รักษ์น้ำ รักคลอง


เชื่อมโยงให้พบกับกลุ่มคนที่อยากจะช่วยทำความดี
 
 
  
 
การเดินทางเข้าไปพบปะพูดคุยกับคนในชุมชนต่างๆ ทำให้ผมรู้ว่าในแต่ละพื้นที่มีคนคิดดีและอยากทำสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นกับสังคมอีกมาก “สิ่งหนึ่งที่ผมทำได้คือนำเรื่องราวของคน หรือชุมชนที่มีความคิดจะทำดี มาเชื่อมโยงให้พบกับกลุ่มคนที่อยากจะช่วยทำความดี เพื่อให้ “ มีเรื่องราวของคนดีๆเกิดขึ้นในสังคม มากยิ่งขึ้น ”  

เรื่องที่ผมจะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องของชุมชนเล็กๆ กลางสวนแห่ง ตำบลท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ลำคลองที่เชื่อมต่อกันจากคลองแม่กลอง-คลองท่าคา-คลองท่าศาลา-คลองบางน้อย-ถึงคลองดำเนินสะดวก จุดกึ่งกลางของชุมชนกลางสวนอยู่ที่คลองท่าศาลา และที่นี่เป็นที่ตั้งของ “ตลาดน้ำท่าคา”  ชุมชนแห่งนี้มีเอกลักษณ์ของวิถีชุมชนดั่งเดิม ทุกๆเช้าของวันข้างขึ้นและแรม 2,7,12 ค่ำ ชาวบ้าน ชาวสวน จะพายเรือนำผัก ผลไม้ และของกินของใช้ต่างๆ มาซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนกัน เป็นความงดงามของวัฒนธรรมทางสังคม แต่ในปัจจุบันมีการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน จึงเปิดทำการค้าขายเพิ่มเติมทุก วันเสาร์และอาทิตย์  ตั้งแต่เช้า-บ่าย ทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มรู้จักและเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่มากขึ้น จนทำให้วิถีชีวิตของชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ผมได้นั่งพูดคุยกับชาวบ้านหลายๆคน ได้ความว่า “แต่ก่อนน้ำในคลองใสสะอาดมาก เมื่อมีคนมาเที่ยวมากขึ้นน้ำในคลองก็เริ่มมีขยะมากขึ้น และ แต่ก่อนเกือบทุกบ้านจะทำอาชีพทำน้ำตาลมะพร้าว แต่ในปัจจุบันเริ่มทำกันลดน้อยลง” คงเป็นสัญญาณเตือนภัยบางอย่างเหมือนหลายๆที่ “เมื่อความเจริญเริ่มเข้ามา วิถีชีวิตของชุมชนก็จะเปลี่ยนไปด้วย”
 ขยะคงไม่ได้หมายถึง ใบตองทำกระทง ห่อขนมขายของเหมือนเดิมที่ย่อยสลายได้ แต่กลับกลายเป็นถุงพลาสติก กล่องโฟม ทีเข้ามาแทนที่ เพื่อความสะดวกในการซื้อหาและตอบสนองความต้องการในการค้าขายที่เพิ่มมากขึ้น หรือแม้แต่อาชีพวิถีถิ่นเดิมคงไม่ใช่การสืบทอดอาชีพรุ่นสู่รุ่นจาก ปู่ ย่า ตา ยาย ถึงคนรุ่น พ่อ รุ่น แม่ แต่รอยต่อของวัยรุ่น ลูก หลาน กำลังจะหายไปกับการพัฒนาแบบหลงลืมรากเหง้าของภูมิปัญญา ซึ่งคนรุ่นใหม่จะหันไปพึ่งพาเทคโนโลยี ที่ให้ความสะดวกสบายมากขึ้น สุดท้ายก็คือสิ่งที่น่ากลัวคือ ไม่มีใครอยู่ถิ่นฐานบ้านเกิด กลับไปตั้งหลักปักฐานในเมืองกันหมด
วันหนึ่งผมได้รับข่าวจากเพื่อน พี่ น้อง “มูลนิธิกองทุนไทย” ว่า “อยากจะทำกิจกรรมจิตอาสา” รักษ์น้ำ รักคลอง” เป็นเรื่องในความตั้งใจของผมพอดี ที่อยากจะเชื่อมโยงองค์กร หรือกลุ่มคนที่มีเจตนาดีๆ มาช่วยกันรณรงค์และส่งเสริมให้ทุกคนเห็นความสำคัญของปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นของชุมชน “ท่าคา” หลังจากได้ทำความเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันแล้ว จึงเกิดกิจกรรมดีๆนี้ขึ้น ภายใต้ชื่อกิจกรรม น่ารักๆว่า อาสาเติมรัก “รักษ์น้ำ รักคลอง” โดยงานนี้เราจะร่วมกันทำความดี และประชาสัมพันธ์กิจกรรมดีๆ โดยเชิญชวนให้อาสาสมัคร มาทำงานด้วยจิตอาสา  และให้สื่อมวลชนมาช่วยนำเสนอ เพื่อส่งต่อเรื่องราวดีๆ ต่อสาธารณะชน ให้ทราบถึงเรื่องราวของกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น
วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม 2553 เรานัดเจอกันที่ศาลาริมคลอง“แม่กลองแคมป์” วันนี้มีกลุ่มอาสา กว่า 30 คน มาร่วมทำกิจกรรม ผมเริ่มต้นด้วยการแนะนำอาสารวมทั้งสื่อมวลชนที่มาด้วย ให้รู้จักสภาพพื้นที่และวิถีถิ่นดั่งเดิมก่อนเข้าไปทำกิจกรรมที่ตลาดน้ำท่าคา  จากนั้นจึงพากันออกเดินทางด้วยรถยนต์ ไปอีก 5 กม.
เมื่อมาถึง นายกอบต.ท่าคา ได้กล่าวต้อนรับก่อนที่จะนำอาสาลงเรือพายของชาวบ้าน เพื่อไปเรียนรู้วิถีชีวิตคนริมคลองและอาชีพประจำถิ่น ในเส้นทางที่ผมตั้งชื่อว่า “กลิ่นไอน้ำตาลมะพร้าว” เส้นทางนี้ มีบ้านเรือนทรงไทยริมคลอง มีชาวบ้านอยู่กันเป็นครอบครัวห่างกันเป็นระยะ อาศัยพึ่งพาและผูกพันกับสายน้ำ มีป่าจาก สวนมะพร้าว เตาตาลที่ใช้ในการประกอบอาชีพ ทำน้ำตาลมะพร้าว “น้ำตาลปึก น้ำตาลปีบ” เรือพายพาอาสามาจอดแวะชมเตาตาล ที่บ้านพ่อสร้อย แม่ทอง ซึ่งเป็นเตาตาลโบราณ ในบ้านทรงไทย ริมคลองขุดเจ๊ก บ้านหลังนี้เป็นครอบครัวใหญ่ที่มีความสุขด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ซึ่งที่นี่อาสาได้ทราบถึงเรื่องราวความเป็นมาของ “น้ำตาลมะพร้าว” กิจกรรมในครึ่งวันเช้านี้จบลงที่เรือพายนำอาสาไปแวะพักที่ร้านค้าโชว์ห่วยริมคลอง ก่อนพายเรือกลับเพื่อไปพักผ่อนเดินเที่ยวชมตลาดริมคลอง เลือกซื้อของกินของฝากจากสวนที่ตลาดน้ำท่าคา แล้วนัดหมายให้มาพร้อมกันบริเวณศาลาทรงไทย เพื่อทำกิจกรรม “รณรงค์รักษ์น้ำ รักคลอง” ในช่วงบ่ายกันต่อ
เมื่อถึงเวลาอาสา เริ่มรวมกลุ่มกันทำดี โดยวาดภาพ และเขียนข้อความรณรงค์รักษ์น้ำ รักคลอง ลงบนผืนผ้า จากนั้นแบ่งกลุ่มออกเป็น 3 เส้นทาง เพื่อพายเรือเก็บขยะในคลอง สุดท้ายก่อนเสร็จสิ้นกิจกรรมในวันนี้คือ ทุกคนนำแผ่นผ้าที่วาด และข้อความรณรงค์รักษ์น้ำ รักคลอง ที่เขียนจากความตั้งใจ ไปติดรณรงค์ให้ชาวบ้านในชุมชนท่าคาและชุมชนใกล้เคียง รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่ เพียงมุ่งหวังเพื่อสร้างกระแสการทำดี ให้คนได้คิดดี และทำดีเพิ่มมากขึ้น  ให้ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่มีการช่วยกันดูแลและจัดการชุมชนให้อยู่แบบสมดุลไม่หลงและลืมความเป็นวิถีชุมชนดั่งเดิมและรวมกลุ่มถ่ายภาพ “ชาวอาสา” ไว้เป็นที่ระลึกก่อนเดินทางกลับ
หลายคนมาถามผมว่า “ทำไมต้องมาทำเรื่องนี้” ผมก็ตอบเค้าไปว่า ผมทำแล้วมีความสุขครับ...
หมายเลขบันทึก: 377319เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2010 00:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

อ่านแล้วมีความสุข เช่นกันค่ะ ขอบคุณมากค่ะ  เป็นกำลังใจให้เสมอค่ะ

สวัสดีค่ะ

คราวนี้จะไปที่ดอยไหมคะ ๒๔ ถึง ๒๗ ค่ะ คิดถึงสาวน้อยผ้าถุงที่...มูลนิธิกองทุนไทยจังค่ะ

ทำไมต้องมาทำเรื่องนี้” ผมก็ตอบเค้าไปว่า ผมทำแล้วมีความสุข.......เห็นด้วยจริง ๆ ค่ะ 

ด้วยความระลึกถึงค่ะ

(ผมทำแล้วมีความสุขครับ...) คำนี้อ่านแล้วประทับใจและทำให้ชาวอาสาทุกท่านมีกำลังใจคะ ได้อ่านข้อความยิ่งทำให้รู้สึกว่า ธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ อยากเป็นกำลังใจให้ร่วมมือกันรักษาธรรมชาติมากๆๆ

ขอขอบคุณ“มูลนิธิกองทุนไทย” “ชาวอาสา” และพี่เจ้าของเรื่องมากๆๆนะคะ ที่ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของธรรมชาติ

ขอบคุณทุกท่านครับ...

ครูคิมครับ... วันที่ 24-25 ผมพาคณะไปทำกิจกรรม

"การศึกษาดูงาน วิถีชุมชน นิเวศวิทยาวัฒนธรรมกับการท่องเที่ยวและธุรกิจชุมชน" ครับ

น้องขวัญข้าว ...โอกาสเหมาะๆ คงได้ไปร่วมทำกิจกรรมกันอีกนะครับ

ชอบกิจกรรมแบบนี้จัง "ทำแล้วมีความสุข" และที่สำคัญเป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชนมหาศาลนะค่ะ

ขอชื่นชมที่ช่วยริเริ่มกิจกรรมดีๆ "เชื่อมโยงให้พบกับกลุ่มคนที่อยากจะช่วยทำความดี เพื่อให้ “ มีเรื่องราวของคนดีๆเกิดขึ้นในสังคม มากยิ่งขึ้น ”ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท