เรื่องนี้ก็ต่อเนื่องจาก เรื่อง 5ส ที่ สอ. 3 ค่ะ เรื่องของพี่ติ๊ก ที่เล่าไว้ก่อนหน้านี้ ... เรื่องเล่าของคุณศรีวิภา ที่เล่าในงานเดียวกันค่ะ
คุณหมอเตย ฝากมาเป็นเรื่องที่ 2 ค่ะ ... และก็เป็นเรื่องเล่าของ ผอ.ชัยพร พรหมสิงห์ อีกเช่นกันค่ะ ท่านเล่าไว้เมื่อคราวปิดประชุม การจัดการความรู้ ... 24 มีค.49
"ผมรู้สึกดีกับการประชุมครั้งนี้เป็นอย่างมาก ก็ไม่รู้จะพูดอะไร แต่อยากจะเล่าเรื่องให้ฟังมากกว่า เป็นเรื่องที่ผมเคยไปเล่าตอนงาน clean food good taste กับทางจังหวัดระยอง รู้สึกว่ามันก็ให้เราได้คิดอะไรได้เยอะดี มันมีอยู่ว่า ผมไปเดินเล่นที่ริมหาดเกาะเสม็ด แล้วก็เจอปลาดาวเต็มไปหมด ตัวมันสั่นระริก เพราะโดนพัดมาเกยฝั่ง จะตายมิตายแหล่ ตัวผมก็ไปใช้ 2 มือควักมันโยนไปในทะเล ทำแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ลูกสาวผมเห็นก็มาช่วย สนุกกันใหญ่ คนก็มองผมใหญ่ว่าจะทำไปทำไม เพราะปลาดาวเกยฝั่งตลอดแนวชายหาด แต่ที่ผมทำแบบนี้เพราะผมเคยได้อ่านเรื่องของประธานาธิบดีจอร์ชบุชและหลานเรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งประธานธิบดีแกก็ไปเที่ยวกับหลานที่ชายหาด ตัวหลานเห็นปลาดาวเกยตื้นเลยรีบไปช่วยโยนมันลงน้ำ ทางประธานาธิบดีก็อาจจะด้วยรู้สึกรำคาญและก็เสียเวลาที่ต้องมารอหลาน เลยพูดว่า “ นี่หลานเอ๊ย หลานทำแบบนี้ก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นมาหรอก เพราะปลาดาวมีเป็นพันๆตัวและระยะทางเป็นร้อยๆไมล์” แต่หลานของท่านก็ยังคงทำเช่นเดิมคือควักปลาดาวลงน้ำ และพูดว่า “แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับปลาดาวที่อยู่ในมือของผมนะครับปู่” เป็นเรื่องที่กินใจผมมาก … มันสอนเราว่า จงทำในสิ่งเล็กๆ ไม่จำเป็นต้องทำอะไรมหาศาลมากมาย นอกจากนี้ผมอยากฝากว่า เวลาเราจะพูดหรือคิดอะไร ไม่ต้องสลับซับซ้อนแต่ขอให้มีหลักว่าเราควรมองเป็นมิติๆ นั่นคือ
- มิติที่ 1 มองเป็นเส้นเดียว
- มิติที่ 2 มองเป็นสี่เหลี่ยมที่มีกว้างยาว
- มิติที่ 3 มองเหมือนดูกล่อง คือ มีกว้าง ยาว และสูง
- มิติที่ 4 มองให้เหมือนว่ากล่องถูกขว้างขึ้น หรือเหวี่ยงลง จะเห็นว่ากล่องนั้น มีการเคลื่อนไหวด้วย
- และสุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือมิติที่ 5 เรื่องของอารมณ์และจิตใจ …
ก็อยากให้ทุกๆ คนมองให้ครบ คือ มองหลายๆ ด้าน เหมือนเรื่องเล่าของศาสนาพุทธนิกายเซน ที่มีวัตถุประสงค์ที่ให้มีการฝึกจิต ให้พยายามหาทางออก แม้ไม่มีทางก็พยายามหาให้ได้ โดยให้โจทย์ปัญหา มาเรียกว่า ปริศนาธรรม มีการนำทางเล็กๆ น้อยๆ ให้สามารถคิดให้ได้ และเห็นแจ้งด้วยตนเอง ขอผมยกตัวอย่าง 1 เรื่อง คือ มีอาจารย์เซนซึ่งดังมากอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง มีชื่อมากจริงๆ เวลาใครมีปัญหาก็จะไปหาท่าน ท่านก็แก้ปัญหาได้ทุกครั้ง บังเอิญว่ามีพระ 2 คนเกิดผิดใจกัน ทะเลาะกันตลอดเพราะต่างคิดว่าความคิดของตนถูก ... อีกฝ่ายผิด ทำให้ไม่สามารถจะหาข้อสรุปกันเองได้ จึงไปหาอาจารย์ให้อาจารย์ช่วยตัดสินว่าความคิดใครถูกใครผิด ใครเป็นคนที่ดีที่สุดและถูกที่สุด โดยศิษย์คนแรกเริ่มเล่าเรื่องก่อน พอเล่าจบหลวงพ่อก็ว่า “อืม ... ก็ถูกนะ” พอศิษย์คนที่ 2 เล่าบ้าง พอเล่าจบหลวงพ่อก็บอกว่า “อืม ... ก็ถูกนะ” พระ 2 รูปนี้ก็เลยงงว่าตกลงหลวงพ่อเอาไงกันแน่ พอดีมีพระคนที่ 3 นั่งฟังอยู่ด้วย และร่วมงงด้วย เลยถามหลวงพ่อไปว่ามันน่าจะมีคนที่ถูกมากกว่า น่าจะตัดสินให้เด็ดขาดไปเลย หลวงพ่อแกก็ว่า ... “อืม ... ก็ถูกนะ ... ???”
ผมก็ขอฝากให้ไปคิดนะครับ แบบเซนนะครับ และท้ายที่สุด ก็ขอเป็นกำลังใจให้ ตัวผมเองต้องการทำทุกอย่างเพื่อทุกคน ประชุมครั้งนี้หลายๆ คนคงเหนื่อยล้า เพราะต้องอยู่ประชุม 2 วันเต็ม หลายคนที่ไม่อยู่ก็เข้าใจว่าภาระงานค่อนข้างมาก อย่างไรก็ขอให้ได้ไปสื่อสารกันในองค์กรด้วย
สิ่งที่สำคัญคือ ต้องขอขอบคุณคณาจารย์ คือ คุณหมอนันทา ซึ่งผมรู้สึกศรัทธาและเคารพนับถือท่านมาก ท่านเป็นทั้งผู้ใหญ่ และผู้ที่มีเกียรติของกรมอนามัย ผมมองว่า ท่านเป็นบุคคลที่อยู่สูงสุดของกรมอนามัยท่านหนึ่ง ที่ท่านมาก็ถือว่าเป็นความเมตตา รวมทั้งคุณศรีวิภา และคุณสร้อยทองด้วย เป็นความเมตตาของพวกท่าน และประทับใจผมมากๆ คือ ระดับเจ้าแม่มาเองก็รู้สึกประทับใจ ว่าเราเป็นศิษย์ที่มีครู ที่ผ่านมาคุณหมอประสิทธิ์ก็พูดถึงเรื่อง KM ให้ผมฟังโดยตลอด ก็เป็นครูของผมเช่นกัน แต่ที่อาจารย์นันทามา ผมก็รู้สึกภูมิใจ ไปอวดใครก็ได้ว่าอาจารย์ก็เป็นครูให้ผมด้วย ผมคิดว่าอาจารย์ไม่ใช่แค่มาสอน แต่ก็คงจะมีความคาดหวังในตัวของพวกเราด้วย ที่เราก็มีทั้งจุดดี และจุดด้อย ก็จะพยายามพัฒนา โดยเฉพาะทีมงานที่ช่วยๆ กัน คงไม่ทำให้อาจารย์ต้องผิดหวัง ก็ขอให้กำลังใจพวกเราและขอบคุณท่านวิทยากรด้วยครับ"
ศูนย์อนามัยที่ 3 ไม่ได้เป็นต้นแบบการจัดการความรู้ของกรมอนามัยในปี 2549 นะคะ แต่ว่า กระบวนการจัดการความรู้ของศูนย์ฯ ใช้ได้ทีเดียวละค่ะ