อาจารย์หมอวิจารณ์ พานิช ได้ออกแบบ “การเรียนรู้” เพื่อให้เกิด “การเรียนรู้” ในรายวิชา ยุทธศาสตร์การจัดการทางวัฒนธรรม โดย “การสอนแบบไม่สอน” เป็นทั้งคุณเอื้อและคุณอำนวยให้เกิด “การเรียน” โดย “การเรียนรู้” เรียนรู้ที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้
สะท้อนความรู้สึกของ นศ. ปริญญาเอก ต่อการเรียนแบบ "ไม่สอน"
คุณธำรงค์ บริเวธานันท์ นศ. ปริญญาเอกของ มทษ. ท่านหนึ่ง เขียนรายงานสะท้อนการเรียนรู้จาก "การสอนแบบไม่สอน" ของผมอย่างน่าสนใจ จึงนำมาเสนอต่อ
สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ เมื่อสังคมไทยพูดถึง “การเรียน” โดยทั่วๆไปมักจะมี “จินตนาการ”หรือ “ภาพฝัน” ที่ค่อนข้างเป็นไปในการบังคับให้เรียนหรือเป็นหน้าที่ของบุคคลที่ต้องเรียนโดยครูหรืออาจารย์ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้
ทั้งนี้เพราะเรานำ “การเรียน” ผูกติดกับการศึกษาในระบบจึงเป็นหน้าที่ ของ “โรงเรียน” หรือ “มหาวิทยาลัย” ในการจัด “การเรียน” หรือก่อให้เกิด “การเรียน”
ในขณะเดียวกันที่ผ่านมา “วิธีการเรียน” ที่สังคมไทยใช้อยู่ก็ไม่ค่อยเอื้อให้เกิดการคิด แลกเปลี่ยน สักเท่าไรหรือกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมการศึกษาเป็นไปในลักษณะ “จำได้หมายรู้” และ “นิ่งเสียตำลึงทอง” ซึ่งแม้แต่ครูผู้สอนเองก็ได้รับการ “บ่ม” และ “เพาะ” จากวัฒนธรรมเดียวกันกับผู้เรียน
ถึงแม้จะมีความพยายามในการเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางหรือยึดผู้เรียนเป็นสำคัญก็ตามเพราะนั่นเป็นเพียงรูปแบบของ “การเรียน” แต่ยังไม่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ที่ฝังรากลึกในวิถีชีวิต
อาจารย์หมอวิจารณ์ พานิช ได้ออกแบบ “การเรียนรู้” เพื่อให้เกิด “การเรียนรู้” ในรายวิชา ยุทธศาสตร์การจัดการทางวัฒนธรรม โดย “การสอนแบบไม่สอน” เป็นทั้งคุณเอื้อและคุณอำนวยให้เกิด “การเรียน” โดย “การเรียนรู้” เรียนรู้ที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ซึ่งการที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้อย่างอิ่มเอมและเปิดพรมแดน การเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องเรียนรู้ที่จะศึกษาด้วยตนเอง,คิด,ใคร่ครวญ ในประเด็นศึกษา เพื่อเป็นต้นทุนในการแลกเปลี่ยน
ในขณะเดียวกันการแลกเปลี่ยนเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะตรวจสอบความคิด ความเข้าใจต่อประเด็นที่ศึกษา เรียนรู้ที่เคารพทุกความคิดเห็น “ไม่มีถูก ไม่มีผิด” เป็นประโยคที่เราได้ยินบ่อยเมื่อมี การแลกเปลี่ยนรับฟังกันและกัน โดย “คุณเอื้อ” แสดงบทบาทเอื้อกระบวนการรับฟังและสกัดประเด็นร่วม เรียนรู้ที่จะคิดนอกกรอบ
ถึงแม้ว่าจะศึกษาประเด็นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แต่ถึงที่สุดก็ติดกับดักของกรอบความรู้เดิมหรือยึดติดวิธีคิดใดวิธีคิดหนึ่งเป็นสรณะ
กล่าวได้ว่ายังยึดติดวัฒนธรรมการคิดแบบเดิมๆที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือหาทางออกไม่ได้ในปัจจุบัน ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีการมองหรือวิธีการอธิบายปัญหา เรียนรู้ที่จะคิดและอธิบายแบบองค์รวม ปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมมีความซับซ้อน เกินกว่าจะใช้วิธีคิดหรือทฤษฎีใดอธิบายได้อย่างชัดเจนและปรากฏการณ์ไม่มีลักษณะเป็นเส้นตรง หากมองอย่างแยกส่วนทำให้ได้ภาพที่พร่าเลือน
ดังกล่าวเป็นประเด็นข้าพเจ้าได้จากการเรียนรู้จากการสอนแบบไม่สอนของ อาจารย์หมอวิจารณ์ พานิช จึงนำมาเพื่อที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
ขอบคุณครับ
ธำรงค์ บริเวธานันท์