หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก
11/07/2549
ลุ้นครูดนตรีไร้สัญชาติแข่งโอลิมปิคจีน
อาจารย์ ม.พายัพ วอนขอสัญชาติไทยหลังได้รับคัดเลือกไปแข่งดนตรีโอลิมปิกที่จีน หวั่น 30 นักศึกษาอดโชว์ฝีมือระดับชาติ นักกฎหมายชี้ทำคุณประโยชน์ให้ชาตินาน 30 ปี สามารถขอสัญชาติไทยได้ ขู่หากอาจารย์-นศ. อดเดินทาง มหาดไทย ต้องรับผิดชอบ
หลังจาก "คม ชัด ลึก" นำเสนอเรื่องราวนางอายุ นามเทพ อาจารย์สอนดนตรีไทยประยุกต์ชื่อดัง มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ ซึ่งลี้ภัยการเมืองพม่ามาอยู่เมืองไทยนานถึง 50 ปี
แต่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยนั้น ล่าสุดคณะนักร้องประสานเสียงของอาจาย์อายุได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนแข่งขันดนตรีโอลิมปิกที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่มีปัญหาเรื่องวีซ่าและการขอสัญชาติ อาจทำให้หมดโอกาสได้เป็นตัวแทนประเทศไปแสดงความสามารถระดับโลก
นางอายุ นามเทพ อาจารย์ภาควิชาดุริยศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ตนพร้อมครอบครัวมาอาศัยอยู่ประเทศไทยตั้งแต่ 1 ขวบ ปัจจุบันสอนดนตรีมานานกว่า 30 ปีแล้ว ที่ผ่านมาได้รับการติดต่อให้ไปแสดงดนตรีไทยประยุกต์ที่ต่างประเทศหลายสิบครั้ง แต่ต้องปฎิเสธมาตลอด เพราะยังไม่ได้สัญชาติไทย
อาจารย์อายุเปิดเผยว่า หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรีสาขาดนตรี ก็ได้อาจารย์บรูซ แกสตัน ผู้ดูแลวงฟองน้ำรับเป็นลูกศิษย์ถ่ายทอดความรู้ด้านดนตรีให้อย่างต่อเนื่อง จนมีประสบการณ์พร้อมออกทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศหลายครั้ง ในฐานะผู้ควบคุมวงดนตรีประสานเสียงขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์สอนดนตรีของนักร้องวัยรุ่นชื่อดังอย่าง วง "อคาเปลล่า 7" และ "อีทีซี"
ล่าสุดวงดนตรีประสานเสียงของอาจารย์อายุชนะการคัดเลือก
จากสมาคมนักร้องประสานเสียงแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นตัวแทนไปแข่งขันดนตรีโอลิมปิค (Choir Olympic ) กับวงประสานเสียงจากประเทศต่าง ๆ กว่า 200 คณะทั่วโลก ที่เมืองซีเหมิน ประเทศจีน โดยกำหนดเดินทางวันที่ 22 -26 ก.ค.ที่จะถึงนี้ แต่ยังมีปัญหาเรื่องการขอสัญชาติไทยและการทำวีซ่าออกนอกประเทศ
ทั้งนี้ อาจารย์อายุในฐานะหัวหน้าคณะนักร้องประสานเสียง ของมหาวิทยาลัยพายัพ (Payap Sacred Music Singers) มีนักดนตรีทั้งหมด 30 ชีวิตนั้น หากไม่ได้สัญชาติไทยและวีซ่าออกนอกประเทศ ก็ต้องยกเลิกการเดินทางของคณะนักร้องฯทั้งหมด เนื่องจากอาารย์อายุเป็นผู้ควบคุมวงดนตรีดังกล่าว
"หลังได้รับเลือกเป็นตัวแทนไปแข่งดนตรีโอลิมปิค ลูกศิษย์ก็มาแสดงความยินดี และฝันอยากมีประสบการณ์ระดับโลกบ้าง แต่พวกเขาไม่รู้ว่าเรายังไม่ได้สัญชาติไทย รู้สึกเศร้าใจเพราะเราไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นภาระสังคม เพียงแต่อยากใช้พรสวรรค์ที่มีทำประโยชน์สูงสุดแก่แผ่นดินที่มีพระคุณแห่งนี้ ความสำเร็จในชีวิตไม่ใช่เงินตราหรือเกียรติยศ แต่อยู่ที่การสร้างคนดนตรี อุดมการณ์และเป้าหมายนี้มันเลวร้ายหรือ
มันสูงเกินอาจเอื้อมสำหรับคนไร้รัฐอย่างเรา ต้องทำอย่างไรจึงจะมีค่าพอให้ได้เป็นคนไทย โปรดรับดิฉันเป็นบุตรบุญธรรมของประเทศไทยสักคนได้ไหม " อ.อายุกล่าว
ด้าน รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร หัวหน้าโครงการวิจัยเด็กไร้รัฐ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อาจารย์อายุมีสิทธิแปลงสัญชาติไทยได้ ตามกฎหมายสัญชาติ พ.ศ.2518 มาตรา 11(1) เนื่องจากทำคุณประโยชน์ให้ประเทศไทย แต่หลังจากยื่นผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบหลายครั้งทั้ง สถานีตำรวจภูธร สำนักงานสันติบาล รวมถึงกระทรวงมหาดไทย ก็ยังไม่มีความคืบหน้า
"ถ้าอาจารย์ถูกตัดโอกาส ไม่ได้นำคณะประสานเสียงไปแข่งดนตรีโอลิมปิคจริง ต้องมีหน่วยงานที่แสดงความรับผิดชอบ เพราะผู้เสียหายคือเยาวชนไทยที่มีพรสวรรค์เกือบ 30 ชีวิต การมีโอกาสไปโชว์ฝีมือระดับโลกแบบนี้ อาจทำให้พวกเขาได้รับสนับสนุนจากองค์กรดนตรีนานาชาติ เพื่อเป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียงในอนาคต เรื่องนี้กระทรวงมหาดไทยต้องรับผิดชอบ เป็นเรื่องน่าอายของไทยในสังคมโลกมาก" รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์กล่าว