ชีวิตและข้อคิดจากภาพยนต์: Go Toward The Light


Go Toward The Light

Go toward the light เป็นอุปมาอุปมัยหรือ figurative speaking ของฝรั่งเวลาพรรณนาการเดินทางไปสู่วาระสุดท้าย เหมือนเดินอยู่ในอุโมงค์ที่สุดปลายมีแสงสว่างเจิดจ้า ด้วยสัณชาติญาณ เราก็จะเดินไปหาแสงสว่างโดยไม่รู้ตัว แล้วก็...ตาย อาจจะโดยคนที่มีประสบการณ์เฉียดตาย (near-dead experience) ที่เกือบๆจะตายแต่แล้วไม่ตาย ตื่นมาเล่าให้ฟังว่า "ตอนนั้น" เจออะไรบ้าง และ theme นี้ดูจะเป็นอะไรที่ได้ยิน ได้ฟังบ่อยที่สุด

ภาพยนต์เรื่องนี้สร้างมาตั้งแต่ปี 2005 จากหนังสือที่เขียนปี 1988 เป็นยุคที่ AIDS กำลังพุ่งเข้าปะทะการรับรู้ของประชาชนจังๆ (Philadelphia ที่ทอม แฮงค์เล่นนั่นปี 1997) บางอย่างที่แสดงในภาพยนต์จึงอาจจะดูแปลกๆ เพราะหนังสือเขียนมาก่อนหน้านั้นนับ 10+ ปี เช่น ทำไมการให้เลือดไม่ได้ตรวจอะไรก่อนหรอกหรือ ที่สงขลานครินทร์ต้องนับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกๆ ที่เรานำมาใช้สอน palliative care ไล่เรี่ยกับเรื่อง WIT นั่นเลยทีเดียว แต่เรานำมาใช้ค่อนข้างน้อย หนึ่งเพราะไม่มีฉบับ Thai subtitle (ซื้อมาจากอเมซอน) สองเพราะเรื่องนี้คนทำหน้าที่วิจารณ์ไม่ค่อยชอบเพราะมันบีบหัวใจหลายฉาก เศร้ากว่าเรื่อง WIT เยอะ ตอนหลังๆเลยมาเก็บเข้ากรุ ไม่ค่อยนำมาใช้แล้วเราก็มีเรื่องอื่นๆเข้ามาใช้พอสมควร

DVD

หนังสือ

Synopsis:

ครอบครัวเมดิสัน แคล์ (ลินดา แฮมิลตัน สาวเหล็กแห่ว Terminator) และเกร็ก (ริชาร์ด โธมัส จากหลายเรื่อง เช่น IT ของสตีเฟน คิง) กับลูกชายเบน นึกว่าชีวิตของพวกเขากำลัง settle ลงตัวดีแล้วกับโรคประจำตัวของเบน คือ ฮีโมฟีเลีย (โรคเลือดออกแล้วหยุดยาก เพราะขาดสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวแต่กำเนิด พอเลือดออกที จะออกเยอะมากกว่าคนธรรมดาและต้องรักษาโดยการให้พลาสมาพิเศษ หรือเลือด ถ้าจำเป็น) ตั้งแต่เด็กๆที่ค้นพบว่าเบนมีโรคนี้ ชีวิตเบนก็ต้องปรับตัว การกระแทกเล็กๆน้อยๆอาจจะหมายถึงภาวะเร่งด่วนต้องไปโรงพยาบาลเพื่อให้เลือด ให้ยา ในการดำรงชีวิตปกติและกับเหตุการณ์ "ฉุกเฉิน" ที่เกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไรก็ได้แบบนี้ ทำให้แคล์ และเกร็ก กลายเป็นพ่อแม่ผู้เชี่ยวชาญการปฐมพยาบาล การเยียวยา และ รพ.ไม่ใช่สถานที่แปลกหน้า แปลกใหม่ แต่อย่างได้ ทั้งครอบครัวสามารถเดินทางไปตากอากาศ ไปเที่ยว ทำกิจกรรมต่างๆได้เกือบเหมือนปกติ

จนวัน หนึ่งที่เบนมีอาการท้องเสียติดต่อกันหลายต่อหลายวัน เป็นเจ็บไข้ได้ป่วยอีก episode พอรำคาญสำหรับแคล และเกร็ก แต่เมื่อหมอนัดแคล และเกร็กมาพูดเรื่องของเบน สีหน้าของหมอทั้งทีมก็บ่งชี้ถึงอะไรบางอย่างที่มากกว่าที่คิด นั่นคือเบนติดเชื้อ HIV (Human Immunu-deficiency Virus) และเป็น AIDs (Acquired Immunodeficiency Syndrome) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ทำลายภูมิคุ้มกันของคนไข้ลงไปหมด ตัวโรคเองไม่เท่าไหร่ แต่เมื่อภูมิคุ้มกันเสีย คนไข้เองจะสามารถติดเชื้ออะไรต่อมิอะไร ตั้งแต่เชื้อรา ปาราสิต และเนื้องอก มะเร็งบางชนิดที่จะทำให้คนไข้เสียชีวิตในที่สุด ในยุคนั้น (1988) การเป็นเอดส์ขั้นมีอาการเยอะๆ เหมือนการวินิจฉัยพิพากษาเลยทีเดียว ต่างกับยุคนี้ที่มียาอะไรมากมายในการรักษาประคับประคองอาการ

มรสุม ใหม่นี้ฉีกกระชากหัวใจพ่อและแม่อย่างแคล์และเกร๊กเป็นชิ้นๆ คำถาม Why me? Why us? Why my son? ดูเหมือนจะท้าทายศรัทธา ความเชื่อ สิ่งยึดมั่นของคนเราได้อย่างทารุณ

อีกครั้งที่ภาพยนต์ใช้ theme family ดึงเอาครอบครัวมาแจกแจงปฏิสัมพันธ์ และกลไกการ coping (ผจญทุกข์) ของแต่ละคนได้อย่างน่าชม แต่ละคนก็มีวิธีของแต่ละคน เมื่อชีวิตเปราะบางของเด็ก ถูกทำให้เปราะบางลงไปอีก ทำให้เกิดคำถามสำคัญๆขึ้นมาในชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาพยนต์เรื่องนี้ยังแสดงอิทธิพลของ "อาสาสมัคร" มาได้อย่างสวยงามที่สุดเรื่องหนึ่งทีเดียว เท่าที่เคยพบมา ผมได้ประโยคเด็ดๆจากเรื่องนี้มาใช้ในการอบรมอาสาสมัครข้างเตียงเป็นอมตะวาจาเลยก็ว่าได้ นั่นคือ "อาสาสมัครไม่เพียงจะบรรเทาภาระของพ่อแม่และสมาชิกครอบครัว ให้มีช่วงพักจากความทุกข์ประจำวันเท่านั้น แต่จากการที่อาสาสมัครมีแต่กำลังใจ ยังไม่มีความรู้สึกพรากจากโดยตรงกับคนไข้ พลังที่อาสาสมัครนำมานั้นอบอุ่น เปี่ยมความรักและความสุขมามอบแก่ครอบครัวได้อีกด้วย"

ผมดูเรื่องนี้มาเป็นสิบครั้ง ต่างกรรม ต่างวาระ สารภาพอย่างไม่ละอายว่าน้ำตาไหลทุกครั้ง ไม่เคย fail และไม่คิดว่าจะเป็นอย่างอื่นไปได้ ไม่น้อยกว่าสามฉาก อยากให้คนอื่นๆลองดูว่าจะมีกี่ฉาก ฮึ ฮึ ไม่บอกด้วยว่าฉากไหน

การพรากจากไปของเด็กที่อายุน้อยขนาดนั้น เราจะเตรียมตัวอย่างไร เราจะได้เรียนอะไรบ้าง เวลาที่มี เราจะทำให้ "มีค่า" ได้อย่างไร นอกเหนือจากจมอยู่ในความทุกข์ ณ ขณะนั้น เรามีแค่เรา มนุษย์ และเพื่อนๆมนุษย์ เป็นเวลาทีี่เราต้อง share strength พลังที่จะทำให้เราอยู่ต่อไป ไม่นับว่าจากเรื่องนี้ เรากำลังจะ "กลายเป็นคนแบบไหน และมองเห็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์เช่นไร" เป็นโจทย์ที่สวยงาม ทรงพลัง และมีความหมายมากๆ

ที่ชอบมากๆคือการแสดง "ความเข้มแข็ง" ในรูปแบบต่างๆ ของแคล์ ของเกร็ก ของคุณตาคุณยาย ครอบครัว ฯลฯ ทุกคนนำเอา "ต้นทุนชีวิต" ของตนเองมาช่วยเหลือตนเองให้พ้นจากห้วงทุกข์ และยังเผื่อแผ่ให้คนอื่นๆให้ผ่านพ้นมรสุมนีไปให้ตลอดรอดฝั่ง ฉากการอธิบายเรื่องความตาย ฉากที่พ่อเปิดใจกับลูก ฉากที่งานฝีมือของคุณปู่มอบเป็นของขวัญสุดฝีมือช้ินสุดท้าย ถ้าใครดูแล้วไม่รู้สึกอะไร สมควรลาออกจากความเป็นมนุษย์ไปได้ ฮึ ฮึ

หมายเลขบันทึก: 385172เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2010 00:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 05:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

อ่านแล้ว ก็คงต้องหามาดูค่ะ ทั้งปกติแทบไม่ได้ดูภาพยนต์เลย น่าจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมตัวเองและลูกเป็นอย่างมาก เพราะมีอะไรที่เราไม่รู้ แต่ต้องเรียนรู้อีกมากมาย

ขอบคุณคุณหมอมากค่ะ

แป๊ว

สวัสดีครับคุณแป๊ว

นอนดึกเหมือนกันนะครับ

ในกรณีตัวคุณแป๊วเองคงไม่เท่าไหร่ (จากที่เราได้สนทนากันมา) แต่สำหรับคนรอบๆข้าง อาจจะเกิด emotion ได้เยอะพอประมาณนะครับ เพราะบริบทมันเอื้อ อาจจะต้องนึกถึงเรื่องนี้นิดนึง

ผมฟังคุณแป๊วใช้ภาษากับน้องธรรศ ก็นึกถึงเรื่องนี้มากครับ เพราะฉากที่พ่ออธิบายให้ลูกฟังว่า "อะไรกำลังจะเกิดขึ้น" นั้น สวยงาม สะเทือนใจ บริสุทธิ์เรียบง่าย และเป็นสัจจธรรมดีมาก

ติดตามคันฉ่องของอาจารย์มาตลอด

ความพลิกผันของชีวิตบางครั้งยากจะกำหนดได้

เรียนอาจารย์สกล

สนใจภาพยนต์ที่อาจารย์กล่าวถึง ขอทราบข้อมูลว่าซื้อได้ที่ไหน อยากเอามาให้นักศึกษาพยาบาลได้ดูบ้างค่ะ

ขอบคุณล่วงหน้า

วัลลา

อ.วัลลาครับ

ผมสั่งซื้อมาจาก Amazon.com ครับ ไม่แน่ใจว่าร้าน DVD ในไทยจะมีหรือไม่ อีกที่ก็ต้องลองหาแถวคลองถม หรือแม่สาย (ที่มีหนังทุกประเภท) ครับ

ขอบคุณอาจารย์สกลที่ให้ข้อมูลค่ะ

วัลลา

ขอบคุณอาจารย์ ที่ทำให้พวกเราต้องเหลียวหลังมามองความจริงที่บางตรั้งไทฃม่ได้คิดถึง ดิฉันก็เป็ลูกศิษอาจารย์เคยติดตามผลงานอาจารย์หลายเวที และกำลังดำเนินงาน Pallitive in community ค่ะ

เมื่อยามท้อ..ให้ดูคลิปของ นิค วีจูวิค จะเห็นอะไรดี ๆ อีกมากในโลกใบนี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท