สุนทรียภาพ จินตภาพ และความคิดสร้างสรรค์ ในตัวมนุษย์


กล่าวนำ

          หลังจากเขียนบทความเรื่อง “สุนทรียภาพกับการสร้างแรงบันดาลใจในปัจเจกชน” ออกไป จนวันหนึ่งความอยากในตนเองก็จุดชนวนให้ผมเกิดความสงสัยว่าความสัมพันธ์ระหว่าง “สุนทรียภาพ” , “จินตภาพ” และ“ความคิดสร้างสรรค์” มันเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลเกี่ยวข้องต่อกันหรือไม่? ถ้ามีมันจะเป็นรูปแบบใด และมากน้อยเพียงใด? 

            เมื่อเกิดคำถาม ก็ต้องค้นหาคำตอบเพื่อดับซึ่งข้อลังเลสงสัยในใจให้ได้ ผมใช้เวลาก่อนนอนประมาณ ๑ ชั่วโมง หลังการเล่นกีตาร์ตัวโปรด ทบทวนข้อเท็จจริงต่างๆเพื่อประมวลรวบรวมซึ่งคำตอบ และถ่ายทอดเป็นบทความนี้ออกมา เป็นเวลารวม ๓ วัน ลองมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันนะครับ

กรอบความคิดเกิดจากไข่เป็ดที่เก็บมาจากบ้าน

            การค้นหาความสัมพันธ์ของ “สุนทรียภาพ” , “จินตภาพ” และ“ความคิดสร้างสรรค์” หากไม่พิจารณาอย่างแยบคายพอ ก็อาจตอบแบบเหมารวมแบบง่ายๆว่า เหมือนกัน ไม่ต่างกัน บางคนก็อาจมองว่าไม่เห็นจะเหมือนกันเลย (เพราะข้อเท็จจริงหนึ่งที่เห็นได้คือ เขียนไม่เหมือนกัน!! เอาเข้าไป) ตอนแรกผมก็เกือบจะหลงทางอยู่เหมือนกัน จนมาถึงเย็นวันหนึ่งขณะกำลังจะทอดไข่เป็ดที่เก็บมาจากบ้านที่อยุธยา เพื่อเป็นอาหารมื้อค่ำ ทำให้ผมได้ข้อสรุปในคืนนั้นว่า....

            “สุนทรียภาพ”  ก็คือ “เปลือกไข่

            “จินตภาพ”  ก็คือ “ไข่ขาว

            “ความคิดสร้างสรรค์”  ก็คือ “ไข่แดง”  นั่นเอง

  ความคิดสร้างสรรค์ (ไข่แดง) ของคนเราไม่ได้อยู่อย่างปัจเจก

            เปรียบได้กับ “ไข่แดง”  ที่มี “ไข่ขาว” คอยป้อนสารอาหารต่างๆให้ตัวอ่อนที่กำลังจะถือกำเนิดขึ้น โดยจะต้องมีเกราะป้องกันที่แข็งแรงพอ (เปลือกไข่) ปิดกั้นบริบทแวดล้อมภายนอก กับภายในไว้ภายใต้เวลาที่เหมาะสม โดยนัยที่ผมจะบอกว่า ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์เรานั้นต้องอาศัยการบ่มเพาะในบริบทที่เหมาะสม ไม่ใช่เกิดขึ้นเองอย่างไม่มีเหตุผล หรือเป็นเรื่องของสวรรค์ดลบันดาล ถ้าเราอยู่ในฐานะเป็นผู้พัฒนาคนควรตระหนักข้อนี้ให้มากถึงมากที่สุด ผมเคยได้รับคำถามจากผู้ที่เป็นหัวหน้างานเสมอๆทำนองว่า “ทำอย่างไรลูกน้องถึงจะมีความคิดสร้างสรรค์?” , “ทำไมลูกน้องจึงไม่มีความคิดสร้างสรรค์บ้างเลย?” ผมว่าถ้าหัวหน้างานรู้ข้อเท็จจริงที่ผมกำลังจะนำเสนอเขาคงไม่ถามผม แต่เขาน่าจะถามตัวเขาเองมากกว่าว่า “ทุกวันนี้เขาได้สร้าง “ไข่ขาว” และ”เปลือกไข่” ให้กับไข่แดงที่เขาต้องการได้สมบูรณ์เพียงใด?

จินตภาพ (ไข่ขาว) เป็นสติปัญญาด้านหนึ่งที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

            สำหรับ “ไข่ขาว” บางคนไม่ชอบรับประทาน เพราะรสชาติสู้ “ไข่แดง” ไม่ได้ แต่เราอย่าลืมว่าที่ไข่แดงมีรสชาติดีได้นั้น ก็มาจากไข่ขาวที่คอยป้อนสารอาหารเลี้ยงดูอยู่ หากไม่มีไข่ขาวหรือมีไม่มากพอ ไข่แดงก็จะไม่มีสิทธิเติบโตต่อไปได้อีก ไข่ใบนั้นก็จะกลายสภาพเป็น “ไข่ข้าว” [1] ไปในที่สุด คนจะคิดสร้างสรรค์ได้ดีนั้นจำเป็นต้องได้รับการเสริมสร้างสติปัญญาด้าน        จินตภาพอย่างเหมาะสมมาก่อน จินตภาพเป็นสติปัญญาที่ใช้แก้ปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ หรือ เนื้อหาบางเรื่องที่อาจต้องใช้ความสามารถในการ “วาดภาพในใจ” เกี่ยวกับสิ่งที่เห็นจากแง่มุมอื่น หรืออาจเป็นการคาดคะเนในบางสถานการณ์ เช่น การเดินหมากรุกของฝ่ายตรงข้าม

            หลักฐานจากการวิจัยทางด้านสมองพบว่า ขณะที่สมองซีกซ้ายได้มีวิวัฒนาการและกลายเป็นตำแหน่งที่ตั้งที่จัดกระทำข้อมูลเกี่ยวกับภาษาในคนที่ถนัดขวานั้น สมองซีกขวาได้เป็นที่ตั้งสำคัญในการควบคุมการจัดกระทำข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อที่ บุคคลที่สมองส่วนนี้ถูกทำลายจะสูญเสียความสามารถในการหาตำแหน่ง หรือเดินทางไปยังสถานที่ที่ต้องการ การจดจำใบหน้า หรือภาพเหตุการณ์ สถานที่ ตลอดจนการสังเกตรายละเอียดต่างๆ

            ผู้ที่สมองซีกขวาถูกทำลาย และพยายามใช้ความสามารถทางด้านภาษาเพื่อชดเชย ได้พบข้อเท็จจริงว่าไม่สามารถทดแทนกันได้ แต่คนตาบอดที่สูญเสียระบบการรับรู้ทางการเห็น และใช้ระบบการรับรู้ทางการสัมผัสและเคลื่อนไหวแทน เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับเนื้อที่ โดยพฤติกรรมของคนตาบอดจะใช้มือลูบคลำไปรอบๆวัตถุนั้น ทำให้สามารถสังเกตและรู้ได้ว่าวัตถุนั้นมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร นั่นแสดงว่าคนตาบอดไม่ได้สูญเสียสติปัญญาด้านจินตภาพนี้ นอกจากนี้ยังได้พบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับเด็กออทิสติกขั้นรุนแรงวัยอนุบาล ซึ่งมีความบกพร่องด้านต่างๆมากมาย แต่สามารถวาดรูปภาพได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ และมีความละเอียดลออมาก[2] ซึ่งข้อเท็จจริงที่ค้นคว้ามานำเสนอนี้อาจจะทำให้เราได้ทราบถึงความสำคัญของ “ไข่ขาว” ได้เป็นอย่างดีแล้วนะครับ

ความสำคัญของเปลือกไข่ (สุนทรียภาพ)

            ลองตอบผมหน่อยนะครับว่า “เปลือกไข่” มีความสำคัญอย่างไร? มันเป็นเรื่องของ    สัจจธรรมมากๆเลยครับที่ผมอยากจะบอกว่า “ไม่มีอะไรที่สำคัญที่สุด หากมีบริบทของเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง” เช่น หากเราคิดว่าตัวเรามีความสำคัญมาก หากขาดเราองค์กรจะอยู่ไม่ได้ ผมเชื่อว่าเพียงไม่กี่วันหลังจากเราจากไปก็อาจจะไม่มีใครคิดถึงเราอีกต่อไป ยิ่งถ้าเราไม่เคยสร้างคุณงามความดีใดๆไว้ให้กับองค์กรเลย ก็คงไม่ต้องพูดถึงครับ กลับมาที่คำถาม ที่ถามว่าเปลือกไข่มีความสำคัญอย่างไร คำตอบที่ได้ก็น่าจะประมาณนี้

  • เป็นเกราะป้องกันไข่ขาวและไข่แดง ไม่ให้เป็นอันตรายตลอดระยะเวลาที่รอการฟักตัว
  • เป็นสิ่งที่คอยควบคุมอุณหภูมิภายในให้มีความเหมาะสมกับการเติบโตของตัวอ่อน
  • ป้องกันเชื้อโรคต่างๆจากภายนอกเข้าสู่ภายใน
  • ป้องกันการกระทบกระแทกให้กับข่าวและไข่แดง
  • เป็นภาชนะบรรจุที่สะดวกและพร้อมใช้งาน
  • ใช้เป็นเครื่องประดับ ตกแต่งบ้าน (ปัจจุบันมีการนำไปทำเป็นงานศิลป์กันมาก)

            แต่ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครตอบว่า “มีรสชาติดี รับประทานได้เอร็ดอร่อย” ถึงเวลาเปลือกไข่ก็จะหมดความสำคัญไป แต่ถ้าไม่มีเปลือกไข่ก็จะไม่มีไข่ขาว ไม่มีไข่แดง ให้เรารับประทาน ไม่มีการสืบทอดขยายเผ่าพันธ์ เปรียบได้กับคนที่ชีวิตไม่มีสุนทรียภาพ ก็อย่าได้หวังที่จะมีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีได้ มันเป็นตรรกะเป็นเหตุเป็นผลในตัวเองอยู่แล้ว ยิ่งถ้าไม่มีสติปัญญาด้านจินตภาพที่เป็นไข่ขาว ก็คงหนีไม่พ้นกลายเป็น “ไข่ข้าว” เช่นกัน

           สุนทรียภาพเป็นเปลือกไข่ที่คอยป้องกันสิ่งที่จะเข้ามาคุกคามการใช้สติปัญญาด้าน    จินภาพที่เป็นไข่ขาว และความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นไข่แดง สุนทรียภาพเป็นการคัดกรองข้อเท็จจริงที่ได้รับรู้การรับรู้ทางความรู้สึกของปัจเจกบุคคล (อารมณ์) จากบริบทภายนอกในเบื้องต้น โดย เป็นสภาพความซาบซึ้งในคุณค่าของสิ่งที่งดงาม ไพเราะ รื่นรมย์ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ หรือ ศิลปะ  ความซาบซึ้งในคุณค่าดังกล่าวจะเจริญเติบโตได้โดยประสบการณ์ การศึกษา อบรม ฝึกฝน จนเป็นอุปนิสัย และเกิดรสนิยม (Taste) ขึ้นตามตัวบุคคล ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ในความรู้สึกที่ซาบซึ้งนั้นเป็นความรู้สึกที่เกิดจากการรับรู้ที่บริสุทธิ์ ปราศจากสิ่งใดๆปรุงแต่ง เป็นการให้คุณค่าของสรรพสิ่งทุกอย่างจากภายใน (Intrinsic Value) ก่อนที่จะนำไปใช้วิจารณญาณของบุคคลตัดสินใจต่อไป[3]

           ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมผู้ที่เป็นศิลปินโดยจิตวิญญาณ เขาเหล่านั้นถึงได้ทำงานเกี่ยวกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้จะมีโลกส่วนตัวสูงแต่ก็ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่นและสังคม ตรงกันข้ามกับสร้างสีสรรค์ ความสุข ความอิ่มเอมในอารมณ์ให้กับคนทั่วไปได้รับรู้กัน มีเรื่องหนึ่งที่ผมเคยเขียนลงในบทความเรื่อง “คุณค่าของคนอยู่ที่สิ่งใด” มาเล่าซ้ำให้ฟัง ผมนึกถึงเรื่องนี้ครั้งใดก็ยังประทับใจไม่ลืม....

            ....เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งผมกลับจากการไปเยี่ยมคุณพ่อของภรรยาผมที่โรงพยาบาลแถวๆบ้าน ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณสามทุ่มกว่าเห็นจะได้ ผมกับภรรยาเดินจากโรงพยาบาลเพื่อที่จะมาขึ้นรถกลับบ้าน ระหว่างที่เดินมาบริเวณนั้นตอนช่วงกลางคืนเขามีตลาดนัดมีผู้คนเดินจับจ่ายใช้สอยกันมากมาย ภรรยาผมจึงชวนผมเดินดูของก่อน และระหว่างที่เดินดูของอยู่นั้น ผมเห็นผู้ชายคนหนึ่งผมยาวสวมกางเกงขาสั้นขาดๆและเสื้อยืดสีขาวนั่งรับเขียนภาพอยู่ โดยในตอนนั้นมีคนมานั่งเป็นแบบให้วาดภาพอยู่ด้วย ผมกับภรรยาเดินไปหยุดดูแล้วนึกได้ว่าเรามีรูปของลูกสาวอยู่ในกระเป๋านี่ เอามาให้เขาวาดลงบนกระเป๋าผ้าแล้วเอากลับไปให้ลูกใช้ดีกว่าเขาจะได้ภูมิใจที่เห็นรูปของเขาเวลาใช้กระเป๋าใบนี้ ซึ่งราคาค่ากระเป๋ารวมทั้งค่าวาดรูปลงไปแล้วอยู่ที่ ๑๕๐ บาท จากนั้นผมก็เอารูปลูกสาวให้เขาและไปเดินดูของที่อื่นก่อน เนื่องจากตอนนั้นยังมีคิววาดรูปให้ลูกค้าคนอื่นอยู่ เขาก็นัดผมประมาณสี่ทุ่มให้มารับของ

            หลังจากเดินดูของเรียบร้อยเวลาเกือบประมาณสี่ทุ่ม ผมกับภรรยาเดินกลับไปที่ร้านเพื่อรับกระเป๋าระหว่างนั้นเขากำลังนั่งวาดอยู่พอดีผมจึงไปยืนดูข้างๆและสังเกตเห็นว่าเขาทำงานอย่างมีสมาธิมาก มือนิ่งใช้ปากกาเคมีเส้นใหญ่สีสันต่างๆลงเส้นลงลายโดยไม่มีความลังเล ผมนึกอยู่ในใจว่าคนที่เป็นศิลปินนี่เขาจะต้องฝึกฝนทั้งร่างกายและจิตใจมาอย่างดีมากซึ่งตรงข้ามกับภาพลักษณ์ภายนอกของเขาจริงๆ การพูดการจาก็สุภาพเรียบร้อย ระหว่างลงสีเก็บรายละเอียดจนจะเสร็จแล้วเกิดปัญหาหมึกสีที่ลงนั้นซึมไปยังพื้นที่ในส่วนอื่นที่เขาไม่ต้องการให้มันเป็นเช่นนั้น ซึ่งผมก็มองดูแล้วว่ามันสามารถแก้ไขได้นะ แต่เขาหันมาบอกผมว่าเขาต้องการจะวาดให้ผมใหม่เลย ขอให้ผมรออีกครึ่งชั่วโมงได้ไหม ผมก็บอกเขาว่าผมไม่ได้ซีเรียสกับเรื่องนั้นเลยเพราะเท่าที่ผมดูแล้วมันก็ไม่ได้ผิดพลาดจนดูไม่ดีอะไรมากมาย ผมยินดีที่จะจ่ายนะ (ผมคิดว่าสิ่งที่ผมได้รับมันก็คุ้มค่ากับราคาแล้ว) แต่เขาบอกผมว่า “เขารู้สึกไม่ดีกับการได้มาแบบไร้คุณค่า”  ผมฟังแล้งอึ้งไปพักหนึ่งก็ยังไม่ค่อยเขาใจ คิดว่าเขาโกรธผม จนกลับไปถึงบ้านค่อยๆมาทบทวนเหตุการณ์เพื่อบันทึกลงในสมุดความทรงจำของผม ก็คิดได้ว่า คุณค่าที่พี่คนเขียนภาพเขาหมายถึงคือ คุณค่าของตัวเขา ไม่ใช่การตีค่าจากเงิน ๑๕๐ บาท  เป็นไงครับอ่านแล้วรู้สึกอะไรบ้างหรือเปล่า?

           มีคนอีกมากมายครับที่แต่งตัวดีภาพลักษณ์เยี่ยม บุคลิกภาพดูดี และตีค่าของตัวเองที่วัตถุเงินทอง , ยศฐาบรรดาศักดิ์  แต่ทำงานแบบไร้ซึ่งคุณค่า โยนสิ่งที่ไม่ดีให้กับผู้อื่น เอาสิ่งดีเข้าตัวเอง รู้ว่าผิดแต่พยายามทำให้ถูก ไม่คิดที่จะแก้ไขปรับปรุง ที่สำคัญไม่คิดที่จะเริ่มต้นใหม่ในสิ่งที่ตนเองกระทำไปแล้วรู้ว่ามันผิด เพียงเพราะไปยึดคนส่วนใหญ่เป็นสรณะ[4] จนแตกแขนงเป็นรากเหง้าฝังลึกลงไปเป็นนิสัยที่ไม่ได้มาจาก จุดยืนของตนเองแม้แต่น้อย

บทความนี้ยังมีองค์ความรู้แตกแขนงออกไปสู่เรื่องของ “แรงบันดาลใจ” , “แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์” , “แรงขับภายในบุคคล”  ซึ่งก่อให้เกิดพลังชีวิต พลังแห่งจิตวิญญาณในตัวบุคคล (การระเบิดพลัง) ซึ่งจะนำเสนอในโอกาสต่อไปครับผม

 


[1] คำว่า “ไข่ข้าว” หมายถึง ไข่ที่ไม่มีการเจริญโตของตัวอ่อนภายใน (อาจเป็นตัวแล้วหรือยังไม่เป็นตัวก็ได้) อันอาจเกิดจากความผิดปกติต่างๆในช่วงระหว่างการพัฒนาการของตัวอ่อนภายใน (นิยามโดยความเข้าใจของผู้เขียน)“ไข่ข้าว” ก็คืออาหารชนิดหนึ่งที่ทำมาจากไข่ที่มีเชื้อผสมเรียบร้อยแล้วหลังจากนั้นก็เจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนอยู่ภายในเปลือกไข่ในช่วงระยะหนึ่ง แต่ว่าไม่สามารถฟักเป็นตัวได้ เรานำไข่ที่มีลักษณะที่ว่านี้มาต้มกินเป็นอาหารได้  (ข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org)

 [2] ทิศนา   แขมมณีและคณะ . วิทยาการด้านความคิด  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ บจก.เดอะมาสเตอร์กรุ๊ป แมเนจเม้นท์ , พิมพ์ครั้งที่๑. ๒๕๔๔ หน้า ๓๙

[3] ธนากรณ์   ใจสมานมิตร.บทความ: สุนทรียภาพกับการสร้างแรงบันดาลใจในปัจเจกชน เข้าถึงโดย http://www.jobpub.com/editor/thanakorn

[4] ธนากรณ์   ใจสมานมิตร.บทความ: ค่าของคนอยู่ที่สิ่งใด เข้าถึงโดย http://www.jobpub.com/editor/thanakorn

หมายเลขบันทึก: 387798เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2010 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 06:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท