ มีบางส่วนของโคนต้นที่ตรง เปลือกของลำต้นและตามกิ่งต่างๆหลุดและเปลือยให้เห็นเนื้อในของลำต้น บ่งบอกให้ทราบว่าเป็นต้นไม้แห้งที่ยืนต้นตายมานานหลายปีแล้ว ถ่ายตามแสงธรรมชาติ ด้วยกล้อง Fujifilm เวลา ๑๙.๔๓ น. วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ที่บ้านห้วยส้ม อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ถ่าย : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

ลักษณะของไม้ยืนต้นและแห้งตายในลักษณะนี้ เป็นสภาพที่เห็นได้โดยทั่วไปของพื้นที่ในเขตร้อนชื้น เป็นกระบวนการที่เป็นธรรมชาติ

ต้นไม้ยืนต้นแห้งตายและถูกปล่อยทิ้งให้เสื่อมสลายไปในลักษณะดังกล่าวนี้ โดยทั่วไปแล้ว หากเป็นไม้จริงหรือไม้เนื้อแข็งและลำต้นตรง ชาวบ้านและเจ้าของที่นาก็จะนำไปเลื่อยแปรรูปทำเป็นไม้สร้างบ้านหรือทำเป็นเครื่องมือเกษตรกรรม ทว่า ไม้ที่ต้นไม่ใหญ่และคดงอดังที่เห็นในภาพ ไม่เหมาะสมที่จะนำไปใช้สอยในลักษณะดังกล่าว ซึ่งถ้าหากเป็นในอดีต ชาวบ้านก็จะนำไปทำฟืน ทำรั้ว และทำไม้ล้อมการปลูกพืชผักสวนครัว แต่ในปัจจุบัน ชาวบ้านก็อาจจะปล่อยทิ้งไว้ เพราะชุมชนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ฟืนหุงข้าวและการปลูกพืชผักไว้บริโภคในครัวเรือนก็ลดน้อยลงไปมากแล้ว

การจัดการทรัพยากรชุมชน รวมทั้งปัจจัยการผลิตของชุมชน เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างความสมดุลและมีความเป็นพลวัตร เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ทั้งจากภายในความเป็นชุมชนและจากอิทธิพลของสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม วิทยาการและเทคโนโลยี

การหาแนวทางใช้ประโยชน์จากต้นไม้และทรัพยากรที่มีอยู่เองในแหล่งทำมาหากินของชาวบาน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากแล้วในปัจจุบัน อาจจะไม่สามารถทำตามรูปแบบที่เคยดำเนินมาอย่างในอดีต ทว่า อาจจะต้องคิดริเริ่มและหาแนวทางนำไปดัดแปลงใช้ในแนวคิดใหม่ๆ.

......

  สรุป   สร้างความรู้ บันทึก และบอกเล่าสิ่งดีเพื่อพลังการเรียนรู้ได้อย่างไม่จำกัด

จากตัวอย่างในข้างต้นนี้ จะเห็นว่าเพิ่งกล่าวถึงเพียงมุมมองเดียว หรือ Approach เดียว อันได้แก่ ด้านอรรถประโยชน์และการใช้สอย เท่านั้น หากท่านพัฒนามุมมองพร้อมกับใช้ข้อมูลภาพสาธยายไปทีละด้านสู่มุมมองอื่นๆต่อไปอีก ก็จะสามารถสร้างความรู้และให้ข้อสารสนเทศ ที่ผู้อ่านและผู้ชมภาพถ่ายจะสามารถเห็นรายละเอียด ได้ความคิดและวิธีมองในเรื่องหนึ่งๆได้หลายมิติ ก่อเกิดปัญญาและได้ข้อมูลความรู้ทั้งข้อเท็จจริง วิธีเรียนรู้สังคม การสะท้อนคิด การแสดงทรรศนะและความเป็นสัมมาทิฏฐิต่อสรรพสิ่ง

ที่สำคัญก็คือ จะเป็นอีกหนทางหนึ่งในการทำให้การถ่ายรูปและข้อมูลภาพถ่ายซึ่งหลายท่านมีความสนุกและทำได้อย่างดีมากอยู่แต่เดิม ตลอดจนความเป็นบล๊อกเกอร์เขียนบันทึก สร้างสื่อแนวทางเลือกด้วยตนเอง ให้เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังต่อการเรียนรู้ สร้างความรู้ทั้งจากวิถีชีวิตและการทำงาน สามารถใช้พลังตนเองร่วมสร้างประสบการณ์ทางสังคมอย่างสร้างสรรค์แก่ผู้คน

ยิ่งไปกว่านั้น ท่านและเครือข่ายของท่าน ก็จะสามารถพัฒนาวิถีชีวิตเพื่อเรียนรู้จากการทำงานและในทุกอริยาบทของชีวิต ให้เป็นการร่วมการสร้างความรู้และสะสมภูมิปัญญาของสังคมในทุกโอกาสที่ได้เข้าไปร่วมคิดร่วมทำ เป็นองค์ประกอบที่แข็งขันตรงจุดที่เราเป็นและอยู่อย่างไรก็ได้ ร่วมส่งเสริมให้สุขภาวะปัญญาของสังคมไทยมีความเข้มแข็งงอกงามจากนักปฏิบัติได้มากยิ่งๆขึ้น

...........................................................................................................................................................................

   เชิงอรรถ  

* ผู้สังเกต(Observer) : ในทางการวิจัยและญาณวิทยา หรือศาสตร์และความรู้ที่ว่าด้วยวิธีเข้าถึงความจริงนั้น โดยทั่วไปแล้ว ผู้สังเกต ก็จะหมายถึง การเป็นผู้วิจัยและผู้บันทึกการสังเกต ส่วน สิ่งที่ถูกสังเกต นั้น ก็จัดว่าเป็น วัตถุการวิจัย แต่ในทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์นั้น ปรากฏการณ์ทางสังคม หมายถึงปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับคนและสังคมของมนุษย์ ดังนั้น ปัจเจกและสังคม จึงสามารถเป็นองค์ประกอบของปรากฏการณ์ พร้อมกับเป็นมิติอื่นๆในกระบวนการทางญาณวิทยาไปในเวลาเดียวกัน แต่โดยทั่วไป คนเราก็มักมีวิธีมองแบบลดทอน รับรู้ความเป็นปัจเจกและหน่วยทางสังคมต่างๆได้เพียงมิติเดียว ขาดการพัฒนาให้หลายๆด้านดำเนินไปด้วยกัน อันได้แก่

  • ความเป็นผู้กระทำปรากฏการณ์และเป็นตัวสร้างเหตุการณ์ 
  • ความเป็นปรากฏการณ์วัตถุวิจัยและสิ่งที่ถูกสังเกต
  • ความเป็นผู้สังเกต
  • ความเป็นตัวรู้
  • ความเป็นสิ่งที่ถูกรู้

โดยทั่วไปแล้ว เรามักขาดการฝึกตนเองให้เห็นศักยภาพ ๓ ด้านที่อยู่ในตนเองของมนุษย์ คือ ความเป็นผู้สร้างและกระทำปรากฏการณ์ ความเป็นตัวปรากฏการณ์ทางสังคมหรือสิ่งที่ถูกสร้าง และความเป็นผู้สังเกตหรือเป็นตาที่ ๓ ของตนเอง ดังนั้น การพัฒนาความเป็นผู้สังเกตไปด้วย จึงเป็นกระบวนการเรียนรู้อีกด้านหนึ่งที่จะทำให้ตนเองเป็นเครื่องมือวิจัยที่มีชีวิตและสามารถดำเนินชีวิตให้เป็นมรรควิถีแห่งการเรียนรู้นั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 387800เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2010 17:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ความรู้นี้ "บรรเจิด" ครับท่านพี่ ;)...

มาเรียนรู้ จาก กูรู ครับ ดีมากมาก เลยท่าน

..ขอบคุณค่ะที่สะท้อนคุณค่าของการถ่ายภาพ เพื่อประกอบการบันทึกข้อมูลในการเป็นแหล่งสะสมความรู้และเป็นสื่อถ่ายทอดในชุมชน..

..พี่ชอบบันทึกที่มีรูปภาพอธิบายด้วย..ทำให้จำง่ายและเห็นความสัมพันธ์อย่าง "มีชีวิตชีวา" ของคำอธิบายชัดเจนกว่า "บันทึกแห้งแล้ง"..ไร้รูปธรรม..

..บางภาพแทบไม่ต้องบรรยาย เพราะมีความหมายอยู่แล้วในตัว..แต่ยิ่งจินตนาการ..มีคำอธิบายได้อีกมากมาย...

สวัสดีครับอาจารย์Wasawat Deemarnครับ

  • ตอนนี้ กล้องดิจิตอล โน๊ตบุ๊ค และการเชื่อมต่อกับโลกไซเบอร์ แทบจะเป็นของใช้สามัญประจำบ้านของผู้คน ซึ่งอาจจะมากยิ่งกว่าจำนวนการเป็นเจ้าของทีวีเสียอีก
  • หากมีคนใช้กล้องและใช้ความเป็นคนช่างสังเกตโดยธรรมชาติของตนเอง มาเป็นเครื่องมือเขียนความรู้และเป็นอาลักษณ์ของชุมชน รวมทั้งของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น สังคมก็จะสามารถมองเห็นตนเองในรายละเอียดเหมือนอ่านแผ่นดินและถิ่นฐานด้วยภาพถ่ายและบันทึกจากโลกไซเบอร์ ได้อีกมากมายเลยนะครับ
  • ผมเคยใช้วิธีนี้ฝึกทักษะน้องๆในการเขียนสคริปต์สื่อและทำ Press Release
  • รวมทั้งเวลาใครไปร่วมประชุมมาหรือไปทำกิจกรรมอะไรมา ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อไปและกลับมาแล้วก็มักจะเหมือนกับหัวกลวงกลับมา ไม่สามารถเล่ารายงานและบอกได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ว่าไปเจออะไรมาบ้าง ได้เรียนรู้อะไร และเกิดความคิดความบันดาลใจดีๆเพื่อสะท้อนสู่ชีวิตและการงานได้บ้าง
  • อย่างดีที่สุดก็ได้แต่เพียงเล่าถึงกิจกรรมที่ไปเจอมา แต่ไม่สามารถสร้างความคิดและสังเคราะห์เป็นบทเรียนขึ้นมาสักชุดจากประสบการณ์ที่ได้ วิธีนี้จึงช่วยฝึกฝนคนทำงานที่มีพื้นเป็นคนรักการเรียนรู้ ได้ครับ 
  • ผมมักจะตั้งคำถามให้ตอบและเล่าให้ฟังด้วยโครงสร้างแบบนี้แหละครับ ไม่นานก็จะได้มือทำงานที่ทำงานปฏิบัติได้ และทำงานความคิด มีเนื้อหา เรียนรู้ และเมื่อเจอคนอื่น ก็สามารถ Brief เล่าถ่ายทอดเป็นเรื่องเป็นราว พออาวุโสมากขึ้นก็เขียนหนังสือได้ครับ
  • สวัสดีครับอาจารย์หมอ JJ ครับ
  • ขอบพระคุณครับ ยินดียิ่งที่ได้แบ่งปันกับอาจารย์และทุกท่านครับ
  • สวัสดีครับคุณพี่นงนาท สนธิสุวรรณครับ
  • ภาพถ่ายเมฆสวยจังเลยละครับ
  • เห็นด้วยมากเลยครับ กล้องและภาษาภาพถ่าย เป็นเครื่องมือที่ช่วยทั้งคนมีประสบการณ์และความรู้ดี ให้มีกำลังในการสื่อสารและถ่ายทอดได้ดีขึ้น และช่วยคนที่มีความสนใจแตกต่างสาขากัน ซึ่งเข้าถึงความคิด-ความรู้ได้จำกัด ให้สามารถสื่อและเข้าถึงความเข้าใจที่ต้องการได้ดียิ่งๆขึ้นนะครับ
  • ต้องส่งเสริมการถ่ายรูปเพื่อสื่อสารและแบ่งปันความรู้กันมากขึ้น เขียนบันทึกแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสะสมความรู้ให้สังคมไว้มากขึ้น เพื่อเข้าใจและสร้างสุขภาวะสังคมเดียวกัน ได้มากยิ่งๆขึ้น

เรียนท่านอ.วิรัตน์

อยากบอกว่ารอมานานแล้วค่ะ

และคิดไม่ออกว่าจะจัดการกับภาพที่มีอยู่ให้มีชีวิตอย่างไร

ภาพที่ถ่ายมานั้น ในขณะที่ถ่ายความคิดพรั่งพรู

และเกิดมุมคิดต่างๆ แต่ด้วยความที่ไม่ได้ฝึกการจัดลำดับความคิด

นานวันไปก็ลืมสุนทรีย์คิดที่เกิดขึ้นมา

กลับมาดูภาพใหม่อีกครั้ง ความคิดเปลี่ยนไป

บางครั้งกลับมองไม่เห็นคุณค่างานของตัวเอง

ทั้งๆที่ตอนถ่ายนั้นก็ว่าที่สุดแล้ว

จะพยายามทำตามที่แนะนำค่ะ

ดีจริงๆค่ะ โอกาสหน้าภาพจะมีชีวิตกว่านี้ค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีครับคุณครูkrutoitingครับ

  • ขอให้ได้ความสนุก เกิดอรรถรสของการถ่ายภาพ และได้วิธีจารึกความทรงจำได้ดีมากยิ่งๆขึ้นครับ
  • krutoiting เอารูปน้ำค้างมาแบ่งปันกันดูนี่ สงสัยอยากให้ถึงหน้าหนาวเร็วกระมังครับ
  • ตอนนี้เห็นมีแต่หยาดฝน แต่ก็ให้ความสดใสและเป็นฤดูผลิดอกแตกใบของต้นไม้ทั่วไปหมดเลยนะครับ
  • มีความสุขความสดใสเหมือนหยาดน้ำค้างเสมอครับผม
  • เข้าใจมองภาพนะครับ
  • ได้ควมรู้ชัดเจนจากการบรรยายภาพ
  • เป็นการเรียนรู้ที่สนุกมาก
  • ตอนนี้ฝนกำลังตกหนักปนกับเสียงซ้อมเชียร์ของเด็กสาธิตเกษตร(ทำไมมาซ้อมที่คณะผมไม่ทราบ) เข้าใจว่าที่คณะใจดี เด็กๆๆเลยมาบ่อยๆๆสร้างความคุ้นเคยก่อนมาเรียนปริญญาตรีจริงๆฮ่าๆ
  • ตอนนี้คู่มือแบบง่ายเสร็จแล้ว
  • เอามาขอบคุณอาจารย์
  • หน้าปกและคำนำที่นี่
  • เย้ๆๆๆ
  • สำหรับคู่มือการถอดบทเรียนสำหรับวิทยากรกระบวนการ
  • แต่ยังเขียนเรื่องการถอดบทเรียนไม่เสร็จเลย
  • งานเข้ามากเกินป่วยเลยครับ
  • ฮ่าๆๆ
  • วันที่ 28 สค ตอนเย็นๆๆจะไปเยี่ยมอาจารย์นะครับ
  • วันศุกร์จะโทรแจ้งล่วงหน้าอีกครั้ง
  • เอาภาพข้าวห่อใบบัวสามชุก สุพรรณบุรีมาฝาก
  • พร้อมภาพการเรียนรู้ของนักเรียนสามชุก
  • ลืมรายงานผลว่านำนิสิตครู 5 ปี ไปฝึกทำกิจกรรมด้วยครับ
  • ข้าวห่อใบบัวที่สามชุกนี่น่ากินนะครับ
  • ผมเคยแวะไปซื้อติดมือไปฝากแม่ที่นครสวรรค์ ขนมกงด้วย
  • อาจารย์ไปช่วยจัดกิจกรรมให้เด็กๆของคุณครูอ้อยเล็กใช่ไหม
  • หากเสร็จงานแล้วคุณครูอ้อยเล็กไม่ติดอะไรก็กระเตงกันไปด้วยนะครับ
  • หรือถ้าหากจอแจเกินไป ก็หยุดหายใจหายคอ ไม่ต้องไปเนื่องจากบอกกล่าวกันไปแล้วก็ได้นะครับ
  • มีโกาสเจอกันด้วยงานอีกเยอะครับ แต่คนทำงานหากพอมีเวลาเว้นวรรคสักพักให้ตัวเอง ก็ต้องรีบกลับไปอยู่กับตัวเอง

สวัสดีค่ะอาจารย์

             เข้ามาเรียนรู้เรื่อง"การถ่ายภาพกับวิธีบันทึกหมายเหตุของผู้สังเกตให้

เป็นการสะสมความรู้ของสังคม" กับอาจารย์อีกแล้วค่ะ วันนี้มีภาพแต่ยังไม่ได้

บันทึกหมายเหตุของผู้สังเกตเลยค่ะ ครั้งต่อไปจะปรับปรุงให้ดีขึ้นค่ะ

                                   

                  ภาพงานทำบุญสลากภัตรหรือตานก๋วยสลาก

         ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน  ในเดือนสิบสองเป็ง พ.ศ. 2553

                  

สวัสดีครับคุณครูดาหลาครับ

  • พระธาตุหริภุญชัยนี่งามมากจริงๆเลยนะครับ
  • ผมไปดูสามรอบแล้ว ใครมาชวนไปอีกก็คงจะไปอีก
  • ขอบคุณมากเลยครับที่นำรูปงานบุญตานก๋วยสลากมาฝาก
  • เหมือนได้กลับบ้านไปด้วยดีครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท