ผลการประเมินภายนอกของ สมศ. มักพบมาตรฐานที่โรงเรียนยังมีปัญหาที่ไปไม่ถึงดวงดาว คือมาตรฐานด้านผู้เรียน มาตรฐานที่ 4 (การคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ฯ) มาตรฐานที่ 5 (ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน) และมาตรฐานที่ 6 (การใฝ่รู้ใฝ่เรียน)
พอ สมศ.มีข้อเสนอแนะให้โรงเรียนนำไปปรับปรุงพัฒนาในเรื่องดังกล่าว โรงเรียนก็มีแผนโครงการรองรับทันที (เพื่อให้เกิดผลต่อการประเมินอิงสถานศึกษาในรอบต่อไป) ซึ่งก็มักจะไปเน้นเรื่องการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ฯ และเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกัน และกิจกรรมส่งเสริมก็ยังไม่เห็นกลวิธีที่จะพัฒนาผู้เรียนอย่างเป็นรูปธรรมที่ยั่งยืนนัก แต่ก็ถือว่ายังดีที่มีความตระหนักและมีความพยายามเกิดขึ้นแล้ว
หากวิเคราะห์จาก 3 มาตรฐานนี้เพื่อเล็งผลการพัฒนาที่เป็นระบบและเป็นองค์รวม เราจะเห็นความสัมพันธ์ของปัญหาและสาเหตุของปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งผมคิดว่าสาเหตุของปัญหาที่ทำให้มาตรฐานที่ 4 และ 5 ไม่บรรลุผลน่าจะมาจากมาตรฐานที่ 6 เพราะถ้านักเรียนอ่านหนังสือไม่ออก อ่านหนังสือไม่คล่อง และไม่รักการอ่าน แล้วก็จะขาดข้อมูลความรู้ เมื่อขาดข้อมูลความรู้ก็จะเป็นปัญหาไปสู่การคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ โดยจะขาดความมั่นใจในตนเอง หรือไม่ก็ใช้แต่สามัญสำนึกในการคิดแก้ปัญหา ทำให้ความรู้ไม่พัฒนา และมีผลกระทบไปยังผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วย
ถ้าเรายังจำเรื่องจุดมุ่งหมายในการจัดการศึกษาของ บลูม ในเรื่องพุทธิพิสัย ได้ ซึ่งมีขั้นตอนว่า 1)ความรู้ความจำ 2)ความเข้าใจ 3)การนำไปใช้ 4)การวิเคราะห์ 5)การสังเคราะห์ และ 6)การประเมินค่า คงพออธิบายได้ว่า ความรู้ความจำ ความเข้าใจจะเป็นพื้นฐานไปสู่การคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ดังที่ผมเคยพูดว่า "ถ้าแน่นและแม่นในเนื้อหาลีลาก็มาเอง" ซึ่งหลายคนกลับดูถูกว่าเป็นความคิดของครูโบราณ แต่เมื่อพิสูจน์ระยะยาวออกมาก็ประจักษ์แจ้งความจริงออกมาแล้ว จนปัจจุบันหน่วยงานพัฒนาครู โดยเฉพาะ ก.ค.ศ.จึงหันมาพัฒนาด้านความรู้(Knowledge)ตามสาระที่สอนของครูกันอย่างจริงจังมากขึ้น
จึงเป็นข้อคิดให้โรงเรียนในการพัฒนามาตรฐานด้านผู้เรียน ในกลุ่มนี้น่าจะลองทบทวน และร่วมกันคิดกำหนดวิธีการให้มีความสัมพันธ์และต่อเนื่องกันในกลุ่มมารตฐานทั้ง 3 นี้ด้วย
เรียน อาจารย์ธเนศ ครับ
อ่านบันทึกแล้วมีประโยชน์มากครับ ผมขอแลกเปลี่ยนดังนี้
ผมยอมรับครับว่า "ถ้าแน่นและแม่นในเนื้อหา ลีลาก็มาเอง" มองตาม การจัดการศึกษาของ บลูม แล้ว น่านใจมากครับอาจารย์ ตอนนี้ผมเองต้องทำงาน "สังเคราะห์" สิ่งที่ผมต้องย้อนกลับไปดูตนเองตอนนี้ก็คือ ผมแม่น และ แน่น ในขั้นตอนที่ ๑ - ๔ ขนาดไหน
แน่นอนว่า การสร้างความรู้ การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ จำเป็นสำหรับการพัฒนาคน เพื่อก้าวไปสู่ การสังเคราะห์ และประเมินค่า ในที่สุด
ว่าแต่กระบวนการพัฒนาการเรียนรู้น่าจะเป็นแบบใด ? เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ อาจไม่ใช่คำตอบที่สำเร็จรูปนะครับ อาจจะต้องใช้ "การวิจัย - ศึกษา" เพื่อหาคำตอบที่เหมาะสม