โรงเรียนชาวนาระดับอุดมศึกษา (15) เก็บตกจากการทดลอง


...หากพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สำหรับนักเรียนชาวนาแล้ว ทุกปัญหาคือการเรียนรู้ ใช่หรือไม่...

๑๕ เก็บตกจากการทดลอง : โรงเรียนชาวนาบ้านโพธิ์

     โดยรวมของการทดลองเพาะข้าวด้วยข้าวกล้อง คุณอำนวยกับคุณกิจได้มาตั้งวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นระยะๆ ก็พบว่า ในบางขั้นบางตอนประสบปัญหาอยู่บ้าง ทั้งช่วงเตรียมและระหว่างการทดลอง ปัญหาอะไรบ้างและจะแก้ไขกันอย่างไร

     หลังจากที่ได้กำหนดเงื่อนไขกันไว้ว่า ข้าวกล้องที่คัดเลือกจะต้องมีลักษณะต่อไปนี้

    • เมล็ดที่ยาว

    • เมล็ดที่เป็นมัน ไม่มีท้องไข่หรือท้องปลาซิว

    • เมล็ดตรง ไม่บิด

    • เมล็ดที่มีจมูกข้าวเล็ก

    • เมล็ดที่ไม่ร้าว

     ขั้นตอนแรกของการคัดเลือกเมล็ดข้าวกล้อง ก็พบปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากนักเรียนชาวนาหลายรายเป็นผู้สูงอายุ สายตาก็มองของเล็กๆจิ๋วๆไม่ค่อยจะชัด ทำให้เกิดความล่าช้าไปบางในการคัด บางรายคัดแล้ว ทว่ายังพบนักเรียนชาวนาบางรายที่หลงเอาเมล็ดข้าวที่เป็นท้องไข่หรือท้องปลาซิวปนมาอยู่เล็กน้อย บางรายก็หลงเอาเมล็ดร้าวปนข้าวมาด้วย ตรวจสอบกันไปตรวจสอบกันมา จนท้ายที่สุดในตอนแรกนี้ ก็ผ่านไปได้ด้วยดี ทำให้ทั้งคุณกิจและคุณอำนวยโล่งใจไป ทั้งนี้คงเป็นเพราะความตั้งใจของนักเรียนชาวนาทุกคน เรียกได้ว่าเริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว

     ต่อมา เรื่องของการเพาะข้าวกล้อง ด้วยวิธีที่ง่ายๆ ด้วยขี้เถาแกลบดำใส่กระถางหรือภาชนะที่ไม่ใช้แล้ว (ที่มีแตกหรือมีรอยรั่ว) แล้วนำเมล็ดข้าวกล้องโรย ตามด้วยขี้เถาแกลบดำอีกชั้นหนึ่ง ให้หนาเล็กน้อย สัก ๑ เซนติเมตร ในขั้นตอนนี้พบว่า

    • นักเรียนชาวนาบางรายแจ้งว่า ข้าวงอกช้า ปัญหาอยู่ตรงที่ใส่แกลบดำปกคลุมไว้หนาเกินไป

    • บางรายพบปัญหาใบข้าวสีขาวและปลายใบแห้ง อาจจะเนื่องมาจากใช้แกลบดิบรองด้านล่างก่อนโรยแกลบดำ หรืออาจเกิดจากความร้อนการหมักของแกลบดิบ

    • คุณสุรินทร์พบว่า การใช้ดินดีรองก้นภาชนะก่อนโรยแกลบดำ พอรากข้าวยาวลงไปถึงชั้นดิน รากของต้นข้าวจะดูดธาตุอาหารจากดิน ทำให้ต้นข้าวมีสีเขียว

    • เมื่อเพาะข้าวได้ประมาณ ๗ – ๑๐ วัน ต้องลงปลูกในแปลงที่เตรียมไว้ เพราะต้นข้าวกินอาหารที่อยู่ในเมล็ดหมดแล้ว แล้วก็ข้าวจะเริ่มใบขาว และไม่โต

     ต้นกล้าที่ได้จากการคัดข้าวกล้องอย่างตั้งอกตั้งใจของนักเรียนชาวนานั้น การนำลงปลูกก็จึงเต็มไปด้วยความตั้งใจตามมาอีกเช่นกัน อย่างนี้ถือได้ว่าส่งกำลังใจให้ต้นข้าวที่เติบโตดีๆ มีนักเรียนชาวนาบางรายแจ้งให้ทราบ ดังนี้

    • คุณลำจวนปลูกเมื่อวันที่สภาพแปลงที่ปลูกมีน้ำขัง และต้นกล้าอายุได้ ๑๐ วัน เมื่อลงปลูกในแปลงต้นกล้าสามารถต้นตัวได้เร็ว

    • คุณมะนาว ทำแปลงทดลองไว้ในสวนผัก ซึ่งเป็นแปลงที่น้ำไม่ขัง ต้นกล้าไม่ค่อยแข็งแรง บางต้นก็ตาย แต่ด้วยความพยายามของคุณมะนาว ก็พยายามคัดข้าวเพิ่มและปลูกซ้อม

    • คุณสุรินทร์ ทำแปลงปลูกหน้าบ้านในสวนดอกมะลิ ต้นกล้าเพาะไว้มากจึงคัดเลือกเอาต้นที่สมบูรณ์ลงปลูกในแปลง จึงทำให้ได้ต้นข้าวที่สมบูรณ์และตั้งตัวได้เร็ว

    • คุณบุญมาพบว่า ข้าวงอกไม่ดีเพราะกลบแกลบหนา สีข้าวคัดใหม่ และมากกว่าเดิม

     และต่อมาก็พบว่า การเพาะข้าวกล้องนั้น นักเรียนชาวนาพบปัญหา แต่ได้แก้ไขปัญหาที่ประสบไปได้แล้ว จึงมาเล่าสู่กันฟัง

     จากปัญหาการเพาะ ข้าวงอกช้า และเมื่ออายุข้าวประมาณ ๗ วัน ต้นข้าวจะเหลืองทันที เนื่องจากขาดธาตุอาหาร ปัญหาดังกล่าวนี้มีวิธีการแก้ไขดังนี้

    • ใช้ดินดีลองก้นภาชนะ

    • ล้างแกลบดำ เพื่อลดความเป็นด่าง

    • โรยแกลบดำ หนา ๒ – ๒.๕ เซนติเมตร ก่อนโรยเมล็ดข้าวกล้อง

    • กลบแกลบดำ ๑ – ๑.๕ เซนติเมตร

     จากการทดลองเพาะแบบนี้ พบว่า ต้นข้าวขึ้นได้ดี และสม่ำเสมอ ต้นข้าวที่ขึ้นมาจะไม่เหลือง แม้ว่าอาหารในเมล็ดข้าวจะหมดลง รากข้าวจะไซรากไปถึงดินดีที่ลองพื้นเอาไว้ ต้นข้าวจะเขียวและอยู่ได้นานไม่ต้องรีบนำไปดำในแปลง และสามารถรอจนต้นข้าวแข็งแรง ซึ่งจะมีอายุประมาณ ๒๐ วัน เมื่อนำไปดำต้นข้าวจะแตกกอได้ดี

     ส่วนอีกปัญหาหนึ่งที่พบคือ ต้นข้าวที่นำไปปลูกจะตาย ไม่เติบโต เหตุเพราะส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากต้นกล้าที่ไม่แข็งแรง อีกส่วนน่าจะเกิดจากการเตรียมแปลงไม่ดีพอ เมื่อเป็นไปเช่นนี้แล้ว ควรจะแก้ปัญหาด้วยการเตรียมแปลงนาให้เรียบและให้มีน้ำขัง เมื่อนำต้นกล้าไปดำ ต้นกล้าจะตั้งตัวได้เร็ว

     ส่วนการปลูกข้าวที่คัดจากข้าวกล้องไว้ที่หน้าบ้าน ภายใต้ระบบอินทรีย์ นอกจากจะได้พันธุ์ข้าวที่สามารถนำไปปลูกขยายได้แล้ว นักเรียนชาวนายังได้ศึกษาช่วงการเจริญเติบโตของข้าวตลอดช่วงอายุของข้าว โดยที่นักเรียนชาวนาได้ดูต้นข้าวทุกวัน พบเห็นตัวแมลงว่ามีตัวอะไรบ้าง เมื่อต้นข้าวออกรวง นักเรียนชาวนาก็มีความพอใจกับข้าวที่ปลูกหน้าบ้าน เพราะเพื่อนบ้านที่เคยสงสัยว่าข้าวกล้องจะปลูกได้อย่างไร บัดนี้คงได้คำตอบกันเรียบร้อยแล้ว ข้าวที่ปลูกนักเรียนชาวนาได้นำเทคนิคต่างๆ ไปใช้เพื่อให้ได้ข้าวที่สมบูรณ์และแข็งแรง เมื่อถึงช่วงข้าวออกรวง ก็พบปัญหาใหม่อีกคือมีหนูมารบกวนทำให้ไม่ได้ผลผลิตเต็มที่ นี่ล่ะหน่อ...แก้ไขอีกอย่างหนึ่ง ก็ได้เจอปัญหากับอีกอย่างให้แก้กันอีก

     หากพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สำหรับนักเรียนชาวนาแล้ว ทุกปัญหาคือการเรียนรู้ ใช่หรือไม่

 

หมายเลขบันทึก: 37708เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2006 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เข้ามาเก็บความรู้เรื่องข้าวอีกครับ
  • ว่าจะไปทำนาครับ
  • ขอบพระคุณมากนะครับที่บันทึกมาแบ่งปัน ได้ความรู้จากการปฏิบัติจริงที่เป็นประโยชน์มากเลยครับ
  • ผมเคยเป็นคนประสาน และพาเกษตรกรที่ ต.นาบ่อคำ อ.เมืองกำแพงเพชร ไป ลปรร.การคัดและเพาะพันธุ์ข้าวที่พิจิตร(19 มิ.ย.49) กลับมาเกษตรกรลงมือคัดและเพาะพันธุ์ข้าวทันที โอกาสต่อไปจะนำมา ลปรร.นะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท