งานที่ไม่ยึดทฤษฎี จะทำ KM ได้เนียน


ยึดทฤษฎีมาก ความรู้จากการปฏิบัติจะไม่ถูกปลดปล่อยออกมา

          วันที่  3  กรกฎาคม  2549  พวกเราชาว  สคส.  6  คน  (จำนวนคนประมาณครึ่งหนึ่งของสำนักงาน  สคส.)  ได้ทำหน้าที่แนะนำเครื่องมือการจัดการความรู้บางส่วน  ให้กับบุคลากรของสำนักประเมินราคาที่ดิน  ที่ย้ายมาอยู่ในสังกัดของกรมธนารักษ์  (จากเดิมสังกัดกรมที่ดิน) 
         ที่บอกว่าบางส่วน เนื่องจาก  เรามีเวลาเพียง  3  ชั่วโมง  โดยคณะผู้จัด  คือ  ศ. ดร. ศุภชัย   ยาวะประภาษ และ ดร. ชลทิศ ธีระฐิติ  จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  (เป็นที่ปรึกษาของกรมธนารักษ์)  แจ้งว่า  ต้องการให้บุคลากรของสำนักประเมินราคาที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยงานนำร่องการดำเนินการจัดการความรู้ของกรมธนารักษ์  ได้เรียนรู้ฝึกฝนเทคนิคการแลกเปลี่ยนเรียนรู้   และเห็นว่า  สคส.  มีเทคนิคในเรื่องนี้ดี  จึงติดต่อมาที่ อ.วิจารณ์  ซึ่ง  อ.วิจารณ์  ก็ได้มอบหมายต่อให้กับผู้เขียน  ซึ่งผู้เขียนไม่เคยเป็นวิทยากรกระบวนการ KM   ให้กับภาคราชการมาก่อน  จึงค่อนข้างตื่นเต้น  และเวลาในการเตรียมตัวก็ค่อนข้างกระชั้นชิด  อีกทั้งต้องเดินทางไปต่างจังหวัดทุกสัปดาห์อีกต่างหาก   เลยได้ขอให้พี่ธวัช  ได้ช่วยแบ่งเบาภาระไปส่วนหนึ่งด้วย  ซึ่งพี่ธวัชก็ใจดี  ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี
         โจทย์ของ สคส.  คือ  มีเวลา  3  ชั่วโมง  และการฝึกปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับบุคลากรของสำนักฯ  ที่มีปัญหาว่า  งานเยอะมาก  จนไม่มีเวลาทำ  KM    
          ก่อนหน้านี้  ทีมงานของ  อ.ศุภชัย  ได้มาพูดคุยกับเราที่  สคส.  แล้ว  เพื่อทำความเข้าใจ และเตรียมงานครั้งนี้ 
         หลังจากนั้น  ทีมเราคือ  ผู้เขียนกับพี่ธวัช  ก็มาออกแบบกระบวนการกันว่า เราจะใช้เครื่องมืออะไรบ้าง  ก็สรุปได้ว่า  จะใช้  “เรื่องเล่าเร้าพลัง”  (Storytelling)  พร้อมกับการสกัดขุมความรู้จากเรื่องเล่า   และ AAR  หรือ  After  Action  Review
          เมื่อไปถึงกรมธนารักษ์  ตอนเที่ยงพอดี  พวกเราก็เริ่มประชุมบทบาท “คุณอำนวย”  และ  “คุณลิขิต”  ประจำกลุ่มทันที  พร้อมกินข้าวไปด้วย   เพราะเวลาเราน้อย  แค่ช่วงนี้  ผู้เขียนก็เริ่มรู้สึกแล้วว่า  กลุ่มคนเหล่านี้ค่อนข้างเข้าใจ  KM  ดีพอสมควร  (อาจจะเพราะทีม อ.ศุภชัย  ได้อบรมเชิงทฤษฎีมาแล้ว)  มีการซักถามซักซ้อมความเข้าใจในบทบาทของตนเองอย่างลึกซึ้ง 
         และแล้ว  Workshop  ก็เริ่มขึ้น  ผู้เขียน  เป็นคนเริ่มต้นแนะนำตัวเอง  และทีมงาน  สคส. พร้อมทั้งเกริ่นถึงการทำงานของ  สคส.  ก่อนเล็กน้อย  โดยมี อ.วิจารณ์  เป็นกองหลัง  (กองหลังจริงๆ  เพราะนั่งหลังห้อง)  ต่อจากนั้นผู้เขียนก็โยนลูกต่อให้พี่ธวัชค่ะ  พี่ธวัชได้เกริ่นกระบวนการที่จะเกิดขึ้นใน  3  ชั่วโมงนี้  ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมเป็นอย่างดีเช่นกัน
          เมื่อได้เวลาแยกกลุ่มย่อย  (มี  3  กลุ่มย่อย  ประมาณ  30  คน)  ทุกคนสนุกสนานกับการเล่าเรื่องแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมาก   แต่ละเรื่องเล่าน่าสนใจ   มีการซักถาม  หยอกล้อกันอยู่ตลอดเวลา  เรียกได้ว่า  ฝึกปฏิบัติแบบเนียนเป็นธรรมชาติมากคะ    การสกัดขุมความรู้จากเรื่องเล่าก็ทำได้ดี   และช่วงสุดท้ายของบ่ายวันนี้  คือ  การทำ  AAR    หลายคนสะท้อนออกมาว่า  ยังไม่เคยประชุมแบบนี้เลย  ดูเป็นกันเองมาก   ทุกคนเท่าเทียมกัน   บางเรื่องไม่เคยรู้มาก่อนว่า เพื่อนจะมีประสบการณ์เช่นนี้    บางคนบอกว่าน่าจะมีการเชิญคนที่หลากหลายกลุ่ม  หลากหลายประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  จะทำให้ได้ประโยชน์มากกว่านี้ 
         ที่สำคัญ  มีท่านหนึ่งบอกว่า  ที่รู้สึกว่า การแลกเปลี่ยนเช่นนี้มีพลัง  เนื่องจากงานที่ทำอยู่นั้น  เป็นงานที่ต้องออกพื้นที่  ต้องทำงานกับมวลชน    และต้องใช้เทคนิคในการสืบเสาะ   การล้วงข้อมูลโดยสารพัดวิธีการ   จึงทำให้ไม่ค่อยได้นำทฤษฎีการประเมินราคาที่ดินมาใช้มากนัก  เพราะมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย   ทำให้ต้องใช้ความรู้จากการปฏิบัติจริงหรือประสบการณ์จริงค่อนข้างเยอะ    เป็นต้น  
          ผู้เขียนไม่แปลกใจว่า  ทำไมบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ จึงสนุกเร้าใจ น่าติดตามทุกนาที   เนียนมากคะ  ฉะนั้น  ใครจะทำ  KM  ก็อย่ากอดทฤษฎีมาก   และความรู้จากการปฏิบัติจริงจะไม่ถูกปลดปล่อยออกมาคะ
         ผู้เขียนในฐานะวิทยากรกระบวนการ  เห็นว่า  การฝึกปฏิบัติในการใช้เครื่องมือ  KM  แต่ละชิ้น  โดยที่ไม่ต้องพูดถึง Concept  หรือทฤษฎีของ  KM  มากๆ  จะได้ผลดีมีพลังมาก  และรู้สึกว่า  KM  ไม่ใช่เรื่องยากและไกลตัว  มันอยู่ใกล้  (ตัวและใจ)  เรานิดเดียวเอง   เวลามากหรือน้อย (ของ Workshop)  ไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญ   “ใจเปิดและเปิดใจ”  ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำคัญยิ่งกว่า
         สรุปแล้วประทับใจค่ะ    

หมายเลขบันทึก: 37704เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2006 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
เห็นด้วยกับคุณ yayaying ค่ะ เพราะอยู่ร่วมในเหตุการณ์ด้วย ยังประทับใจอยู่จนวันนี้นะคะ

อ่านแล้วอยากมีโอกาสมีส่วนร่วมกิจกรรม KM จริงๆคะ

บำราศเราก็เคยมีประสบการณ์มาก่อนเช่นกัน ยังจำบรรยากาศได้ลางเลือน ๆ แต่ยังไม่หายไปนะ...

แต่ในครั้งนั้นดิฉันยังไม่ได้มีบล็อคเขียนเป็นของตนเอง ยังนึกเสียดายอยู่ไม่เช่นนั้นคงได้เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศสนุก ๆ ให้ฟัง

เก่งจังเลยค่ะ เป็นการเล่าที่ทำให้ดิฉันเห็นภาพตามไปแบบติด ติด เนื้องานเราใกล้เคียงกันเพียงแต่ดิฉันไม่มี ท่าน อ.หมอวิจารณ์ นั่งเป็นกองหลังให้  แต่ก็พยายามติดตามความคิดท่าน ทาง blog อย่างเป็นกิจวัตร (ก็เหมือนมี กองหลังห่าง ๆ) สงสัยอะไรที่เป็นปัญหาระหว่างทางก็เข้าไปค้นหาในสิ่งที่ท่านเล่าประสบการณ์ ทิ้งไว้  

ผมมีประสบการณ์ตรงที่ได้จากการทำงานกับชาวบ้านแบบที่คุณyayaying ว่าไว้เลยครับ ชาวบ้านไม่ได้กอดตำราทำ KM แต่อย่างใด เขาทำได้พลิ้ว เป็นวิถีชีวิต เป็นธรรมชาติ ผิดกับคุณอำนวยสายราชการที่ไปร่วมกับชาวบ้านที่เคร่งครัดกับหลักการจนดูว่าเกร็งไม่เป็นธรรมชาติ ต้องเรียนรู้ เก็บเกี่ยว หรือสกัดความรู้ เทคนิคการทำเอาจากชาวบ้านนะครับ ชอบแนวการเขียนแนวนี้ของคุณ yayaying ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท