ประสบการณ์ของข้าพเจ้าเกี่ยวกับท่าน ดร.อัมเบดการ์


บันทึกแห่งจุดเปลี่ยนของชีวิต

 

 

 

ดร.เอ็มเบดการ์

(บันทึกนี้เขียนเมื่อ  27 ม.ค.2547 เวลา  22.00 น.)

 

        ก่อนเดินทางไปทัศนศึกษาที่รัฐมหาราษฎร์ใน 3 เมือง คือ  นาคปูร์  ออรังคบาดและปูเณ่  สภาพจิตใจของข้าพเจ้าย่ำแย่มากที่สุดเท่าที่เคยประสบมา  เหมือนจะเป็นโรคประสาท  สิ่งที่ข้าพเจ้ากลัวมากคือการนอน  เพราะเมื่อหลับตาลงจิตเข้าสู่ภวังค์  ข้าพเจ้ารู้สึกว่าตัวเองกำลังตกนรก  มันเป็นฝันร้าย ที่แย่มากคือเมื่อตื่นขึ้นมาข้าพเจ้าก็จะตีความฝันนั้นไปในทางที่น่ากลัว  สภาพอื่น ๆ  ก็ย่ำแย่  ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือเกี่ยวกับชมรมนักศึกษาไทย  จนข้าพเจ้าคิดว่าคงจะไปไม่รอดแน่ อาจจะต้องกลับเมืองไทยก่อนปีใหม่นี้  มิฉะนั้นอาจจะต้องเป็นบ้า  ข้าพเจ้าตัดสินใจว่าจะกลับเมืองไทยหลายครั้ง  เพียงแต่ไม่กล้าพูดให้ใครฟัง นอกจากเคยพูดให้มหามานะว่า “ผมกลัวว่าผมจะเรียนไม่จบปริญญาโท”  ข้าพเจ้าพูดแค่นี้  สิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าเป็นทุกข์มากก็คือ การจินตนาการถึงสภาพชีวิตที่เลวร้ายสุด ๆ หลังเดินทางกลับเมืองไทย  ข้าพเจ้าเกิดความกลัวสภาพชีวิตอย่างนั้นที่สุดอย่างที่ไม่เคยกลัวมาก่อน  จนบางครั้งข้าพเจ้าจะรำพึงกับตัวเองว่า “เราไม่เคยกลัวอย่างนี้มาก่อน, เราจะรอดไหมหนอ, ทำไมเราต้องเจอกับสภาพอย่างนี้” ที่เลวร้ายมากก็คือ ในช่วงนี้นอกจากเข้าฟังการบรรยายในชั้นเรียนข้าพเจ้าก็ไม่ได้ติดต่อพูดคุยกับใครเป็นเดือน  กลับมาจากห้องเรียนข้าพเจ้าจะขังตัวเองอยู่ในห้องคนเดียว  ไม่มีอะไรอื่นนอกจากฟุ้งซ่าน  เป็นทุกข์ หวาดกลัวกับความคิดและจินตนาการที่ตนสร้างขึ้น  และตอนนั้น (13 ธ.ค.) ซัดดัม ฮุสเซน  ถูกจับและอยู่ในสภาพที่น่าเวทนามาก  ข้าพเจ้าก็เกิดความกลัวขึ้นมาอีกว่าข้าพเจ้าจะไปอยู่ในสภาพอย่างนั้น  ต้องรับกรรมที่เหมือนกับตกนรกอย่างนั้น

            จนก่อนเดินทางประมาณวันที่ 15 หรือ 16  ข้าพเจ้าเหมือนจะฝันตอนประมาณตีสี่ว่า จะได้รับการช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา  และผู้ใหญ่ท่านนี้เกี่ยวข้องกับเลข 6 ตอนแรกข้าพเจ้าก็เข้าใจว่า น่าจะเป็นลุงหกที่ท่านเสียชีวิตไปแล้วจะมาช่วยเรา  นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังฝันว่าได้เข้าไปชมสถานที่เกี่ยวกับท่าน ดร.เอ็มเบ็ดการ์  จากความฝันนี้ข้าพเจ้าเลยบอกกับตัวเองว่า  อย่าเพิ่งตัดสินใจเลิกอนาคตทางการศึกษา  ขอให้เดินทางกลับไปทัศนศึกษาก่อนเผื่อมีอะไรดีขึ้น  เมื่อกลับมาแล้วไม่มีอะไรดีขึ้นค่อยตัดสินใจกลับเมืองไทย  จากนั้นข้าพเจ้าก็ไมได้คิดอะไร

             เมื่อเดินทาง(19 ธ.ค. 2546)ไปถึงเมืองนาคปูร์  ปรากฏว่าข้าพเจ้าได้เข้าไปชมสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับท่าน ดร.เอ็มเบ็ดการ์  คือ  ทิกษาภูมิ เป็นสถานที่เก็บอัฏฐิของท่าน  โดยสร้างเป็นสถูปครอบไว้  รูปทรงเหมือนสถูปสาญจี  ตอนนั้นข้าพเจ้าก็ไม่คิดอะไรมาก  คณะนักศึกษาไทยเมืองนาคปูร์พาพวกเรากลับจากทิกษาภูมิไปทานอาหารที่บ้านเช่าของคุณสิทธิพร  พระมหาทองพูน นักศึกษาปริญญาโท ได้ถามขึ้นว่า “ใครจะไปนอนที่ที่พักของผม”  ไม่รู้ว่ามีอะไรดลใจข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าตอบว่า “ผมจะไปนอนด้วย”  ก่อนหน้านี้ตอนกลางวัน  อาจารย์ทองพูนก็ชวนพวกเราชาวมัทราสว่าใครอยากไปเล่นที่พักของแก  ก็ไม่มีใครอยากไปเพราะเพลีย  แต่ข้าพเจ้ากลับตัดสินใจไปกับแก  ทั้งที่ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าแกพักอยู่ที่ไหน  แต่พอแกพาไปถึงข้าพเจ้าจึงรู้ว่าเป็นทิกษาภูมิ  สถูปของท่าน ดร.เอ็มเบดการ์  ตอนเย็นเมื่อแกชวนพวกเราไปนอนด้วยก็ไม่มีใครอยากไป  มีแต่ข้าพเจ้าที่รับคำชวน  ตอนนั้นความคิดที่แว๊บเข้ามาในใจ คือ “เราน่าจะไปนอนใกล้ ๆ  กับท่าน ดร.เอ็มเบดการ์  เพราะนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดซึ่งจะหาไม่ได้ง่าย ๆ”  ข้าพเจ้าจึงเดินทางมานอนพักคืนนั้น (21 ธ.ค.)   ที่สำนักงานสมาคมชาวพุทธเมืองนาคปูร์  ตั้งอยู่ภายในบริเวณสถูปทิกษาภูมินั่นเอง

            ก่อนจะนอนข้าพเจ้าเจอหนังสือจุลสารของนักศึกษาไทยแห่งมหาวิทยาลัยมคธ  ภายในเล่มมีบทความเกี่ยวกับท่านดร.เอ็มเบดการ์  เมื่อข้าพเจ้าอ่านดู  สิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจมาก  คือ  วันที่ท่านเสียชีวิต  คือ วันที่ 6  ซึ่งมันไปเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ที่ข้าพเจ้าฝันก่อนที่จะเดินทางมานาคปูร์  คือ จะมีผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา ซึ่งเกี่ยวข้องกับเลข 6  ช่วยเหลือข้าพเจ้าให้รอดพ้นจากภัยพิบัติของชีวิต  ข้าพเจ้าจึงคิดว่าผู้ใหญ่หรือเทพเจ้าที่ว่านี้ก็คือท่าน  ดร.เอ็มเบดการ์  ผู้เป็นพระมหาโพธิสัตว์ของชาวพุทธในอินเดีย  ข้าพเจ้าจึงกราบท่านและอธิษฐานขอให้ท่านช่วยเหลือให้พ้นจากเคราะห์ร้ายที่กำลังเผชิญ  เมื่อข้าพเจ้านอนหลับก็ฝันว่าได้เห็นเพื่อนที่เรียนมาด้วยกันมารับใช้  เห็นตัวเองเดินนำหน้าฝูงชนก่อนที่จะแยกเดินไปอีกทาง  และปรากฏชื่อบุคคลหนึ่งขึ้นในใจของข้าพเจ้าตอนนั้น คือ  อาจารย์ ดร.วีรชาติ  นิ่มอนงค์  และข้าพเจ้าก็ตื่นขึ้นพอดีประมาณตีห้า  จึงออกมาข้างนอกเดินเวียนประทักษิณรอบสถูป 6 รอบ  ในระหว่างที่เดินก็ท่องพุทธคุณ  ธรรมคุณ  และสังฆคุณ  ครบ 6 รอบ เจ้าหน้าที่ก็เปิดสถูปพอดี  ข้าพเจ้าจึงเข้าไปข้างในสวดมนต์เล็กน้อยแล้วก็เดินประทักษิณรอบอัฏฐิของท่าน ดร.เอ็มเบ็ดการ์  จากนั้นก็อธิษฐานว่า ขอให้ข้าพเจ้าได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก  และหากข้าพเจ้าได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่อินเดีย  ข้าพเจ้าจะเดินทางมาร่วมงานที่ชาวพุทธจัดขึ้นเพื่อระลึกถึงท่าน ดร.เอ็มเบดการ์ที่ทิกษาภูมิเมื่อเรียนจบปริญญาเอก

หมายเลขบันทึก: 378018เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2010 09:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2019 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชาวพุทธ ควรศึกษาและให้ความเคารพต่อท่าน อัมเบดการ์

ชีวิตและผลงานของท่าน ดร.อัมเบดการ์ เป็นแรงบันดาลใจที่ดีเยี่ยมสำหรับผู้อุทิศตนทำงานเพื่อพุทธศาสนา โดยเราไม่ต้องไปสนใจหรอกครับว่าท่านเป็นคนอินเดีย ขอให้เราสนใจเพียงว่า ท่านเป็นผู้นำชาวพุทธ ที่ทำงานเพื่อพุทธศาสนาอย่างจริงจัง และคำว่าชาวพุทธก็ไม่มีเชื้อชาติ ชาวพุทธยุคใหม่เป็นหนี้บุญคุณของท่านดร. อัมเบดการ์มาก เพราะฉนั้นผมจึงเห็นด้วยกับคุณ wpw_blog

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท